หรือเราต้องกลับมาพก “เงินสด” เมื่อแอปฯ ธนาคารล่มบ่อย ล่มเก่ง
กลายเป็นเรื่องใหญ่ที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองต่างบ่นกันระงมจนขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์ และสำนักข่าวออนไลน์แทบทุกชื่อต้องทำข่าวออกมาประชาสัมพันธ์ให้คนอื่น ๆ ได้ทราบต่อ ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อระบบ Mobile Banking และ Internet Banking ของเกือบทุกธนาคารไม่สามารถใช้งานได้
โดยเฉพาะบริการโอนเงินต่างธนาคาร เป็นเหตุให้เกิดความโกลาหลขึ้นในกลุ่มคนที่มักจะใช้จ่ายด้วยการโอนเงินหรือสแกน QR Code ไม่สามารถทำรายการได้ มีคนจำนวนไม่น้อยเดือดร้อนเพราะไม่สามารถจ่ายค่าสินค้าและบริการที่อยู่ตรงหน้า ทว่าในกรณีที่ทำรายการไปแล้ว เงินถูกตัดไปจากบัญชีผู้โอนเรียบร้อย แต่อาจจะไปไม่ถึงบัญชีของผู้รับ
เรื่องยิ่งวุ่นวายมากขึ้นไปอีก เพราะคนจำนวนหนึ่งที่เจอปัญหาในการใช้จ่ายผ่าน Mobile Banking ไม่มีเงินสดพกติดตัวเลยสักสลึงเดียว นั่นทำให้คนกลุ่มนี้ไม่สามารถใช้จ่ายอะไรได้เลย จนกว่าระบบจะกลับมาใช้งานได้ หรือจนกว่าจะหาเงินสดมาใช้จ่ายชั่วคราว ซึ่งในยุคที่บ้านเรากำลังผลักดันสังคมไร้เงินสด แต่คนที่ปรับตัวเข้ากับสังคมไร้เงินสดกลับต้องเจอแต่ปัญหาอันเนื่องมาจากระบบการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดที่ไม่เสถียรกันถี่ยิบ แอปฯ ธนาคารที่ล่มบ่อย ล่มเก่ง แน่นอนว่าคนเหล่านี้ก็คงไม่คาดคิดว่าจะเจอกับปัญหาเช่นนี้ แต่ถ้าเจอบ่อย เจอถี่กันขนาดนี้ บางทีเราอาจต้องพิจารณากลับมาพกเงินสดติดตัวกัน (บ้าง) แล้วหรือเปล่า
ย้อนดูสถิติ แอปฯ ของธนาคารไหน ยืนหนึ่งเรื่องล่มเก่ง
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้เผยแพร่ สถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้องที่กระทบต่อการให้บริการผ่านช่องทางสำคัญ ซึ่งหมายถึงระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของธนาคารพาณิชย์ที่ไม่สามารถให้บริการผ่านช่องทาง Mobile Banking, Internet Banking, เครื่องเอทีเอ็ม, เครื่องฝากเงินสด (ซีดีเอ็ม) และสาขาได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ถึงไตรมาสที่ 4 ของปี 2565 โดยได้เปิดเผยข้อมูลจากระบบ ณ วันที่ 30 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา
จากข้อมูลพบว่าในภาพรวม ระบบธนาคารพาณิชย์มีการขัดข้องรวมกันทั้งสิ้น 89 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวมกันนานถึง 204 ชั่วโมง แบ่งเป็นระบบ Mobile Banking ขัดข้อง 65 ครั้ง นาน 158 ชั่วโมง, Internet Banking 4 ครั้ง นาน 11 ชั่วโมง, เอทีเอ็ม 11 ครั้ง นาน 13 ชั่วโมง และสาขา 12 ครั้ง นาน 22 ชั่วโมง
โดยจะเห็นว่าบริการผ่าน Mobile Banking นั้นมีการขัดข้องมากที่สุดถึง 65 ครั้ง นานถึง 158 ชั่วโมง น่าจะเนื่องมาจากมีการใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าบริการประเภทอื่น จึงสามารถสะท้อนให้เห็นถึงพฤติกรรมการทำธุรกรรมการเงินที่เปลี่ยนไปของคนไทย ที่นิยมหันมาทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือมากขึ้นและใช้เงินสดน้อยลง ซึ่งเมื่อจำแนกเป็นรายธนาคารพาณิชย์ พบว่าแต่ละธนาคารเกิดเหตุขัดข้อง ดังนี้
- ธนาคารทหารไทยธนชาต มีการขัดข้องสูงสุดในปี 65 โดยขัดข้องทั้งสิ้น 22 ครั้ง คิดเป็นเวลา 87 ชั่วโมง คาดว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากช่วงควบรวมกิจการระหว่างธนาคารทหารไทยและธนชาตในปีที่ผ่านมา
- ธนาคารไทยพาณิชย์ ขัดข้อง 18 ครั้ง รวม 16 ชั่วโมง
- ธนาคารกรุงไทย ขัดข้อง 9 ครั้ง รวม 13 ชั่วโมง
- ธนาคารกรุงเทพ ขัดข้อง 5 ครั้ง รวม 23 ชั่วโมง
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ขัดข้อง 3 ครั้ง รวม 6 ชั่วโมง
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขัดข้อง 3 ครั้ง รวม 6 ชั่วโมง
- ธนาคารซิตี้แบงก์ ขัดข้อง 2 ครั้ง รวม 3 ชั่วโมง
- ธนาคารยูโอบี ขัดข้อง1 ครั้ง รวม 2 ชั่วโมง
- ธนาคารทิสโก้ ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 1 ชั่วโมง
- ธนาคารกสิกรไทย ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 1 ชั่วโมง
ส่วนบริการ Internet Banking ขัดข้องทั้งสิ้น 4 ครั้ง รวม 11 ชั่วโมง จำแนกเป็นรายธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารทหารไทยธนชาต ขัดข้อง 2 ครั้ง รวม 5 ชั่วโมง
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 4 ชั่วโมง
- ธนาคารซิตี้แบงก์ ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 2 ชั่วโมง
สำหรับการให้บริการออฟไลน์ก็มีขัดข้องเช่นกัน โดยการฝากถอนเงินผ่านตู้เอทีเอ็มและตู้ฝากเงินมีระบบขัดข้องทั้งสิ้น 11 ครั้ง นาน 13 ชั่วโมง จำแนกเป็นรายธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ขัดข้อง 4 ครั้ง รวม 6 ชั่วโมง
- ธนาคารทหารไทยธนชาต ขัดข้อง 3 ครั้ง รวม 2 ชั่วโมง
- ธนาคารกรุงไทย ขัดข้อง 2 ครั้ง รวม 3 ชั่วโมง
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 1 ชั่วโมง
- ธนาคารทิสโก้ ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 1 ชั่วโมง
และการให้บริการออฟไลน์ที่สาขา ขัดข้อง 12 ครั้ง นาน 22 ชั่วโมง จำแนกเป็นรายธนาคาร ดังนี้
- ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย ขัดข้อง 4 ครั้ง รวม 7 ชั่วโมง
- ธนาคารทหารไทยธนชาต ขัดข้อง 3 ครั้ง รวม 2 ชั่วโมง
- ธนาคารกรุงไทย ขัดข้อง 2 ครั้ง รวม 3 ชั่วโมง
- ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 4 ชั่วโมง
- ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 3 ชั่วโมง
- ธนาคารแห่งประเทศจีน ขัดข้อง 1 ครั้ง รวม 3 ชั่วโมง
สังคมไร้เงินสดของสังคมไทยพร้อมแค่ไหน
ย้อนหลังไปประมาณ 6 ปีก่อน (ปี 2017) “QR Code สังคมไร้เงินสด” ถือเป็นของใหม่ในบ้านเรา โดยเพิ่งมีการ เปิดตัว Standard QR Code เมื่อช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2017 เพื่อหวังใช้ QR Code เป็นช่องทางในการชำระเงิน รับเงิน หรือทำธุรกรรมต่าง ๆ แทนการใช้เงินสด โดยสามารถเลือกได้ว่าจะชำระเงินผ่านช่องทางใด ทั้งบัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน e-wallet (กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์) และ Mobile Banking ซึ่งในขณะนั้นมีธนาคารเพียง 2 แห่ง ที่ทดลองนำร่องระบบ QR Code คือ กสิกรไทยและไทยพาณิชย์
ในเวลานั้น มีความคาดหวังว่าจะให้ประชาชนคนไทยใช้ระบบชำระเงินด้วย QR Code ให้เป็นมาตรฐานเดียว แทนการใช้เงินสดอย่างที่ทุกคนคุ้นเคยกัน และระบบนี้จะใช้อย่างเต็มรูปแบบทั่วประเทศด้วยในอนาคต โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จับมือกับบริษัทผู้ให้บริการบัตรเครดิต สมาคมสถาบันการเงินไทย และสมาคมโทรคมนาคม เพื่อให้มีการใช้ QR Code แบบครบวงจร
มาจนถึงปัจจุบันนี้ สังคมไร้เงินสดในสังคมไทยมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น โดยคนไทยมีกระเป๋าเงินออนไลน์ทั้ง Mobile Banking บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรโดยสารสาธารณะ และอีกสารพัดบัตรตามแต่ห้างร้านและองค์กร รัฐบาลเองก็ยังมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แอปฯ ธนาคารก็สามารถสแกน QR Code ได้ง่าย ๆ อีกทั้งยังมีกฎหมายรองรับการทำธุรกรรมออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนค่อย ๆ เลิกใช้จ่ายเงินสด แล้วใช้จ่ายออนไลน์ให้ปลอดภัยและง่ายขึ้นแทน
อย่างไรก็ตาม คนไทยปรับตัวรับสภาพสังคมไร้เงินสดเป็นอย่างดีในช่วง 2-3 ปีของการระบาดของ COVID-19 เนื่องจากคนพยายามหลีกเลี่ยงที่จะจับเงินสด หันมาพกบัตรต่าง ๆ แทนการพกเงินสด โหลดแอปฯ ของธนาคารไว้สำหรับจับจ่ายใช้สอยด้วย QR Code หรือกดหมายเลขพร้อมเพย์ ร้านค้าต่าง ๆ ก็ปรับเปลี่ยนวิธีจ่ายเงินของลูกค้า รับชำระเงินในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน e-wallet (กระเป๋าสตางค์อิเล็กทรอนิกส์) มีเลขบัญชีธนาคารหรือเลขพร้อมเพย์ (PromtPay) หรือกระทั่งชำระเงินด้วย QR Code ให้ลูกค้าสแกน รวมถึงเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่หันมาพัฒนาให้ตอบโจทย์กับสังคมไร้เงินสด
ดังนั้น ทุกวันนี้คนไทยส่วนมากจึงคุ้นเคยกับการทำธุรกรรมแบบไร้เงินสดในรูปแบบของการกดโอนหรือกดสแกน และการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านสมาร์ตโฟน อินเทอร์เน็ต และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ที่สามารถเก็บเงินของเราไว้ได้บนออนไลน์ ซึ่งแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันที่เราใช้ทำธุรกรรมทางการเงินผ่านทางออนไลน์กันนี้ หากจะให้เปรียบเทียบ จะพบว่าฟังก์ชันของมันแทบไม่ต่างอะไรกับ “กระเป๋าเงิน” ของเรา เวลาจะจับจ่ายใช้สอย ก็แค่เปลี่ยนจากการหยิบกระเป๋าเงินมาหาเงินจ่าย เป็นการหยิบสมาร์ตโฟนขึ้นมาไถ ๆ กด ๆ จ่อ ๆ แล้วกดยืนยันจ่ายเท่านั้นเอง กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) และสังคมไร้เงินสดจึงอยู่ในชีวิตประจำวันของคนไทยมาสักพักแล้ว
จะเห็นได้ว่า “คน” พร้อมที่จะปรับตัว แต่ “ระบบ” กลับไม่เอื้อเท่าที่ควร มีรูปแบบการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดให้ใช้คนไทยได้ลองใช้มากมายหลายรูปแบบ แต่ตัวระบบกลับยังไม่ค่อยเสถียรเท่าไรนัก โดยเฉพาะระบบ Mobile Banking ที่มีปัญหาทุกครั้งในช่วงเงินเดือนออก และวันดีคืนดีก็ขัดข้องขึ้นมาเสียเฉย ๆ ดังเช่นสถิติแอปฯ ล่มดังกล่าว ซึ่งคนที่เดือดร้อน ก็คือคนที่จำเป็นต้องใช้เงิน แต่ใช้ไม่ได้นั่นเอง!
หากโลกต้องเผชิญกับวันที่ไม่มีอินเทอร์เน็ต
แม้ว่าคนหลายคนจะเติบโตขึ้นมาในยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ ยุคที่อินเทอร์เน็ตต้องเชื่อมต่อกับโทรศัพท์บ้าน ยุคที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือยุคที่เรายังไม่สามารถเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตได้แบบ 24 ชั่วโมงเช่นทุกวันนี้ แต่เชื่อได้เลยว่าคนหลายคนไม่อาจจินตนาการออกหรอกว่าถ้าทั่วโลกไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้กันสัก 1 ชั่วโมง หรือ 1 วัน หรือ 1 เดือน หรืออาจจะนานหลายเดือน หรือ 1 ปี โลกเราจะเป็นอย่างไร แล้วเราจะใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร หากต้องย้อนเวลากลับไปมีชีวิตเหมือนช่วงที่ยังไม่รู้จักอินเทอร์เน็ต หลายคนคงไม่สามารถอยู่ได้ และแน่นอนว่าการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่ต้องเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตก็จะไม่สามารถใช้งานได้เหมือนกัน
“อินเทอร์เน็ตล่มทั่วโลก” อาจฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อและไม่น่าที่จะเป็นไปได้ ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ มีกระแสข่าวแพร่สะพัดตามสื่อสังคมออนไลน์ว่า โลกของเราอาจเผชิญกับ “วันจุดจบของอินเทอร์เน็ต” (Internet Apocalypse) พูดง่าย ๆ ก็คืออินเทอร์เน็ตอาจจะล่มทั่วโลก และใช้งานไม่ได้เป็นเวลานานหลายเดือนจนถึงเป็นปี เนื่องจากพายุสุริยะที่มาจากดวงอาทิตย์ มีวงรอบของความรุนแรงแรงขึ้นเรื่อย ๆ และคาดว่าจะแรงสุดในปี 2025 โดย NASA ได้ออกบทความที่มีชื่อว่า “NASA-enabled AI Predictions May Give Time to Prepare for Solar Storms” บนเว็บไซต์ NASA เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2023 ที่ผ่านมา
โดยในบทความมีการแสดงความกังวลถึงผลกระทบของพายุสุริยะที่มีต่อโลก ซึ่งพายุสุริยะ คือปรากฏการณ์ความผันผวนของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรง ส่งผลให้ดวงอาทิตย์แผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมา ผลคืออาจทำให้เทคโนโลยีต่าง ๆ ของมนุษย์ที่ใช้ไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า “อาจเป็นอัมพาต” โดยเฉพาะดาวเทียม อุปกรณ์สื่อสาร และโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ โดยคาดกันว่ามีโอกาสเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ที่จะทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลกล่มได้ และหากเกิดขึ้นจริงก็อาจล่มยาวนานหลายเดือนเลยทีเดียว (เป็นการคาดการณ์แบบเลวร้ายที่สุด ซึ่งในความเป็นจริงเรายังไม่รู้ว่าพายุสุริยะจะแรงแค่ไหน หรือมันอาจไม่มีผลกระทบอะไรเลยก็ได้)
นั่นหมายความว่าในอนาคตที่อีกไม่นานเท่าไรนัก มนุษย์โลกอาจจะ (ย้ำว่าอาจจะ!) มีโอกาสได้ประสบกับสภาวะไร้สัญญาณอินเทอร์เน็ตใช้กันทั่วโลกก็เป็นได้ ซึ่งแน่นอนว่าระบบ Internet Banking และ Mobile Banking ก็คงจะใช้งานไม่ได้ด้วย อันที่จริงถ้าอินเทอร์เน็ตล่มทั้งโลก ระบบสื่อสารก็จะล่มทั้งระบบเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรศัพท์ หอบังคับการบิน ดาวเทียม โครงสร้างพื้นฐานมนุษย์เกี่ยวพันกับระบบจ่ายกระแสไฟ ระบบสื่อสารและอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ก็ใช้งานไม่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งตามข่าว NASA ชี้แจงว่ากำลังเตรียมรับมือ โดยพยายามพัฒนาโมเดลคอมพิวเตอร์ DAGGER ร่วมกับ AI ที่ช่วยคาดการณ์พายุสุริยะรุนแรงที่จะกระทบต่อโลกก่อนเกิดเหตุ 30 นาที
หากโลกของเราไม่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ตได้นานหลายเดือนขนาดนั้นจริง ระบบ Internet Banking และ Mobile Banking ก็จะใช้การไม่ได้ และนั่นก็แปลว่าเราอาจต้องกลับมาใช้ชีวิตแบบถือเงินสดใช้จ่ายกันอีกครั้ง!
อย่าไปไหนมาไหนโดยไม่พกเงินสดติดตัวเลยสักบาท!
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าข้อเสียข้อหนึ่งของสังคมไร้เงินสด หรือการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ (Mobile Banking) ด้วยการกดโอนเงินเข้าหมายเลขบัญชี/หมายเลขพร้อมเพย์ เปิดกล้องสแกน QR Code หรือวิธีอื่น ๆ ที่เป็นการทำธุรกรรมผ่านแอปฯ บนมือถือ ที่คนไทยนิยมใช้กันมากในเวลานี้ คือเรื่องของระบบอินเทอร์เน็ต โดยเราจำเป็นต้องมีอินเทอร์เน็ตที่เสถียรและค่อนข้างเร็วในการใช้งาน ซึ่งถ้าหากอินเทอร์เน็ตของเราหมดหรือเราดันพาตัวเองไปใช้จ่ายอยู่ในจุดอับสัญญาณล่ะก็ เราก็จะไม่สามารถใช้บริการอะไรได้เลย ดังนั้น ไม่ว่าในบัญชีของเราจะมีเงินอยู่มากแค่ไหน เราก็ใช้จ่ายอะไรไม่ได้อยู่ดี
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เรื่องของอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงระบบหลังบ้านของแอปพลิเคชันธนาคารต่าง ๆ และระบบเชื่อมต่อกลางในการทำธุรกรรมต่างธนาคารด้วย หากระบบดังกล่าวเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคขึ้นมา ก็จะส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินเกือบทุกธนาคารไม่สามารถใช้งานได้ชั่วคราว ดังเช่นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมา ทำให้ใครหลายคนไม่สามารถโอนเงินจ่ายค่าข้าวให้ร้านอาหารได้ บางคนสั่งอาหารเดลิเวอรี่ก็ติดขัดที่ขั้นตอนชำระเงิน มันจึงกลายเป็นเรื่องที่คนจำนวนมากต้องเดือดร้อน โดยเฉพาะคนที่ไปไหนมาไหนไม่พกเงินสดติดตัว ในขณะที่คนที่ลอยตัวสบาย ๆ คือคนที่ยังพกเงินสดติดกระเป๋าไว้ ก็เพื่อเผื่อว่ากรณีเช่นนี้จะเกิดขึ้นในสักวัน
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนั้น ทางสมาคมธนาคารไทยได้ออกมาชี้แจงในภายหลังว่าปัญหาเกิดจากระบบพร้อมเพย์มีปัญหา จึงส่งผลต่อการทำธุรกรรมโอนเงิน และชำระเงินผ่านบริการพร้อมเพย์ ซึ่งอาจทำให้ลูกค้าบางส่วนทำธุรกรรมไม่ได้ หรือมีผลการทำธุรกรรมล่าช้า อย่างไรก็ตาม สำหรับคนบางคน การทำธุรกรรมแบบออนไลน์ไม่ได้ในช่วงเวลานั้น มันไม่ใช่เรื่องเล็กแค่ไม่มีเงินจ่ายค่าข้าวป้าร้านอาหารตามสั่ง แต่กับบางคนเขาอาจจะกำลังต้องทำธุรกรรมที่สำคัญอยู่ก็ได้ เพราะมันเป็นช่วงที่มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่เงินเดือนออก
เมื่อย้อนกลับขึ้นไปดูสถิติที่บันทึกจำนวนครั้งและจำนวนชั่วโมงที่ระบบการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านออนไลน์เกิดเหตุขัดข้องขึ้นตลอดทั้งปี 2565 จะพบว่า จำนวนครั้งที่เกิดความขัดข้องจนระบบใช้งานไม่ได้นั้นไม่น้อยเลย และระยะเวลารวมที่เกิดเหตุขัดข้องก็ไม่น้อยเช่นเดียวกัน (ล่มรวม 89 ครั้ง คิดเป็นระยะเวลารวมกันนานถึง 204 ชั่วโมง) แถมยังข้ดข้องค่อนข้างถี่ยิบ หลายคนทราบดีเพราะเคยเจอกับตัวเอง กรณีที่ว่าเพิ่งจะล่มไปเมื่อวันก่อน วันนี้ก็ล่มอีกแล้ว! มันยิ่งทำให้เห็นว่าเราอาจไม่สามารถคาดหวังและให้ความเชื่อถือกับแอปฯ ธนาคารในมือถือได้ 100 เปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น ว่ามันจะสามารถใช้งานได้ตอนที่เราต้องการจะใช้มัน
“กรณี (แอปฯ ธนาคารล่มพร้อมกันหมด) เช่นนี้คงเกิดขึ้นในสักวัน” คือสาเหตุที่ทำให้ใครหลายคนยังคงต้องพกเงินสดติดตัวไว้เสมอ เพราะมันง่าย คล่อง และแน่นอนที่สุดแล้ว อันที่จริง ในฐานะคนที่ใช้จ่ายแบบไร้เงินสดเป็นประจำน่าจะทราบดีอยู่แล้ว ว่ากรณีที่แอปฯ ธนาคารล่มนั้นเกิดขึ้นถี่เกินไปในสังคมไทย ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เราสามารถเริ่มที่ตัวเองได้ง่าย ๆ ก็คือ การย้อนกลับไปใช้ชีวิตกันแบบเดิม ๆ ด้วยการ “พกเงินสดติดตัวบ้าง” อย่าไปไหนมาไหนโดยไม่มีเงินสดติดตัวเลยสักแดง และคาดหวังที่จะใช้จ่ายแบบไร้เงินสดกันเพียงอย่างเดียว มิเช่นนั้นก็อาจจะเจอกับสถานการณ์แบบนี้ซ้ำไปซ้ำมาไม่มีที่สิ้นสุด
การพกเงินสดไว้บ้างเผื่อฉุกเฉินมันก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น ในเมื่อไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ เราก็ยังพกเงินสดติดตัวกันได้นี่น่า!
คุณกำลังดู: หรือเราต้องกลับมาพก “เงินสด” เมื่อแอปฯ ธนาคารล่มบ่อย ล่มเก่ง
หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่