ตำนานเจ้าแม่ลายจุด “ยาโยอิ คุซามะ” จากภาพหลอนสู่พลังสร้างสรรค์ให้โลกจำ

ตำนานเจ้าแม่ลายจุด “ยาโยอิ คุซามะ” จากภาพหลอนสู่พลังสร้างสรรค์ให้โลกจำ

พูดถึงศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นที่มีอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของยุค คงไม่มีใครมีเอกลักษณ์โดดเด่นเกิน “ยาโยอิ คุซามะ” ที่เปลี่ยนภาพหลอนจากอาการป่วยทางจิต กลายมาเป็นสุดยอดผลงานศิลปะระดับโลกอันไร้ขีดจำกัดและน่าพิศวง ชื่อเสียงของ “เจ้าแม่ลายจุด” ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงศิลปะ แต่ยังก้าวข้ามไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการแฟชั่นโลก

ภายใต้การสนับสนุนของ “หลุยส์ วิตตอง” นับเป็นครั้งที่สองที่มีการเชื้อเชิญศิลปินในตำนานผู้นี้ มาร่วมแลกเปลี่ยนไอเดียสร้างสรรค์ผลงานแนวทางใหม่ๆ พร้อมปลุกเร้ากระตุ้นความคิดให้ต่อยอดขยายใหญ่ยิ่งกว่าที่เคย ผ่านการนำเสนอคอลเลกชันสุดพิเศษ “Louis Vuitton × Yayoi Kusama” หยิบลวดลายสัญลักษณ์ของศิลปินผู้สร้างแรงบันดาลใจมาพัฒนาสู่การสร้างสรรค์ตามแนวทางของเมซง หนึ่งทศวรรษเต็มหลังจากการร่วมงานกันครั้งแรก สัญลักษณ์ของ “ยาโยอิ คุซามะ” กำลังจะกลับมาสร้างแรงบันดาลใจครั้งใหญ่ พร้อมลวดลายชวนหลงใหล และจินตนาการไร้ขีดจำกัด

ตั้งแต่วัยเยาว์ในเขตชนบทของประเทศญี่ปุ่น จวบจนกลายเป็นศิลปินชื่อก้องโลก “ยาโยอิ คุซามะ” มุ่งมั่นที่จะพลิกชีวิตให้รุ่งโรจน์ด้วยพลังแห่งศิลปะที่ไหลเวียนอยู่ในตัวเอง กระทั่งสามารถก้าวขึ้นมาเป็นศิลปินหญิงผู้ทรงอิทธิพลเหนือใครในวันนี้ โด่งดังเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกในฐานะเจ้าของผลงานกระแสอาวองการ์ด (avant-garde) ที่เต็มไปด้วยความน่าพิศวงของสีสัน, ลวดลายอันละลานตา และความเศร้าที่ซ่อนอยู่ภายใต้ศิลปะสีสันสดใส โดยมีลายจุดและฟักทองเป็นสัญลักษณ์โดดเด่น

ใครจะรู้บ้างว่าเบื้องหลังความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้กับความทรงจำอันเจ็บปวด “ยาโยอิ คุซามะ” เป็นลูกสาวเจ้าของฟาร์มในเมืองมัตสึโมโตะ ประเทศญี่ปุ่น โตมาในครอบครัวแตกแยก พ่อเจ้าชู้ และแม่มักนำความโกรธเกรี้ยวมาลงกับลูกๆ เธอเลือกจะหนีความเศร้าด้วยการเที่ยวเล่นในทุ่งดอกไม้ และจินตนาการว่าตัวเองหายไปในโลกอีกใบหนึ่ง หลายกระแสระบุว่าเธอเริ่มมีอาการป่วยเห็นภาพซ้อนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ และพยายามใช้ความคลั่งไคล้ในศิลปะช่วยระบายภาพหลอนในหัว เพื่อเยียวยาความป่วยทางจิตใจ เธอเริ่มสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากลายจุดจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัว มีผลงานจัดแสดงในญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่องตลอดต้นทศวรรษ 1950

อย่างไรก็ดี ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง หนีจากสภาพครอบครัวอันขมขื่น และสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยความกดดันของญี่ปุ่นยุคนั้น ในวัย 27 ปี ศิลปินจอมขบถตัดสินใจเผางานตัวเองหลายร้อยชิ้น แล้วทิ้งบ้านเกิดบินไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นิวยอร์ก ปักหลักอยู่นานกว่า 15 ปี

แม้จะได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากนักวิจารณ์และคนในแวดวงศิลปะมะกัน แต่โชคร้ายที่สังคมมะกันยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ยังคงบดขยี้สาวเอเชียอย่างไม่ลดละ ท่ามกลางอคติทางเพศ “ยาโยอิ คุซามะ” มุ่งมั่นทำงานศิลปะอย่างไม่เคยหยุดนิ่ง หลายต่อหลายครั้งงานของเธอถูกปฏิเสธการจัดแสดง แต่เธอก็ยังไม่ถอดใจที่จะส่งผลงานไปตามแกลเลอรีต่างๆเพื่อหาที่ยืนให้ตัวเอง ผลงานในยุคนั้นเต็มไปด้วยความโกรธเกรี้ยวและขบถ โดยหนึ่งในผลงานสร้างชื่อคือการวาดลวดลายจุดบนตัวนายแบบและนางแบบที่เปลือยเปล่าเพื่อต่อต้านสงครามเวียดนาม

ท่ามกลางความผิดหวังอย่างแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส่งผลให้เธอกลายเป็นโรคซึมเศร้าคิดสั้นฆ่าตัวตาย ภายหลังจึงยอมรับว่าตัวเองมีอาการป่วยทางจิตเวชเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ ซึ่งปรากฏร่องรอยให้เห็นชัดจากลวดลายซ้ำๆแบบไร้ที่ติและไม่มีที่สิ้นสุด

ขณะอายุได้ 44 ปี ศิลปินผู้อาภัพตัดสินใจเดินทางกลับมารักษาตัวที่บ้านเกิดในประเทศญี่ปุ่น โดยเข้าโรงพยาบาลจิตเวชชื่อดังของกรุงโตเกียว เธอยอมรับว่าถ้าไม่ใช่เพราะต้องการอุทิศตัวให้งานศิลปะ ป่านนี้คงฆ่าตัวตายไปนานแล้ว!! แม้จะได้รับความบอบช้ำทางจิตใจ แต่คุณป้าลายจุดก็ไม่เคยหยุดสร้างสรรค์ผลงานศิลปะให้โลกจดจำ เธอมีสตูดิโอส่วนตัวอยู่ใกล้ๆ โรงพยาบาล และยังคงใช้ศิลปะบำบัดอาการป่วยทางจิตใจจนถึงปัจจุบัน แม้วัยจะล่วงเลยไป 93 ปี

ย้อนกลับไปยังโปรเจกต์ความสร้างสรรค์ครั้งแรกระหว่าง “หลุยส์วิตตอง” กับ “ยาโยอิ คุซามะ” ในปี 2012 มิตรภาพอันดีระหว่างกันยังคงต่อเนื่องไม่สิ้นสุด แม้จะล่วงเลยมาถึงปีที่สิบ บทสนทนาที่เปี่ยมด้วยความน่าอัศจรรย์ยังคงนำมาขยายและพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง สำหรับ “หลุยส์ วิตตอง” การร่วมทำงานกับเหล่าศิลปินถือเป็นส่วนหนึ่งในประวัติศาสตร์ยาวนานของเมซง นับตั้งแต่เกือบร้อยปีก่อนในยุคของ “Gaston-Louis Vuitton” หลานชายผู้สืบสายเลือดของผู้ก่อตั้ง ได้เชื้อเชิญเหล่าศิลปินมาร่วมออกแบบผลงาน
สำหรับโชว์บริเวณหน้าต่างและภายในร้านสาขาต่างๆของ “หลุยส์ วิตตอง” โดยความร่วมมือนี้ถูกผลักดันตลอดหลายปีจนเปรียบได้กับการเดินทางผ่านห้วงเวลายาวนาน ขณะเดียวกันก็ผสานไปกับเหตุการณ์ร่วมสมัย นับตั้งแต่ปี 1988 เมซงได้ร่วมทำงานกับศิลปินและนักออกแบบผู้มีชื่อเสียงมากมาย

สำหรับการพบกันรอบใหม่ของ “หลุยส์วิตตอง” และ “ยาโยอิ คุซามะ” ตั้งอยู่บนพื้นฐานของมิตรภาพที่จริงใจ การแสดงออกถึงอัตลักษณ์ และเหนืออื่นใดคือความชื่นชอบต่องานฝีมือและความยอดเยี่ยมเหนือความธรรมดาที่มีร่วมกัน ทั้งคู่เริ่มต่อจิ๊กซอว์จากของขวัญชิ้นพิเศษที่หลงเหลือจากบทสนทนาระหว่างกันในปี 2012 ซึ่งได้ช่วยนำทางโลกสองใบที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงให้มาบรรจบกัน ในห้วงเวลาดังกล่าว “ยาโยอิ คุซามะ” ได้นำงานออกแบบชิ้นเอกของเมซงมาสร้างสรรค์ในรูปแบบของเธอเอง โดยการวาดจุดโพลก้าดอตด้วยมือลงบนหีบเดินทาง ลวดลายสำคัญนี้เองคือตัวแทนแห่งพลังที่ไร้จุดสิ้นสุด

ลวดลายจุดเหล่านี้ถูกถ่ายทอดโดยจำลองผลงานของเจ้าแม่ลายจุดอย่างไม่ผิดเพี้ยน เพื่อท้าทายขีดจำกัดและแสดงถึงงานฝีมือของเมซง ลวดลายจุดแต่ละตำแหน่งถูกจัดวางโดยศิลปินเอง ซึ่งเธอได้ออกแบบลวดลายให้มีลักษณะเฉพาะตัวบนวัสดุที่แตกต่างกันไป ลวดลายถูกจัดวางอย่างแม่นยำในระดับมิลลิเมตร ฝีแปรงสะท้อนถึงรายละเอียดแปลกตาผ่านพื้นผิวและน้ำหนักของมือ

คอลเลกชัน “Louis Vuitton × Yayoi Kusama” จะเติมเต็มประสบการณ์พร้อมกันทั่วโลกในรูปแบบวินโดว์ดิสเพลย์, ร้านป๊อปอัป และบิลบอร์ดขนาดใหญ่ ร่วมไปกับเทคนิคจำลองสามมิติ (AR) และแคมเปญโฆษณา ตั้งแต่วันที่ 6 มกราคม 2023 ถือเป็นอีกหนึ่งผลงาน น่าจับตามองของศิลปินเอกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดขณะยังมีชีวิตอยู่.

ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

คุณกำลังดู: ตำนานเจ้าแม่ลายจุด “ยาโยอิ คุซามะ” จากภาพหลอนสู่พลังสร้างสรรค์ให้โลกจำ

หมวดหมู่: แฟชั่น

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด