ขั้นตอนการเวียนเทียน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ขั้นตอนการเวียนเทียน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา สิ่งหนึ่งที่ชาวพุทธนิยมทำนอกเหนือจากการทำบุญ ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม คือ การเวียนเทียน เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่พุทธศาสนิกชนชาวไทยมักจะยืดถือปฏิบัติกันด้วยเช่นกัน แต่หลายคนก็ยังไม่เคยทราบถือเรื่องราวของความสำคัญที่แท้จริง รวมไปถึงขั้นตอนของการเวียนเทียนที่ถูกต้อง Sanook Horoscope รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเวียนเทียนมาให้คุณๆ ได้ทราบกันแล้วค่ะ  

การเวียนเทียน คือ การถือดอกไม้ธูปเทียนที่จุดแล้วเวียนขวา (เวียนประทักษิณ โดยให้สิ่งที่เวียนอยู่ทางขวามือของตน) รอบปูชนียวัตถุหรือปูชนียสถาน 3 รอบ ด้วยอาการสำรวมเคารพพร้อมทั้งน้อมใจระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยในขณะนั้นด้วยเป็นการแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัยด้วยกาย วาจา และใจ อย่างสูงสุด จัดเป็นบุญกิริยาอย่างหนึ่ง

การเวียนเทียนการเวียนเทียน

ขั้นตอนการเวียนเทียนอย่างไรให้ถูกต้อง

การเวียนเทียนเป็นประเพณีที่ชาวพุทธปฏิบัติกันในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 4 วัน ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา และวันอัฏฐมีบูชา การเวียนเทียนถือเป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัยด้วยกาย วาจา และใจ

  1. การเตรียมตัวก่อนเวียนเทียน
    • อาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจให้เบิกบาน
    • แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
    • เตรียมเครื่องบูชา ได้แก่ ดอกไม้ 1 คู่ ธูป 3 ดอก และเทียน 1 เล่ม
  2. ไหว้พระประธาน
    • เมื่อไปถึงวัด ให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียน
  3. เวียนประทักษิณาวัตร
    • จุดธูป เทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์ เวียนเทียนจนครบ 3 รอบ
    • ท่องบทสวดมนต์เวียนเทียน
    • รอบที่ 1 ระลึกถึงพระพุทธคุณ สวดบทอิติปิโส
    • รอบที่ 2 ระลึกถึงพระธรรมคุณ สวดบทสวากขาโต
    • รอบที่ 3 ระลึกถึงพระสังฆคุณ สวดบทสุปะฏิปันโน
  4. วางดอกไม้ธูปเทียน
    • หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้

เคล็ดลับการเวียนเทียน

  • ตั้งใจระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัยขณะเวียนเทียน
  • แผ่เมตตาให้แก่สรรพสัตว์
  • อธิษฐานจิตขอพรให้ตนเองและครอบครัวมีความสุขความเจริญ

การเวียนเทียนมีความมุ่งหมายดังนี้

ที่ท่านกำหนดให้มีพิธีเวียนเทียนในวันสำคัญทางศาสนาขึ้นนั้นก็เพื่อประกาศเกียรติคุณ เทิดทูนพระคุณสมบัติของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้สมกับที่พระองค์เป็นพระศาสดาของเทพดาและมนุษย์ทั้งหลาย เพื่อเป็นการเตือนใจพุทธศาสนิกชนให้ซาบซึ้งในพระคุณสมบัติของพระองค์และพระรัตนตรัย เจริญภาวนามัยกุศลอีกส่วนหนึ่ง ดังปรากฏตามความในประกาศคณะสงฆ์ใจความว่า

"การเวียนเทียนที่เรียกว่าทำประทักษิณนั้น มีความมุ่งหมายให้แสดงความเคารพต่อองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นศาสดาของพุทธศาสนิกชนทั้งปวง ด้วยการเดินให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่เบื้องขวาของตน และสำรวมใจนึกถึงพระคุณของพระองค์

วาจาบริกรรมคือกล่าวพระคุณของพระองค์ตลอดเวลาที่เวียนเทียน มือถือเครื่องสักการบูชา ถือธูปเทียนดอกไม้ประนมเสมออก เพื่อให้จิตใจของตนอยู่กับพระ ไม่ส่งใจไปสู่ที่อื่นซึ่งมิใช่สิ่งที่ตนเคารพบูชาหรือมิใช่สรณะที่พึ่งสูงสุดของตน การเวียนเทียนนี้เป็นการแสดงความเคารพบูชาตามหลักวัฒนธรรมของไทย เป็นระเบียบที่นิยมปฏิบัติกันมาแต่โบราณกาล" 

การเวียนเทียนการเวียนเทียน

การบูชาพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มุ่งหมายให้ทำในวันเวียนเทียนนั้นมี 2 อย่างคือ

  1. อามิสบูชา บูชาด้วยสิ่งของ เช่น ดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น
  2. ปฏิบัติบูชา บูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เช่น เสียสละ ให้ทาน รักษาศีล เว้นจากการทำความชั่วทุจริต เว้นจากการเบียดเบียนกัน งดเว้นจากอบายมุขทางแห่งความวิบัติทั้งหลาย ไม่เสพสุรายาเมา ไม่เล่นการพนัน ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต งดเว้นจากการเที่ยวเตร่เฮฮา เว้นจากความฟุ่มเฟือยสุรุ่ยสุร่าย เป็นต้น เมื่อเว้นแล้วก็อบรมจิตใจ ให้สงบ ให้นิ่งด้วยการเจริญภาวนาทำสมาธิ(Meditation) หรือฟังธรรม อ่านหนังสือธรรม สนทนาธรรมเพื่อให้เกิดปัญญา เป็นต้น

ประโยชน์ที่ได้รับจากการเวียนเทียน

การได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยการเวียนเทียนก็ดี ด้วยการปฏิบัติบูชาตลอดวันนั้นก็ดี ย่อมเกิดผลดีต่อผู้กระทำเอง คือ

  1. ได้ชื่อว่าเป็นศาสนิกที่ดี ปฏิบัติกิจทางศาสนาตามหน้าที่ที่พึงทำ แสดงถึงความไม่ย่อหย่อนทางจิตใจและศรัทธาต่อพระศาสนา
  2. ได้รับความแช่มชื่นเบิกบานใจหลังจากได้ประกอบพิธีในวันนั้นแล้ว
  3. ได้สั่งสมบุญบารมีอันเกิดจากการให้ทาน รักษาศีลและเจริญภาวนา อันจะส่งผลให้ได้รับโภคสมบัติ รูปสมบัติ และปัญญาสมบัติสืบไป
  4. ได้ทำชีวิตตนให้มีค่ายิ่งขึ้นด้วยการงดเว้นจากอบายมุข มุ่งปฏิบัติธรรมความดีเพิ่มพูนยิ่งขึ้น
  5. ได้ชื่อว่าได้บูชาพระรัตนตรัยด้วยการบูชาอย่างยิ่งย่อมได้มงคลในชีวิตตลอดไป 

การเวียนเทียนการเวียนเทียน

ข้อเตือนใจในการเวียนเทียน

เพื่อให้พิธีกรรมนี้เกิดความเรียบร้อย เป็นแบบแผนที่ดีของอนุชน และเกิดผลดีแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแท้จริง ในขณะที่เวียนเทียนจึงควรคำนึงถึงข้อต่อไปนี้

  • ให้นึกอยู่เสมอว่าวันนี้เป็นวันศักดิ์สิทธิ์ เป็นวันสำคัญของศาสนา เป็นการแสดงความเคารพบูชาตามหลักวัฒนธรรมไทย จึงต้องปฏิบัติให้ถูกระเบียบแบบแผนอย่าแสดงกิริยาวาจาคะนองอันส่อถึงความไม่เคารพเช่นส่งเสียงอึกทึกโวยวาย โห่ร้อง เย้าแหย่หยอกล้อกันควรเดินด้วยอาการอันสงบ สำรวมมือเท้าและปากในขณะเดินเวียนเทียน
  • ขณะเดินเวียนเทียนควรเว้นระยะให้ห่างกันพอควร อย่าให้ไฟธูปเทียนลวกลนผู้อยู่ใกล้ตน หรือทำเทียนหยดใส่หลังผู้เดินข้างหน้าตน เป็นการรบกวนผู้ที่ตั้งใจสำรวมจิตให้สงบด้วยการระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยอยู่ให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ เป็นการตัดหรือขัดขวางการทำความดีของผู้อื่น
  • ผู้ใหญ่ที่เป็นครูบาอาจารย์ บิดามารดา หรือผู้ปกครองควรแนะนำตักเตือนหรือควบคุมศิษย์ลูกหลานหรือคนในปกครองของตนให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามระเบียบในการเวียนเทียน อย่าให้ประพฤติผิดระเบียบ อันเป็นการสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น และเป็นการทำลายวัฒนธรรมของชาติของศาสนาเป็นที่น่าละอายแก่คนต่างชาติต่างศาสนาอย่างมาก
  • ผู้มีอำนาจและผู้ใหญ่ควรจะได้ทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ด้วยการไปร่วมประกอบพิธีกรรมนี้ด้วยตนเองพร้อมทั้งชักชวนให้ผู้น้อยไปร่วมด้วย จักเป็นการปลูกฝังนิสัยรักประเพณีวัฒนธรรมไทยแก่อนุชนไทยได้ดีกว่าการชักชวนให้ทำเพียงอย่างเดียว

คุณกำลังดู: ขั้นตอนการเวียนเทียน ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

หมวดหมู่: ดูดวง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด