4 สเต็ป Information Operation ในศึกเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดีย
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 นับเป็นการเลือกตั้งที่อื้อฉาวครั้งหนึ่งในการทำแคมเปญทางการเมือง เพราะมีการถกเถียงในวงกว้างว่าชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ นั้นไม่ได้ขาวสะอาด หากแต่ใช้วิธีการที่สร้างความเชื่อผิด ๆ และการสาดโคลนใส่คู่ต่อสู้บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย จนทำให้ทรัมป์ มีชัยชนะเหนือฮิลลารี คลินตัน
แม้ว่าจะยังไม่มีการพิสูจน์ออกมาแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ หากแต่วิธีการของโดนัลด์ ทรัมป์ นับเป็นการนำใช้แพลตฟอร์ม โซเชียลมีเดียในการเอาชนะคู่ต่อสู้ทางการเมือง และทำให้ในเวลาต่อมา โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์กลายเป็นพื้นที่สำหรับนักการเมืองและเหล่าดาราหรือเซเลบริตี้ ในการสร้างข้อมูลเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง จนทำให้เราอยู่ในยุค “มหาสมุทรของข้อมูลที่ไม่สามารถวัดได้ว่าเรื่องใดจริง เรื่องใดลวง”
บทความชิ้นนี้จะนำเอาวิธีการที่ถูกระบุว่า โดนัลด์ ทรัมป์ ใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในแคมเปญหาเสียงของตนเองอย่างไรจนเอาชนะฮิลลารี คลินตัน โดยทีมงาน Tonkit360 จะนำเอาปฏิบัติการทางข้อมูลมากางออกทั้ง 4 สเต็ป จากนั้นมาลองดูกันว่าเมื่อทาบทับกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ของเมืองไทย มีวิธีการไหนที่เราท่านในฐานะผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง รู้สึก “เอ๊ะ” กันบ้าง เพราะถ้าจะพิจารณาตามสถานการณ์แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้แต่ละพรรคใช้งบประมาณกับโซเชียลมีเดียมากที่สุด ถึงขนาดที่เฟซบุ๊กต้องจับตาการซื้อโฆษณาของนักการเมืองบนแพลตฟอร์มของตนเองในครั้งนี้ โดยผู้บริหารเฟซบุ๊กนั้นได้ระบุว่า
“นักการเมือง พรรค หน่วยงาน หรือแม้แต่เพจสื่อมวลชน ถ้าอยากจะซื้อโฆษณาเพื่อโปรโมตพรรคและนักการเมือง ต้องผ่านขั้นตอนการขออนุญาตที่ต้องยืนยันตนเองด้วยบัตรประชาชน พร้อมรูปภาพที่ออกบัตรโดยรัฐบาล และระบุข้อความ ‘ได้รับสปอนเซอร์จาก’ บนโฆษณาของพวกเขา เพื่อให้ผู้คนในประเทศไทยรับรู้ว่าใครเป็นผู้สนับสนุนโฆษณาดังกล่าว”
ทีนี้มาดูกันว่า 4 ขั้นตอนของปฏิบัติการส่งออกข้อมูลสู่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียนั้นมีการเริ่มต้นอย่างไร หาแนวร่วมแบบไหน และท้ายที่สุดแล้ว ทำลายเครดิตของคู่แข่งขันอย่างไร
ปฏิบัติการขั้นที่ 1 : กระจายข่าวลือบนโซเชียลมีเดีย
วิธีการในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ปี 2016
ในแคมเปญการหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์นั้น ใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียหลัก ๆ อยู่สามพื้นที่ คือทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และอินสตาแกรม ขณะเดียวกัน ทรัมน์นั้นมีแอ็กเคานต์บนทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้ทรัมป์สามารถปลุกเร้าผู้สนับสนุนได้ตลอดเวลา ขณะเดียวกัน ข้อความของทรัมป์ในทวิตเตอร์มักจะเป็นข่าวเสมอ เหนืออื่นใด ข้อความของทรัมป์ได้รับความเชื่อถือทุกครั้งเมื่อปล่อยข่าวลือหรือข่าวปลอมออกไป เพราะผู้ติดตามหรือ Follower ของทรัมป์ รู้สึกได้ถึงการได้ติดต่อสื่อสารกับทรัมป์โดยตรง ไม่จำเป็นต้องมีสื่อมาขวางกั้นเหมือนในอดีต
วิธีการของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปของไทย
จะเห็นว่าข่าวการเลือกตั้งทั่วไปนั้น มีข่าวลือถูกแพร่กระจายมาตั้งแต่เรื่องการกำหนดวันเลือกตั้งไปจนถึงการสร้างพรรคใหม่ของผู้นำคนปัจจุบันที่จะไม่อยู่กับกลุ่มก๊วนเดิม รวมไปถึงการนำนักธุรกิจชื่อดังมาเป็นแคดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคใหญ่ที่เป็นขั้วตรงกันข้าม และความพยายามในการปั้นนายกรัฐมนตรีทางเลือกให้กับพรรคขนาดกลางที่กำลังได้รับความนิยมจากนโยบายสีเขียว ทั้งหมดนี้มีปฏิบัติการข่าวสารบนโซเชียลมีเดียมาตั้งแต่ยังไม่มีการประกาศเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ เสมือนเป็นการโยนหินถามทางกับประชาชน เพื่อเป็นสารตั้งต้นทางข้อมูลว่าใครมีความน่าสนใจเพียงใด
และในยุคนี้ นักการเมืองหรือหัวหน้าพรรคแต่ละคนต่างมีแอ็กเคานต์ทวิตเตอร์เป็นของตนเอง บางคนอาจจะใช้เอง บางคนอาจมีแอดมินฯ ดูแล แต่ดูเหมือนว่าในช่วงเลือกตั้ง นักการเมืองทุกคนสื่อสารผ่านช่องทางหลักสองช่องทาง คือทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก และต่างก็ส่งต่อข่าวสารตรงถึงกองเชียร์ของตนเอง มีทั้งที่ได้กลั่นกรองมาแล้วบ้างและไม่ได้กลั่นกรอง ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดมักจะถูกแชร์ในวงกว้าง เพราะผู้สนับสนุนต่างก็อยากให้ข้อความของนักการเมืองที่ตนเองสนับสนุนนั้นได้เห็นกันหลาย ๆ ตา
ปฏิบัติการขั้นที่ 2 : ส่งออกข้อมูลอันเป็นเท็จและข่าวลวง
วิธีการในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ปี 2016
ในแคมเปญเลือกตั้งของทรัมป์นั้น มีข้อกล่าวหาสำคัญที่ว่าเป็นแคมเปญที่ปล่อยข่าวลวง อันทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมาก และเป็นการปล่อยข่าวลวงในหลาย ๆ ช่องทาง ไม่เพียงแค่แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หากการใช้เว็บไซต์และ Blogs ก็ถูกรวมอยู่ในแคมเปญดังกล่าว ซึ่งข้อมลูอันเป็นเท็จทั้งหมดนั้น เป็นการหลอกลวงผู้มีสิทธิออกเสียง ขณะเดียวกันยังสร้างทฤษฎีสมคบคิด ซึ่งไม่ได้อยู่บนพื้นฐานความจิงที่เกี่ยวข้องกับฮิลลารี คลินตัน ขณะเดียวกันสื่อกระแสหลักที่เป็นพวกขวาจัด ได้ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดนั้นออกสู่วงกว้างนอกพื้นที่ออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า มีปฏิบัติการจากรัสเซีย ที่ช่วยสร้างข่าวลวงทั้งหลายให้กับทรัมป์ ในการลงสู้ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
วิธีการของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปของไทย
หลายคนมองว่านี่คือช่วงเวลาของการขุดข่าวมาบลัฟกันของนักการเมืองไทย หากแต่แท้จริงแล้ว ข่าวที่ขุดมาบลัฟกันนั้นมีความจริงอยู่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ หรือบางเรื่องไม่มีความจริงอยู่เลย เป็นเพียงแต่การบอกปากต่อปากมาเท่านั้น หากสิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือข้อมูลเหล่านี้ถูกส่งออกมาบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลายเรื่องคือข้อมูลอันเป็นเท็จ และมีไม่น้อยที่เป็นข่าวลวง การกระจายข่าวลือบนโซเชียลมีเดียก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ตามระดับความนิยมของแต่ละพรรคการเมือง
เรื่องราวที่โดนโจมตีบนโซเชียลมีเดียและสามารถแพร่กระจายออกไปได้รวดเร็วมากที่สุด หนีไม่พ้นเรื่องทำนองชู้สาว หรือการใช้อำนาจในทางมิชอบ ซึ่งเรื่องเหล่านี้มักมีข้อความตั้งต้นมาจากแอ็กเคานต์ประเภท “อวตาร” หรือไม่แสดงตัวตน แล้วถูกขยายความต่อจากอินฟลูเอนเซอร์ของแต่ละฝ่าย ก่อนจะตามมาสมทบด้วยสื่อกระแสหลักที่ต้องพิจารณาว่าใครอยู่ข้างใคร
ปฏิบัติการขั้นที่ 3 : ร่วมมือกันทำลายคู่ต่อสู้
วิธีการในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ปี 2016
แคมเปญของทรัมป์ในการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น เรียกได้ว่าเป็นการให้ผู้สนับสนุนของตนเองช่วยกันทำลายคู่ต่อสู้ ด้วยการขุดหาเรื่องราวอันเป็นจุดบอดของฮิลลารีและพรรคเดโมแครต รวมไปถึงการขยายความเกี่ยวกับข่าวลือทั้งเรื่องสุขภาพ นโยบายต่างประเทศในสมัยที่ฮิลลารี ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ และการปล่อยอีเมลอื้อฉาวที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญจนทำให้ฮิลลารีนั้นพ่ายแพ้การเลือกตั้ง
วิธีการของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปของไทย
เราจะเห็นว่าแต่ละพรรคการเมืองมีกองเชียร์เป็นของตนเอง และกองเชียร์เหล่านั้นมักทำหน้าที่อวยยศให้กับพรรคที่ตนเองให้ความสนับสนุนและคอยปกป้องจากข่าวที่พยายามสร้างขึ้นมาเพื่อโจมตี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องปกติ หากการเชียร์ และการปกป้องทั้งหลายนั้นไม่เกิดบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย เพราะข้อความของเหล่ากองเชียร์และกองแช่ง จะถูกเลื่อนผ่านตาผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียตลอดเวลา
ขณะเดียวกัน กองเชียร์และกองแช่ง คือกำลังสำคัญในการส่งต่อข้อมูลที่ผิดพลาดในโซเชียลมีเดีย จนทำให้เกิดความเข้าใจผิดและความคลางแคลงในตัวผู้สมัคร ไม่เพียงเท่านั้น เหล่า Influencer ที่ได้รับความนิยมมาก ๆ ก็มักจะเป็นทางเลือกของนักการเมืองยุคนี้ เพื่อให้เชียร์หรือสร้างภาพที่น่าจดจำให้กับตนเองและพรรค ซึ่งวิธีการดังกล่าวนอกจากสร้างความน่าเชื่อถือให้เกิดขึ้นแล้ว ยังเป็นการทำลายคู่ต่อสู้ไปในเวลาเดียวกัน
ปฏิบัติการขั้นที่ 4 : การแฮกอีเมล หาข้อมูลด้านลบ หรือใช้ข้อมูลที่เป็นจุดอ่อนทำลายคู่ต่อสู้
วิธีการในแคมเปญหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ปี 2016
ในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปี 2016 นั้น จุดเปลี่ยนสำคัญที่นับเป็นหมัดเด็ดอันทำให้ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งนั้น คือการแฮกเข้าอีเมลของพรรคเดโมแครตและอีเมลของ จอห์น โพเดสตา ซึ่งเป็นหัวหน้าแคมเปญเลือกตั้งของ ฮิลลารี คลินตัน ซึ่งทรัมป์ ใช้วิธีการดังกล่าวในการสาดโคลนไปยังฮิลลารี แม้ว่าจะไม่มีอีเมลหลุดออกมาในสื่อ แต่วิธีการดังกล่าวของทรัมป์ นับว่าไร้จรรยาบรรณในฐานะนักการเมืองเป็นอย่างยิ่ง
วิธีการของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งทั่วไปของไทย
การแฮกอีเมล หรือความพยายามเจาะไปที่แคมเปญ หรือเรื่องทางด้านมืดของคู่แข่งที่โดนัลด์ ทรัมป์ทำนั้น คือการขุดหาอดีตที่เป็นรอยแผลของคู่แข่ง ซึ่งแน่นอนว่าคนเราทุกคนย่อมมีบาดแผล อยู่ที่ว่าแผลนั้นจะเล็กหรือใหญ่ หากใครไม่มีบาดแผลแต่ก็ต้องมีจุดอ่อน และจุดอ่อนที่สุดของคนเราคือ ครอบครัว ดังนั้น เมื่อคิดจะลงสนามการเมือง คุณมีทางเลือกสองอย่าง อย่างแรกคือเก็บครอบครัวให้ลึกที่สุด ไม่ให้ใครมาทำร้ายได้ หรือเปิดตัวครอบครัว แต่ต้องมั่นใจว่าพวกเขาจะแข็งแกร่งพอที่จะยืนต้านกระแสทางด้านลบ
ซึ่งในระหว่างการหาเสียง นับตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา เราจะเห็นข้อมูลเชิงลบของนักการเมืองหลายคน ทั้งเรื่องทำร้ายร่างกายคนในครอบครัว ความสัมพันธ์กับธุรกิจสีเทา (หรือดำไปเลย) เรื่องของสมาชิกในครอบครัวที่ได้สิทธิพิเศษ หรือแม้แต่คำพูดในอดีตที่พูดไว้อย่างปัจจุบันพูดอีกอย่าง ก็จะถูกนำมาส่งต่อเข้าสู่ระบบโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีความจริงอยู่เท่าไรนั้นไม่มีใครรู้ หากแต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ถูกส่งต่อเป็นที่เรียบร้อย อันส่งผลต่อภาพจำของตัวผู้สมัครเป็นอย่างยิ่ง
ทั้งหมดนี้คือ ปฏิบัติการ Information Operation ที่ถูกใช้ในทางการเมืองกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ในฐานะผู้มีสิทธิออกเสียงนั้น สิ่งสำคัญที่คุณต้องพึงระวังให้มากที่สุด คือการรับข่าวสาร เพราะในวันที่สื่อกระแสหลักไม่สามารถช่วยกลั่นกรองข้อมูลที่ถูกต้องได้ (เพราะทุกเจ้าต่างเลือกข้าง) หนทางเดียวในฐานะของคนหย่อนบัตรที่จะทำได้ คือใช้ตราชั่งในใจของคุณเองพิจารณาข้อเท็จจริงจากมหาสมุทรข้อมูล แล้วลองเลือกดูว่าคะแนนเสียงของคุณจะไปอยู่ที่ใคร
คุณกำลังดู: 4 สเต็ป Information Operation ในศึกเลือกตั้งบนโซเชียลมีเดีย
หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่