เปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" 26 มิถุนายน รำลึกกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันสุนทรภู่ ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เพื่อรำลึกถึง "สุนทรภู่" ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก ให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก"

เปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" 26 มิถุนายน รำลึกกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วันสุนทรภู่เป็นหนึ่งในวันสำคัญของไทยที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อรำลึกถึง "สุนทรภู่" ผู้ได้รับฉายาว่าเป็นกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อีกทั้งยังได้รับการยกย่องจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" ที่มีผลงานโดดเด่นด้านวรรณกรรม โดยเฉพาะนิทานเรื่องพระอภัยมณี และบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ที่คนไทยรู้จักกันดี

วันสุนทรภู่วันที่เท่าไร?

วันสุนทรภู่ตรงกับวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิด เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2329 (วันจันทร์ เดือน 8 ขึ้น 1 ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช 1148)

ประวัติวันสุนทรภู่ มีที่มาอย่างไร?

สุนทรภู่ เป็นกวีเอกของราชสำนักแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีอีกฉายาว่า "กวี 4 แผ่นดิน" เกิดในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) เริ่มเข้ารับราชการในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) และได้เลื่อนตำแหน่งเป็น "พระสุนทรโวหาร" ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายก่อนเสียชีวิตในวัย 69 ปี ซึ่งตรงกับในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ประวัติสุนทรภู่ เดิมชื่อ ภู่บิดาเป็นชาวบ้านกร่ำ อำเภอแกลง จังหวัดระยองต่อมาบิดามารดาหย่าร้างกัน มารดาได้ถวายตัวเป็นนางนมของพระองค์เจ้าหญิงจงกล พระธิดาในเจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ จึงได้พาสุนทรภู่เข้าไปอยู่ในพระราชวังหลังกับตัวเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้สุนทรภู่ได้คุ้นเคยกับชีวิตในรั้ววังตั้งแต่สมัยเด็กๆ

เมื่อโตขึ้นได้เข้าเรียนในพระราชวังหลัง และที่วัดชีปะขาว (วัดศรีสุดาราม) ก่อนที่จะเข้ารับราชการเป็นเสมียนนายระวางในกรมพระคลังสวน แต่สุนทรภู่เป็นคนชื่นชอบการแต่งกลอนสุภาษิตมาแต่ไหนแต่ไร ในวัยเพียง 20 ปี ได้มีโอกาสแต่ง "นิราศพระบาท" ระหว่างติดตามพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ในฐานะมหาดเล็ก ตามเสด็จไปในงานพิธีมาฆบูชา ที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี เมื่อปี พ.ศ. 2350

จนกระทั่งได้เข้ารับราชการในกรมพระอาลักษณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2) ราวปี พ.ศ. 2359 และได้แต่งกลอนบทละครในเรื่อง "รามเกียรติ์" ที่ไม่มีผู้ใดแต่งต่อได้ ทำให้รัชกาลที่ 2 โปรดสุนทรภู่อย่างมาก และทรงพระกรุณาฯ เลื่อนให้เป็น "ขุนสุนทรโวหาร"

ในระหว่างรับราชการสุนทรภู่ได้เมาอาละวาดและก่อเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับผู้ใหญ่ในวัง ทำให้ต้องโทษติดคุก แต่ก็ได้พ้นโทษอีกครั้ง เนื่องจากรัชกาลที่ 2 ทรงติดขัดบทพระราชนิพนธ์เรื่อง "สังข์ทอง" ที่ไม่มีผู้ใดสามารถต่อกลอนได้ ทำให้ในช่วงชีวิตรับราชการในสมัยรัชกาลที่ 2 นั้น สุนทรภู่มีชีวิตและผลงานที่โดดเด่นเป็นที่พอพระราชหฤทัย

สุนทรภู่รับราชการนาน 8 ปี จนกระทั่ง พ.ศ. 2367 รัชกาลที่ 2 เสด็จสวรรคต สุนทรภู่จึงออกบวชที่วัดราชบูรณะ เป็นเวลานานถึง 18 ปี โดยได้เขียนนิราศต่างๆ ไว้มากมาย ก่อนที่ได้ถวายตัวอยู่กับสมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ (ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น "พระบาทสมเด็จพระปิ่นกล้าเจ้าอยู่หัว") สุนทรภู่จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์อีกครั้งเป็น "พระสุนทรโวหาร (ภู่)" ตำแหน่งเจ้ากรมพระอาลักษณ์ฝ่ายบวรราชวัง ในปี พ.ศ. 2394 ซึ่งตรงกับสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4)

ในช่วงบั้นปลายชีวิต สุนทรภู่ได้รับราชการต่ออีก4 ปี และถึงแก่มรณกรรมใน พ.ศ. 2398 รวมอายุได้ 69 ปี

ความสำคัญ และผลงานของสุนทรภู่

ผลงานสุนทรภู่ที่หลายคนรู้จักกันดีคือ "พระอภัยมณี" ซึ่งได้รับการยกย่องจากวรรณคดีสโมสรให้เป็นสุดยอดวรรณคดีไทยประเภทกลอนนิทาน และยังถูกนำไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศอีกด้วย โดยใน พ.ศ. 2529 เป็นปีครบรอบวันเกิด 200 ปีของสุนทรภู่ ทางองค์การยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้สุนทรภู่เป็น "บุคคลสำคัญของโลกทางด้านวรรณกรรม" ทำให้มีการจัดตั้งสถาบันสุนทรภู่เพื่อเผยแพร่ชีวิตและผลงานต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากัน โดยผลงานสุนทรภู่ทั้งหมด มีดังนี้

ผลงานนิราศของสุนทรภู่ 9 เรื่อง
- นิราศเมืองแกลง (พ.ศ. 2349)
- นิราศพระบาท (พ.ศ. 2350)
- นิราศภูเขาทอง (ประมาณ พ.ศ. 2371)
- นิราศสุพรรณ (ประมาณ พ.ศ. 2374)
- นิราศวัดเจ้าฟ้า (ประมาณ พ.ศ. 2375)
- นิราศอิเหนา (คาดว่าเป็นสมัยรัชกาลที่ 3)
- รำพันพิลาป (พ.ศ. 2385)
- นิราศพระประธม (พ.ศ. 2385)
- นิราศเมืองเพชร (พ.ศ. 2388)
- นิทานกลอน 5 เรื่อง

ผลงานนิทานของสุนทรภู่ 5 เรื่อง
- โคบุตร
- พระอภัยมณี
- พระไชยสุริยา
- ลักษณวงศ์
- สิงหไกรภพ

ผลงานสุภาษิตของสุนทรภู่ 3 เรื่อง
- สวัสดิรักษา
- เพลงยาวถวายโอวาท
- สุภาษิตสอนหญิง
- บทละคร 1 เรื่อง

ผลงานบทละครและบทเสภาของสุนทรภู่ 3 เรื่อง
- บทละครอภัยนุราช
- บทเสภาขุนช้างขุนแผน ตอนกำเนิดพลายงาม
- บทเสภาพระราชพงศาวดาร

ผลงานบทเห่กล่อมพระบรรทมของสุนทรภู่ 4 เรื่อง
- เห่เรื่องพระอภัยมณี
- เห่เรื่องโคบุตร
- เห่เรื่องจับระบำ
- เห่เรื่องกากี

ความสำคัญของวันสุนทรภู่ 2565 มีขึ้นเพื่อรำลึกถึง "สุนทรภู่" ผู้เป็นกวีเอกและบุคคลสำคัญของโลก อีกทั้งยังเป็นการศึกษาชีวิตและผลงานด้านวรรณกรรมอันทรงคุณค่า นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐ เอกชน และสถานศึกษาหลายแห่งก็มักจะจัดงานนิทรรศการวันสุนทรภู่ รวมทั้งประกวดแต่งคำกลอน แต่งนิทาน ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยและอนุรักษ์มรดกทางวรรณกรรมของไทยสืบไป

คุณกำลังดู: เปิดประวัติ "วันสุนทรภู่" 26 มิถุนายน รำลึกกวีเอกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

หมวดหมู่: วัฒนธรรม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด