ไขคำตอบ ? ทำไม ONE Championship ถึงกล้าจ่ายค่าตัวนักมวยไทยหลักล้านต่อไฟต์

ไขคำตอบ ? ทำไม ONE Championship ถึงกล้าจ่ายค่าตัวนักมวยไทยหลักล้านต่อไฟต์

ใครจะไปคิดว่าวันหนึ่งนักมวยไทยบ้านเรา จะมีค่าตัวหลักล้านบาท? 

เพราะในอดีต หากนักมวยไทย ต้องการที่จะไปโกอินเตอร์ ด้วยค่าตัวแพงระยิบ ย่อมเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องไปชกกติกาคิกบอกซิ่งในต่างแดน เพราะคงไม่มีโปรโมเตอร์มวยไทย คนไหนสามารถจ่ายเงินค่าตอบแทนต่อไฟต์ให้นักมวยได้มากถึงหลักล้าน 

แต่สิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น ก็เป็นจริงแล้ว เมื่อองค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลก ที่มีเจ้าของเป็นคนไทย อย่าง “ONE Championship” กล้าจะจ่ายค่าตัว 7 หลักให้กับ พ่อกำปั้นสัญชาติไทย ในการชกกติกามวยไทย 

ยกตัวอย่าง รถถัง จิตรเมืองนนท์ ปัจจุบันเขามีค่าตัวสูงถึง 1.5 ล้านบาทในการชกศึก ONE Championship เช่นเดียวกับ แสงมณี คลองสวนพลูรีสอร์ท ที่เปิดตัวในรายการของ ONE ด้วยค่าตัว 1.2 ล้านบาท หรืออย่างล่าสุด เพชรมรกต เพชรยินดีอคาเดมี เจ้าของเข็มขัดแชมป์โลกมวย ก็มีค่าตัวหลักล้านเช่นกัน 

ทั้งที่นักชกเหล่านี้ มีค่าตัวการชกมวยไทยในประเทศไทย อยู่ประมาณ 150,000-350,000 บาทเท่านั้น แต่เหตุใด ONE Championship ที่จ่ายหนักเพิ่มหลายเท่าตัวให้กับนักมวยไทย จนเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า “มูลค่าและค่าตัวที่แท้จริงของนักชกไทยอยู่ตรงไหน ?”

โครงสร้างที่ต่างกัน

เหตุผลข้อแรกที่ วงการมวยไทยในบ้านเรา ไม่มีทางที่จะสามารถให้ค่าตอบแทนที่สูงเท่ากับ ONE Championship เพราะโครงสร้างและระบบของทั้งคู่ ต่างกันอย่างสิ้นเชิง 

มวยไทยอาชีพในประเทศไทย ลักษณะโครงสร้างแบบที่ นักมวยส่วนใหญ่ ต้องเริ่มต้นหัดชกมวยไทยสมัครเล่น (มวยภูธร, มวยงานวัด) ตามต่างจังหวัดมาก่อน แลกกับค่าตอบแทนแค่หลักร้อย หลักพัน เพื่อสั่งสมประสบการณ์

หากนักมวยคนนั้นมีฝีมือ มีแวว จะมีค่ายใหญ่มาดึงตัวเข้าอยู่ในสังกัด หรือถูกผลักดันจากหัวหน้าคณะเก่า เสนอชื่อมาให้ โปรโมเตอร์ที่มีสล็อตจัดการแข่งขันในเวทีมาตรฐาน, โปรโมเตอร์ศึกสายใหญ่ๆ เป็นผู้พิจารณานำนักชกขึ้นรายการ ซึ่งเวทีมวยมาตรฐานอย่างลุมพินี และ ราชดำเนิน ที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของนักมวยไทย ล้วนอยู่ในกรุงเทพมหานครทั้งสิ้น 

โดยค่าตัวของนักมวยไทยนั้นเป็นหนึ่งในต้นทุนของโปรโมเตอร์ สำหรับการจัดมวยในแต่ละครั้ง นอกจากเหนือค่าเช่าสนาม และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อจัดการแข่งขัน 

แต่รายได้หลักของโปรโมเตอร์ผู้จัดในการจัดมวย ส่วนมากจะมาจากการเก็บค่าตั๋วเข้าชม ขณะที่พวกลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด, ค่าสปอนเซอร์, ค่าโฆษณา อื่นๆ เป็นส่วนรายได้ส่วนเสริม ยกเว้นบางรายการที่มีรายได้หลักมาจากค่าโฆษณาทางทีวี และผู้สนับสนุน 

อาทิ ศึกมวยไทย 7 สี ที่ไม่มีการเก็บค่าเข้าชม แต่มีรายได้จากส่วนอื่นๆ มากพอจะดำเนินการจัดการแข่งขันได้  

ดังนั้น ค่าตัวของนักมวยไทย จึงต้องสัมพันธ์กับรายรับของ โปรโมเตอร์ด้วยที่เก็บค่าตัวได้อยู่แค่หลักแสน ไปถึงล้านต้นๆ ต่อการจัดเท่านั้น แต่ต้องเสียค่าเช่าสนาม และค่าตัวนักมวย 18 คน (9 คู่) ตามโปรแกรมส่วนใหญ่ในการจัด 1 ครั้ง

ทำให้นักมวยไทยที่มีศักยภาพระดับสูงเท่านั้น จึงจะมีค่าตัวตันอยู่ที่หลักแสน (มักไม่เกิน 300,000 บาท) เพราะด้วยโครงสร้างและรูปแบบรายได้ที่โปรโมเตอร์ ได้รับนั้น ไม่สามารถใช้กับต้นทุนค่าตัวนักมวยได้มากกว่านี้ (โปรโมเตอร์จำนวนมาก ยุคปัจจุบันประสบภาวะขาดทุน เนื่องจากคนดูในสนามลดลง)

ในส่วนของ ONE Championship พวกเขาวางตำแหน่งของตัวเองไว้เป็น องค์กรการต่อสู้ระดับโลก ดังนั้นเรื่องรายรับ และตลาดผู้ชมจึงใหญ่กว่า อุตสาหกรรมมวยไทยอาชีพ ที่ส่วนใหญ่ยังเน้นไปที่ผู้บริโภคในประเทศหลัก 


Photo : www.onefc.com

แต่ ONE มีผู้ชมการถ่ายทอดสด หลัก 100-1,000 ล้านคน จาก 150 ประเทศทั่วโลก และการนำเอาอีเวนต์ “มวยไทย” เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในศิลปะการต่อสู้ที่มีการจัดแข่งขันใน ONE ก็มีจุดประสงค์และความมุ่งหมายที่ต่างกันออกไปจากการจัดมวยไทยในประเทศ 

“สาเหตุที่เราสามารถจ่ายค่าตัวให้เขาได้มากกว่าตอนชกมวยไทยในประเทศ เพราะเราไม่ได้มองว่าเขาเป็นแค่ Local Hero (ฮีโร่ระดับท้องถิ่น) แต่เราอยากทำให้เขาก้าวขึ้นไปเป็น Global Superstar (ซูเปอร์สตาร์ระดับโลก) ผ่านการถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ที่จะมีคนดูเขาพร้อมกัน หลัก 100-1,000 ล้านคน”

“เรื่องค่าตอบแทน ค่าตัว เราจึงต้องทุ่มให้นักต่อสู้ในสังกัดอย่างเต็มที่ มากกว่าที่เขาชกมวยไทยในประเทศ เพื่อให้เขาเต็มที่กับการชก ในแต่ละไฟต์ ไม่ต้องชกบ่อย เพื่อจะได้มีชีวิตที่ยืนยาวได้บนสังเวียน”

“สำหรับค่าตัวนักต่อสู้ในลีกของเรา ที่ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียง ฐานเงินเดือนจะไม่ต่ำกว่า หลักหมื่นปลายๆ ถึงแสนต้นๆ แต่ถ้าเป็นระดับกลางขึ้นไป จะมีค่าตัวต่อไฟต์หลักแสนอัพทั้งนั้น ยิ่งพวกแชมป์โลก ค่าตัวจะสูงถึง หลักแสนปลายๆ ถึงหลักล้าน” 

ปลาย - จิติณัฐ อัษฎามงคล ประธานองค์กร ONE Championship ประเทศไทย เปิดเผยกับ Main Stand เขามองว่า นักมวยไทยในอุตสาหกรรมมวยอาชีพ ที่ต้องการมีเงินทองหลักล้าน จำเป็นต้องใช้ร่างกาย เพื่อขึ้นชกมวยอย่างสม่ำเสมอ มาตั้งแต่เด็ก

เมื่อขึ้นสู่ระดับท็อปของประเทศ พวกเขายังคงต้องขึ้นรายการชก อย่างต่อเนื่องทุกเดือน เพื่อไปให้จุดนั้น ซึ่งผลที่ตามมา คือ เรื่องสมรรถภาพด้านร่างกายของ นักมวยไทย จะมีอายุการใช้งานสั้นกว่าที่ควรเป็น และสภาพจิตใจเกิดภาวะ Burnout (หมดไฟ) อันเป็นผลจากชกบ่อย

แต่ ONE Championship ไม่ได้ต้องการให้นักมวย ขึ้นชกรายการชกทุกเดือน เขาจึงเลือกใช้วิธีแบบองค์กรศิลปะการต่อสู้ระดับโลกปฏิบัติกัน นั่นคือ การจ่ายค่าตัวที่สูง และจัดแมตช์การแข่งขันให้นักมวยดาวดังไม่ให้ถี่เกินไป 

เพื่อให้ร่างกายนักมวยมีความพร้อมมากสุด สามารถมีเวลาเตรียมตัว และโฟกัสกับการฝึกซ้อมได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าตอบแทน หรือกลัวไม่มีรายการชก 

ค่าตัวที่เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัวจากชกมวยไทย จึงไม่ใช่แค่ตัวเลขที่ใส่ไว้ดึงดูดใจ กำปั้นไทย ให้อยากตบเข้าร่วมสังกัด ONE Championship แต่เงินหลักล้านที่องค์กรเสียไป ล้วนมีจุดประสงค์และความต้องการที่อยากได้จาก นักมวยคนนั้นๆ

ไม่ใช่ทุกคนที่ถูกเลือก

สำหรับคนที่ติดตามวงการกำปั้นบ้านเรา ย่อมจะน่าทราบว่า  มีนักมวยไทยจำนวนมาก ได้เซ็นสัญญาเข้าไปอยู่ในสังกัดของ ONE Championship อาทิ เพชรดำ เพชรยินดีอคาเดมี, ซุปเปอร์เล็ก เกียรติหมู่ 9, พันธ์ุพยัคฆ์ จิตรเมืองนนท์, สามเอ ไก่ย่างห้าดาว, สแตมป์ แฟร์เท็กซ์, เมืองไทย คลองสวนพลูรีสอร์ท 


Photo : www.onefc.com

ขณะเดียวกัน หากไม่รวมพวกที่ติดสัญญากับ องค์กรการต่อสู้อื่นๆ ก็ยังมีนักชกชั้นแนวหน้าของไทย อีกจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ได้อยู่ในข่ายการพิจารณาของ ONE Championship นั่นเท่ากับว่าการคัดเลือกของพวกเขา ย่อมต้องมีคุณสมบัติ หรือหลักเกณฑ์ ไว้ใช้เพื่อพิจารณา 

“ในแต่ะวันมีนักกีฬาจากทั่วโลก ส่งรีซูเมมาหาเราเป็นจำนวนมากมายมหาศาล เพราะมีความต้องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในองค์กร ONE” ปธ. ONE Championship ประเทศไทย กล่าวเริ่ม 

“ถึงกระนั้น ลีกของเราไม่สามารถรองรับนักกีฬาได้ทุกคน คนที่ถูกเลือกเข้ามา ย่อมต้องผ่านกระบวนการคัดสรร เพื่อดูว่าเขามีศักยภาพดีพอจะก้าวข้ามจาก Local Hero มาสู่การเป็น Global Superstar หรือยัง หรือนักมวยคนนั้นมีฐานแฟนคลับมากน้อยแค่ไหน สามารถต่อยอดอะไรได้บ้าง” 

ค่ายและทีมงาน จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำสำคัญสำหรับการพิจารณา นอกเหนือจากตัวนักมวย โดยในส่วนของ ONE Championship มีทีมงานสเกาท์ในแต่ละประเทศ เพื่อเช็คและศึกษาตัวนักมวยว่ามีสไตล์การชกแบบไหน ผลงานเป็นอย่างไร และค่าย ทีมงานที่ดูแลเป็นใคร มีมาตรฐาน ความน่าเชื่อถือมากแค่ไหน

รวมถึงการศึกษาดูเรื่องทักษะการสื่อสาร และพฤติกรรมของนักมวยไทย เนื่องจาก ONE Championship ใช้การถ่ายทอดสดที่เน้นเป็นรายการสำหรับครอบครัว (Family Event) ฉะนั้น ONE จึงค่อนข้างต้องลงลึกในตัวนักกีฬาแต่ละคนว่า เขามีความเสี่ยงแค่ไหน ที่จะกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กร 

มากกว่าเรื่องฝีมือ 

“ONE Championship เป็นองค์กรทำธุรกิจ Sport Entertainment (กีฬาเพื่อความบันเทิง) นักกีฬาในลีกของเรา จึงต้องรู้ไว้ว่า เขาจะต้องมีทั้งความเป็น นักกีฬาที่ดี, ผู้มอบความบันเทิงแก่ชม และบุคคลสาธารณะที่ดีได้ด้วย ไม่ใช่หวังพึ่งแค่ทักษะด้านการต่อสู้อย่างเดียว”

“เพราะต่อให้นักมวยคนนั้น มีความสามารถอย่างมาก แต่หากเขามีพฤติกรรมที่เสี่ยง เช่น การใช้โชเซียลที่ไม่เหมาะสม, ยาเสพติด หรืออะไรที่ส่อทางไปการพนัน เรื่องผิดกฏหมาย เราจะไม่เสี่ยงกับนักกีฬาคนนั้น” จิรณัฐ อัษฎามงคล เผย


Photo : www.onefc.com

ค่าตอบแทนความเหนื่อยยากลำบาก หลักล้านต่อไฟต์ คงเป็นเป้าหมายและสิ่งที่ นักมวยไทยในยุคนี้ ปรารถนาอยากจะไปคว้ามันมา เพราะมีตัวอย่างของ นักมวยไทยจำนวนหนึ่ง ที่ทำได้มาแล้วในศึก ONE Championship

แต่การจะไปให้ถึงจุดได้นั้น ย่อมต้องอาศัยองค์ประกอบต่างๆ ไม่ใช่แค่เรื่องฝีมืออย่างเดียว ต้องมีคุณสมบัติอื่นๆ ทั้งการเป็น นักสื่อสารที่ดี, นักเอ็นเตอร์เทน และที่สำคัญต้องรู้จักสร้างมูลค่าให้ตัวเอง มีคุณค่า เพื่อสร้างโอกาสในการไปให้ถึงจุดหมายนั้น 


Photo : www.onefc.com

“เราอยากให้นักมวยไทยเปลี่ยนความคิดที่มองตัวเองเป็น หมาล่าเนื้อ แทนที่เขาจะรอโอกาสในการชกจากโปรโมเตอร์เพื่อหารายได้ เขาควรที่จะต้องสำรวจตัวเอง และเรียนรู้ทักษะอื่นๆ เช่น ทักษะการสื่อสาร หรือสร้างตัวตน จุดขาย และฐานแฟนคลับขึ้นมา”

“ถ้าคุณมีทักษะการสื่อสารที่ดี มีฝีมือที่ดี และค่ายที่ดูแลคุณดี โอกาสที่คุณจะถูก องค์กร โปรโมตให้เป็นซูเปอร์สตาร์ ก็มีสูง นี่คือสิ่งที่นักมวยไทยต้องเรียนรู้ และพัฒนาตัวเอง หากต้องการโอกาสในการมีรายได้ค่าตอบแทนสูง ในอาชีพการชกมวย ต้องเป็นให้มากกว่าแค่ นักต่อสู้” จิติณัฐ ทิ้งท้าย

คุณกำลังดู: ไขคำตอบ ? ทำไม ONE Championship ถึงกล้าจ่ายค่าตัวนักมวยไทยหลักล้านต่อไฟต์

หมวดหมู่: มวย

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด