มารู้จัก “โอมิยะไมริ” พิธีแรกของเด็กญี่ปุ่น

มารู้จัก “โอมิยะไมริ” พิธีแรกของเด็กญี่ปุ่น

ในประเทศญี่ปุ่นมีงานพิธีที่จัดขึ้นสำหรับเด็กมากมาย แล้วทุกคนรู้ไหมคะว่าพิธีแรกที่เด็กญี่ปุ่นจะต้องเข้าร่วมคือพิธีอะไร? บทความนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับพิธีสำคัญนั้นกัน

ข้อมูลที่นำมาเสนอเป็นข้อมูลทั่วไป รายละเอียดงานอาจต่างไปตามแต่ละศาลเจ้า

พิธีโอมิยะไมริคืออะไร ทำไมถึงสำคัญ

พิธีโอมิยะไมริ (お宮参り) หรือพิธีเยี่ยมศาลเจ้าครั้งแรกของเด็กทารก เป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อรายงานการเกิดของทารกให้เทพอุบุซุนะกามิ (産土神) เทพผู้ดูแลปกป้องท้องถิ่นที่คนๆ หนึ่งเกิดได้รับทราบ พร้อมทั้งขอพรให้เด็กเติบโตขึ้นมาอย่างปลอดภัยและมีสุขภาพแข็งแรง

ในอดีตโอมิยะไมริเป็นพิธีที่จัดขึ้นเพื่อขอบคุณเทพเจ้าประจำถิ่นที่ช่วยให้เด็กทารกอยู่รอดปลอดภัยในเดือนแรก เนื่องจากในอดีตอัตราการรอดชีวิตของเด็กทารกต่ำมาก หากเด็กอยู่รอดปลอดภัยครบหนึ่งเดือนก็จะพาไปศาลเจ้าเพื่อรับคำอวยพรจากเทพในฐานะอุจิโกะ (氏子, ผู้ศรัทธาในเทพเจ้าประจำถิ่น) คนใหม่ และขอให้ลูกสุขภาพแข็งแรงมีอายุยืนยาว รวมถึงเป็นพิธีที่แม่ของทารกจะไปหลังจากการเลิกไว้ทุกข์หลังคลอด เหตุผลที่ต้องไว้ทุกข์ก็เพราะคนญี่ปุ่นสมัยก่อนเชื่อกันว่าการคลอดบุตรนั้นเป็นมลทินเพราะเต็มไปด้วยเลือดและสิ่งสกปรกจึงต้องจัดพิธีการชำระล้างหรือการไว้ทุกข์ขึ้นมา แต่ในปัจจุบันพิธีโอะมิยะไมริจะเป็นพิธีสำหรับอวยพรให้ทารกแข็งแรงและปลอดภัย

คนญุี่ปุ่นจัดพิธีโอมิยะไมริเมื่อไหร่ ทารกชายและทารกหญิงไปวันเดียวกันไหม

คำตอบคือไม่ โดยปกติพิธีโอมิยะไมริจะมีขึ้นในวันที่สภาพอากาศดีและทารกมีอายุได้ประมาณ 30 วัน หรือก็คือเมื่อเด็กเกิดมาได้ครบหนึ่งเดือนนั่นเอง แต่จะแตกต่างกันตรงที่ทารกชายจะไปศาลเจ้าเมื่ออายุได้ระหว่าง 31-32 วัน ส่วนทารกหญิงจะไปในช่วง 32-33 วัน นอกจากนี้วันที่กำหนดจะแตกต่างออกไปตามภูมิภาค เช่นภูมิภาคคันโตนิยมไปในวันที่ทารกอายุได้ 30-100 วัน ส่วนคนในภูมิภาคฮอกไกโดและภูมิภาคโทโฮคุมักจะไปที่ศาลเจ้าในวันที่อากาศอบอุ่นและจะหลีกเลี่ยงการจัดพิธีในช่วงที่อากาศหนาว

บางครอบครัวที่มีญาติพี่น้องอาศัยอยู่คนละพื้นที่ทำให้ไม่สะดวกในการมาร่วมพิธีต่างๆ หลายครั้ง ก็จะจัดโอมิยะไมริในวันเดียวกับพิธีฉลองอาหารมื้อแรกของทารกหลังจากที่อายุครบ 100 วันไปทีเดียวเลย ซึ่งจริงๆ แล้ววันเวลาไม่จำเป็นต้องตรงเป๊ะขนาดนั้น รอให้สุขภาพร่างกายของคุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงเต็มที่หรือรอวันที่อากาศแจ่มใสแล้วค่อยไปก็ยังไม่สาย

ใครเข้าร่วมพิธีได้บ้าง ใครเป็นคนอุ้มทารกแทนแม่ที่ยังไปไหนไม่ได้

เดิมทีจะมีเพียงพ่อและปู่ย่าฝั่งพ่อเท่านั้นที่ไปศาลเจ้าพร้อมกับทารก เนื่องจากแม่ของเด็กยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ทำให้ไปไหนมาไหนไม่ได้ แต่ปัจจุบันคนมักจะนิยมไปกันเป็นครอบครัวรวมถึงแม่ด้วยและบางครอบครัวจะเชิญญาติคนอื่นๆ มาด้วยและใช้วันจัดพิธีเป็นวันรวมญาติ กรณีมีคนมาร่วมพิธีไม่ได้ก็จะไปกันเฉพาะพ่อแม่และทารก เมื่อกลับมาอาจจะเปิดภาพหรือวิดีโอดูพร้อมกันย้อนหลังได้เช่นกัน และเมื่ออยู่ที่ศาลเจ้าย่าจะเป็นคนที่ได้อุ้มทารกแทนแม่ที่ยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ ทำไมถึงต้องเป็นย่า? นั่นก็เพราะคนสมัยก่อนถือว่าเด็กเป็นหลานของครอบครัวฝั่งพ่อนั่นเอง ปัจจุบันนี้แม้ว่าคุณแม่จะสามารถไปร่วมพิธีได้แล้วแต่ก็มีบางบ้านเช่นกันที่ยังให้ย่าหรือคนอื่นในครอบครัวอุ้มเด็กอยู่ เนื่องจากสุขภาพของคุณแม่ยังไม่ค่อยแข็งแรงเต็มที่

พิธีโอมิยะไมริเป็นพิธีแบบไหน?

โดยพื้นฐานแล้วพิธีโอมิยะไมริจะเหมือนกับการไปไหว้ขอพรที่ศาลเจ้าในยามปกติ ขั้นตอนแรกคือการไปล้างมือและบ้วนปากที่ โจซูยะ (手水舎, อ่างน้ำหินสำหรับล้างมือของศาลเจ้า) ที่อยู่ตรงทางเข้า เมื่อเรียบร้อยแล้วให้ไปที่บริเวณสำหรับไหว้ขอพรและโยนเหรียญ 5 เยน หรือ 10 เยนลงไป จากนั้นสั่นกระดิ่งและโค้งคำนับ 2 ครั้ง ปรบมือ 2 ครั้งแล้วพนมมืออธิษฐาน สุดท้ายให้โค้งคำนับอีก 1 ครั้งเป็นอันเสร็จพิธี

สำหรับครอบครัวไหนต้องการทำพิธีอื่นร่วมด้วย เช่น พิธีโอฮาไร (お祓い) หรือพิธีชำระตนให้บริสุทธิ์ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายและการรับ โนริโตะ (祝詞) หรือการให้นักบวชของศาลเจ้าเป็นคนสวดขอพรให้ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่ทางครอบครัวควรตรวจสอบค่าใช้จ่ายและรายละเอียดอื่นๆ ที่หน้าโฮมเพจของศาลเจ้ารวมถึงแจ้งกับทางศาลเจ้าไว้ล่วงหน้า

ค่าใช้จ่ายในการรับโนริโตะจะถูกเรียกว่า ฮัตสึโฮะเรียว (初穂料) หรือ ทามากุชิเรียว (玉串料) บางศาลเจ้าจะกำหนดราคามาให้เรียบร้อยแล้ว ส่วนศาลเจ้าไหนไม่ได้กำหนดไว้คนส่วนใหญ่มักจะใส่เงิน 5,000 เยน-10,000 เยน โดยที่เงินทั้งหมดจะใส่ไว้ในซองชูงิบุกุโระ (祝儀袋, ซองใส่เงินรูปแบบหนึ่งของญี่ปุ่น) หน้าซองจะเขียนคำว่าโอะฮัตสึโฮะเรียว (御初穂料) หรือ โอะทามากุชิเรียว (御玉串料) และเขียนชื่อทารกที่ด้านล่าง

ทารกและผู้ใหญ่ต้องแต่งตัวแบบไหน?

เครื่องแต่งการแบบทางการของทารกในพิธีคือ ชิโระฮาบุทาเอะ (白羽二重) กิโมโนสีขาวแบบดั้งเดิมคลุมด้วย กิโมโนอิวาอิกิ (祝い着) แต่เดี๋ยวนี้คนจะนิยมใส่เสื้อด้านในเป็นเสื้อผ้าสำหรับทารกสีขาวง่ายๆ แทน

กิโมโนอิวาอิกิสำหรับผู้ชายเน้นสวมลวดลายที่สื่อถึงความกล้าหาญ เช่น เหยี่ยวหรือนกกระเรียน เน้นสีดำ สีขาว สีเทาหรือสีกรมท่า ผู้หญิงจะมีลวดลายที่สื่อถึงความเรียบร้อยอ่อนหวาน เช่น ดอกไม้หรือผีเสื้อบนผ้ากิโมโนสีแดง ชมพูและเหลือง

สำหรับวิธีการใส่กิโมโนอิวาอิกิ ขั้นแรกให้อุ้มทารกขึ้น จากนั้นสวมกิโมโนอิวาอิกิทับเสื้อตัวในและผูกเชือกที่ติดกับกิโมโนไว้หลังคอคนอุ้ม บางพื้นที่คนจะนำเครื่องรางหรือสิ่งของแสดงความยินดีต่างๆ  เช่น กลองเดนเดนและตุุ๊กตาอินุฮาริโกะห้อยไว้กับเชือกที่ติดอยู่กับอิวาอิกิ แต่หลังๆ ก็มีบางคนนิยมสวมเสื้อผ้าสไตล์ตะวันตกให้กับทารก ส่วนการแต่งกายของพ่อแม่หรือญาติๆ คนอื่น ก็อาจจะเลือกใส่ชุดสูทหรือชุดเดรสตามสะดวก หรือจะสวมกิโมโนแบบคลาสสิกก็ได้เช่นกัน แต่จุดสำคัญคือชุดของพ่อแม่ต้องไม่เด่นกว่าชุดของลูกที่เป็นตัวเอกของพิธีครั้งนี้ รวมถึงชุดต้องเหมาะกับสภาพอากาศด้วย

ทำพิธีเสร็จแล้วก็ปิดท้ายด้วยการถ่ายรูปครอบครัวกันหน่อย

งานสำคัญแรกของเบบี๋ใหม่ของบ้านทั้งทีก็ต้องถ่ายรูปเก็บไว้กันหน่อย ในญี่ปุ่นมีสตูหลายแห่งที่ให้บริการเช่าชุดกิโมโนสำหรับถ่ายรูปที่ศาลเจ้า รวมถึงบางสตูดิโอก็ให้บริการถ่ายถาพนอกสถานที่ในพื้นที่บริเวณที่ตั้งของสตูดิโอ เรทหลายราคานั้นก็มีหลากหลาย แต่ส่วนมากจะเริ่มต้นที่ 3,000 เยน และออปชั่นเสริมเริ่มต้นที่ 30,000 เยน

ถ้าได้รับเชิญให้เข้าร่วมโอมิยะไมริต้องทำไง?

สมมติว่าเรามีเพื่อนญี่ปุ่นและได้รับเชิญ ถ้าเรามอบของรับขวัญให้ก่อนหน้านี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องให้อะไรซ้ำอีก แต่ถ้าอยากให้ของขวัญอีกรอบหรือคิดไม่ออกว่าจะให้อะไรดี การให้เงินจำนวน 3,000 เยน ถึง 5,000 เยน ก็นับเป็นตัวเลือกที่ดีเช่นกันค่ะ โดยใส่เงินไว้ใน ชูกิบุคุโระ (祝儀袋, ซองใส่เงินอีกรูปแบบของญี่ปุ่น) แล้วผูกด้วยเชือกสีขาวและสีแดงในลักษณะของ มิซุฮิกิ (水引) ซึ่งเป็นวิธีการผูกเชือกแบบดั้งเดิมและเขียนที่ด้านหน้าว่า 御祝 หรือ 祝御宮参

พิธีโอมิยะไมริถือเป็นพิธีสำคัญพิธีแรกของเด็กๆ และเป็นพิธีที่คนในครอบครัวจะได้มารวมตัวกันเพื่อเฉลิมฉลองให้กับชีวิตน้อยๆ ที่เกิดมา แต่พิธีนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงและยืดหยุ่นมากขึ้นตามยุคสมัย นอกจากพิธีโอมิยะไมริแล้วก็ยังมีพิธีสำคัญอีกหลายพิธีเลยค่ะที่เด็กญี่ปุ่นจะได้เข้าร่วมระหว่างที่เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่สง่างาม สุดท้ายหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกคนที่ได้อ่านนะคะ

สรุปเนื้อหาจาก allabout

ผู้เขียน AkiAi

คุณกำลังดู: มารู้จัก “โอมิยะไมริ” พิธีแรกของเด็กญี่ปุ่น

หมวดหมู่: ดูดวง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด