รู้ไว้ใช่ว่า เป็น "โรคหนองใน" ห้ามปล่อยไว้ ต้องรักษา!

รู้ไว้ใช่ว่า เป็น "โรคหนองใน" ห้ามปล่อยไว้ ต้องรักษา!

เมื่อมีโรคอะไรก็ตามเกิดขึ้นกับร่างกาย หรือภายในร่างกายของเรา เมื่อเวลาผ่านไป ไม่ได้ไปพบแพทย์ ไม่มีหรอกที่โรคนั้นจะสามารถหายได้เองไปซะหมด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเลย อย่างโรคที่เราจะมาเล่าสู่กันฟังวันนี้เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เรียกว่า โรคหนองใน มีสาเหตุเกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย หากไม่ได้ไปพบแพทย์ในที อาการต่างๆ ก็จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย ย้ำว่า เล็กน้อยเท่านั้น แต่โรคก็ยังมีอยู่ จึงไม่ใช่เรื่องเราจะละเลยกันได้

โรคหนองในแท้ หรือ โรคโกโนเรีย (Gonorrhea) นับว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบกันได้มากเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด อาการที่เกิดขึ้นกับตัวผู้ป่วยนั้นมักจะไม่ได้มาเล่นๆ เพราะทั้งรุนแรงและชัดเจน หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา อาการที่เป็นอยู่ก็จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อย แต่ไม่หายขาด ถ้ายังไม่รีบไปรักษาก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้อีกนับไม่ถ้วน จากรายงานของ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณะสุข ที่รวบรวมข้อมูลผู้ป่วยจากโรคทางเพศสัมพันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2551 พบว่ามีผู้ป่วยที่เป็นโรคหนองในกว่า 6,168 ราย หรือคิดเป็น 15.43% ของผู้ป่วยโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั้งหมด หรือคิดได้เป็น 9.76 ต่อประชากร 100,00 คน

โรคหนองในไม่ยากที่จะเกิดและติดต่อ

หนองใน เกิดจากการติดเชื้อของแบคทีเรียที่มีชื่อว่า ไนซีเรีย โกโนเรียอี (Neisseria gonorrhoeae) หรือมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘โกโนค็อกคัส’ (Gonococcus) ที่สามารถตรวจพบได้ในน้ำอสุจิและสารน้ำในช่องคลอด และถ่ายทอดกันผ่านการมีเพศสัมพันธ์เป็นหลัก ซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้จะเจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้นและที่อบอุ่นของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ เริ่มตั้งแต่ปากมดลูก มดลูก ปีกมดลูก ท่อปัสสาวะในฝ่ายหญิง และระบบสืบพันธุ์ของฝ่ายชาย อีกทั้งเชื้อชนิดนี้ยังสามารถเจริญเติบโตในบริเวณอื่นๆ ได้อีกด้วย เช่น ทวารหนัก เยื่อบุตา ช่องปากคอ เป็นต้น

กิจกรรมที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อหนองใน : มักจะติดโรคมาจากการมีเพศสัมพันธุ์กับผู้ติดเชื้อโดยไม่ได้ใช้ถุงยางอนามัย ผ่านการสัมผัสเยื่อบุช่องคลอด ช่องปาก ทวารหนัก องคชาติ ซึ่งอาจจะไม่ต้องมีการหลั่งน้ำอสุจิก็ได้ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดติดเชื้อจากมารดาไปสู่ทารกในระหว่างคลอดผ่านการสัมผัสเชื้อโดยตรง โดยในสตรี เชื้อจะสามารถแพร่จากช่องคลอดไปสู่ทวารหนักได้เองโดยไม่จำเป็นต้องมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

กิจกรรมที่ไม่ทำเกิดการติดเชื้อหนองใน : อาทิ การจับมือ , การกอด , การจูบ , การใช้แก้วน้ำ จาน ชามร่วมกัน , การใช้ห้องน้ำ หรือผ้าเช็ดตัวร่วมกัน , การนั่งฝาโถส้วม , การใช้สระว่ายน้ำร่วมกัน ทั้งนี้ หนองในจะไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในสระว่ายน้ำ หรือในโถส้วม จึงไม่มีโอกาสที่คนปกติทั่วไปจะติดเชื้อได้ ส่วนการมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้มือ หรือนิ้วช่วย ก็ยังไม่พบข้อบ่งชี้ที่ชัดเจนว่าสามารถทำให้เกิดการถ่ายทอดของเชื้อได้

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อหนองใน : ได้แก่ กลุ่มวัยรุ่น , ผู้ติดยาเสพติด , ผู้ที่มีคู่นอนมากกว่า 1 คน , ผู้ที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัยในขณะมีเพศสัมพันธ์ , ผู้ที่เคยเป็นโรคนี้มาแล้ว หรือเคยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ อาทิ โรคซิฟิลิส (Syphilis) เป็นต้น

ระยะฟักตัวของโรค : หลังจากที่ได้รับเชื้อ ก็มักจะแสดงอาการภายใน 2 - 10 วัน แต่โดยทั่วไปแล้วจะแสดงอาการภายใน 5 วัน

อาการของหนองในที่สังเกตเห็นได้

ผู้ชาย : ภายหลังจากที่ได้รับเชื้อประมาณ 2 - 10 วัน จะมีอาการแสบในลำกล้องเวลาที่ปัสสาวะ หรือมีอาการปัสสาวะขัด มีหนองไหลออกมาจากท่องปัสสาวะ ในระยะแรก หนองอาจจะแค่ไหลซึมเป็นมูกใสๆ เล็กน้อย โดยที่ไม่ใช่น้ำปัสสาวะ หรืออสุจิ ถัดมาอีก 12 ชั่วโมงให้หลังก็จะกลายเป็นหนองสีเหลืองข้น และจะออกมาคล้ายกับเส้นก๋วยเตี๋ยว ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดและถุงอัณฑะบวม หรืออาจมีการอักเสบที่บริเวณหนังหุ้มปลายองคชาตร่วมด้วย แต่จะพบได้น้อย ในทางตรงกันข้าม เพศชายประมาณ 10% ที่ติดเชื้อหนองในอาจไม่มีอาการเหล่านี้แสดงออกมาให้เห็นได้ชัด แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้

ผู้หญิง : ในะระยะแรกที่มีการติดเชื้อหนองในมักจะยังไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็น แต่ในระยะต่อมาก็จะมีอาการตกขาวผิดปกติ เช่น มีปริมาณที่มากขึ้น , เป็นหนองสีเหลือง หรือสีเขียว , มีกลิ่นเหม็น , ไม่คัน , มีอาการขัดเบาและแสบร้อนทุกครั้งเมื่อปัสสาวะ , ปัสสาวะขุ่น , ปวดท้องน้อย , เลือดออกกะปริดกะปรอยในระหว่างที่มีรอบเดือนซึ่งพบได้น้อย แต่หากมีอาการอักเสบของปีกมดลูก จะทำให้มีไข้สูง , หนาวสั่น , ปวด และกดเจ็บตรงบริเวณท้องน้อยคล้ายปีกมดลูกอักเสบ เพศหญิงประมาณ 50% ที่ติดเชื้อหนองในอาจไม่มีอาการเหล่านี้แสดงออกมาให้เห็นได้ชัด แต่ก็ยังสามารถแพร่เชื้อไปให้ผู้อื่นได้

ทั้งสองเพศ : หากเกิดการติดเชื้อในลำคอก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บคอ เป็นไข้ หรือหากติดเชื้อที่บริเวณทวารหนัก ก็อาจทำให้เกิดอาการปวดหน่วง คัน หรืออาจมีคล้ายน้ำหนองไหลออกมา โดยเฉพาะในเวลาที่ขับถ่าย แต่หากติดเชื้อที่เยื่อบุตาก็อาจทำให้เกิดอาการเจ็บปวด ระคายเคือง และมีหนองไหล อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อในตำแหน่งต่างๆ อาจจะไม่มีอาการแสดงออกมาให้เห็นได้ชัดเลยก็เป็นได้ ซึ่งนอกจากอาการที่กล่าวมาแล้ว ก็ยังอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบ (ไข่ดัน) บวมและมีอาการเจ็บได้อีกด้วย

 penis-2iStock

ติดเชื้อหนองในต้องรีบรักษา ปล่อยไว้อาจหายได้ แต่ไม่หายขาด

  • หากเกิดความสงสัยว่าเสี่ยงที่จะติดเชื้อหนองใน ก็ควรเดินทางไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจยืนยัน โดยแพทย์จะนำเอาหนองไปย้อมสีและส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ หรืออาจนำไปเพาะเชื้อเพื่อตรวจสอบ ถ้าหากพบว่าเป็นโรคหนองในจริง แพทย์ก็จะให้ยาปฏิชีวนะขนานใดขนาดหนึ่ง

  • เนื่องจากผู้ที่ป่วยเป็นโรคหนองในแท้ มักจะเป็นหนองในเทียมจากการติดเชื้อ (Chlamydia) ร่วมด้วยประมาณ 30% แพทย์จึงมักจะรักษาไปพร้อมๆ กันทั้งสองโรคด้วยการให้ยา ดอกซีไซคลีน (Doxycycline) ไปกินครั้งละ 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 1 - 2 สัปดาห์

  • ผู้ที่ติดเชื้อหนองในควรได้รับการเจาะเลือดเพื่อตรวจวีดีอาร์แอล (VDRL – Venereal Disease Research Laboratory) เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีการติดเชื้อซิฟิลิสร่วมด้วย หากผลการตรวจออกมาเป็นบวก หรือที่มักเรียกกันว่า ‘เลือดบวก’ ก็แสดงว่าเป็นซิฟิลิส โดยแนะนำว่าควรตรวจครั้งแรกก่อนเริ่มให้การรักษา และไปตรวจซ้ำในอีก 3 เดือนถัดไป นอกจากนี้ก็แนะนำให้ตรวจหาเชื้อเอชไอวี (HIV) และโรคไวรัสตับอักเสบบีพร้อมกันไปด้วย

  • ในเพศหญิงที่มีอาการหนองไหลออกมาจากท่อปัสสาวะ ร่วมกับมีไข้สูง ปวดท้องน้อง ขัดเบา ตกขาว อาจเป็นอาการของปีกมดลูกอักเสบเฉียบพลัน ควรรีบไปพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง

  • ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนแล้ว อาทิ อุ้งเชิงกรานอักเสบ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง เกิดภาวะมีบุตรยาก ผู้ป่วยอาจจะต้องนอนรับการรักษาในโรงพยาบาลเพื่อรับการผ่าตัดแก้ไข

  • ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์เป็นหนองใน ควรต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโรคนี้ให้หายขาด ไม่เช่นนั้น ลูกอาจจะเกิดการติดเชื้อในระหว่างคลอด ทำให้เกิดตาอักเสบรุนแรงไปจนถึงทำให้ตาบอดได้ หรืออาจเกิดการติดเชื้อรุนแรงกับอวัยวะอื่นๆ ที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตของลูกได้ ด้วยเหตุนี้เอง แพทย์จึงต้องมีการหยอดตาทารกแรกเกิดด้วย Silver Nitrate 1% ในทุกราย เพื่อลดโอกาสที่จะติดเชื้อนี้ นอกจากนั้น โรคหนองในที่มีอาการรุนแรงยังอาจกระตุ้นให้เกิดการคลอดก่อนกำหนดได้อีกด้วย

จะรู้ได้อย่างไรว่าติดเชื้อ ‘หนองใน’ แล้ว ?

หากตัวของเราเอง หรือคู่นอนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แนะนำว่าให้เดินทางมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เมื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจ แพทย์ก็จะทำการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจภายใน ซึ่งในผู้หญิงก็จะมีการนำตกขาวไปตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์เพิ่มเติมและส่งเพาะเชื้อ โดยในขั้นตอนการวินิจฉันเบื้องต้นนั้นสามารถทำได้แล้วเสร็จภายใน 1 วัน ส่วนผลการเพาะเชื้อจะทราบผลภายใน 1 สัปดาห์ เมื่อผลการตรวจที่ออกมาสนับสนุนว่าติดเชื้อหนองใน ก็ต้องเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อหาโรคที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่นร่วมด้วย อาทิ HIV , ไวรัสตับอักเสบบี และซิฟิลิส

สำหรับการเก็บสิ่งส่งตรวจควรทำในทุกตำแหน่งที่มีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ การตรวจหาเชื้อในคอหากเคยมีเพศสัมพันธ์โดยการใช้ปาก และการตรวจทางทวารหนักหากเคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก เป็นต้น ในปัจจุบันมีการตรวจโดยการหาสารพันธุกรรมของเชื้อหนองใน แต่เนื่องจากมีราคาค่าตรวจวินิจฉัยแพง จึงเลือดใช้สำหรับผู้ป่วยบางรายเท่านั้น

เป็นโรคหนองใน ต้องดูแลตัวเองอย่างไร?

  1. หากเกิดอาการปัสสาวะแสบขัด หรือมีอาการปวด หรือมีผื่นขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ แล้วรีบไปพบแพทย์ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหนองใน หลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว ควรพาคู่นอนมารักษาด้วยเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเกิดซ้ำได้อีก อีกทั้งควรงดกันมีเพศสัมพันธ์ไปจนกว่าจะหายดีทั้งคู่

  2. ผู้ป่วยที่เป็นโรคหนองในทุกรายจำเป็นต้องได้รับการรักษา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการออกมาให้เห็นได้ชัด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือในบางรายก็อาจมีอาการที่ดีขึ้นได้เองก็ตาม ไม่แนะนำให้ปล่อยทิ้งไว้ หรือเพิกเฉย ไม่ไปรับการรักษา เพราะตัวผู้ป่วยเองก็จะยังคงแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้และยังสามารถรับเชื้อกลับเข้ามาได้อีก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ได้รับเชื้อเข้าไป หากภาวะแทรกซ้อนนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้

  3. ในระหว่างที่ทำการรักษาโรคหนองใน ห้ามมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 2 - 4 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ ก็ต้องป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยอย่างเคร่งครัด อีกทั้งต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 เดือน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้หนองไหลเพิ่มมากขึ้น

  4. ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง "อาหารแสง" ที่ทำให้โรคหนองในทวีความรุนแรง อาทิ หูฉลาม อาหารทะเล หน่อไม้ หรือสาเก เป็นต้น ในทางการแพทย์นั้นยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ การงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็นเวลา 1 เดือน หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จทำให้หนองไหลมากยิ่งขึ้น ส่วนอาหารประเภทอื่นๆ ถ้ากินแล้วทำให้อาการของโรคกำเริบก็แนะนำให้งดอาหารชนิดนั้นๆ ไปก่อน

  5. ยาปฏิชีวนะสำหรับการรักษาโรคหนองในจะมีผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งในระหว่างที่ทำการรักษา จึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์ และในรอบเดือนนั้น ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย อาทิ การใช้ถุงยางอนามัย

  6. ภายหลังที่ได้รับการรักษาแล้ว ส่วนใหญ่ อาการต่างๆ จะหายไปค่อนข้างเร็วภายใน 2 - 3 วันที่เริ่มทำการรักษา ไม่ว่าจะเป็น อาการตกขาวผิดปกติ และแสบขัดเวลาที่ปัสสาวะ ส่วนอาการเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยในระหว่างรอบเดือนนั้นก็จะดีขึ้นในรอบหน้า ส่วนอาการปวดท้องน้อยและอาการปวดอัณฑะในผู้ชายจะเวลานานกว่าจึงจะดีขึ้น และจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินซ้ำอีกครั้ง เพราะอาจพบภาวะเชื้อดื้อยา หรือโรคมีการลุกลามเพิ่มมากขึ้น

  7. หากได้รับการรักษาแล้ว แต่มีอาการที่คล้ายกับว่าจะแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการที่เป็นอยู่นั้นรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด

  8. เมื่อรักษาตามอาการจนครบแล้ว ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำจนกว่าจะแน่ใจว่าเชื้อหนองในหายสนิทในทุกตำแหน่งที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว อาทิ ช่องปาก ทวารหนัก ช่องคลอด เป็นต้น

  9. ผู้ที่เป็นโรคหนองใน หลังจากที่ได้รับการรักษาจนหายดี แต่หากได้สัมผัสโรคอีกครั้งก็จะกลับมาเป็นซ้ำอีก

ภาวะแทรกซ้อนหลังเกิด ‘หนองใน’

ภาวะแทรกซ้อนของหนองในในฝ่ายชาย : หากไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้มีหนองในไหลอยู่ประมาณ 3 - 4 เดือน อีกทั้งเชื้อหนองในยังจะลุกลามเข้าไปในบริเวณรอบๆ ใกล้เคียง เป็นผลทำให้ท่อปัสสาวะอักเสบ หรือท่อปัสสาวะตีบตันได้ รวมถึงยังมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

  • ต่อมลูกหมากเกิดการอักเสบ หรือเกิดเป็นฝีที่ผนังของท่อปัสสาวะ
  • ในบางรายอาจเกิดการอักเสบของอัณฑะในลักษณะที่บวม มีอาการปวด และเป็นหนอง และเกิดการอักเสบของท่ออสุจิ ส่งผลทำให้มีลูกยาก หรือกลายเป็นหมันได้

ภาวะแทรกซ้อนของหนองในในฝ่ายหญิง : เชื้อหนองในที่เกิดขึ้นอาจลุกลามไปจนทำให้ต่อมบาร์โทลินที่บริเวณแคมใหญ่เกิดการอักเสบ หรือเกิดเป็นฝีบวมโต หรือร้ายแรงจนทำให้เยื่อบุมดลูกอักเสบได้ ซึ่งหากเกิดการอักเสบที่รุนแรง เมื่อหายแล้วก็จะเกิดการอุดตันของท่อรังไข่จนกลายเป็นหมันได้ในที่สุด ส่งผลให้เกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้หากอยู่ในระยะที่จะมีลูก รวมถึงยังมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

  • เกิดการอัเสบบริเวณอุ้งเชิงกราน (ช่องท้องน้อย) ทำให้เกิดอาการปวดท้อง มีไข้ หรืออาจทำให้เกิดถุงหนองในช่องท้องน้อยที่รักษาให้หายยาก อีกทั้งยังอาจมีอาการปวดท้องโดยเฉพาะในช่องท้องน้อยแบบเรื้อรัง

ภาวะแทรกซ้อนของหนองในที่อาจเกิดได้ในทุกเพศ : เมื่อเป็นแล้วเชื้อหนองในอาจแทรกตัวเข้าไปตามกระแสเลือดไปที่บริเวณข้อ (หนองในเข้าข้อ) จำให้เกิดเป็นโรคข้ออักเสบชนิดติดเชื้อเฉียบพลันที่อาจเป็นอันตรายจนถึงแก่ชีวิตได้ โดยภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้น้อยมาก อวัยวะที่พบได้บ่อย ได้แก่ ข้อเท้า ข้อเข่า และข้อมือ รวมถึงยังมีอาการอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

  • ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหนองในจะมีโอกาสติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ได้ง่ายกว่าคนที่ไม่เป็นหนองใน
  • นอกจากนี้ยังจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ได้เพิ่มเติม เพียงแต่เป็นอาการที่พบได้น้อยมาก อาทิ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เยื่อบุหัวใจอักเสบซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ลิ้นหัวใจรั่ว และหัวใจวายได้

จะป้องกัน โรคหนองใน ได้ยังไง ?

  1. เรื่องแรกที่ต้องนึกถึง คือ การมีคู่นอนเพียงคนเดียวเท่านั้น จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับ และหากอยากสร้างความมั่นใจให้มากขึ้น ควรแนะนำให้คู่นอนเข้ารับการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะดีที่สุด
  2. งดเว้น หรือหลีกเลี่ยงการสำส่อนทางเพศ หรือการเที่ยวกลางคืน จะเป็นสิ่งที่ดีที่สุด แต่หากจะต้องหลับนอนกับคนอื่น หรือคนที่เราสงสัยว่าจะเป็นหนองในก็ควรใช้ถุงยางอนามัยเสมอ เพราะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยป้องกันโรคได้ 100% ส่วนโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ การใช้ถุงยางอนามัยอาจไม่ได้ผล ทำให้มีโอกาสที่จะติดเชื้อได้อยู่บ้าง
  3. หลีกเลี่ยงการใช้ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัวร่วมกับผู้อื่น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ
  4. ให้ดื่มน้ำก่อนที่จะร่วมเพศและปัสสาวะทันทีหลังร่วมเพศ หรือใช้สบู่ฟอกล้างทันทีหลังร่วมเพศ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยลดโอกาสที่จะติดเชื้อได้ แต่อาจไม่ได้ผลในบางราย

คุณกำลังดู: รู้ไว้ใช่ว่า เป็น "โรคหนองใน" ห้ามปล่อยไว้ ต้องรักษา!

หมวดหมู่: รู้ทันโรค

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด