บัตร Suica (IC Card) กลับมาขายแล้ว เที่ยวญี่ปุ่นใช้ที่ไหนได้บ้างไปดูกัน
Suica กลับมาขายแล้ว สามารถซื้อได้ที่ทุกสถานีของ JR East ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 เป็นต้นไป
หลังจากหยุดจำหน่ายไปตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา บัตร Suica เขาก็กลับมาแล้ว! สามารถซื้อได้ที่ทุกสถานีของ JR East อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้เลย
แนะนำบัตร Suica
Suica คือบัตรเติมเงิน(IC Card) ที่ออกโดยบริษัทรถไฟ JR East สามารถใช้ได้กับการเดินทางทั้งรถไฟ รถบัส รถแท็กซี่ รวมไปถึงสามารถใช้ในการจับจ่ายซื้อของตามร้านสะดวกซื้อ ตู้ขายของอัตโนมัติ และชำระค่าบริการต่าง ๆ ได้ด้วย
Suica มี 2 แบบ คือแบบระบุชื่อ(เรียกว่า My Suica) และแบบไม่ระบุชื่อ ข้อแตกต่างเพียงข้อเดียวคือการออกบัตรทดแทนให้ใหม่ในกรณีทำบัตรหาย ถ้าเป็นแบบระบุชื่อ เราสามารถติดต่อแจ้งนายสถานีให้ช่วยออกบัตรใหม่โดยเงินในบัตรยังอยู่ครบ เหมาะสำหรับคนที่เที่ยวยาว ๆ เดินทางเยอะ ๆ หรือมาญี่ปุ่นบ่อย ส่วนแบบไม่ระบุชื่อจะไม่สามารถทำได้ค่ะ ซึ่งจะซื้อแบบไหนก็เลือกซื้อให้เข้ากับสไตล์การเที่ยวได้เลย
*บัตร Suica ที่กลับมาขายตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2567 มีจำหน่ายเฉพาะแบบระบุชื่อ
บัตร IC Card อื่น ๆ ที่ใช้กันในญี่ปุ่น
- Suica (JR East)
- Pasmo บัตรเติมเงินที่ออกโดย Tokyo Metro ส่วนมากแล้วสามารถใช้ได้เหมือนกับ Suica
- Kitaca (JR Hokkaido) บัตรโดยสารสำหรับฮอกไกโด
- ICOCA (JR West) บัตรโดยสารสำหรับคันไซ(โอซาก้า เกียวโต) รวมถึงภูมิภาคชูโงคุและโฮคุริคุ
- PiTaPa บัตรโดยสารสำหรับคันไซ นักท่องเที่ยวไม่สามารถซื้อได้เหมือนบัตรเติมเงินอื่น ๆ
- TOICA (JR Central) บัตรโดยสารสำหรับจังหวัดนาโกย่าและบางพื้นที่ของชิซุโอกะ
- manaca บัตรเติมเงินที่ออกโดยบริษัท Meitetsu สำหรับเดินทางในจังหวัดนาโกย่า
- HAYAKAKEN บัตรโดยสารสำหรับรถไฟใต้ดินในฟุกุโอกะ
- nimoca บัตรเติมเงินที่ออกโดยบริษัท Nishitetsu ใช้สำหรับรถไฟและบัสที่ดูแลโดย Nishitetsu ในคิวชู
- SUGOCA (JR Kyushu) สำหรับเดินทางในคิวชู ฟุกุโอกะ คุมาโมโตะ คาโกชิมะ นางาซากกิ
บัตร Suica ใช้ที่ไหนได้บ้าง?
เราสามารถใช้บัตร Suica ได้กับทุกยานพาหนะและทุกร้านค้าที่มีสัญลักษณ์ IC card หรือโลโก้ด้านบน เพียงแค่เห็นสัญลักษณ์เหล่านี้ก็แตะจ่ายเงินได้เลย
รถไฟ
เล่าให้ฟังก่อนเล็กน้อยว่า ที่ญี่ปุ่นมีรถไฟหลายสายกระจายกันอยู่ในทุกภูมิภาค บริษัทดูแลรถไฟก็แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคด้วย ส่งผลให้บัตรรถไฟที่ใช้ได้ในแต่ละโซนอาจแตกต่างกันตามบริษัทที่ออกบัตร อย่างรถไฟสาย JR ที่เรารู้จักกันก็แบ่งย่อยออกเป็นอีก 6 บริษัทตามภูมิภาค(JR Hokkaido, JR East, JR West, JR Tokai, JR Shikoku, JR Kyushu) ในส่วนของบัตร Suica เป็นบัตรที่ออกโดยบริษัท JR East
ซึ่ง Suica นอกจากจะสามารถใช้ได้กับทุกสายของ JR ยังใช้ได้กับรถไฟใต้ดิน Tokyo Metro และ Toei Subway รวมถึง Tokyo Monorail ด้วย สรุปง่าย ๆ ก็คือแทบจะใช้ได้กับทุกสถานี ทุกสายรถไฟในญี่ปุ่นเลยนั่นเอง
รถบัส
โดยปกติแล้วบัตร Suica(รวมถึง Pasmo และ IC Card อื่น ๆ) สามารถใช้กับรถบัสทั่วประเทศ หากไม่ชัวร์ว่าใช้ได้ไหม ให้มองหาสัญลักษณ์ IC ถ้ามีสัญลักษณ์นี้ก็สบายใจหายห่วง วิธีการใช้คือแตะตรงแท่นที่มีสัญลักษณ์ IC ตอนขึ้นบัสหนึ่งครั้ง และแตะก่อนลงอีกหนึ่งครั้ง เท่านี้ก็เดินทางด้วยบัสได้รวดเร็ว ไม่ต้องคอยหยิบเงินสดแล้ว
ชินคันเซ็น
Suica มีบริการ “Touch to Go! Shinkansen” ที่สามารถใช้ขึ้นชินคันเซ็นแบบไม่ระบุที่นั่งได้ ตามสายต่อไปนี้เท่านั้น!
- Tohoku Shinkansen
จากสถานี Tokyo และ Morioka และจากสถานี Morioka ถึง Shin-Aomori - Akita Shinkansen
จากสถานี Morioka ถึง Akita - Yamagata Shinkansen
จากสถานี Fukushima ถึง Shinjo - Joetsu Shinkansen
จากสถานี Tokyo ถึง Niigata และจากสถานี Tokyo ถึง Gala Yuzawa - Hokuriku Shinkansen
จากสถานี Tokyo ถึง Joetsu Myoko
ร้านค้าอื่น ๆ และตู้ขายของอัตโนมัติ
ใช้ซื้อของได้กับทุกร้านค้าและตู้ขายของที่มีสัญลักษณ์ IC หรือเช็คร้านทั้งหมดที่จ่ายด้วย Suica ได้ที่นี่
ข้อควรระวังในการใช้ Suica
- อย่าลืมชาร์จ Suica ให้พร้อมก่อนออกเดินทางทุกครั้ง เพราะถ้าค่าโดยสารไม่พอ แม้จะแตะเข้าได้ แต่จะแตะออกไม่ได้ (ไม่เหมือนบ้านเราที่จะติดลบไว้ก่อน) ในกรณีที่ค่าโดยสารไม่พอ สามารถเติมเงินได้ที่ตู้ Charge บริเวณใกล้ทางแตะตั๋วออก
- ไม่สามารถใช้บัตร Suica นั่งรถไฟข้ามจังหวัดหรือภูมิภาคได้ ต้องซื้อตั๋วแยกเพิ่ม
- ไม่สามารถใช้กับรถบัสในบางพื้นที่ อย่างเช่น Tokai bus หรือ Kanazawa Loop bus
- ไม่สามาถใช้ขึ้นชินคันเซ็นนอกเหนือจากสายที่ระบุด้านบนได้
- ไม่สามารถใช้ซื้อของในร้านสะดวกซื้อหรือร้านค้าโซนคันไซ ในเขตที่ใช้บัตร PiTaPa
- การเติมเงินใส่ IC card ของญี่ปุ่น เติมด้วยเงินสดเท่านั้น ไม่สามารถใช้บัตรเครดิต เดบิต หรือบัตรใด ๆ ในการเติมได้ค่ะ
ซื้อบัตร Suica ได้ที่ไหนบ้าง
เครื่องจำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ
สามารถซื้อ Suica ได้ตามสถานีรถไฟของ JR East ตามหาตู้ที่่เขียนว่า Commuter Pass, Suica จุดสังเกตคือมีแถบสีดำอยู่ด้านบน จะเป็นตู้ที่สามารถออกบัตรให้ได้ (ถ้าเป็นแถบสีเขียวจะชาร์จบัตรได้อย่างเดียวค่ะ)
Ticket Office
สำหรับใครที่ไม่ชัวร์ว่ากดตู้ยังไง ก็เข้าไปสอบถามพนักงานด้านใน Ticket Office ได้เลย ถ้าซื้อผ่านสำนักงานขายตั๋วจำเป็นต้องแสดงหนังสือเดินทางด้วยน้า
เมื่อก่อน Suica สามารถซื้อที่ร้านสะดวกซื้ออย่าง KIOSK หรือ NewsDay ตามสถานีรถไฟได้ แต่ในปัจจุบันไม่ใช่ทุกสถานีที่จะขาย ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลาไปถาม แนะนำให้ซื้อจากตู้หรือสำนักงานขายตั๋วดีกว่าค่ะ
วิธีการซื้อบัตร Suica ที่ตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ
- เปลี่ยนภาษากันก่อน กดเปลี่ยนภาษาเป็นภาษาอังกฤษตรงมุมขวาบน
2. เลือก Purchase new Suica
3. Name-Inscribed Suica
4. Management of Personal Information Agree เพื่อไปยังหน้าถัดไป
5. กรอกชื่อและนามสกุลให้ตรงกับพาสปอร์ต
6. เลือกเพศและกรอกวันเดือนปีเกิด
7. กรอกเบอร์มือถือ
8. จากนั้นจะมีหน้าจอให้เราตรวจสอบข้อมูล หากถูกต้องแล้วก็กด OK ได้เลย
9. เลือกจำนวนเงินและใส่เงินเข้าไป
ราคาสามารถเลือกได้ตั้งแต่ 1,000, 2000, 3000, 4000, 5,000 และ 10,000 เยน (รวมค่ามัดจำ 500 เยนแล้ว)
แต่นแต๊นนนน เท่านี้บัตร Suica ก็จะออกมาแล้ว ก็จะมีบัตรที่เป็นชื่อของเราเรียบร้อย
บัตร Suica สำหรับเด็ก
โดยปกติแล้วค่าโดยสารสำหรับเด็กจะถูกกว่าผู้ใหญ่ สำหรับบ้านไหนที่มีเด็กอายุ 6-12 ปีมาเที่ยวด้วย แนะนำให้ซื้อบัตร Suica สำหรับเด็กที่ Ticket Office จะได้ลดราคาค่าเดินทางลงได้ค่ะ พอแตะบัตรแล้วเสียงจะไม่เหมือนกับของผู้ใหญ่ด้วยนะ ꒰ღ˘◡˘ற꒱
เดินทางง่ายขึ้นด้วย Suica
หลังจากระงับการขายชั่วคราว ต้องต่อคิวซื้อตั๋วกันอยู่ตั้งนาน ในที่สุดวันนี้ Suica ก็กลับมาขายตามปกติแล้ว สำหรับใครที่มีแผนจะเดินทางมาเที่ยวญี่ปุ่น สามารถแวะซื้อบัตร Suica ได้ที่ตู้ขายตั๋วอัตโนมัติ หรือสำนักงานขายตั๋วตามสถานีรถไฟได้เลย หวังว่าบทความนี้จะมีประโยชน์สำหรับคนที่กำลังจะซื้อ Suica นะคะ❤︎
(หรือหากใครอยากซื้อบัตรระยะสั้น ๆ จะเลือกซื้อเป็น Welcome Suica ที่มีระยะการใช้งาน 28 วันก็ได้เช่นกันค่ะ)
บทความนี้เป็นเพียงบางส่วนของเนื้อหาที่เผยแพร่ใน Japankuru.com
คุณกำลังดู: บัตร Suica (IC Card) กลับมาขายแล้ว เที่ยวญี่ปุ่นใช้ที่ไหนได้บ้างไปดูกัน
หมวดหมู่: เที่ยวต่างประเทศ