AI กับวงการกฎหมาย เมื่อหุ่นยนต์รับบทเป็นทนายความ!

AI กับวงการกฎหมาย เมื่อหุ่นยนต์รับบทเป็นทนายความ!

สืบเนื่องมาจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของนวัตกรรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ก่อกำเนิดสิ่งมหัศจรรย์ต่าง ๆ ที่ใครหลายคนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าโลกเราจะมาไกลได้ถึงเพียงนี้ ความมหัศจรรย์เหล่านั้นเปลี่ยนโลกของเราไปอย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยมีมาก่อน เวลานี้ความมหัศจรรย์ทั้งหลายกำลังจะกลายเป็นเรื่องปกติ เมื่อมนุษย์คุ้นเคยกับมันมากขึ้นจากการได้ใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิต จนทำให้เทคโนโลยีทั้งหมดทั้งมวลมีอิทธิพลครอบคลุมแทบทุกสิ่งอย่างรอบตัวเราไม่มากก็น้อย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดและทำให้มนุษย์ตื่นตัวมากที่สุด เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องของเทคโนโลยี AI (Artificial Intelligence) สุดชาญฉลาด การที่ AI กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น มาจากข้อความที่แฝงไปด้วยความกังวลว่า “AI จะแย่งงานคน” เพราะดูเหมือนว่าถ้า AI สามารถแย่งงานคนได้จริง ๆ จะมีคนที่ได้รับผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า แน่นอนว่าในเวลานี้ การใช้งาน AI เป็นฟันเฟืองหลักแทนแรงงานคนแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ของทุกวงการยังไม่เกิดขึ้น AI ยังคงมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ยังเข้าครองตลาดแรงงานคนอย่างสมบูรณ์ไม่ได้ แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่ามันดูไม่ได้เกินจริงสักเท่าไรนัก เพราะสุดท้ายแล้วจะต้องมีคนที่ได้ตกงานเพราะ AI อย่างแน่นอนไม่มากก็น้อย

ล่าสุด ดูเหมือนว่าความต้องการที่จะให้ AI เข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมหลาย ๆ อย่างของมนุษย์จะไม่ถูกยกเว้นให้กับคนทำงานในวงการไหนสักวงการ ขนาดในวงการกฎหมาย AI ยังค่อย ๆ กระเถิบเข้ามามีส่วนร่วมทีละนิด ๆ จากการที่ “หุ่นยนต์จาก AI ได้กลายเป็นทนายความ” หุ่นยนต์จากบริษัท DoNotPay เตรียมรับบทเป็นทนายความขึ้นสู้คดีให้จำเลยที่โดนใบสั่งจากการทำผิดกฎจราจร ณ ศาลสหรัฐฯ โดยจะเริ่มเข้าศาลตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 นี้ นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นครั้งแรกของโลกด้วยที่มนุษย์จะเริ่มใช้ AI ขับเคลื่อนกระบวนการยุติธรรม

AI รุกคืบวงการกฎหมาย

ที่ผ่านมา เคยมีการศึกษาถึงผลกระทบจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอาชีพต่าง ๆ หลากหลายอาชีพ ซึ่งก็พบว่าอาชีพในแวดวงกฎหมาย พวกนักกฎหมายและผู้พิพากษานั้นอยู่กึ่งกลางของอาชีพที่มีแนวโน้มว่าจะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีเข้าในสักวัน เนื่องจากลักษณะการทำงานที่มักจะอ้างอิงและตีความจากฐานข้อมูล ซึ่งก็คือตัวบทกฎหมายทั้งหลายทั้งปวง ในยุคที่ข้อมูลทั้งหลายในโลกสามารถนำมารวบรวมด้วยเทคโนโลยีจนกลายเป็น Big Data ที่ฐานข้อมูลใหญ่มาก พวกตัวบทกฎหมายและพวกคำพิพากษาศาลที่ยกมาเป็นกรณีตัวอย่างในการทำคดีใหม่ ๆ อื่น ก็ถูกเก็บรวบรวมไว้เช่นกัน

ในขณะที่เทคโนโลยีจำพวก Machine Learning (เทคโนโลยีที่เปรีบเสมือนสมองของ AI) ก็ถนัดในการเรียนรู้ข้อมูลจากฐานข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลอีกจำนวนมหาศาลที่จะได้รับอย่างต่อเนื่องจากอินเทอร์เน็ต ทำให้เทคโนโลยีสามารถรู้กฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกป้อนข้อมูลเข้าไปได้ไม่ต่างจากนักกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หน่วยความจำของเทคโนโลยีก็มีโอกาสพลาดน้อยกว่าความทรงจำของมนุษย์ มันค่อนข้างจะเป็นรูปธรรม ตรวจสอบข้อมูลผ่านระบบคอมพิวเตอร์ได้ อีกทั้งมนุษย์ยังมีข้อจำกัดในเรื่องของจิตใจที่อาจตีความกฎหมายโดยใช้อคติหรือความลำเอียงส่วนตัวเข้ามาปนได้โดยง่าย ในวงการกฎหมายจึงเริ่มนำเอาเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้จริง ๆ กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ดังนั้น หากมองเพียงผิวเผินก็พอจะเห็นแล้วว่าในเมื่อเทคโนโลยีก็เรียนรู้พวกข้อมูลเหล่านี้ได้ไม่ต่างจากคน เรื่องราวของกฎหมายจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีคนทำก็ได้ การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ช่วยให้ลดขั้นตอนความยุ่งยากลงไปได้เยอะ และคนที่ต้องการจะเข้ามาเป็นลูกความ บางคนก็ไม่ถนัดที่จะกรอกข้อมูลใด ๆ ก็ตามลงในแบบฟอร์ม ที่มีคำถามหลายข้อที่ชวนสับสน รวมถึงการคุยกับเจ้าหน้าที่ที่เป็นคนก็อาจจะมีอารมณ์ไม่ได้พร้อมให้บริการสักเท่าไรนักด้วย เรื่องของค่าจ้างก็ต้องเสียตามที่ทนายความขอเรียกเก็บ ทนายมีชื่อก็เรียกได้แพงเลยทีเดียว ซึ่งลูกความอาจจะไม่ได้มีเงินมากมายขนาดนั้นในการจ้างคนมีความรู้ด้สนกฎหมาย การขอความช่วยเหลือจึงเข้าถึงได้ยากขึ้น

ทนายความหุ่นยนต์ต้องการช่วยเหลือคุณ

จุดเริ่มต้นของทนายความหุ่นยนต์ DoNotPay เป็นเพียง startup ในสหราชอาณาจักร ที่ให้บริการช่วยเหลือผู้คนด้านกฎหมายด้วย AI Chatbot ถูกพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้ใช้งานในการแก้ปัญหาระบบราชการและกฎหมาย ก่อตั้งเมื่อปี 2015 โดยโจชัว บราวเดอร์ (Joshua Browder) นักวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่จบจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ในฐานะ “ทนายความหุ่นยนต์” โดยได้รับการสนับสนุนจากคอมพิวเตอร์ Watson ของ IBM ก่อนที่จะเริ่มให้บริการแอปพลิเคชันทนายความ Chatbot

วัตถุประสงค์ของการสร้าง DoNotPay ขึ้น บราวเดอร์ตั้งใจจะให้หุ่นยนต์ของเขาช่วยเหลือผู้คนในการเข้าถึงสิทธิ์ในการจ้างทนายที่มีค่าบริการถูกลง เพราะโจทก์หรือจำเลยหลายคนที่ไม่ได้มีเงินมากขนาดที่จะไปจ้างทนายความดัง ๆ มาสู้คดีให้ตนเองชนะ มีอยู่หลายกรณีที่ทนายความเรียกค่าบริการที่แพงจนเกินไป แต่ไม่ได้ใส่ใจกับรายละเอียดของคดีเท่าไรนัก กับคดีที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ แบบคดีใบสั่งจราจร แค่คัดลอกวางเอกสารก็จบ ทำให้ผู้ว่าจ้างตัวเล็กตัวน้อยถูกเอาเปรียบจากค่าบริการเกินจริง ซึ่งมันจะดีกว่าไหมหากใช้ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยทำอะไรที่มันเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เขาจึงพยายามพัฒนา AI ให้เข้ามามีบทบาทในการช่วยเหลือให้คำปรึกษาคดีใบสั่งจราจร

ที่ผ่านมา เจ้า DoNotPay ก็ทำงานได้ดีมาก โดยอัลกอริธึมของมันสามารถเอาชนะนักกฏหมายได้ 20 คน โดยโจทย์คือให้วิเคราะห์ถึงความเสี่ยงในข้อตกลงสำหรับการไม่เปิดเผยข้อมูล โดย AI ทำคะแนนได้สูงด้วยความแม่นยำมากถึง 94 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่หุ่นยนต์ไม่ได้เดินไปมาในศาลระหว่างพิจารณาคดีเพื่อปราศรัยกับผู้พิพากษาและคณะลูกขุน เพียงแต่ให้คำปรึกษาลูกความด้วยการแนะนำคำตอบที่เหมาะสมในการตอบคำถามของศาลผ่านแอปฯ ในโทรศัพท์และหูฟัง ผลก็คือ AI ทำได้ ทั้งที่ไม่เคยสอบเนติบัณฑิต และไม่มีใบรับรองเหมือนกับทนายความที่เป็นคน

นอกจากนี้ เมื่อปี 2016 ระบบ chatbot ของ DoNotPay ยังได้เขียนคำอุทธรณ์โต้แย้งเรื่องข้อพิพาทคดีที่จอดรถมากกว่า 250,000 คดีในลอนนดอนและนิวยอร์ก ผลคือมี 160,000 ฉบับที่อุทธรณ์ผ่านและชนะการตัดสินคดี ทำให้จำเลยไม่ต้องเสียค่าปรับ ซึ่งคิดเป็นอัตราความสำเร็จอยู่ที่ 64 เปอร์เซ็นต์ ตีเป็นมูลค่าค่าปรับที่จำเลยไม่ต้องจ่ายได้สูงถึง 4,000,000 ปอนด์ ถึงอย่างนั้น มันก็คงเป็นเรื่องปกติของทนายความ ที่อาจจะว่าความแพ้หรือชนะก็ได้ ในกรณีที่ทนายความ AI ตัวนี้ว่าความแพ้ ทำให้จำเลยแพ้คดี บริษัท DoNotPay ก็ได้ให้สัญญาว่าจะรับผิดชอบค่าปรับทั้งหมดที่เกิดขึ้นด้วย

ทนายความหุ่นยนต์ทำงานอย่างไร

บริษัทต้องใช้เวลาอยู่นานทีเดียวในการฝึกอบรม AI เกี่ยวกับคดีความในหัวข้อต่าง ๆ มากมาย เพื่อให้แน่ใจว่ามันสามารถใช้งานได้จริง และพยายามลดข้อผิดพลาดในการตีความทางกฎหมายให้เหลือน้อยที่สุด เพราะมันไม่ควรที่จะบิดเบือนความจริง ซึ่งจะทำให้การให้บริการด้านการพิจารณาคดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องของเสียงรบกวนที่อาจทำการตีความกฎหมายผิดเพี้ยน ซอฟต์แวร์ของ AI จะได้รับการปรับแต่งไม่ให้ตอบสนองต่อทุกสิ่งที่ได้ยินในศาลโดยอัตโนมัติ แต่จะรับฟังข้อโต้แย้งและวิเคราะห์ก่อนที่จะสั่งให้จำเลยตอบ นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายจะอัปโหลดเอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ให้ AI ออกคำตัดสินที่สามารถอุทธรณ์ต่อผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ได้

การทำงานของทนายความหุ่นยนต์ จะเริ่มต้นด้วยการถามถึงรูปคดี ข้อมูลส่วนตัว และร่างคำฟ้องให้จำเลย ไปจนถึงเขียนบทที่จำเลยต้องพูดหรือห้ามพูด เมื่อต้องขึ้นศาล AI จะให้คำแนะนำแก่จำเลยว่าควรพูดหรือไม่พูดอะไรในชั้นศาล ผ่านทางหูฟังที่เชื่อมต่อกับระบบ AI ที่ทำงานบนสมาร์ตโฟน หลังจากฟังข้อโต้แย้งของศาลแบบเรียลไทม์

สำหรับการพิจารณาคดีที่จะเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ โดยมีทนายความหุ่นยนต์ขึ้นศาลเป็นครั้งแรกของโลก บริษัทไม่ได้เปิดเผยที่ตั้งของศาลหรือชื่อของจำเลย เนื่องจากไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีได้ เพราะต้องปกป้องความเป็นส่วนตัวของจำเลย และป้องกันการละเมิดกฎระเบียบของห้องพิจารณาคดี

นอกจากนี้อีกบริการที่สร้างชื่อแก่ DoNotPay คือ “ฟ้องใครก็ได้” แค่กดปุ่ม มันอาจจะฟังดูดุดันไม่เกรงใจใครเกินไปหน่อย แต่จริง ๆ มันก็ไม่ได้โหดร้ายขนาดนั้น เพราะทาง DoNotPay ได้จำกัดวงของการฟ้องร้องไว้แค่การฟ้องเรียกค่าเสียหายที่ไม่เกิน 25,000 เหรียญ (ประมาณ 838,050 บาท) ในคดีที่ฟ้องใน Small claim court เท่านั้น อารมณ์ก็จะประมาณคดีมโนสาเร่ในบ้านเรา พวกคดีเบ็ดเตล็ดหยุมหยิม เป็นคดีที่มีทุนทรัพย์พิพาทกันคำนวณเป็นเงินได้ไม่เกินสามแสนบาทนั่นเอง

มาถึงจุดนี้ อาจทำให้หลายคนมีคำถามว่า นักกฎหมายที่เป็นมนุษย์จะถูกแทนที่โดยสมบูรณ์หรือไม่ เพราะการมีเจ้า DoNotPay กรณีนี้ บราวเดอร์ก็ชี้แจงว่า DoNotPay ไม่ได้ทำทุกอย่างแทนนักกฎหมาย บางอย่างมันก็ไม่สามารถทำได้ อย่างการโต้เถียงบนชั้นศาลเหมือนการพิจารณาคดีแบบปกติ ปัจจุบัน AI เป็นเพียงที่ปรึกษาข้อกฎหมาย ให้กับลูกความ ที่มันสามารถเรียนรู้ได้จากฐานข้อมูล ดังนั้น ความเชี่ยวชาญของ DoNotPay คือเรื่องสิทธิผู้บริโภค ตั้งแต่คดีจราจรไปจนถึงคดีมโนสาเร่ ซึ่งมันเป็นคดีที่มักจะมีรูปแบบคล้าย ๆ กัน ทำให้สามารถใช้ระบบออนไลน์เข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้

เพราะท้ายที่สุด เป้าหมายของ DoNotPay คือช่วยให้คนทั่วไปเข้าถึงระบบยุติธรรมได้ง่ายขึ้น มีสิทธิ์มีเสียงในการต่อสู้และปกป้องตัวเองได้มากขึ้น โดยเสียค่าธรรมเนียมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะถ้าหากในอนาคต วงการกฎหมายถูกแทนที่ด้วย AI เกินครึ่ง มันก็จะเกิดปัญหาสำหรับพวกที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้เทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้องกับกฎหมายมากขนาดนั้น ด้วยเรื่องของความน่าเชื่อถือ บางคนรู้สึกว่างานกฎหมายควรจะให้คนที่มีใบอนุญาตเป็นคนจัดการเท่านั้นรวมถึงปัญหาที่ว่าหาก AI แทนที่ตำแหน่งผู้พิพากษา หากมนุษย์ต้องรับคำสั่งจาก AI พวกเขาจะปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหนกันเชียว!

คุณกำลังดู: AI กับวงการกฎหมาย เมื่อหุ่นยนต์รับบทเป็นทนายความ!

หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด