ไขมันพอกตับ…อีกภัยเงียบของคนอ้วนที่อันตรายถึงชีวิต

ไขมันพอกตับ โรคที่ฟังดูไม่คุ้นเคย ที่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตผิดๆ เช่น ดื่มแต่ชา กาแฟ กินอาหารฟาสต์ฟู้ด ของทอด ของมัน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จนน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น มีไขมันสูง

ไขมันพอกตับ…อีกภัยเงียบของคนอ้วนที่อันตรายถึงชีวิต

ไขมันพอกตับ โรคที่ฟังดูไม่คุ้นเคย ที่เกิดมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตผิดๆ เช่น ดื่มแต่ชา กาแฟ กินอาหารฟาสต์ฟู้ด ของทอด ของมัน ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จนเป็นน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น มีไขมันสูง ก่อนจะลุกลามกลายเป็น “ไขมันพอกตับ” ภาวะที่ไร้ซึ่งสัญญาณเตือน และนำไปสู่โรคร้ายเกินกว่าจะรักษาหายได้

ไม่ดื่มสุราก็เป็นไขมันพอกตับได้

ไขมันพอกตับ หรือที่เรียกว่า Non-Alcoholic Fatty Liver Disease (NAFLD) คือภาวะที่มีไขมัน โดยเฉพาะไตรกรีเซอไรด์อยู่ในเซลล์ตับ ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะไม่ได้ดื่มสุราก็ตาม และในผู้ป่วยบางส่วนที่ไขมันทำให้เกิดการอักเสบของตับ เกิดกลุ่มอาการที่เรียกว่า Non-Alcoholic Steatohepatitis (NASH) นั้นในที่สุดอาจเกิดภาวะตับแข็งได้

เป็นภัยเงียบเพราะอาจไม่แสดงอาการ

อาการของภาวะไขมันพอกตับทั้งสองแบบนี้ มีลักษณะเดียวกันคือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการ หรืออาจจะมีอาการเพียงแค่ปวดแน่นชายโครงข้างขวาแบบค่อยเป็นค่อยไป และนอกจากนั้นอาจตรวจพบว่าเป็นโรคเบาหวาน อ้วน ไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย ดังนั้นการวินิจฉัยที่จะทำให้แพทย์รู้ผลได้อย่างแน่ชัด จึงต้องเริ่มจากการตรวจร่างกายและซักประวัติอย่างละเอียด ถึงประวัติการดื่มสุรา, รับประทานยาชนิดใด และมีประวัติติดเชื้อไวรัสบี ซี และตรวจเพิ่มเติมอื่นๆ อย่างการเจาะเลือดเพื่อดูการทำงานของตับ ระดับน้ำตาล และเพื่อดูว่ามีภาวะดื้อต่ออินซูลิน, ระดับไขมันในเลือดว่าสูงกว่าปกติหรือไม่ การตรวจอัลตราซาวนด์ช่องท้องส่วนบน การตรวจซีทีสแกน CT Scan และการเจาะชิ้นเนื้อที่ตับเพื่อตรวจทางพยาธิวิทยา

ไขมันพอกตับเกิดจากอะไรได้บ้าง

นอกจากภาวะไขมันในเลือดสูง โรคเบาหวาน อ้วน หรือการดื่มสุราก็เป็นสาเหตุหนึ่งแล้ว ไขมันพอกตับยังเกิดจากโรคไวรัสตับอักเสบบีและซี หรือการทานยาบางชนิดอย่างต่อเนื่องก็เป็นสาเหตุได้เช่นกัน

การรักษาไขมันพอกตับ

1. ในผู้ป่วยที่อ้วน การลดน้ำหนักจะทำให้ภาวะดื้ออินซูลินและพยาธิสภาพของเนื้อตับในผู้ป่วย NAFLD ดีขึ้น เพราะคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน ไขมันสูง มีโอกาสเกิดไขมันพอกตับได้สูงถึงร้อยละ 90
2. ออกกำลังกาย แบบแอโรบิกและยืดเหยียดอย่างสม่ำเสมอ 30-45 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
3. ควบคุมอาหาร ลดการกินเนื้อแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เลี่ยงอาหารที่มีปริมาณน้ำตาลฟรุกโตสสูง งดดื่มน้ำอัดลมและน้ำผลไม้ปรุงแต่ง เลือกกินคาร์โบไฮเดรตชนิดที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ อย่างข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ผลิตภัณฑ์จากนม ผักเกือบทุกชนิด และบริโภคโปรตีนจากปลาทะเล
4. ผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก หรือศัลยกรรมโรคอ้วนสามารถทำให้ผู้ป่วยร้อยละ 92 มีไขมันสะสมภายในตับลดลง ผู้ป่วยร้อยละ 81 มีอาการดีขึ้น และผู้ป่วยร้อยละ 66 มีการลดลงของพังผืดที่สะสมภายในตับ การผ่าตัดเหมาะสมกับผู้ป่วย NAFLD ที่มีโรคอ้วนระดับรุนแรง และไม่เหมาะกับผู้ป่วย NAFLD ที่เกิดตับแข็ง
5. การรับประทานยา แพทย์จะรักษาตามอาการของโรคแทรกซ้อนจากไขมันพอกตับ เช่น ให้ยารักษาโรคเบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง

ไขมันพอกตับ เป็นโรคที่มักไม่แสดงอาการเตือนให้รู้ตัว ซึ่งหากปล่อยไว้เป็นเวลานาน อาจจะส่งผลให้กลายเป็นโรคร้ายที่ไม่อาจรักษาหายได้ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่มีน้ำหนักตัวมากนั้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคุมเรื่องอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถลดความเสี่ยงจากภาวะไขมันพอกตับได้

บทความโดย : พญ. ศิรินทร์ทิพย์ ศรีเดิมมา แพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินอาหารและตับ ศูนย์ส่องกล้องทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลพญาไท 3

คุณกำลังดู: ไขมันพอกตับ…อีกภัยเงียบของคนอ้วนที่อันตรายถึงชีวิต

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด