Big Data ในโลกยุคดิจิทัล ดาบสองคมที่ต้องระวัง
ปัจจุบัน โลกของเราถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและอุปกรณ์ดิจิทัลมากมาย คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดายมากขึ้น ทำให้ “ข้อมูล” ถูกสร้างออกมาอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในทุกกิจกรรมที่เกิดจากการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล ข้อมูลค่อย ๆ มีขนาดใหญ่ขึ้นและมีปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เกิดเป็นชุดข้อมูลแบบ Big Data ที่ต้องอาศัยระบบประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่มีอยู่อย่างมหาศาลได้
ซึ่งเราจะเห็นว่ามีองค์กรต่าง ๆ มากมายที่นำเอา Big Data ที่รวบรวมได้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ค่อนข้างชัดเจนในภาคธุรกิจที่ Big Data มีประโยชน์ในการต่อยอดทางธุรกิจ สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปวางแผน และตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ หรือช่วยเพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจให้ก้าวหน้ามากขึ้น ถึงอย่างนั้น Big Data ก็ถูกนำมาใช้ในทางที่ไม่สร้างสรรค์เช่นกัน บนโลกยุคดิจิทัลที่เราต้องใช้ชีวิตกับข้อมูลมากมายขนาดนี้ เราเองก็ต้องระมัดระวังตัวไม่ให้ตกเป็นเหยื่อการใช้ข้อมูลในทางที่ผิด
Big Data คืออะไร
Big Data เป็นคำศัพท์ที่ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แม้ว่าคนในแวดวงไอทีจะบอกว่ารู้จักกับ Big Data มานานหลายปีแล้ว แต่คนทั่วไปเพิ่งจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ความหมายของ Big Data ก็ค่อนข้างจะตรงตัว มันคือข้อมูลจำนวนมหาศาลที่อยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เหตุเพราะมันมีจำนวนมหาศาล ทำให้มันกลายเป็นกลุ่มข้อมูลขนาดมหึมาที่ชอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ธรรมดา ๆ ไม่สามารถจะรองรับข้อมูลเหล่านี้ได้ ทำให้การเก็บข้อมูลขนาดใหญ่ในปัจจุบัน เรามักจะใช้ Data Warehouse หรือ Data Lake เป็นพื้นที่สำหรับเก็บข้อมูล
ตั้งแต่ก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เราอยู่ในโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร มีชุดข้อมูลจำนวนมหาศาลที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ตลอดเวลา ฉะนั้น Big Data จึงหมายถึงข้อมูลทุกอย่างที่เรามี โดยส่วนใหญ่แล้วข้อมูลเหล่านี้มักจะถูกใช้ในเชิงธุรกิจ เป็นข้อมูลที่ถูกเก็บไว้ในองค์กรหรือบริษัท เช่น ข้อมูลบริษัท ข้อมูลสำคัญของลูกค้า วิดีโอ ไฟล์รูปภาพ หรือไฟล์เอกสารต่าง ๆ เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นทั้งภายในองค์กรและข้อมูลที่มาจากภายนอกองค์กร ซึ่งข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้ เราสามารถนำมาประมวลผล วิเคราะห์ และใช้ประโยชน์ได้หลากหลายด้าน ขึ้นอยู่กับว่าเราจะนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้งานในด้านใด
การที่เราสมารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตกันได้อย่างง่ายได้ ทำให้เรากลายเป็นผู้สร้างข้อมูลและผู้เสพข้อมูลอยู่ตลอดเวลาจากทุก ๆ ความเคลื่อนไหวในโลกดิจิทัลจะมีการผลิตข้อมูลอย่างไม่หยุดหย่อน แค่เราคลิกเพียงครั้งเดียวก็เกิดเป็นข้อมูลได้แล้ว เพราะทุกกิจกรรมบนออนไลน์นั้นจะมีร่องรอยหมด พฤติกรรมในการใช้งานแต่ละครั้งจะถูกบันทึกไว้และรวบรวมขึ้นมาเป็น Big Data ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกเก็บรวบรวมได้ง่ายขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต การรับชมสื่อออนไลน์ การใช้โซเชียลมีเดีย หรือการทำธุรกรรมใด ๆ และข้อมูลต่าง ๆ นี้ก็จะถูกนำไปดำเนินการสำหรับใช้ประโยชน์ต่อ เพื่อที่จะนำเราไปสู่แบรนด์หรือการให้บริการที่ต้องการเราเป็นลูกค้า
อย่างที่เราเห็นในปัจจุบันว่า Big Data ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการทำการตลาดมาก เพื่อให้แบรนด์ต่าง ๆ เข้าถึงลูกค้าได้อย่างตรงจุด เพราะศึกษาพฤติกรรมของลูกค้าจากข้อมูลเหล่านั้นมาแล้ว ดังนั้น Big Data จึงไม่ใช่แค่เทรนด์ที่มาแล้วก็ไป แต่ Big Data กลายเป็นขุมทรัพย์ที่ถ้าใครมีอยู่ในมือและเลือกมาใช้ได้อย่างถูกต้อง รวมถึงมีความสามารถในการวิเคราะห์และทำความเข้าใจในเชิงลึกจากข้อมูลเหล่านั้นเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในแบบที่ต้องการ ก็นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มันจะกลายเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตได้
คุณสมบัติของ Big Data
1. ปริมาตร (Volume) ข้อมูลที่มีอย่างมหาศาล ทั้งปริมาณมากและขนาดใหญ่ โดยจะเริ่มต้นกันที่หลัก Terabytes ไปจนถึง Petabytes หรือ Zettabyte เลยทีเดียว ซึ่งเมื่อมีข้อมูลมากและใหญ่ขนาดนี้ ทำให้ระบบจัดการข้อมูลแบบเก่าไม่สามารถรองรับกลุ่มข้อมูลนี้ได้ ต้องมีเทคโนโลยีสมัยใหม่และระบบจัดการข้อมูลที่ดี
2. ความเร็ว (Velocity) อัตราการเพิ่มขึ้นของข้อมูลที่นำเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลจะมีอัตราการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมันถูกสร้างขึ้นอยู่ตลอดเวลา
3. รูปแบบที่หลากหลาย (Variety) ข้อมูลที่มีความหลากหลายของรูปแบบ ซึ่งอาจจะเป็นรูปแบบที่มีโครงสร้าง ไม่มีโครงสร้าง และกึ่งมีโครงสร้าง
- ข้อมูลที่มีโครงสร้าง หมายถึง ชุดข้อมูลที่มีการจัดเรียงโครงสร้างอย่างเป็นระเบียบ มีความชัดเจน หรือระบุได้ด้วยตัวเลข พร้อมใช้งานได้ทันที
- ข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้าง หมายถึง ชุดข้อมูลที่มีโครงสร้างไม่ชัดเจน หรือไม่สามารถระบุความแน่นอนของข้อมูลนั้น ๆ ได้ ยังไม่สามารถประมวลผลเพื่อนำไปใช้ได้ทันที
- ข้อมูลกึ่งมีโครงสร้าง หมายถึง ชุดข้อมูลที่มีโครงสร้างระดับหนึ่งแต่ยังไม่สมบูรณ์
4. ความแม่นยำ (Veracity) ข้อมูลต้องมีความแม่นยำ สามารถเชื่อถือได้ เพราะหากนำข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไปใช้ จะส่งผลต่อการแปลผลข้อมูล และอาจจะก่อให้เกิดการวางแผนที่ผิดพลาด
5. ความแปรปรวน (Variability) ข้อมูลเกิดความแปรผัน ปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาได้ จึงจำเป็นต้องมีกระบวนการที่ดีในการดักจับและแก้ไขได้ทันท่วงที เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการใช้ข้อมูล
6. ความคุ้มค่า (Value) การใช้ข้อมูลเหล่านี้ต้องสามารถใช้งานได้จริง เพื่อสร้างมูลค่าแก่องค์กร
7. ความซับซ้อน (Complexity) การจัดการข้อมูลเหล่านี้มีความซับซ้อนสูงมาก มีจำนวนมาก มีรูปแบบต่างกัน มีที่มาต่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีกระบวนการเชื่อมโยงข้อมูลต่าง ๆ เหล่านี้เข้าด้วยกัน
การจัดการกับ Big Data
Big Data มีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลเป็นอย่างมากจากการที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตถูกพัฒนาให้สามารถเข้าถึงผู้คนได้แทบจะทั่วโลก ทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ถูกสร้างขึ้นตลอดเวลาจากทุก ๆ คนจนมีจำนวนมหาศาล ไม่ว่าเราจะแชตหาเพื่อนผ่านทางแอปฯ แชตไหนก็ตาม อัปโหลดภาพถ่ายลงโซเชียลมีเดีย ชอปออนไลน์ ทุกกิจกรรมที่เราทำล้วนมีความเกี่ยวข้องกับ Big Data ทั้งนั้น ซึ่งผู้ที่เก็บข้อมูลเหล่านี้ไปก็มีหน้าที่นำมันไปใช้มันให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากใช้ทางบวกก็ย่อมเกิดประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย แต่ถ้านำไปใช้ในทางลบ ประโยชน์อาจไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา ทว่าเกิดขึ้นกับผู้ที่นำข้อมูลเหล่านี้ของเราไปใช้ในทางที่ก่อความเสียหายมากกว่า
การที่ข้อมูลถูกเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในปัจจุบัน และมีแนวโน้มว่าจะมีเพิ่มขึ้นได้มากกว่านี้อีก ทำให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สามารถนำมาใช้ต่อยอดทางธุรกิจได้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินธุรกิจและช่วยลดต้นทุนได้เช่นกัน หากผู้ที่มีข้อมูลเหล่านี้ในมือนำไปจัดการอย่างถูกต้องให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในทางกลับกัน ข้อมูลเหล่านี้ก็อาจจะไร้ประโยชน์ ถ้าอยู่ในมือคนที่ใช้ไม่เป็น จัดการไม่ได้ จึงนำไปใช้ในทางที่เกิดประโยชน์ไม่ได้ และยิ่งถ้าอยู่ในมือของผู้ที่ไม่หวังดี Big Data จะถูกนำไปใช้งานในทางที่เกิดโทษก็ได้เช่นกัน ถึงเวลานั้น มันจะสร้างปัญหาให้กับเจ้าของข้อมูล และเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องของข้อกฎหมาย
จะเห็นว่าการใช้งาน Big Data เป็นดาบสองคม แม้ว่า Big Data จะมีประโยชน์มากในด้านหนึ่ง แต่อีกด้านมันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสังคมเป็นวงกว้าง หาก Big Data ถูกนำมาใช้อย่างขาดความระมัดระวัง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการจัดการข้อมูล คือมีการควบคุมข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึง การเก็บรักษา ไปจนถึงการทำลายข้อมูลตามวงจรชีวิต โดยการจัดการข้อมูลถือเป็นหนึ่งในแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้ข้อมูลกลายเป็นทรัพยากรที่มีค่ามากยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากข้อมูลอาจถูกนำไปใช้ได้ทั้งในทางบวกและทางลบ หากไม่มีการจัดการที่ดีและเหมาะสม เพราะข้อมูลดิบที่เก็บรวบรวมมาได้แล้วยังไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ มีทั้งความจริง ความเท็จ ความเห็น และอคติมากมายเต็มไปหมด
ประโยชน์หลัก ๆ ของข้อมูล Big Data หลังจากที่นำข้อมูลที่มีมาจัดกลุ่มและวิเคราะห์ด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้ว เราสามารถนำมาใช้สำหรับการคาดการณ์เหตุการณ์ในอนาคต หรือใช้ดูแนวโน้มสิ่งที่จะเกิดขึ้น และสามารถนำไปใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการใหม่ ๆ จากนั้นก็นำไปต่อยอดในรูปแบบของคอนเทนต์ ข่าว หรือไวรัล เพื่อให้คนสนใจ นั่นทำให้ธุรกิจต่าง ๆ นำมาใช้กับผู้บริโภค พัฒนาสินค้าและบริการจาก insight ของผู้บริโภคจริง ๆ เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีจากการเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพธุกิจ ให้ก้าวนำหน้าคู่แข่ง
แต่ทุกวันนี้ เรากำลังอยู่ในมหาสมุทรของข้อมูลที่มีข้อมูลมหาศาลชนิดที่ไม่สามารถจะมานั่งวัดนั่งนับกัน ผลลัพธ์จากการใช้ Big Data สามารถเป็นบวกหรือลบกับเราก็ได้ มันขึ้นอยู่กับว่า Big Data ถูกนำไปต่อยอดและใช้งานอย่างไร เริ่มต้น Big Data ก็เก็บข้อมูลจากพวกเราทุกคนในฐานะผู้ใช้งาน หลังจากที่นำไปผ่านกระบวนการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว มันก็ถูกนำมาใช้กับพวกเราต่ออีกครั้ง นั่นทำให้ในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยข้อมูล เราต้องพึงระวังให้มากทั้งการให้ข้อมูลและการรับข้อมูล
การให้ข้อมูลส่วนตัวของตัวเองเพื่อเข้าใช้งานแพลตฟอร์มต่าง ๆ รวมไปถึงพฤติกรรมการใช้งานทุกอย่างของเรา ล้วนถูกบันทึกเป็นข้อมูลไว้หมดแล้วในทุกครั้งที่เราใช้งานอินเทอร์เน็ต มันไม่มี “พื้นที่ส่วนตัว” บนโลกออนไลน์ตั้งแต่แรก ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบนนี้ สามารถกลายเป็น Big Data ได้ทั้งหมด ซึ่งเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงตรงจุดนี้ได้ ในเมื่อเราจำเป็นต้องใช้งานในชีวิตประจำวัน แต่เราสามารถจำกัดการให้ข้อมูลส่วนตัวของตัวเองได้ การให้ข้อมูลเท่าที่จำเป็น ข้อมูลอะไรที่มันไม่ควรจะเป็นสาธารณะ เรายังพอหลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลในส่วนนี้ได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ควรจะแชร์ทุกอย่างที่เป็นตัวเองลงบนโลกออนไลน์ มีผู้ไม่หวังดีคอยเก็บข้อมูลส่วนนี้อยู่
ไม่เพียงเท่านั้น ในด้านของการรับสาร ในฐานะของผู้บริโภคและคนเสพสื่อ ก็ควรใช้สติและปัญญาในการเสพข้อมูลให้มาก แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่เราจะรับข้อมูลโดยปราศจากอคติ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่การฟังและเชื่อเฉพาะในสิ่งที่ตัวเองชอบและอยากได้ยินในยุคนี้ มีโอกาสที่เราจะถูกชักจูงและปั่นหัวได้ง่ายมาก จากข้อมูลที่มีทั้งข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น และข่าวปลอมปะปนกัน ดังนั้น รับข้อมูลมาแล้วก็ควรที่จะนำมาคิดวิเคราะห์ คิดในเชิงวิพากษ์ ก่อนที่จะตัดสินใจเชื่ออะไรในยุคที่เรามี Big Data ข้อมูลมันมหาศาลมากนะ ลำพังแล้วสมองเราพอรับข้อมูลมาก็ประมวลผลไม่ได้ในทันทีอยู่แล้ว มันคงจะดีกว่าถ้าเพิ่มเวลาในการไตร่ตรองเข้าไปด้วย
ในยุคที่ใครมี Big Data ในมือก็เหมือนมีขุมทรัพย์ที่สามารถจะนำไปใช้ทำอะไรก็ได้ เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะหากข้อมูลมากมายเหล่านี้อยู่ในมือของ “ผู้ใช้งานนิสัยไม่ดี” มันจะถูกนำไปใช้เพื่อหวังผลทางลบมากกว่าทางบวก ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการทำร้ายและบ่อนทำลายกัน เราจึงควรที่จะระมัดระวังทั้งการให้ข้อมูลของตัวเองและการเสพข้อมูล เพราะผลลัพธ์ทางลบอาจไม่จบแค่ตกเป็นเครื่องมือทางการตลาด แต่อาจถึงขั้นตกเป็นเหยื่อการหลงเชื่อข้อมูลที่จงใจสร้างความปั่นป่วนทางความคิดและความความเชื่อ โดยไม่กลั่นกรองและไม่ไตร่ตรองก่อนที่จะเชื่อ
คุณกำลังดู: Big Data ในโลกยุคดิจิทัล ดาบสองคมที่ต้องระวัง
หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่