“เจ้าขุนทอง” มาแล้ว! ย้อนวันวานรายการเด็กที่ทุกคนคิดถึง

“เจ้าขุนทอง” มาแล้ว! ย้อนวันวานรายการเด็กที่ทุกคนคิดถึง

Highlight

  • รายการเจ้าขุนทองคือรายการเด็ก ออกอากาศครั้งแรกเมื่อปี 2534 หรือเมื่อ 31 ปีที่แล้ว โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และเสริมสร้างการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องให้กับเด็กและเยาวชน
  • ความเป็นกันเองและใกล้ชิดกันเปรียบเสมือนเพื่อนและคนในครอบครัว เช่นเดียวกับการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ คือเหตุผลที่ทำให้เจ้าขุนทองกลายเป็นรายการที่เด็กในช่วงวัยหนึ่งจดจำได้เสมอ 
  • แม้จะผ่านไปหลายสิบปี แต่เจ้าขุนทองก็ยังคงให้ความรู้คู่ความสนุกกับเด็ก ๆ อยู่เหมือนเดิม โดยสามารถติดตามรายการ “ฉงนฉงาย สองควายช่างสงสัย” ได้ทาง ALTV ช่อง 4 เวลา 06:25 น. ทุกวันจันทร์ - อังคาร 

หากพูดถึงรายการเด็กที่อยู่คู่คนไทยมานานกว่า 30 ปี เชื่อว่าหลายคนคงคิดถึงรายการ “เจ้าขุนทอง” ที่อยู่เป็นเพื่อนในตอนเช้าของเด็ก ๆ ทั่วประเทศ และคอยให้ความรู้เรื่องภาษาไทย ควบคู่ไปกับนิทานสอนใจมากมาย หลายสิบปีที่เจ้าขุนทองสร้างความสนุกสนานและรอยยิ้มให้กับผู้ชม ทว่ารายการนี้กลับค่อย ๆ เลือนหายไปจากความทรงจำ เด็กเมื่อหลายคนเติบโตขึ้น แล้วเจ้าขุนทองและผองเพื่อนหายไปไหน Sanook พาทุกคนไปย้อนวันวาน บุกโรงถ่ายทำเจ้าขุนทอง พร้อมคุยกับ “ครูอ้าว - เกียรติสุดา ภิรมย์” ผู้ให้กำเนิดรายการเจ้าขุนทอง เพื่อไขข้อสงสัยว่ารายการเด็กน้ำดีแบบนี้ยังคงสร้างเสียงหัวเราะให้กับเด็กยุคใหม่อยู่หรือเปล่า 

จุดเริ่มต้นของรายการเด็กคู่สังคมไทย

ครูอ้าวเล่าย้อนกลับไปเมื่อ 31 ปีที่แล้ว คุณแดง - สุรางค์ เปรมปรีดิ์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ในขณะนั้น มีนโยบายที่จะสร้างรายการเด็ก โดยมีเนื้อหาให้ความรู้และเสริมสร้างการใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง พร้อมกับความรักภาษาไทย ควบคู่ไปกับความสนุกสนาน ให้กับเด็กและเยาวชน ส่งผลให้ครูอ้าวเกิดความคิดที่จะใช้ “หุ่น” มาเป็นผู้ดำเนินรายการ 

ครูอ้าวกับเจ้าขุนทองครูอ้าวกับเจ้าขุนทอง

“หุ่นเข้าถึงเด็กได้ง่าย ด้วยความเป็นตุ๊กตาและเป็นสัตว์ เราก็คิดกลุ่มตัวละครขึ้นมา โดยมีเจ้าขุนทอง ที่คุณแดงแนะนำว่า เป็นตัวที่สื่อภาษา เป็นนกที่เลียนเสียงภาษาพูดได้ ก็เลยเป็นตัวหลัก เป็นเจ้าของรายการเลย แล้วตัวอื่นก็ตามมา และตัวที่ภูมิใจนำเสนอมากที่สุดก็คือควาย ก็คือคุณฉงน และมีครอบครัวควายตามมา แล้วก็มีผู้หลักผู้ใหญ่ที่อยู่ช่วงสนุกกับคำ เป็นตัวแนะนำเรื่องภาษาไทย แก้คำผิดให้เด็ก ตอบคำถามภาษาไทยให้เด็ก คือลุงมะตูม แล้วก็มีขอนลอย เหยิน ป้าไก่ หางดาบ เป็ดน้อย และอีกหลายตัว” ครูอ้าวเล่า 

เมื่อถามว่ารายการเจ้าขุนทองหายไปไหน ทำไมจึงไม่ค่อยได้เห็นผองเพื่อนที่คุ้นเคยบนจอแก้วเหมือนสมัยก่อน ครูอ้าวบอกว่าจริง ๆ แล้วเจ้าขุนทองไม่ได้หายไปไหน ยังคงวนเวียนอยู่บนหน้าจอและทำหน้าที่มอบความรู้คู่ความสนุกให้กับเด็ก ๆ เช่นเดิม

“เจ้าขุนทองไม่ได้หายไปไหน เขาไปทำอะไรอย่างอื่นไม่ได้หรอก เขาเล่นละคร แล้วก็พูดคุยกับเด็ก เขาทำอย่างเดิมมาโดยตลอดนั่นแหละ แต่ว่าที่ค่อย ๆ เลือนไปก็อาจจะเป็นเพราะว่า มีหลายอย่างที่คนดูสามารถเลือกดูได้ มีสื่ออื่น ๆ เกิดขึ้นมาหลายสื่อ และมีช่องทางให้คนดูได้เลือกดูเพิ่มขึ้น ซึ่งมันก็เป็นเรื่องปกติของสื่อบันเทิงหรือสื่อทีวี มันก็ดีเหมือนกันที่มีทางเลือกให้เด็ก ๆ ได้เลือกดูมากขึ้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ” ครูอ้าวกล่าว 

รายการเด็กที่ทุกคนรัก 

“เหตุผลที่ทำให้เจ้าขุนทองกลายเป็นรายการที่เด็กรัก เพราะตัวละครของเราเป็นกลุ่มเพื่อนที่มีความหลากหลายมาแต่ไหนแต่ไร ทั้งสัตว์ต่างชนิด หลากสีสัน ต่างหน้าตา ต่างวัย แต่ทั้งหมดนี้มาอยู่รวมกันในสังคม เลยเป็นคล้าย ๆ ภาพจำลองของสังคมไทยที่คนไทยทุกคนคุ้นเคย เพราะนี่คือสังคมของเรา เราอยู่ร่วมกันแบบนี้ เราสื่อสารกันแบบนี้ เรามีความเคารพ เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ มีเมตตากันแบบนี้ และเมื่อเป็นตัวละครหุ่นที่อยู่ในรายการสำหรับเด็ก ถ้าเปรียบเขาเป็นนักแสดงที่อยู่ในวงการบันเทิงมาหลายสิบปี พวกเขาไม่เคยไปทำเรื่องไม่ดีที่ไหน ทำให้เวลาที่คนนึกภาพความทรงจำของตัวเองถึงตัวละครเหล่านี้ มันเลยเป็นความรู้สึกดีอยู่เสมอ” พี่ผาล - ผาล ภิรมย์ ผู้ผลิตและเขียนบทรายการเจ้าขุนทองชี้ 

พี่ผาลกับฉงนพี่ผาลกับฉงน

สอดคล้องกับครูอ้าว ที่มองว่าตัวละครในรายการเจ้าขุนทองมีความเป็นกันเองและใกล้ชิดกัน เปรียบเสมือนเพื่อนและคนในครอบครัว เช่นเดียวกับมีตัวละครหลากหลายช่วงวัยที่สะท้อนภาพของสังคมไทย ที่ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข 

“ตื่นเช้ามาก็เจอรายการแล้ว ตัวละครนี้พูดนี้ ตัวละครนี้จะมาช่วงนี้ของรายการ หรือบางทีก็มาเล่านิทาน มันก็เป็นสิ่งที่คุ้นเคย เหมือนกับเป็นเพื่อนกัน ก็รู้สึกว่าใกล้ชิดผูกพัน รู้สึกว่าจำเป็นต้องดู เปิดไว้ให้ได้ยินเสียง เด็ก ๆ ก็กินข้าวก่อนไปโรงเรียน หรือไม่ก็กำลังแต่งตัว มันก็ถือเป็นกิจวัตรประจำวันของเด็ก ๆ ไป” ครูอ้าวบอก 

สื่อเด็กต้องให้ความรู้คู่ความสนุก 

ในยุคปัจจุบันที่สื่อมีความหลากหลายมากขึ้น ก็ทำให้สื่อเด็กมีความสนุกและรูปแบบที่มากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งพี่ผาลมองว่าเป็นสิ่งที่ดี พร้อมยกตัวอย่างการทำช่องยูทูบรีวิวสินค้าของเด็ก ๆ หรือปรากฏการณ์ “ทรงอย่างแบด แซดอย่างบ่อย” ของวง Paper Planes ที่กลายเป็น “เพลงชาติฟันน้ำนม” และสร้างความสุขให้กับเด็กทั่วประเทศ 

พี่นพกับขอนลอยพี่นพกับขอนลอย

“รายการเด็กต้องสนุก อาจจะเป็นการสอนสนุก การเล่นสนุก เรื่องราวสนุก ประทับใจก็สนุก เศร้าหรือปลื้มอยู่ข้างในก็สนุก อย่างแรกคือเด็กต้องรู้สึกสนุก และสองคือต้องดีงาม คุณทำอะไรก็ได้ที่ดีงาม ไม่มีสิ่งที่เป็นพิษภัย อย่างเช่น การล้อเลียนผู้อื่น บูลลี่เพื่อน หรือการที่เราคิดร้ายข้างใน แม้กระทั่งคิดตลก ๆ แต่บางทีเราก็ลืมไปว่า สิ่งนั้นจะติดใจเด็กไปอีกนาน แล้วเขาจะรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งธรรมดา แกล้งนิดหน่อยเพื่อความสนุก ใคร ๆ ก็ทำกัน ล้อนิดหน่อยไม่เห็นไรเลย ซึ่งมันไม่ได้ เราต้องระวังในเรื่องนี้” ครูอ้าวอธิบาย 

เพราะเป็นรายการในความทรงจำของผู้ใหญ่หลายคน ที่เติบโตขึ้นมาพร้อมกับการดูรายการเจ้าขุนทองก่อนไปโรงเรียน และได้รับความรู้มากมายจากรายการ ทำให้หลายคนอดกังวลไม่ได้ว่าเจ้าขุนทองอาจจะหายไปจากหน้าจอทีวีไปตลอดกาล แต่ทางทีมงานก็ยืนยันว่าเจ้าขุนทองจะไม่หายไปไหน และจะอยู่คู่สังคมไทยไปอีกนานแสนนาน 

“เราอยากฝากเพื่อนผองเหล่านี้ให้อยู่ในสังคมไทยไปได้ หวังว่าตราบนานเท่านาน หวังว่าจะมีคนรักเรา มองเห็นคุณค่า แล้วก็สนุกร่วมไปกับเรา อยากให้เราอยู่ในสังคมไปอีกนาน ๆ เราก็จะอยู่” พี่ผาลกล่าวส่งท้าย 

ติดตามรายการ “ฉงนฉงาย สองควายช่างสงสัย” ทางช่อง ALTV หมายเลข 4 ทุกวันจันทร์ - อังคาร เวลา 06:25 น.

ภาพโดย DITSAPONG K.

คุณกำลังดู: “เจ้าขุนทอง” มาแล้ว! ย้อนวันวานรายการเด็กที่ทุกคนคิดถึง

หมวดหมู่: หนัง-ละคร

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด