ไฝเสน่ห์ หรือ มะเร็งผิวหนัง

ไฝเสน่ห์ หรือ มะเร็งผิวหนัง
  • ไฝเกิดขึ้นได้ทุกบริเวณบนร่างกาย แม้กระทั่งใต้เล็บ สามารถเปลี่ยนรูปร่างไปได้ตลอดเวลา หรือจางหายไปเมื่ออายุมากขึ้น โดยทั่วไปไฝไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ไฝบางชนิดที่ผิดปกติอาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเมลาโนมาได้
  • หากไฝมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน หรือเร็วเกินไป เช่น สี ขนาด รูปร่าง โตเร็วผิดปกติ ตกสะเก็ด หรือมีเลือดออก ควรระวังและปรึกษาแพทย์
  • วิธีป้องกันมะเร็งผิวหนัง ควรทาครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน โดยเลือกครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไป ทาครีมกันแดดก่อนออกแดดอย่างน้อย 20-30 นาที และควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด

ไฝคืออะไร

ไฝ (Mole, Nevus) เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีของร่างกายมีการรวมตัวในบริเวณเดียวกันจนเห็นเป็นสีเข้ม อาจเป็นสีน้ำตาล หรือดำ และอาจมีลักษณะเรียบ หรือนูน การเกิดของไฝมีทั้งที่เป็นมาตั้งแต่แรกเกิด หรือเกิดในภายหลัง โดยอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งมีสีเข้มขึ้น หรืออ่อนลง เม็ดใหญ่ขึ้น หรือจางหายไปก็ได้

ไฝกับการเกิดมะเร็งผิวหนัง

หากมีไฝ 100 ตำแหน่งขึ้นไป ก็มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งผิวหนังมากกว่าประชากรปกติถึง 7 เท่า

ผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งผิวหนัง

  • ผู้ที่มีผิวสีอ่อน หรือมีความไวต่อแสงแดดมาก
  • มีไฝจำนวนมาก
  • มีไฝขนาดใหญ่แต่กำเนิด
  • มีไฝลักษณะผิดปกติ หรือมีการเปลี่ยนแปลง
  • ได้รับแสงแดดมากในช่วงวัยเด็ก หรือวัยรุ่น
  • มีประวัติมะเร็งผิวหนังในครอบครัว
  • ต้องสัมผัสแสงแดดอย่างมากเป็นประจำ
  • มีประวัติเคยเป็นมะเร็งผิวหนังมาก่อน
  • ได้รับยากดภูมิบางชนิด

มะเร็งผิวหนังชนิด Melanoma

มะเร็งผิวหนังมีหลายชนิด แต่ชนิดที่รุนแรงที่สุดคือ melanoma ซึ่งพบผู้ป่วยกว่าสองแสนคนทั่วโลก และมีผู้เสียชีวิตถึงห้าหมื่นคนต่อปี เพศชายมีโอกาสเกิดมากกว่าเพศหญิง

เมลาโนมา (melanoma) เกิดจากความผิดปกติของเซลล์สร้างเม็ดสีของผิวหนัง หรือ melanocyte ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ การสัมผัสรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) ที่มากเกินไป การตรวจพบมะเร็งผิวหนังชนิดนี้และเริ่มรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มแรกจะเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตจากมะเร็งชนิดนี้ได้ถึง 99%

ลักษณะของไฝที่อาจกลายเป็นมะเร็งเป็นอย่างไร

ลักษณะที่สังเกตได้ง่าย คือ

  • A – Asymmetry ไฝโดยทั่วไปมักมีขนาดกลม ไฝที่มีรูปร่างไม่สมมาตร มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็นมะเร็ง
  • B – Border ขอบเขต โดยขอบเขตของไฝที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งมักมีขอบเขตไม่สม่ำเสมอ หรือไม่ชัดเจน
  • C – Color สี โดยทั่วไปไฝหนึ่งเม็ดควรจะเป็นสีเดียวกัน หากสีของไฝไม่สม่ำเสมอ หรือมีหลายสีในเม็ดเดียวควรระวัง
  • D – Diameter ขนาด หากไฝมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 6 มิลลิเมตร อาจเป็นมะเร็งผิวหนังได้
  • E – Evolving การเปลี่ยนแปลง หากไฝมีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน หรือเร็วเกินไป เช่น สี ขนาด รูปร่าง โตเร็วผิดปกติ ตกสะเก็ด หรือมีเลือดออก ควรระวังและปรึกษาแพทย์

วิธีการกำจัดไฝ

หากสงสัยภาวะมะเร็งผิวหนัง ควรทำการฝาน หรือตัดเพื่อส่งตรวจชิ้นเนื้อ ไม่ควรทำเลเซอร์ แต่ถ้าหากได้รับการตรวจว่าไฝนั้นไม่มีลักษณะที่เข้าข่ายสงสัยมะเร็งผิวหนัง ก็สามารถเอาออกด้วยการทำเลเซอร์ได้

วิธีการเอาไฝออกนั้นมีสองวิธี คือ การทำเลเซอร์และการตัดออก ขึ้นอยู่กับระดับความลึกของไฝ และดุลยพินิจของแพทย์ผู้ตรวจ ซึ่งการกำจัดไฝทุกวิธีมีโอกาสทำให้เกิดแผลเป็น แต่การกำจัดไฝโดยแพทย์ที่มีความชำนาญจะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดแผลเป็นถาวร หรือแผลเป็นนูน (keloid) ได้

การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนัง

การวินิจฉัยมะเร็งผิวหนังสามารถทำได้หลังจากที่แพทย์ตัดชิ้นเนื้อของไฝที่น่าสงสัยเพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ปัจจุบันมีการใช้ dermoscope เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งผิวหนังระยะเริ่มแรก รวมถึงการทำ mole mapping ซึ่งเป็นการถ่ายรูปตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าด้วยเครื่อง FOTOfinder เพื่อตรวจติดตามลักษณะของไฝอย่างใกล้ชิด และจะมีการทำซ้ำทุกปี จึงสามารถตรวจหาการเกิดไฝเม็ดใหม่ๆ ได้

การรักษามะเร็งผิวหนัง

การรักษามะเร็งผิวหนังที่ดีที่สุดคือ การผ่าตัดเอาบริเวณที่เป็นมะเร็งผิวหนังออกให้หมด อาจใช้วิธีการขูดออกร่วมกับการจี้ด้วยไฟฟ้า หรือไนโตรเจนเหลว แต่หากรอยโรคมีขนาดใหญ่ต้องใช้วิธีเคมีบำบัด หรือการฉายแสงร่วมด้วย

การป้องกันมะเร็งผิวหนัง

  • ควรหลีกเลี่ยงแสงแดดจัด โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10.00-15.00 น.
  • ใช้ครีมกันแดดที่มี SPF15 ขึ้นไปเป็นประจำ
  • หากจำเป็นต้องออกแดด ควรใส่เสื้อผ้าป้องกัน
  • หลีกเลี่ยงการอาบแดด หรือการใช้เครื่องอบผิวให้เป็นสีแทน
  • หากมีไฝ ขี้แมลงวัน หูด หรือปาน ควรสังเกตและปรึกษาแพทย์
  • หากมีแผลเรื้อรัง หรือแผลที่ไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ ควรปรึกษาแพทย์

ไฝบางชนิดอาจกลายเป็นมะเร็งผิวหนังได้ ควรหมั่นสังเกตความเปลี่ยนแปลงและปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตได้อย่างมาก

ที่มา:

  • https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/มะเร็งผิวหนัง-ไฝ
  • https://www.verywellhealth.com/moles-vs-melanoma-skin-cancer-identification-gallery-3010833
  • https://www.cancer.org.au/cancer-information/causes-and-prevention/sun-safety/check-for-signs-of-skin-cancer
  • https://www.aad.org/media/stats-skin-cancer
  • https://www.skincancer.org/skin-cancer-information/skin-cancer-facts

บทความโดย :พญ. พัชรหทัย ไกรศักดิ์ แพทย์ชำนาญการด้านผิวหนัง รพ.สมิติเวช สุขุมวิท

คุณกำลังดู: ไฝเสน่ห์ หรือ มะเร็งผิวหนัง

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด