ไม่ไร้สาระนะ! การเชียร์การแข่งขันกีฬาให้อะไรกับเราบ้าง

“รายการกีฬา” จัดเป็นคอนเทนต์ที่คนไทยสามารถหาชมได้ทางโทรทัศน์ และในนาทีนี้ คอนเทนต์กีฬาที่มาแรงที่สุดก็คงจะหนีไม่พ้นการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ประเทศกาตาร์เป็นเจ้าภาพ สำหรับคอบอลแล้ว การติดตามการถ่ายทอดการแข่งขันในแต่ละแมตช์นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดา บางคนอาจถึงขั้นที่จะต้องวางแผนจัดตารางชีวิต ทำตัวให้ว่างที่สุดในช่วงเวลาที่แข่งขันกัน เพื่อที่จะได้นั่งดูอย่างสบาย ๆ แต่ในขณะที่คนที่ไม่ได้สนใจเรื่องกีฬา ไม่ได้สนใจฟุตบอล ก็อาจจะมองว่าคนกลุ่มแรกทำตัว “อิน” เกินไป กับแค่การแข่งขันฟุตบอล ไม่เห็นจะมีสาระสำคัญอะไรเลย
ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันกีฬาอะไรก็ตารม อินหรือไม่อิน ชอบหรือไม่ชอบ เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลที่ไม่มีถูกผิด คนชอบก็ดูไป คนไม่ชอบก็ไม่ต้องดู เรื่องมันง่าย ๆ แค่นี้ แต่การจะไปดูแคลนความชอบของคนที่เขาอินและชอบนั้นมันก็ออกจะเกินไปหน่อย เพราะคนที่เขาชอบดูการแข่งขันกีฬา เขาอาจจะมองเห็นข้อดีว่าการเชียร์กีฬานั้นให้ประโยชน์อะไรกับเขาบ้าง ซึ่งถ้าลองเปิดใจก็จะเห็นได้ด้วยตา ว่าการเชียร์กีฬานั้นให้อะไรมากกว่าความสนุก มันไม่ใช่แค่ความบันเทิงหรือผ่อนคลายประเดี๋ยวประด๋าว แบบที่การแข่งขันจบอารมณ์ก็จบตาม แล้วการเชียร์กีฬาให้อะไรกับเราอีกบ้าง
ความบันเทิงที่ดีต่อ (สุขภาพ) ใจ
เมื่อเราได้ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ตัวเองชอบ
ความรู้สึกดีต่อใจก็มักจะเกิดขึ้นเป็นปกติธรรมดาอยู่แล้ว
(ถ้าไม่รู้สึกดีก็คงจะไม่ทำ)
เพราะสมองหลั่งสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าโดปามีน (dopamine)
ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขออกมา ทำนองเดียวกันกับคนที่ชื่นชอบกีฬา
ชอบดูการแข่งขันกีฬาชนิดที่ตัวเองชอบ ได้เชียร์นักกีฬาคนโปรด
ก็จะมีความรู้สึกดีเมื่อได้ดูรายการการแข่งขันกีฬา
มันจึงเป็นกิจกรรมที่ให้ความบันเทิงและทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
และหากเราได้ใช้เวลาใช้สมาธิจดจ่อกับมันมาก ๆ
ในช่วงที่เกมการแข่งขันกำลังลุ้นตัวโก่งแล้วล่ะก็
เราจะลืมความทุกข์หรือความเศร้าที่อาจเจอมาก่อนที่จะมานั่งดูการแข่งขันกีฬาไปเลยก็เป็นได้
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้คนจำนวนมากชอบดูรายการแข่งขันกีฬา
การแข่งขันกีฬาช่วยสร้างแรงบันดาลใจ
หนึ่งในปัจจัยที่สนับสนุนให้ทาง กสทช. ออกกฎ Must Have
หรือกฎที่กำหนดให้การแข่งขัน 7 การแข่งขันกีฬาที่คนไทยต้องได้ดูฟรี
โดยฟุตบอลโลกก็รวมอยู่ในนี้ด้วย
ส่วนหนึ่งเพราะต้องการให้เกิดความทั่วถึงและเท่าเทียมในการรับชมกีฬาระดับโลก
มีนัยยะว่าเพื่อเปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนไทยที่ได้รับชมมหกรรมกีฬาระดับโลก
แน่นอนว่าคนที่จะรับชมรายการแข่งขันกีฬาก็ต้องเป็นคนที่ชื่นชอบกีฬานั้น
ๆ หรือมีไอดอลเป็นนักกีฬาที่ชอบที่เชียร์อยู่ก่อนแล้วถึงได้เปิดดู
ซึ่งถ้าประทับใจกับเกมหรือนักกีฬามาก ๆ
มันจะกลายเป็นแรงผลักดันและจูงใจ
กระตุ้นให้หันมาจริงจังกับดึงศักยภาพการเป็นนักกีฬาของตนเองออกมา
ฝึกซ้อม ลงแข่ง ฯลฯ โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน
เป็นกิจกรรมที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์
น้อยคนนักที่นั่งเชียร์กีฬาอยู่คนเดียวเป็นประจำ
แน่นอนว่าคนเราสามารถเชียร์กีฬาคนเดียวได้
มันไม่ได้ผิดกฎหมายหรือแปลกประหลาดอะไร
เพียงแต่มันไม่สนุกถึงจุดพีคเท่านั้นเอง
ไม่มีใครร่วมแบ่งปันความรู้สึก ณ เวลานั้น
เกมชนะก็ไม่รู้จะเฮลั่นดีใจกับใคร เกมที่แพ้ก็ไม่รู้จะบ่นให้ใครฟัง
หลายคนจึงมักจะหาเดอะแก๊งนั่งดูและเชียร์กีฬาด้วยกัน
เพราะมันช่วยทำให้การดูกีฬาสนุกสนานมากยิ่งขึ้น
ซึ่งระหว่างการดูกีฬาก็ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องราวต่าง ๆ
ทั้งที่เกี่ยวกับกีฬาและไม่เกี่ยวกับกีฬา แบ่งปันอาหารและเครื่องดื่ม
ได้เห็นทัศนคติของอีกฝ่าย ได้รู้จักตัวตนกันและกันมากขึ้น
ยิ่งถ้าเชียร์ฝั่งเดียวกันด้วยแล้ว มันจะเกิดความสามัคคีเป็นพิเศษ
และถ้านักกีฬาชนะ ก็จะได้มีความสุขร่วมกันด้วย
การได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ธรรมชาติคือชอบที่จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม
ต้องการมีเพื่อน มีคนที่เข้าใจ
และเราจะดึงดูดคนที่มีบุคลิกลักษณะคล้าย ๆ กับเรา มีความคิด ความเชื่อ
ความชอบ แม้กระทั่งเป้าหมายบางอย่างคล้าย ๆ กัน
แบบที่สมัยนี้บอกว่าศีลเสมอกันถึงได้คบกันได้
มันจะทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่ได้นอกคอกไปจากคนอื่น
การมีคนที่เหมือน ๆ กันอยู่ข้าง ๆ จึงช่วยเติมเต็มความมั่นใจให้เราได้
ซึ่งการเชียร์กีฬาฝั่งเดียวกันสามารถตอบสนองความต้องการทางความรู้สึกเช่นนี้ได้
เราจะรู้สึกว่าได้รับการยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม
(ที่นี้คือกองเชียร์ทีม/นักกีฬา)
ทว่าอาจมีเรื่องที่ต้องระวังอยู่บ้างถ้าเป็นการเชียร์พร้อมกับคนหมู่มาก
เช่น ระวังการพูดถึงทีมที่เชียร์
เมื่ออยู่ท่ามกลางฝูงชนที่เชียร์ทีมตรงข้าม!
ทีมที่เชียร์ชนะ = เราชนะด้วย
มันเป็นเรื่องของการมีอารมณ์ร่วม
เพราะเมื่อเราอินกับการเชียร์ทีม/นักกีฬาคนไหนมาก ๆ
เราก็จะเอาตัวเองเข้าไปสวมทับ
เราจะรู้สึกตื่นเต้นไปกับเหตุการณ์ในสนามราวกับว่าตัวเรากำลังลงแข่งเสียเอง
รู้สึกหัวเสีย (แทน) เวลาที่เป็นรองอยู่ รู้สึกสะใจ (แทน)
เวลาที่เป็นต่อ รู้สึกดีใจสุดขีดเมื่อทำแต้มได้
และรู้สึกผิดหวังเมื่อแพ้ เป็นต้น
เหมือนเราจะรู้สึกร่วมด้วยกับทีม/คนที่เชียร์
ถ้าชนะเราจะเปลี่ยนความสำเร็จของเขาให้เป็นของเรา
รู้สึกดีและภาคภูมิใจเหมือนแข่งเอง
ทั้งที่ไม่ได้ไปมีส่วนร่วมกับการแข่งขันสักนิด แต่ในขณะเดียวกัน
หากแพ้เราก็สามารถปฏิเสธความผิดหวังได้ง่าย ๆ
เช่นกันว่าเราแพ้เขาต่างหากที่แพ้ เพราะมันทำใจกับมันง่ายกว่า
ไม่เหมือนกับการที่เราทำอะไรพลาดเอง
เกมการแข่งขันช่วยบริหารสมอง
การที่จะเอาชนะกันได้ในการแข่งขัน นอกจากความพร้อมของพละกำลังกาย
และความเข้มแข็งทางจิตใจแล้ว อย่าลืมว่ามันต้องมีกลยุทธ์ในการเล่นด้วย
เกมการแข่งขันทุกประเภทต้องใช้สมองในการวางแผนเล่นเกม ไม่ใช่จู่ ๆ
เดินดุ่ม ๆ ลงไปเล่นได้เลย
และไม่ใช่แค่วางแผนเรื่องการเอาชนะจากทางฝั่งเรา
แต่ต้องอ่านเกมของฝั่งคู่ต่อสู้ให้ออกด้วย
จะได้เตรียมแผนรับมือได้อย่างเหมาะสม
แม้ว่าการเชียร์อยู่หน้าจอในฐานะแฟนกีฬาจะไม่ได้ลงไปแข่งขันเองในสนาม
แต่คนดูกีฬาที่ดูกีฬาเป็น ดูแตกฉาน
รู้ลึกมากพอที่จะถึงขั้นที่สามารถวิเคราะห์เกมการแข่งขันต่าง ๆ
ได้นั้น มักมีที่มาจากการคิดตามเสมอเวลาดูเกมการแข่งขัน
เมื่อดูการแข่งขันกีฬาอย่างชาญฉลาด
เราจะได้บริหารสมองตามเกมไปด้วย
คุณกำลังดู: ไม่ไร้สาระนะ! การเชียร์การแข่งขันกีฬาให้อะไรกับเราบ้าง
หมวดหมู่: ผู้ชาย