‘ฟุตบอล’ มนต์วิเศษเยียวยาผู้อพยพในบราซิล

'ฟุตบอล' มนต์วิเศษเยียวยาผู้อพยพในบราซิล สงครามสร้างความเสียไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับผู้ที่อยู่ใกล้มันเสมอ ชาวซีเรียก็หนีไม่พ้นกฎข้อนี้ เพราะปัญหาสงครามกลางเมืองที่ประเทศซีเรียทำให้ชาวซีเรียกว่า 5 ล้านคน...

‘ฟุตบอล’ มนต์วิเศษเยียวยาผู้อพยพในบราซิล

‘ฟุตบอล’ มนต์วิเศษเยียวยาผู้อพยพในบราซิล

สงครามสร้างความเสียไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับผู้ที่อยู่ใกล้มันเสมอ ชาวซีเรียก็หนีไม่พ้นกฎข้อนี้ เพราะปัญหาสงครามกลางเมืองที่ประเทศซีเรียทำให้ชาวซีเรียกว่า 5 ล้านคนต้องอพยพไปยังประเทศต่างๆ ส่วนหนึ่งต้องกลายเป็นผู้ลี้ภัยไปอยู่ในบราซิล

นับตั้งแต่มีสงครามกลางเมืองที่ซีเรีย มีผู้อพยพเข้าไปสร้างชีวิตใหม่ที่บราซิลประมาณ 2,500 คน ผู้ลี้ภัยส่วนใหญ่มักจะอาศัยอยู่รอบๆ มัสยิดหลักของเซาเปาโล ในย่านเมืองบราสและแคมบูชี ในละแวกนี้จะมีทั้งร้านอาหารอาหรับ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจสไตล์อาหรับ รวมไปถึงซุปเปอร์มาร์เก็ตที่เดินทางได้ง่าย

แม้จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเป็นจำนวกมาก แต่ก็มีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่ลำบากทั้งการปรับตัว เรื่องภาษาและการหางานทำเพื่อเลี้ยงชีพในบ้านใหม่ ความเครียดก็เข้าครอบงำหลายๆ คน

มีสิ่งหนึ่งที่ช่วยชโลมใจพวกเขาได้ คือ ฟุตบอล

ฟุตบอลนับเป็นกีฬาที่หยั่งรากลึกในดินแดนแซมบ้ามาอย่างยาวนาน คนที่นี่หายใจเป็นฟุตบอลจึงมีผู้คนเล่นฟุตบอลตามท้องถนนมากมาย นักเตะชั้นยอดก็เริ่มต้นชีวิตพ่อค้าลูกหนังจากถนนมาแล้วนับไม่ถ้วน ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจชั้นยอดของเด็กๆ ที่มีฝันอยากจะหนีความจนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า

อับดุลบาเซต จารูร์ หนึ่งในผู้อพยพที่หนีสงครามมาอยู่ห่างบ้านเกิดมาตั้งแต่ปี 2014 เล่าว่า ฟุตบอลช่วยบรรเทาความเครียดของผู้ลี้ภัยเหล่านี้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดูการแข่งขัน หรือเล่นฟุตบอลด้วยตัวเอง แม้หลายๆ คนจะมีพูดภาษาที่ต่างกัน แต่พวกเราใช้ฟุตบอลเป็นภาษาสากล

“ไม่ว่าคุณจะสนับสนุนรัฐบาลซีเรียหรือเป็นฝ่ายต่อต้านมาก่อน แต่เมื่อถึงเวลาเล่นฟุตบอลเราจะตัดเรื่องเรื่องนี้ออกไป เพราะเราคือทีมเดียวกัน” จารูร์กล่าว

หลังจากที่มีผู้ลี้ภัยหลากหลายชาติอพยพเข้ามาในบราซิล ได้มีการจัดการแข่งขันฟุตบอลของผู้ลี้ภัยขึ้นเพื่อเชื่อมสัมพันธ์ของทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน การแข่งขันถูกจัดขึ้นในรัฐอื่นๆ ของบราซิล และมีผู้เล่นหลายร้อยคนจากหลายเชื้อชาติเข้าร่วม ทีมซีเรียเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ 2 ครั้ง แต่ทุกครั้งก็พลาดการคว้าแชมป์อย่างหวุดหวิด

จารูร์และเพื่อนร่วมทีมได้มีการก่อตั้งสโมสรฟุตบอลผู้ลี้ภัยชื่อ “วาเลนเตส” ซึ่งได้รับการจดทะเบียนกับสมาพันธ์ฟุตบอลบราซิลแล้ว และสาสามารถส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันในรายการรีฟูจีคัพ ซึ่งเป็นรายการที่จะรวมเอาทีมผู้ลี้ภัยจากนานาประเทศมาร่วมแข่งขันกัน

ฟิตอน อัสซี่ ชาวซาอุดีอาระเบีย ที่ลี้ภัยมายังประเทศบราซิลเมื่อปี 2014 กล่าวว่า เธอชื่นชอบโรมาริโอ ตำนานทีมชาติบราซิลที่เป็นส่วนสำคัญให้ทีมเซเลเซาคว้าแชมป์โลกเมื่อปี 2002 และยังหลังหลงรักในฟุตบอลบราซิลอย่างมาก ฟุตบอลมีส่วนช่วยให้เธอคลายเครียดลง เพราะตัวเองมีปัญหามากมายไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านการหางานเพราะไม่สามารถนำวุฒิการศึกษาที่เรียนจบแล้วมาด้วยได้ จึงทำให้งานทำได้อย่างยากลำบาก

“การได้ดูฟุตบอลกับครอบครัวนอกจากจะทำให้ช่วยผ่อนคลายความเครียดแล้ว ยังทำให้ได้ใช้เวลาร่วมกันกับครอบครัวอีกด้วย ในครั้งนี้จะเป็นเป็นฟุตบอลโลกครั้งที่ 3 ที่พวกเราได้ดูในประเทศบราซิล” อัสซี่กล่าว

คาร์ลอส ซากร็อก ชาวซีเรียอพยพอีกคน เล่าว่า เขาตกหลุมรักวัฒนธรรมบราซิลมานานก่อนที่เขาลี้ภัยไปบราซิลกับภรรยาและลูกสองคนในปี 2013 สิ่งที่ทำให้เขาประทับใจในประเทศนี้ คือ ฟุตบอลบราซิลและ เนย์มาร์ ซุปเปอร์สตาร์ทีมแซมบ้านั่นเอง

ในสมัยเด็กนั้น ซากร็อกเคยเป็นนักเตะฟุตบอลในแถบประเทศอาหรับจึงไม่แปลกใจหนักที่เขาชื่นชอบในฟุตบอลบราซิล แต่แล้วเมื่อเขาบาดเจ็บหนักทำให้ต้องเลิกเล่นฟุตบอลไปจนทำให้ต้องไปใช้ชีวิตที่ซีเรียด้วยการทำอาชีพเป็นช่างอิฐ

ชีค ญิฮาด ฮัมมาเดห์ นักเขียนชาวมุสลิมที่อาศัยอยู่ในบราซิลมาแล้วกว่า 10 ปี กล่าวว่า สำหรับผู้ลี้ภัยหลายคน ฟุตบอลเป็นสิ่งเดียวในชีวิตของพวกเขา เหตุผลที่พวกเขาชื่นชอบในฟุตบอลบราซิลก็เพราะ บราซิลขึ้นชื่อเรื่องสไตล์ฟุตบอลที่เล่นด้วยสไตล์การเล่นที่สนุกสนาน ทำให้ชาวอาหรับส่วนใหญ่เรียนรู้และค้นพบวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกันในหลายๆ ประเทศ

“ฟุตบอลบราซิลเป็นสัญลักษณ์แห่งความสุขในหลายประเทศอาหรับเสมอ มันสามารถสร้างความเห็นอกเห็นใจระหว่างผู้คนได้ทันที” ฮัมมาเดห์กล่าว

ฟุตบอลในประเทศอื่นอาจจะเป็นเพียงกีฬา แต่ที่บราซิลมันคือชีวิต คือยารักษาโรคซึมเศร้า คือความสุข และเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่สร้างความสุขให้กับคนที่อยู่ตรงนั้นได้ดีจริงๆ

คุณกำลังดู: ‘ฟุตบอล’ มนต์วิเศษเยียวยาผู้อพยพในบราซิล

หมวดหมู่: กีฬาอื่นๆ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด