ดูพระด้วยตาเปล่า หรือกล้องคูณพันเท่า อันไหนแม่นยำที่สุด

แชร์เทคนิคดูพระด้วยตาเปล่า วิธีการดูพระสมัยก่อน ใช้กล้อง หรือตาเปล่าเห็นแท้ หรือปลอม ง่ายกว่า หมอกฤษณ์ คอนเฟิร์ม

ดูพระด้วยตาเปล่า หรือกล้องคูณพันเท่า อันไหนแม่นยำที่สุด

ดูพระด้วยตาเปล่า หรือกล้อง 10 เท่าหรือ 1,000 เท่าอันไหนดีที่สุด

การดูพระก่อนยุค 2500 หรือในยุคตรียัมปวายนั้น มักนิยมดูพระด้วยตาเปล่า ต่อมาเซียนพระรุ่นหลัง พ.ศ. 2500 ดูพระสมเด็จด้วยแว่นขยาย 10 เท่า บางเซียนไม่แน่ใจก็ใช้แว่นที่ส่องขยาย 20 เท่า "ดูแบบเจาะลึก" ดูความเก่าของรัก ดูเนื้อหา ดูเม็ดมวลสาร ดูว่าซ่อมไหม อุดตรงไหน

พระสมเด็จปลอมในยุคก่อนปี 2530 ไม่ลึกซึ้งซับซ้อนมากนัก โดยมากพิมพ์จะผิด เนื้อก็ไม่ใช่ ความละเอียดยังไม่พอ เจาะด้วยแว่น 20 เท่า เนื้อก็แตกมองเห็นเป็นเกรน เหมือนตัวหนังสือในหนังสือที่จะแตกออกเป็นพิกเซลจับได้ทันทีว่าพระเก๊

มาถึงยุคนี้ ตอนนี้ พระปลอมพัฒนามาก ความละเอียดพิมพ์ทรงถอดออกมาจากรูปองค์ครู ความแกร่งก็ใกล้เคียง คนดูไม่แข็งใช้กล้อง 10 เท่า ดูแล้วก็ยังหลงเก๊เป็นแท้ ดู 20 เท่า ก็ยิ่งหลงเข้าป่า ยิ่งส่องยิ่งซึ้ง ยิ่งส่องยิ่งสวย เพราะยิ่งเห็นมวลสาร ทั้งๆ ที่มันเก๊ดูง่าย

เฮียเถ้า เคยสอนผมว่า การดูพระสมเด็จให้ขาด ประการแรก ต้องดูด้วยตาเปล่า แท้จากตาเปล่านี้แหละแน่นอนที่สุด ขึ้นกล้องเพื่อดูซ่อม ดูความสวย หาตำหนิเพื่อสวดซื้อให้ได้ถูกๆ เท่านั้น

ตัวอย่างพระสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่องค์นี้ ชื่อองค์แตกลายงา องค์ระดับชั้นบรมครูในตำนานที่ทุกคนยอมรับในความแท้ มีธรรมชาติครบเครื่องทั้งด้านหน้าด้านหลัง ดูตาเปล่า เห็นภาพรวม พิมพ์ทรง เส้นสาย ถูกต้องเป็นธรรมชาติ จำแนกความแตกต่างระหว่างเนื้อเก่า เนื้อ (ทำ) ใหม่ ได้ดีกว่า ประมาณการได้ในระดับว่า "น่าจะดี" ก็จึง "เข้าแว่น" ส่องรายละเอียด

วิธีสังเกตหรือที่เรียกว่าสภาวะแวดล้อม

ครู "ตรียัมปวาย" สอนให้รู้จัก "สภาวะแวดล้อม" ที่เกิดขึ้นในภายหลัง เมื่อพระตกอยู่กับบุคคลต่างๆ แล้ว ย่อมผ่านภาวะแวดล้อมต่างกัน แต่ละองค์

1. ลักษณะเก่าเก็บ คือพระที่ไม่ได้ใช้ หรือผ่านการจับต้องน้อยที่สุด ผิวเนื้อและวรรณะของพระจะแห้งผาก ไม่สดใส ถ้าเป็นพระประเภทเนื้อหนึกนุ่ม จะมีวรรณะขาวนวลหม่นๆ หรือสีลานหม่น ส่วนประเภทหนึกแกร่ง วรรณะจะค่อนข้างขาวนวล และหม่นน้อยๆ หรือสีก้านมะลิอ่อนๆ หรือสีเทาอ่อนนวลๆ

2. ลักษณะอมน้ำหมาก ส่วนโค้งนูนทางพิมพ์ทรง จะได้รับการสัมผัสกับฟันของผู้อม ทำให้มีวรรณะขาววับเป็นเงาสว่างอย่างงดงาม และผิวบริเวณนั้นราบเรียบเกลี้ยงเกลา แต่บริเวณซอกต่างๆ จะมีคราบน้ำหมากจับอยู่หนาและบางสลับกัน ส่วนที่จับหนาจะมีวรรณะน้ำตาลไหม้จัด และส่วนที่จับบางๆ จะมีวรรณะแดงหม่นเรื่อๆ

3. ลักษณะสัมผัสเนื้อ ได้แก่พระที่ผ่านการสัมผัสจับต้อง หรือการห้อยคอโดยวิธีเกาะขอบ วรรณะของพระจะเข้มและสดใส รวมทั้งเนื้อจะมีความนุ่มนวลจัด

ครูตรียัมปวายสอนให้รู้จักอิทธิพลของวรรณะ ที่ส่งผลในการพิจารณาด้านทรรศนีย์หลายประการ เช่น ส่วนแสดงความเก่า วรรณะของเนื้อแท้ ย่อมแสดงคุณค่าในด้านความเก่าหรือความแท้ พร้อมกับเนื้อ ผิว และคราบ ไม่ว่าจะเป็นวรรณะที่เข้มคล้ำหรือขาวนวล

ความสดใสของวรรณะเนื้อแท้ ย่อมมีความแตกต่างจากความสดใหม่ของวรรณะเนื้อปลอมอยู่เป็นอันมาก เพราะวรรณะเนื้อแท้นั้น ไม่ว่าจะมีลักษณะผุดผ่องสดใสประการใด ก็ย่อมจะต้องกอปรด้วย ความหม่นคล้ำแฝงอยู่ด้วยเสมอ เนื่องด้วยเป็นวรรณะโดยธรรมชาติของวัสดุมวลสารต่างๆ ประการหนึ่ง

และอีกประการหนึ่ง วรรณะของเนื้อแท้ ซึ่งถูกกลืนกินอยู่กับอากาศ อันยาวนานกว่า 150 ปี ย่อมส่งผลแตกต่างจากวรรณะของเนื้อประดิษฐ์ของปลอม ทำเลียนแบบ เป็นอย่างมาก

ยิ่งถ้าเป็นของปลอมที่พยายามแต่งสีสันวรรณะ เพื่อให้ดูคล้ำหม่นเพียงใด ก็ย่อมจะส่อพิรุธยิ่งขึ้นเพียงนั้น เพราะของใหม่นั้นแม้มีวรรณะคล้ำหม่นประการใด แววความสดใสใหม่ของวรรณะ ย่อมจะซ่อนเร้นไว้ไม่พ้น

ในประการตรงข้าม วรรณะของของเก่า แม้จะสะอาดสดใส ก็ยังจะแฝงไว้ซึ่งความหม่นเก่าอยู่ตลอดเวลา

คำสอนของเหล่าบรมครูในอดีต ชี้ว่า การดูพระสมเด็จแท้นั้น ตัดสินกันด้วยตาเปล่า อย่างมากก็ได้ด้วยแว่นขยายธรรมดา 10 เท่า ที่เห็นได้ทั้งด้านลึก เช่น เห็นต้นไม้ และยังเห็นภาพรวมกว้าง เหมือนเห็นป่าทั้งป่าไปพร้อมๆ กันไป

แต่ถ้าใช้แว่นขยายถึงพันหรือพันห้าร้อยเท่า ก็เท่ากับหลงเข้าในพงหญ้า เข้ารูเลี้ยวไป หาทางออกไม่เจอ ซึ่งก็คือ ไม่มีทางดูพระสมเด็จแท้ เป็นได้เลยครับ

สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ครูมูลค่า 500 ล้านบาท
สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ครูมูลค่า 500 ล้านบาท

สมเด็จวัดระฆังพิมพ์ใหญ่ องค์ครู มูลค่าทั้ง 3 องค์ มูลค่า 500 ล้านบาท.

คุณกำลังดู: ดูพระด้วยตาเปล่า หรือกล้องคูณพันเท่า อันไหนแม่นยำที่สุด

หมวดหมู่: พระเครื่อง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด