ชีวิตยุคดิจิทัล...อยู่ในโลกไซเบอร์อย่างไรให้ปลอดภัย
ทุกวันนี้เราต่างก็ใช้ชีวิตอยู่บนโลกที่หลายสิ่งอย่างขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและดิจิทัล อะไรที่เคยทำเองด้วยมือ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนเป็นหุ่นยนต์และระบบที่เป็นอัตโนมัติไปเกือบหมดแล้ว อุปกรณ์ต่าง ๆ ที่คุณเป็นเจ้าของ เพียงแค่คุณเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ คุณก็จะหลุดเข้าไปในโลกออนไลน์หรือโลกไซเบอร์ได้ทุกที่ทุกเวลาที่คุณต้องการ นี่เป็นความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่คุณนึกภาพไม่ออกแน่ ๆ เมื่อราว ๆ 10-20 ปีก่อน ว่ามันจะมาไกลขนาดนี้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว
แต่อะไรก็ตามที่ทำให้ชีวิตเราง่าย มันก็มักจะมาพร้อมภัยเสมอ จากมิจฉาชีพที่พยายามจะหากินง่าย ๆ สบาย ๆ บนความทุกข์ยากของคนอื่น มีภัยออนไลน์สารพัดที่เกิดตามมา ยิ่งในช่วงตั้งแต่การเกิดการระบาดของโควิด-19 ด้วยแล้ว ผู้คนต้องทำงานจากระยะไกลมากขึ้น การทำธุรกรรมต่าง ๆ ต้องย้ายมาทำแบบออนไลน์เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ คนต้องกักตัวอยู่แต่บ้านไม่มีอะไรทำก็หาเล่นโซเชียลมีเดีย ยิ่งเป็นโอกาสทองให้มิจฉาชีพรีบกอบโกย นำไปสู่อาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน
ภัยออนไลน์นั้นมีด้วยกันหลายรูปแบบ ที่คุ้นเคยดีก็น่าจะเป็นไวรัสคอมพิวเตอร์ที่มักจะมาพร้อมกับอีเมลหรือไฟล์ต่าง ๆ ที่ถูกส่งมาทางออนไลน์ ไวรัสคอมพิวเตอร์มีมานานแล้ว แต่พัฒนาการก็เปลี่ยนไป จากที่ติดมาแล้วมันจำเข้ามาทำลายพวกไฟล์งานของเราให้เสียหาย ก็เปลี่ยนไปเป็นการเรียกค่าไถ่ด้วยเงินจำนวนมหาศาล หรือไม่ก็เจาะเข้าถึงข้อมูลต่างของเราซึ่งเป็นข้อมูลส่วนตัว เพื่อนำไปใช้ในทางมิชอบ แฮกเจอรหัสผ่านบัญชีแอปฯ ธนาคาร ก็นำไปเข้าสู่ระบบดูดเงินไปจนเกลี้ยงจนเสียหายกันนับแสนนับล้าน และอีกสารพัดอันตรายที่เกิดขึ้นในยุคนี้
เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต คุณจำเป็นต้องระมัดระวังความปลอดภัยเหล่านี้ด้วยตัวคุณเอง บทความนี้มีแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า “สุขอนามัยทางไซเบอร์” ที่มีขึ้นมาให้ล้อไปกับสุขอนามัยทางร่างกายและการป้องกันโรค เป็นสิ่งที่คุณควรปฏิบัติตามเพื่อความปลอดภัยทางออนไลน์ ลดโอกาสเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ต ถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว เข้าถึงข้อมูลโดยไม่ได้รับอนุญาต โจรกรรมข้อมูลไปใช้ในทางมิชอบ ฯลฯ เป็นการรักษาความปลอดภัยของฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ขั้นพื้นฐาน และพฤติกรรมการใช้งานของคุณเอง
การจะป้องกันและระมัดระวังตนเองจากภัยออนไลน์ คุณจำเป็นต้องนำหน้าอาชญากรหนึ่งก้าว ทุกวันนี้มีคนออกมาแฉมาเตือนกลโกงของเหล่ามิจฉาชีพมากมายให้คุณได้รู้ ถ้าคุณรู้แล้ว ทุกอย่างคุณต้องไปดักหน้าป้องกันก่อน โดยใช้หลัก “สุขอนามัยทางไซเบอร์” ควรทำให้เป็นนิสัย คือต้องทำซ้ำ ๆ เป็นกิจวัตร ให้เหมือนกับที่คุณต้องใส่หน้ากากอนามัยและพกแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือทุกครั้งที่ออกนอกบ้าน เพราะคุณใช้อุปกรณ์ดิจิทัลกันทุกวันเช่นกัน เพื่อช่วยป้องกันตัวเองจากอาชญากรไซเบอร์ ไม่ตกเป็นเหยื่อให้คนพวกนี้ง่าย ๆ
อันตรายที่พบได้บ่อยบนโลกไซเบอร์
- การละเมิดความปลอดภัย รวมถึงภัยคุกคามจากแฮกเกอร์ ฟิชชิ่ง มัลแวร์ และไวรัส
- ข้อมูลสูญหาย จากการที่ฮาร์ดไดรฟ์หรือที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์ออนไลน์ไม่ได้สำรองข้อมูลไว้ ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการถูกแฮก ข้อมูลเสียหาย หรือปัญหาอื่น ๆ ที่อาจส่งผลทำให้ข้อมูลสูญหาย
- ซอฟต์แวร์ล้าสมัย เพิ่มโอกาสเสี่ยงให้อุปกรณ์ของคุณ ง่ายต่อการถูกโจมตีทางออนไลน์
- ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสรุ่นเก่า ซอฟต์แวร์รักษาความปลอดภัยที่ไม่อัปเดต จะมีประสิทธิภาพในการป้องกันคุณจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้น้อยลง
แนวทางปฏิบัติ “สุขอนามัยทางไซเบอร์” ไม่ควรจะเป็นการปฏิบัติแบบวัวหายแล้วล้อมคอก หรือทำเฉพาะช่วงที่ตนเองรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำเป็นประจำ ทำให้ชินเป็นนิสัย จนกลายเป็นกิจวัตรปกติในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ หลักปฏิบัติคร่าว ๆ เช่น
- ตั้งค่าไฟร์วอลล์เครือข่าย ป้องกันผู้ใช้ที่ไม่ได้รับอนุญาตเข้าถึงเว็บไซต์ เซิร์ฟเวอร์อีเมล และแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ของคุณที่สามารถเข้าถึงได้จากอินเทอร์เน็ต
- ติดตั้งซอฟต์แวร์ล้างข้อมูล เมื่อใดก็ตามที่คุณติดตั้งซอฟต์แวร์ใหม่ เพิ่มฮาร์ดแวร์ หรือแก้ไขไฟล์ระบบ มีความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนบุคคลของคุณจะหลุด ดังนั้น การใช้ซอฟต์แวร์ล้างข้อมูลจะช่วยให้คุณสามารถล้างข้อมูลที่คุณไม่ต้องการและล้างข้อมูลออกจากฮาร์ดไดรฟ์ได้ เพื่อไม่ให้ถูกเข้าถึงโดยไม่ได้รับอนุญาต
- จัดการกับรหัสผ่าน ใช้รหัสผ่านที่คาดเดายากและซับซ้อน และหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำ การใช้ตัวจัดการรหัสผ่านจะช่วยให้คุณติดตามรหัสผ่านหลายตัวได้
- ติดตั้งซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสคุณภาพสูง ที่สามารถกำหนดเวลาและทำการสแกนอุปกรณ์อัตโนมัติ สามารถตรวจจับและลบซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตราย ปกป้องคุณจากภัยคุกคามออนไลน์ และการละเมิดความปลอดภัยต่าง ๆ
แนวทางปฏิบัติ “สุขอนามัยทางไซเบอร์” จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมดิจิทัลที่ดี เน้นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานอุปกรณ์และการใช้อินเทอร์เน็ต โดยแนวทางปฏิบัติที่เรียกว่า “สุขอนามัยทางไซเบอร์” มีข้อแนะนำในการใช้งานอุปกรณ์ดิจิทัลต่าง ๆ และอินเทอร์เน็ต ดังนี้
ข้อแนะนำการสร้างรหัสผ่านที่ปลอดภัย
- หลีกเลี่ยงการใช้รหัสผ่านเดียวกันสำหรับบัญชีต่าง ๆ
- ใหเเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำ
- รหัสผ่านควรมีความยาวอย่างน้อย 12 อักขระ (และควรยาวกว่านี้)
- รหัสผ่านควรประกอบด้วยอักษรตัวพิมพ์เล็ก ตัวพิมพ์ใหญ่ พร้อมสัญลักษณ์พิเศษและตัวเลข
- หลีกเลี่ยงการใช้รหัสที่คาดเดาได้ง่ายเพราะชี้ตัวตนชัดเจนเกินไป เช่น การใช้หมายเลขเรียง (1234) หรือข้อมูลส่วนบุคคลที่ผู้ที่คนที่รู้จักอาจคาดเดาได้ เช่น วันเดือนปีเกิดของคุณหรือชื่อสัตว์เลี้ยง
- เปลี่ยนรหัสผ่านเริ่มต้นบนอุปกรณ์ Internet of Things (IoT) ทุกชิ้น
- หลีกเลี่ยงการจดรหัสผ่านหรือบอกรหัสผ่านให้ผู้อื่นรู้
- ใช้เครื่องมือจัดการรหัสผ่าน เพื่อช่วยสร้าง จัดเก็บ และจัดการรหัสผ่านทั้งหมดในบัญชีออนไลน์ที่ปลอดภัยเพียงบัญชีเดียว
เปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองชั้น
- บัญชีที่จำเป็นและสำคัญทั้งหมด เช่น อีเมล โซเชียลมีเดีย หรือแอปฯ ธนาคาร ควรเปิดใช้งานการยืนยันตัวตนสองชั้น เพื่อให้ได้รับการคุ้มครองด้วยการตรวจสอบสิทธิ์แบบหลายปัจจัย (MFA) ด้วยแอปฯ Google Authenticator หรือ Authy
- บันทึกรหัสสำรองของ MFA ในตัวจัดการรหัสผ่านของคุณ
สำรองข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ
- เพื่อรักษาไฟล์ให้ปลอดภัยและป้องกันข้อมูลสูญหาย ควรมีการสำรองไฟล์ที่จำเป็นแบบออฟไลน์อย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะบนฮาร์ดไดรฟ์ภายนอกหรือในระบบคลาวด์
ความเป็นส่วนตัว
- ไม่โพสต์ข้อมูลส่วนตัว ตัวอย่างเช่น ที่อยู่บ้าน รูปภาพส่วนตัว หมายเลขโทรศัพท์ หรือหมายเลขบัตรเครดิตบนโซเชียลมีเดีย
- ตรวจสอบการตั้งค่าความเป็นส่วนตัวบนโซเชียลมีเดีย จากนั้นตั้งค่าให้อยู่ในระดับที่รู้สึกพึงพอใจ
- หลีกเลี่ยงแบบทดสอบ เกม หรือแบบสำรวจบนโซเชียลมีเดีย ที่มักมีการขอข้อมูลส่วนบุคคล
- ระมัดระวังเกี่ยวกับการกดอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูล สำหรับแอปพลิเคชันทั้งหมดที่ใช้งาน
- ล็อกคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ด้วยรหัสผ่าน
- หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เมื่อจำเป็นต้องใช้ Wi-Fi สาธารณะ
- การใช้ Virtual Private Network (VPN) ช่วยเพิ่มความปลอดภัยเรื่องข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะเมื่อใช้ Wi-Fi สาธารณะ
- ตรวจสอบการทำธุรกรรมออนไลน์ทุกครั้ง ว่าทำผ่านเว็บไซต์ที่ปลอดภัย โดย URL จะต้องขึ้นต้นด้วย https:// แทนที่จะเป็น http:// และต้องมีไอคอนแม่กุญแจอยู่ทางด้านซ้ายของแถบ URL
- แบ่งปันความรู้ เรื่องความเป็นส่วนตัวบนออนไลน์ให้กับครอบครัวและเพื่อน ๆ เพื่อช่วยให้พวกเขาใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัยเช่นกัน
อัปเดตแอปพลิเคชัน ซอฟต์แวร์ และเฟิร์มแวร์อยู่เสมอ
- หมั่นอัปเดตแอปฯ เว็บเบราว์เซอร์ ระบบปฏิบัติการ และเฟิร์มแวร์เป็นประจำ ให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด ซึ่งมักเป็นเวอร์ชันที่แก้ไขข้อบกพร่องด้านความปลอดภัยที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ใช้งานเรียบร้อยแล้ว โปรแกรมเวอร์ชันเก่า อาจมีช่องโหว่ที่แฮกเกอร์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
- ตั้งค่าอัปเดตซอฟต์แวร์แบบอัตโนมัติ (หากเป็นไปได้)
- ลบแอปฯ ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วออกจากอุปกรณ์
- ดาวน์โหลดแอปฯ จากแหล่งที่เชื่อถือได้หรือเป็นทางการเท่านั้น
การรักษาความปลอดภัยของเราเตอร์
- เปลี่ยนชื่อเริ่มต้นของ Wi-Fi สำหรับที่อยู่อาศัย
- เปลี่ยนชื่อผู้ใช้และรหัสผ่านของเราเตอร์
- อัปเดตเฟิร์มแวร์อยู่เสมอ
- ปิดใช้งานการเข้าถึงระยะไกล Universal Plug and Play และ Wi-Fi Protected Set-up
- ตั้งค่าเครือข่ายแยกต่างหากเพื่อให้แขกที่มาเยี่ยมใช้งาน
- เราเตอร์มีการเข้ารหัส WPA2 หรือ WPA3 เพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลที่ส่งผ่านเครือข่าย
หลีกเลี่ยงการโจมตีจากมัลแวร์และไวรัส
- หลีกเลี่ยงการคลิกลิงก์ที่น่าสงสัยหรือลิงก์ที่ไม่แน่ใจว่าคืออะไร ใครเป็นคนส่งมา
- หลีกเลี่ยงการเปิดอีเมลที่น่าสงสัย
- หลีกเลี่ยงการดาวน์โหลดไฟล์แนบที่น่าสงสัยจากอีเมลหรือข้อความที่ไม่น่าไว้วางใจ
- หลีกเลี่ยงการคลิกโฆษณาที่ให้เงิน รางวัล หรือส่วนลดฟรี
การใช้ไฟร์วอลล์เครือข่าย
- ใช้ไฟร์วอลล์เพื่อป้องกันไม่ให้ซอฟต์แวร์อันตรายเข้าถึงอุปกรณ์หรือเครือข่ายผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้
- ตรวจสอบการตั้งค่าไฟร์วอลล์ให้ถูกต้อง
ตั้งค่าการเข้ารหัสอุปกรณ์ต่าง ๆ
- ตั้งค่าการเข้ารหัสอุปกรณ์และสื่ออื่น ๆ ที่มีข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลที่ละเอียดอ่อน (รวมถึงแล็ปท็อป แท็บเล็ต สมาร์ตโฟน ไดรฟ์แบบถอดได้ เทปสำรองข้อมูล และพื้นที่เก็บข้อมูลบนคลาวด์)
ล้างข้อมูลบนฮาร์ดไดรฟ์ สำหรับเครื่องเก่าที่จะทิ้งหรือขายต่อ
- สำหรับอุปกรณ์ที่จะทิ้งหรือขายต่อ ตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลส่วนตัวของคุณระหว่างที่คุณใช้งานอุปกรณ์นั้น ๆ จะไม่ถูกส่งต่อไปด้วย ซึ่งการลบไฟล์หรือข้อมูลทิ้งนั้นไม่เพียงพอ คุณต้องล้างข้อมูลบนฮาร์ดไดร์ฟก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยที่คุณไม่รู้ตัว
ใช้ซอร์ฟแวร์ป้องกันไวรัสคุณภาพสูง
- ใช้ซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสคุณภาพสูงที่สามารถสแกนหาและกำจัดไวรัสคอมพิวเตอร์และซอฟต์แวร์ที่เป็นอันตรายอื่น ๆ
- อัปเดตซอฟต์แวร์ป้องกันไวรัสให้ทันเป็นเวอร์ชันล่าสุดอยู่เสมอ
- การสแกนไวรัสเป็นประจำ สามารถช่วยป้องกันปัญหาได้
คุณกำลังดู: ชีวิตยุคดิจิทัล...อยู่ในโลกไซเบอร์อย่างไรให้ปลอดภัย
หมวดหมู่: เคล็ดลับ