ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ เปิดขั้นตอน พร้อมบทสวดถวายสังฆทาน

การถวายสังฆทานตามขั้นตอนพร้อมของถวายเป็นการทำบุญใหญ่ ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับตนเอง ในขณะเดียวกันก็เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษของตนเอง

ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ เปิดขั้นตอน พร้อมบทสวดถวายสังฆทาน

การถวายสังฆทานเป็นหนึ่งในวิธีการทำบุญที่พุทธศาสนิกชนคนไทยเชื่อว่าเป็นการทำบุญใหญ่ ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต ในขณะเดียวกันก็เป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษของตนเอง วิธีถวายสังฆทานที่ถูกต้องจะต้องเตรียมของถวายสังฆทาน กล่าวบทถวายสังฆทาน ประเคนถวายพร้อมกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญกุศล

การถวายสังฆทานคืออะไร

การถวายสังฆทาน คือ การถวายทานให้แด่พระสงฆ์ โดยไม่ระบุว่าพระสงฆ์เป็นรูปใด สิ่งของที่เตรียมมาถวายมักเป็นของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของภิกษุสงฆ์หรือสามเณร

เดิมทีของเหล่านี้จะถูกนำมาใช้ในช่วงเข้าพรรษา แต่ปัจจุบันไม่มีการกำหนดตายตัวว่าของที่นำไปถวายสังฆทานต้องใช้ช่วงเวลาใด ในบางครั้ง หากสิ่งของเหล่านี้ได้รับมาเกินความจำเป็น พระสงฆ์จะให้ทานแก่ญาติโยมต่อ

ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ

การถวายสังฆทานให้ได้บุญและถูกต้อง จะต้องจัดเตรียมของถวายสังฆทาน โดยเป็นของสะอาด ประณีต สามารถนำไปใช้ได้จริง ในขณะเดียวกันการถวายให้ในแต่ละครั้งจะต้องถวายด้วยใจที่บริสุทธิ์และความศรัทธา ซึ่งวิธีถวายสังฆทานแต่ละครั้งจะต้องบูชาพระรัตนตรัย กล่าวบทสวดถวายสังฆทานในรูปแบบต่างๆ ก่อนจะประเคนถวายแด่พระสงฆ์

คำถวายสังฆทานทั่วไป พร้อมคำแปล

ก่อนกล่าวคำถวายสังฆทานทั่วไป นิยมใช้กล่าวคำถวายสังฆทานวันเกิด วันสำคัญ วันเริ่มต้นกิจการใหม่ โดยคำถวายประเภทนี้เรียกอีกชื่อว่า “คำถวายสังฆทานสามัญ” ให้ตัวเองหรือคนที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนี้

คำบูชาพระรัตนตรัย
“อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธัง ภะคะวังตัง อะภิวาเทมิ (กราบ)
สะวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม ธัมมังนะมะสามิ (กราบ)
สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ (กราบ)”

คำกล่าวอาราธนาศีล
“มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะทุติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะตะติยัมปิ มะยัง ภันเต ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิยาจามะ”

คำถวายสังฆทานทั่วไป
“นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ” (3 จบ)
“อิมานิ มะยัง ภันเต ภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุ โน ภันเต ภิกขุ สังโฆอิมานิ ภัตตานิ สะปะริวารานิ ปฏิคคัณหาตุ อัมหากัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”

คำแปลคำถวายสังฆทานทั่วไป
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระสงฆ์ ขอพระสงฆ์จงรับภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลายเพื่อประโยชน์สุข แก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย ตลอดกาลนานเทอญ สาธุ.

คำถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศล

วิธีถวายสังฆทานเพื่ออุทิศส่วนกุศลมีขั้นตอนคล้ายกับถวายสังฆทานทั่วไป เพียงแต่บทสวดจะต่างกัน ดังนี้
“อิมานิ มะยัง ภันเต มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ภิกขุสังฆัสสะ โอโณชะยามะ สาธุโนภันเต ภิกขุสังโฆ
อิมานิ มะตะกะภัตตานิ สะปะริวารานิ ปะฏิคัณหาตุ อัมหากัญเจวะ มาตาปิตุอาทีนัญจะ ญาตะกานัง กาละกะตานัง ทีฆะรัตตัง หิตายะ สุขายะ”

คำแปลถวายสังฆทานอุทิศส่วนกุศล
ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลายขอน้อมถวายมะตะกะภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้แด่พระภิกษุสงฆ์ ขอพระภิกษุสงฆ์จงรับมะตะกะภัตตาหาร กับทั้งบริวารทั้งหลายเหล่านี้ของข้าพเจ้าทั้งหลาย เพื่อประโยชน์สุขแก่ข้าพเจ้าทั้งหลาย และญาติของข้าพเจ้าทั้งหลาย มีบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย ญาติสนิทมิตรสหาย ทั้งผู้ที่มีญาติและไม่มีญาติที่ได้ล่วงลับไปแล้ว ตลอดกาลนานเทอญ สาธุ

ของถวายสังฆทาน 9 อย่างมีอะไรบ้าง

ของถวายสังฆทานที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะนิยมซื้อของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตหรือมีประโยชน์ ดังนี้

  • ผ้าไตรจีวร ผ้าไตรจีวรถือเป็นของสำคัญต่อการดำรงชีวิตของพระสงฆ์ แนะนำให้เลือกสีจีวรตามที่ท่านครอง ตลอดจนพิจารณาเนื้อผ้าไตรจีวรที่เหมาะสม เพื่อให้ใช้งานได้จริง
  • ยารักษาโรค ไม่ว่าจะด้วยยารูปแบบใด ถือเป็นของจำเป็น ส่วนใหญ่จะนิยมเลือกยาสามัญประจำบ้าน ยาชง หรือยาชนิดทา
  • หนังสือธรรมะหรืออุปกรณ์การเรียน เช่น ดินสอ สมุด ปากกา กระดาษ เตรียมสำหรับให้พระสงฆ์หรือสามเณรได้ใช้สำหรับเรียนพระปริยัติธรรม
  • อาหารแห้ง เช่น ข้าวสาร โจ๊ก อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สำหรับช่วงที่ไม่ได้ออกบิณฑบาต หรือในบางครั้งหากอาหารแห้งมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่พระสงฆ์จะมอบเป็นทานให้กับญาติโยม
  • ของใช้ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นสบู่ ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ผ้าขนหนู เป็นของจำเป็นส่วนตัว ดังนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งาน
  • หลอดไฟหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในเรียนธรรมะหรือการปฏิบัติธรรม
  • ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เช่น น้ำยาล้างจาน ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ ไม้กวาด สำหรับทำความสะอาดพื้นที่วัด กุฏิ โบสถ์ หรืออาคารภายในบริเวณ
  • มีดโกน สำหรับโกนหนวด หรือปลงผม เนื่องจากพระสงฆ์จะต้องรักษาความสะอาดของร่างกายตัวเอง โดยเฉพาะผมหรือหนวดเครา
  • เครื่องดื่มหรือชา ไม่ว่าจะเป็นนม ชา น้ำสมุนไพร หรือเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ช่วยเพิ่มความสดชื่น ที่สำคัญดีต่อสุขภาพ

อย่างไรก็ดี ของถวายสังฆทานสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความสะดวกและเหมาะสม เช่น ร่ม ไฟฉาย เทียนพรรษา อุปกรณ์การช่าง อุปกรณ์การซ่อมแซม โดยเน้นถวายของที่จำเป็นเป็นหลัก

ถวายสังฆทานกี่โมงถึงจะดี

หลายคนเกิดคำถามที่ว่า ถวายสังฆทานเวลาไหนได้บ้าง คำตอบคือ สามารถถวายสังฆทานได้ทุกช่วงเวลา เพียงแต่หากจะถวายสังฆทานที่มีอาหารสดหรืออาหารแห้ง แนะนำให้ถวายก่อนช่วงฉันเพล เวลา 11.00 น. ในขณะเดียวกัน หากจะถวายในช่วงเย็น แนะนำให้ถวายก่อน 18.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาทำวัตรเย็น

ถวายสังฆทานมีผลดีอย่างไร

พุทธศาสนิกชนคนไทยเชื่อว่า การถวายสังฆทาน ถือการทำบุญใหญ่ หากทำด้วยใจที่บริสุทธิ์จะเป็นบุญมหาศาล ช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิต สั่งสมบุญมหาศาล ซึ่งหากถวายสังฆทานกับผู้ล่วงลับ ก็จะเป็นการอุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษของตนเองได้เช่นกัน

ถวายสังฆทานวัดไหนดี

การถวายสังฆทานสามารถถวายได้ทุกวัด โดยอาจจะเลือกถวายสังฆทานวัดใกล้บ้าน หรือวัดที่เดินทางได้อย่างสะดวก เช่น

  • ถวายสังฆทานวัดหัวลำโพง เปิดทุกวัน ทุกเวลา MRT ปลายทางสถานีสามย่าน
  • ถวายสังฆทานวัดพระศรีมหาอุมาเทวี เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 06.00-21.00 น. MRT สถานีสีลม
  • ถวายสังฆทานวัดโพธิ์ เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 08.30-17.30 น. MRT สถานีสนามไชย
  • ถวายสังฆทานวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 08.00-17.00 น. MRT สถานีหัวลำโพง
  • ถวายสังฆทานวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 07.00-18.30 น. MRT สถานีวัดมังกร
  • ถวายสังฆทานวัดธาตุทอง เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 05.00-21.30 น. BTS สถานีเอกมัย
  • ถวายสังฆทานวัดยานนาวา เปิดทุกวัน ตั้งแต่ 05.00-22.00 น. BTS สถานีสะพานตากสิน

การทำบุญถวายสังฆทาน สามารถทำได้ทุกโอกาส ทุกวันเวลา โดยวิธีถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ ไม่จำเป็นต้องเตรียมของราคาแพงหรือของมีค่า เพียงแค่เตรียมของที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ต่อพระสงฆ์และสามเณร พร้อมทั้งกล่าวบทสวดถวายสังฆทาน และประเคนถวายด้วยความศรัทธาและความบริสุทธิ์ เพียงเท่านี้ก็เป็นการสร้างบุญกุศลแล้ว

คุณกำลังดู: ถวายสังฆทานอย่างไรให้ได้บุญ เปิดขั้นตอน พร้อมบทสวดถวายสังฆทาน

หมวดหมู่: วัฒนธรรม

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด