“เกมรักทรยศ” ภาพผัวเดียวเมียเดียวเป็นพิษในชีวิตจริง

ซีรีส์เกาหลีและละครไทยที่มีเนื้อหาหักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างเมียหลวงและเมียน้อย แม้จะสร้างความสะใจและความบันเทิงให้กับผู้ชม แต่ก็สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวที่เป็นพิษในสังคม ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของอุดมการณ์ปิตาธิปไตยที่ให้อำนาจผู้ชายที่เกิดขึ้นในสังคมของทั้ง 2 ประเทศ

“เกมรักทรยศ” ภาพผัวเดียวเมียเดียวเป็นพิษในชีวิตจริง

Highlight

  • วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy Culture) ถูกสถาปนาให้เป็นอุดมการณ์หลักในสังคมส่วนใหญ่ทั่วโลก มาพร้อมกับความคิดเรื่อง “รักโรแมนติก” การเป็นคู่แท้หรือการกำหนดให้ความรักเป็นเรื่องของคนสองคนที่จะรักกันชั่วฟ้าดินสลาย และไม่นอกใจซึ่งกันและกัน
  • จากการสำรวจของ Durex เรื่องการนอกใจคู่รักเมื่อปี 2016 พบว่า ประเทศไทยรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีการนอกใจมากที่สุดในโลก ขณะที่อัตราการหย่าร้างของคนไทยในปีเดียวกัน ก็สูงขึ้นกว่า 39 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 10 ปี
  • อุดมการณ์ปิตาธิปไตยหรือแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ ให้อำนาจผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง ได้สร้างให้เรื่องของการนอกใจกลายเป็นโลกของผู้ชาย
  • แม้หลายฝ่ายจะชี้ว่า ผู้หญิงในปัจจุบันก็มีอำนาจในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน แต่ต้องยอมรับว่าในสังคมที่ยังเชิดชูแนวคิดชายเป็นใหญ่ ผู้ชายยังคงมีอำนาจเหนือกว่าในแทบทุกด้าน และผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอม (Consent) จากคนรักในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงการนอกใจ

บทความนี้ได้รับการแก้ไขเนื้อหาบางส่วนเพื่อให้เข้ากับบริบทของละครเรื่อง "เกมรักทรยศ" ซึ่งถูกดัดแปลงมาจากซีรีสเกาหลีเรื่อง A World of Married Couple โดยมุ่งนำเสนอประเด็นปัญหาเรื่องวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวเป็นพิษ ที่ถูกสะท้อนผ่านซีรีส์และละครเรื่องดังกล่าว 

(เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2563) 

ซีรีส์เกาหลีและละครไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเมียหลวง-เมียน้อย กลายเป็นความบันเทิงอย่างหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างสูง ด้วยเนื้อหาที่ดุเด็ดเผ็ดมันจากการหักเหลี่ยมเฉือนคมของตัวละครหญิงในเรื่อง อย่างช่วงปี 2563 ซีรีส์เกาหลีเรื่อง A World of Married Couple ก็เป็นที่นิยมในหมู่แฟนซีรีส์ชาวไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก และในปี 2566 ละครเรื่อง "เกมรักทรยศ" ซึ่งนำแสดงโดยแอน ทองประสม ก็กลายเป็นละครฮิต ที่แฟน ๆ ต้องคอยเฝ้าหน้าจอรอติดตามชม โดยซีรีย์และละครทั้ง 2 เรื่องดังกล่าว ว่าด้วยเรื่องราวของสามีภรรยาคู่หนึ่งที่เริ่มต้นด้วยการนอกใจ นำไปสู่การต่อสู้เชือดเฉือนและการเอาคืนที่ผู้ชมต้องคอยลุ้นและเอาใจช่วยตัวละครอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นความแซ่บแบบกิมจิเกาหลี หรือเผ็ดเปรี้ยวแบบต้มยำกุ้ง ศึกเมียหลวงเมียน้อยในสื่อบันเทิงก็ส่องสะท้อนปัญหาบางอย่างในสังคมของทั้ง 2 ประเทศ นั่นคือ “วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวเป็นพิษ (Toxic Monogamy Culture)

วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว

วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว (Monogamy Culture) ถูกสถาปนาให้เป็นอุดมการณ์หลักในสังคมส่วนใหญ่ทั่วโลก และถูกเชิดชูให้เป็นสิ่งดีงามในสังคม ขณะเดียวกันก็มีอำนาจอื่นที่เข้ามาสนับสนุนให้วัฒนธรรมไปอยู่ในพื้นที่ทางการทั้งหมด เช่น การตราเป็นกฎหมาย หรือข้อปฏิบัติของสามีที่ต้องรักเดียวใจเดียว และให้เกียรติภรรยา ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสุภาพบุรุษ เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวยังมาพร้อมกับความคิดเรื่อง “รักโรแมนติก” การเป็นคู่แท้หรือการกำหนดให้ความรักเป็นเรื่องของคนสองคนที่จะรักกันชั่วฟ้าดินสลาย และไม่นอกใจซึ่งกันและกัน

เมื่อวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวผนวกรวมกับความรักโรแมนติกและได้รับการให้คุณค่าจากสังคม พร้อมทั้งมีกฎหมายและระบบศีลธรรมเข้ามาสนับสนุน รวมทั้งสื่อก็นำเสนอรูปแบบความสัมพันธ์ลักษณะนี้เพียงอย่างเดียว จึงทำให้อุดมการณ์ดังกล่าวกลายเป็นกรอบทางสังคมที่ทรงพลังและครอบงำความคิดเรื่องความสัมพันธ์ของคนทุกคน

วัฒนธรรมความรักที่เป็นพิษ  

แต่ในทางปฏิบัติแล้ว วัฒนธรรมความรักที่เป็นอุดมการณ์หลักของสังคมกลับล้มเหลวในชีวิตจริง ดร. ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตว่า แม้วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวจะเป็นอุดมการณ์หลัก แต่สถิติการหย่าร้างจาก “การนอกใจ” กลับมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยจากการสำรวจของ Durex เรื่องการนอกใจคู่รักเมื่อปี 2016 พบว่า ประเทศไทยรั้งอันดับ 1 ประเทศที่มีการนอกใจมากที่สุดในโลก ขณะที่อัตราการหย่าร้างของคนไทยในปีเดียวกัน ก็สูงขึ้นกว่า 39 เปอร์เซ็นต์ในรอบ 10 ปี

  • รู้หรือไม่ ไทยติดอันดับประเทศที่มี “การนอกใจ” มากที่สุดในโลก
  • เปิดใจทนาย “เมียหลวง” ไม่ต้องตบ รอรับคำขอโทษเป็น “เงินสด” ก็พอ

ทางด้าน ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร อานันทศิริเกียรติ นักวิจัย จากสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ ได้แสดงสถิติการหย่าร้างของคู่แต่งงานในประเทศเกาหลีใต้ จากการสำรวจของ Korea Legal Aid Center For Family Relations ตั้งแต่ปี 1956 – 2015 พบว่า ประเทศเกาหลีใต้มีสถิติการหย่าร้างเฉลี่ย 1 แสนคู่ต่อปี โดยการนอกใจเป็นสาเหตุต้น ๆ ที่นำไปสู่การแยกทาง ขณะที่ปัญหาการทอดทิ้ง การทำร้ายร่างกาย และปัญหาทางการเงิน ก็เป็นสาเหตุของการหย่าร้างเช่นกัน

ไม่เพียงสถิติการหย่าร้างที่เพิ่มมากขึ้นในชีวิตจริงของทั้ง 2 ประเทศ แต่ปัญหาการนอกใจก็เป็นเนื้อหา “ยอดนิยม” ที่สื่อทั้ง 2 ประเทศหยิบมานำเสนออีกด้วย โดยคุณเสกสรร ชี้ให้เห็นเทรนด์ของซีรีส์เกาหลีในปัจจุบัน ที่หยิบยกประเด็นปัญหาสังคมมาเล่า และ A World of Married Couple ก็ทำหน้าที่เปิดโปงปัญหาความสัมพันธ์ของคู่รักในเกาหลีใต้ ขณะที่ ดร.ชเนตตี อธิบายว่า ปรากฏการณ์การมีเมียน้อยในทุกยุคทุกสมัย และเรตติ้งละครหรือซีรีส์เกี่ยวกับเมียหลวง-เมียน้อย ที่พุ่งสูง กำลังสะท้อนให้เห็น “วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวเป็นพิษ (Toxic Monogamy Culture)” 

“วัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวมันเกิดอาการพ่นพิษ เพราะในชีวิตจริงวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียวมันเป็นไปไม่ได้ สังคมจึงหลงใหล ชื่นชอบ หรือเสพเนื้อหาเรื่องการเป็นมือที่สาม หรือเรื่องเมียน้อยประหนึ่งเป็นความบันเทิง” ดร.ชเนตตีชี้

อุดมการณ์ปิตาธิปไตยที่ส่งผลต่อภาวะเป็นพิษ

ความคล้ายคลึงกันของซีรีส์เรื่อง A World of Married Couple และละครไทยที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการนอกใจ คือ ฝ่ายสามีมักเป็นฝ่ายนอกใจภรรยา ซึ่งอาจอธิบายได้ว่า อุดมการณ์ปิตาธิปไตยหรือแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ ซึ่งให้อำนาจผู้ชายเหนือกว่าผู้หญิง ได้สร้างให้เรื่องของการนอกใจกลายเป็นโลกของผู้ชาย สร้างอำนาจและความชอบธรรมที่ทำให้ผู้ชายไม่จำเป็นต้องเดินตามขนบจารีตหรือกฎหมายของสังคมที่เชิดชูวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว

อี แทโอ สามีในเรื่อง A World of Married Couple แอบไปมีเมียน้อย แม้ตัวเขาจะเป็นผู้ก่อโศกนาฏกรรมดังกล่าว แต่จี ซอนอู (เมียหลวง) กับคาคยอง (เมียน้อย) กลับเป็นผู้ที่ต้องปะทะกันอยู่เสมอ หรือในละครไทยอย่างเรื่องแรงเงา ผู้ชมจะเห็นตัวละครผู้หญิงลุกขึ้นมาตบตีกัน ในขณะที่ผู้ชายลอยตัว เช่นเดียวกับเรื่องเมียหลวง ที่วิกันดา (เมียหลวง) ต้องทนทุกข์ทรมานกับความเจ้าชู้ของสามีตัวเอง และต้องต่อกรกับบรรดาเมียน้อย แต่ในทางกลับกัน หากตัวละครหญิงเป็นฝ่ายนอกใจ ผลลัพธ์ก็จะแตกต่างกัน นั่นคือ สังคมจะตีตราผู้หญิงกลุ่มนี้ ว่าเป็นผู้หญิงหลายใจหรือสำส่อน เช่น ลำยอง จากเรื่องทองเนื้อเก้า เป็นต้น

แนวคิดชายเป็นใหญ่ให้อำนาจผู้ชายอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอำนาจการตัดสินใจเหนือความสัมพันธ์ของคู่รัก แม้หลายฝ่ายจะชี้ว่า ผู้หญิงในปัจจุบันก็มีอำนาจในการตัดสินใจเช่นเดียวกัน แต่ต้องยอมรับว่าในสังคมที่ยังเชิดชูแนวคิดชายเป็นใหญ่ ผู้ชายยังคงมีอำนาจเหนือกว่าในแทบทุกด้าน และผู้ชายก็ไม่จำเป็นต้องขอความยินยอม (Consent) จากคนรักในเรื่องต่าง ๆ รวมไปถึงการนอกใจ ส่งผลให้เกิดการมีความสัมพันธ์ลับ ๆ กับผู้หญิงอีกคน ปิดบังเมียหลวง และไม่ให้ทางเลือกกับเมียหลวงในการจัดการความสัมพันธ์ และการกระทำลักษณะนี้ก็ถูกนำเสนอในสื่ออยู่เสมอ

การผลิตสร้างภาพเมียหลวง เมียน้อย และสามีที่นอกใจในสื่อ จึงทำให้สังคมเกิดภาพจำของรูปแบบการนอกใจที่ผู้ชายลอยตัวเหนือทุกสถานการณ์ สังคมไม่กล่าวโทษผู้ชายเท่าไรนัก แต่กลับพุ่งเป้าไปที่ผู้หญิงแทน เมียหลวงก็จะถูกตั้งคำถามต่อการทำหน้าที่ “ภรรยาที่ดี” ขณะที่เมียน้อยจะกลายเป็นจำเลยของสังคมโดยปราศจากการชี้ให้เห็นปัจจัยอื่น ๆ และนำไปสู่จุดจบที่มีรูปแบบจำกัด เช่น เมียน้อยถูกทำให้กลายเป็นบ้า หรือมีชะตากรรมที่น่าสยดสยองเพื่อเป็นการลงโทษ สุดท้ายผู้ชายซึ่งเป็นผู้ก่อโศกนาฏกรรมทั้งหมดก็ลอยนวล อาจจะ “กลับตัวกลับใจ” และกลับไปใช้ชีวิตแบบชายเป็นใหญ่ได้เช่นเดิม

Consent หยุดยั้งพิษรัก

ในความสัมพันธ์ของความรักนั้น ดร. ชเนตตีและคุณเสกสรร เห็นพ้องกันว่า การขอความยินยอม (Consent) เป็นเรื่องที่สำคัญและน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมสำหรับทุกฝ่าย

“เงื่อนไขของความสัมพันธ์อยู่บนฐานของความยินยอมและการไม่หลอกลวงกัน ถ้าสมมติว่า สามีบอกว่า “ผมจะมีเมียน้อย” ภรรยาก็บอก “เอาเลย จะมีก็มีไป” คิดว่าอันนี้น่าจะโอเค จะเป็นสังคมที่มากผัวหลายเมียอะไรก็ว่าไป” คุณเสกสรรแสดงความคิดเห็น

ขณะที่ดร.ชเนตตี มองว่า ความสัมพันธ์แบบอื่น ๆ ต้องเกิดจากการตกลงกันของทุกคนในความสัมพันธ์ ภายใต้การขอความยินยอมของทุกฝ่ายและไม่ละเมิดสิทธิ์ ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ใช้อำนาจเหนือกัน และไม่โกหกซึ่งกันและกัน

“สมมติคุณไปพบรักกับผู้หญิงคนหนึ่ง คุณก็กลับมาหาภรรยา แล้วบอกว่า ตอนนี้รู้สึกไม่เหมือนเดิมเลยนะ เราสามารถมีความรักกับอีกคนหนึ่งได้ไหม คือให้ภรรยาได้รับรู้ เพื่อที่เขาจะได้ตัดสินใจว่าจะไปต่อหรือว่าจะหยุดความสัมพันธ์นั้น การไม่ขอความยินยอมทำให้เกิดวัฒนธรรมการนอกใจ เพราะเราไม่เคยสอนให้ผู้ชายขอความยินยอมต่อความสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้น แล้วไม่ได้สอนให้ผู้หญิงขอความยินยอมจากคู่รักของตัวเอง”ดร.ชเนตตีกล่าว

บทบาทสื่อสร้างสังคม

บทบาทของสื่อ คือต้องพยายามหยุดยั้งวัฒนธรรมความสัมพันธ์ที่มีแค่รูปแบบเดียว โดยหามุมมองใหม่ ๆ มานำเสนอ หรือถ้ามีเนื้อหาเกี่ยวกับความเป็นผัวเดียวเมียเดียว และเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ยินยอมให้มีเมียน้อย สื่อต้องไม่พยายามสร้างภาพจำผู้หญิงที่เป็นเมียน้อย และผลักให้เขาไปอยู่ในกับดักของคู่ตรงข้าม พร้อมกันนั้น สื่อก็ต้องสร้างรสนิยมใหม่ ๆ ให้กับสังคมด้วย เพราะสังคมจะมีรสนิยมหรือทัศนคติอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับว่าสื่อจะใส่เนื้อหาอะไรให้คนดู

“หากสื่ออยากให้สังคมที่เต็มไปด้วยท่วงทำนองของชีวิตแบบไม่เท่าเทียมทางเพศ เป็นสังคมที่ไม่ยุติธรรม เป็นสังคมที่มองโลกแบบรักต่างเพศ เชิดชูความรักแบบผัวเดียวเมียเดียว โดยไม่เปิดพื้นที่ให้มุมมองความรักแบบอื่น ๆ ทัศนคติของคนก็จะถูกปลูกฝังไปตามที่สื่อกำลังสะท้อนนั่นแหละ” ดร.ชเนตตีชี้ 

เพราะฉะนั้น หากต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ก็ต้องแก้ไขทั้งระบบ ทั้งเรื่องแนวคิดชายเป็นใหญ่และทัศนคติของคนในสังคมต่อบทบาทหน้าที่ทางเพศ เมื่อสังคมเกิดความเข้าใจ ก็จะไม่มีใครต้องเดินเข้าไปในความสัมพันธ์ที่ยุ่งยาก เช่นเดียวกัน สื่อก็ต้องทำหน้าที่สร้างสรรค์สังคมด้วยแนวคิดและรูปแบบการนำเสนอที่ไม่ตีตรา และไม่สร้างอำนาจให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับทุกเพศ ทุกฝ่าย และทุกคนอย่างแท้จริง

คุณกำลังดู: “เกมรักทรยศ” ภาพผัวเดียวเมียเดียวเป็นพิษในชีวิตจริง

หมวดหมู่: หนัง-ละคร

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด