"หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์" : เวทีโชว์ความล้ำหน้ารอบด้านของจีน
การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2022 ณ
เมืองหางโจว ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน จะเป็นมหกรรมกีฬาที่มีนักกีฬา
เจ้าหน้าที่เทคนิค
และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนจากประเทศต่างๆในทวีปเอเชีย
เข้ามามีส่วนร่วมมากกว่า 20,000 คน
นับเป็นมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ที่จะต้องมีการวางแผนด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆอย่างเป็นระบบ
ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือหมู่บ้านนักกีฬาที่ทางเจ้าภาพได้จัดเตรียมความสะดวกสบายต่างๆ
เอาไว้ให้อย่างครบถ้วนบนพื้นที่กว่า 304,000 ตารางเมตร
บริเวณฝั่งตะวันออกของจุดตัดระหว่างปักกิ่งกับหางโจว แกรนด์ คาแนล
และแม่น้ำเฉียนถัง
เจ้าภาพนั้นพิถีพิถันและใส่ใจในรายละเอียดของหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์เป็นอย่างมากเพื่อต้องการยกระดับมหกรรมกีฬาเอเชียนเกมส์ให้มีความใกล้เคียงกับโอลิมปิกเกมส์ให้มากที่สุด
และอีกทางหนึ่งเมืองหางโจวก็ต้องการอาศัยโอกาสในการเป็นเจ้าภาพกีฬาเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้แสดงถึงความก้าวหน้าทางด้านสถาปัตยกรรมรวมทั้งวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมือง
บทความนี้ผมจะพาทุกท่านไปพบกับเรื่องราวของ
"หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์"
เราไปดูกันนะครับว่าทางเมืองหางโจวเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ครั้งนี้มีการเตรียมความพร้อมเพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือนอย่างไรบ้าง
หมู่บ้านนักกีฬาสีเขียว
การสร้างหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์ในครั้งนี้เจ้าภาพให้ความสำคัญกับการออกแบบและก่อสร้างโดยมีโจทย์ใหญ่ว่าต้องกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม
ไม่ก่อสิ่งรบกวนแก่ระบบนิเวศ
และที่สำคัญคือต้องไม่สร้างมลพิษและความสิ้นเปลืองด้านพลังงานเพื่อให้สมกับการเป็นหมู่บ้านนักกีฬาสีเขียวอย่างที่ตั้งใจจะนำเสนอสู่สายตาชาวเอเชีย
ด้วยเหตุนี้ผู้รับผิดชอบโครงการจึงได้อาศัยความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่พื้นที่ของหมู่บ้านนักกีฬานั้นอยู่ติดกับแม่น้ำเฉียนถังหนึ่งในแม่น้ำสายสำคัญของประเทศจีน
โดยได้ทำการออกแบบพื้นที่บริเวณริมน้ำสาธารณะ (Public Waterfront)
ที่มีความยาวกว่า 500 เมตร
เพื่อเป็นจุดให้บรรดานักกีฬาและเจ้าหน้าที่ของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ได้มาพักผ่อนหย่อนใจ
นอกจากนี้ในบริเวณหมู่บ้านพักนักกีฬาก็จะมีคลองที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อให้หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์นั้นมีความชิดใกล้กับธรรมชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ซึ่งแม้คลองนี้จะถูกสร้างขึ้นมาด้วยฝีมือของมนุษย์แต่ก็สามารถมีระบบไหลเวียนน้ำได้อย่างเป็นธรรมชาติเพราะนักออกแบบนั้นได้ออกแบบให้ตัวคลองมีการเชื่อมต่อกับแม่น้ำเฉียนถังเพื่อใช้ประโยชน์จากกระแสธรรมชาติสร้างระบบการไหลของน้ำในคลองนี้
คอมเพล็กซ์ทันสมัยสไตล์ราชวงศ์ซ่ง
อินเตอร์เนชั่นแนลโซน (International Zone)
เป็นพื้นที่บริเวณกลางหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์
สำหรับใช้ในการจัดกิจกรรมสาธารณะต่างๆ
ในช่วงของการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้
โดยอินเตอร์เนชั่นแนลโซนเป็นคอมเพล็กซ์ที่มีพื้นที่ทั้งหมด 67,700
ตารางเมตรประกอบด้วยอาคารสี่หลังที่เชื่อมต่อกันด้วยทางเดินยาว 1.6
กิโลเมตร บนชั้นสองมีสนามบาสเกตบอล 3 สนามและสนามฟุตบอลขนาด 7x7 อีก 1
สนามเพื่อเอาไว้นักกีฬา เจ้าหน้าที่เทคนิค
และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนได้ออกกำลังกาย
ขณะที่ลานบนชั้นดาดฟ้าของอินเตอร์เนชั่นแนลโซนจะเป็นไฮไลต์สำคัญ
เพราะมีการตกแต่งด้วยสถาปัตยกรรมสไตล์ราชวงศ์ซ่งอันโดดเด่น
พร้อมด้วยสระน้ำทรงสี่เหลี่ยม เรือหินอ่อน โรงน้ำชา และเนินเขาเทียม
เป็นบรรยากาศย้อนยุคสมัยที่น่าตื่นตาตื่นใจ
และพื้นที่บริเวณนี้จะใช้ในการต้อนรับคณะกรรมการโอลิมปิกสากลและสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย
เป็นบริเวณที่ทางเจ้าภาพภูมิใจนำเสนอและเชื่อมั่นว่าบุคคลสำคัญของวงการกีฬาโลกและทวีปเอเชียจะประทับใจไม่รู้ลืม
เทคโนโลยีเพื่อความสะดวกและปลอดภัย
สำหรับอีกประเด็นหนึ่งที่อยู่คู่กับการแข่งขันมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่มาโดยตลอดนั่นก็คือเรื่องของการรักษาความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยภายในหมู่บ้านนักกีฬา
งานนี้ทางเมืองหางโจวเจ้าภาพจัดการแข่งขันได้มีการนำเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์หรือ
AI, IoT และ Big Data เข้ามาช่วยในการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล
เพื่อนำไปช่วยในการบริหารจัดการความปลอดภัยด้านต่างๆอย่างเต็มที่ เช่น
การสั่งการอัจฉริยะ การรักษาความปลอดภัยอัจฉริยะ
การจัดการจราจรอัจฉริยะ เป็นต้น
เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความสะดวกสบายอย่างสูงสุดแก่นักกีฬา
เจ้าหน้าที่เทคนิค
และบุคลากรด้านสื่อสารมวลชนทุกคนที่มาอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านนักกีฬาแห่งนี้
เทคโนโลยีดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันสนับสนุนให้เจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนเกมส์ในครั้งนี้สามารถใช้โอกาสดังกล่าวในการประชาสัมพันธ์ถึงศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเมืองตนเองอย่างเต็มที่
เรียกได้ว่านี่อาจเป็นหมู่บ้านนักกีฬาอัจฉริยะต้นแบบของมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่ต่อไปเลยก็ว่าได้
ซึ่งจากการสำรวจความพร้อมล่าสุดของคณะกรรมการจัดการแข่งขันนั้นคงต้องบอกว่าเมืองหางโจวได้แสดงความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีผ่านการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์
จะเป็นเมืองจำลองอัจฉริยะที่มีความกลมกลืนกับธรรมชาติและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สถานที่แห่งนี้จะเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของชาวเมืองหางโจว
และจะเป็นอีกสถานที่สุดประทับใจของชาวเอเชียอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
พื้นที่เศรษฐกิจใหม่หลังจบเอเชียนเกมส์
อีกปัญหาหนึ่งของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาขนาดใหญ่นั้นก็คือการใช้สอยสิ่งก่อสร้าง
หรือสถานที่ต่างๆที่ถูกเนรมิตขึ้นมาในช่วงเวลาดังกล่าวหลายครั้งที่เราพบว่าเมื่อมหกรรมกีฬาจบลงไปแล้ว
สนามกีฬาหรือหมู่บ้านนักกีฬาได้แปลเปลี่ยนไปไม่เกิดประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่ากับการลงทุนจนกลายเป็นภาระกับประเทศหรือเมืองที่เป็นเจ้าภาพในภายหลัง
แต่สิ่งที่กล่าวมานี้จะไม่เกิดกับหมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์
โดยหลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ 2022
จบลงพื้นที่หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์จะถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นคอมเพล็กซ์เชิงพาณิชย์และอาคารสำนักงานสำหรับบริษัทห้างร้านต่างๆ
ส่วนบริเวณริมน้ำสาธารณะจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการพักผ่อนของประชาชนทั่วไปและเป็นพื้นที่สำหรับการค้าขายริมน้ำอันจะเป็นเอกลักษณ์ใหม่ของเมือง
ซึ่งทางเมืองหางโจวเชื่อมั่นว่าหลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์จบลงแล้ว
หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์แห่งนี้จะกลายเป็นย่านธุรกิจใหม่ที่ช่วยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจให้กับเมืองได้อย่างแน่นอน
ครับเมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ผมเองมีความเชื่อว่าท่านผู้อ่านน่าจะมีความคิดเห็นเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่าทางเมืองหางโจวนั้นมีการวางแผนในการใช้งานหมู่บ้านนักกีฬาทั้งระหว่างการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์และหลังจากการแข่งขันจบลงไปแล้วได้อย่างลงตัว
และนี่คือบทความ "หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์"
ที่จะช่วยให้ทุกท่านเห็นถึงความตั้งใจในการเตรียมความพร้อมของเจ้าภาพ
และการแสดงถึงความเจริญก้าวหน้าของการเป็นเจ้าภาพในมหกรรมกีฬาสมัยใหม่
ที่จะกลายเป็นมาตรฐานที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต
คุณกำลังดู: "หมู่บ้านนักกีฬาหางโจวเกมส์" : เวทีโชว์ความล้ำหน้ารอบด้านของจีน
หมวดหมู่: กีฬาอื่นๆ