คเณศจตุรถี 2566 ช่วงเวลามงคล 19-28 กันยายน ไหว้พระพิฆเนศ

เทศกาลคเณศจตุรถี 19 - 28 กันยายน 2566 รวม 10 วัน เป็นช่วงเวลาได้ใกล้ชิดกับองค์พระคเณศมากที่สุด เผยวิธีไหว้บูชาพระพิฆเนศ ของบูชาพระพิฆเนศ ต้องใช้อะไรบ้าง

คเณศจตุรถี 2566 ช่วงเวลามงคล 19-28 กันยายน ไหว้พระพิฆเนศ

เทศกาลคเณศจตุรถี 2566 ในปีนี้ตรงกับวันที่ 19 - 28 กันยายน 2566 เทศกาลคเณศจตุรถี เทศกาลของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่องค์พระพิฆเนศ โดยเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาเราจะได้ใกล้ชิดกับองค์พระคเณศมากที่สุด รวมของบูชาพระพิฆเนศ ต้องใช้อะไรบ้าง วิธีบูชาพระพิฆเนศ วันคเณศจตุรถี ต้องทำอย่างไร

วันคเณศจตุรถี คือวันอะไร?

คเณศจตุรถี เป็นเทศกาลประจำปีเพื่อสักการะบูชาพระพิฆเนศ แต่ละปีจะไม่ตรงกัน โดยจะอยู่ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ซึ่งในปี 2566 จะตรงกับ วันอังคารที่ 19 กันยายน - วันพฤหัสบดีที่ 28 กันยายน 2566 รวม 10 วัน

สำหรับเทศกาลคเณศจตุรถี ถือเป็นเทศกาลของการเฉลิมฉลองอันยิ่งใหญ่ขององค์พระคเณศ เชื่อว่าเป็นช่วงเวลาเราจะได้ใกล้ชิดกับองค์พระคเณศมากที่สุด เพราะถือว่าเป็นช่วงที่พระองค์เสด็จลงมายังโลกมนุษย์ในช่วงเวลานี้ ผู้ที่ศรัทธาก็จะทำการต้อนรับพระองค์ด้วยการทำการบูชาในช่วงเทศกาลนี้

อย่างไรก็ตาม คเณศจตุรถี นั้น ในบางตำราจะกล่าวว่าเป็น “วันเกิด” ของพระคเณศ ซึ่งมีหลายคัมภีร์ หลายตำรา และไม่ตรงกัน แต่ในที่นี้จะอ้างอิงกับ “วันคเณศชยันตี” ที่ถูกระบุว่าเป็นวันเกิดของพระคเณศ โดยอ้างอิงจากชาวฮินดูในรัฐมหาราษฏระ ซึ่งนับว่าเป็นรัฐที่บูชาพระคเณศเป็นใหญ่ และบูชาอย่างเคร่งครัด

การบูชาพระพิฆเนศ เทศกาลคเณศจตุรถี

ในช่วงเทศกาลนี้ ผู้ที่ศรัทธาในพระพิฆเนศ จะทำการปั้นองค์พระคเณศขึ้นมาจากดิน ช่วงเทศกาลในแต่ละวันจะการสวดมนต์ ทำพิธี ถวายสิ่งของต่าง ๆ ทั้งผลไม้ ขนมหวาน ได้แก่ ลาดู และโมทกะ หญ้าแพรก ดอกชบา รวมถึงใบไม้มงคลหลากหลายชนิด เมื่อสิ้นสุดการบูชาแล้ว จะทำการส่งเสด็จพระองค์กลับสู่สวรรค์ ด้วยการนำเทวรูปที่ทำการบูชาไปลอยน้ำ โดยจะเรียกพิธีส่งเสด็จนี้ว่า คเณศ วิสรฺชน

การทำบูชาแบบเต็มรูปแบบ จะบูชาตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน และทำพิธีวิสารชันส่งเสด็จในวันที่ 28 กันยายน 2566

การทำบูชาแบบเล็ก ๆ ตามความสะดวก โดยจะเลือกเป็น

  • การทำบูชาแบบ 1 วัน และทำวิสารชันส่งเสด็จเลย
  • การทำบูชาแบบ 1 วันครึ่ง และทำวิสารชันส่งเสด็จเลย
  • การทำบูชาแบบ 3 วัน และทำวิสารชันส่งเสด็จ
  • การทำบูชาแบบ 5 วัน และทำวิสารชันส่งเสด็จ
  • การทำบูชาแบบ 7 วัน และทำวิสารชันส่งเสด็จ

ขั้นตอนการวิสารชันนั้น คือการนำเทวรูปที่เป็นดินปั้น ที่เราทำบูชาตั้งแต่วันแรกของเทศกาล (พลังของพระคเณศสถิตอยู่) เมื่อหมดเทศกาลจึงทำการส่งเสด็จวิสารชัน (ส่งพลังของพระองค์กลับ)

ข้อสำคัญ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้เทวรูปที่ทำจากดินปั้นเอง และใช้องค์ที่เราบูชาอยู่เป็นประจำทุก ๆ วัน แล้วนำมาประกอบพิธีคเณศจตุรถีนั้น ไม่ต้องนำเทวรูปเข้าพิธีวิสารชัน เพราะนั่น คือการส่งเสด็จท่านกลับ เทวรูปที่เข้าสู่พิธีวิสารชัน ตามความเชื่อแล้วคือการ คืนพลังองค์พระองค์กลับสู่พระองค์ไปแล้ว จะไม่นำกลับมาบูชาอีก ดังนั้นเราจะไม่นำเทวรูปที่เราบูชาอยู่ทุกวันเข้าสู่พิธีวิสารชัน หากเรานำเทวรูปที่บูชาอยู่ทุกวันมาทำการบูชาในช่วงคเณศจตุรถี หลังเสร็จพิธี แค่เชิญเทวรูปกลับขึ้นหิ้งบูชาต่อแค่นั้นก็พอแล้ว

สำหรับผู้ที่ทำการบูชาแบบทั่วไป ไม่ได้ใช้องค์ดินปั้น สามารถนำองค์ที่เราบูชาอยู่แล้ว เชิญเทวรูปมาทำบูชาในช่วงคเณศจตุรถีได้ และเมื่อหมดพิธี ก็เชิญเทวรูปที่บูชา กลับขึ้นหิ้ง เพื่อบูชาต่อ

การเตรียมตัวในพิธีคเณศจตุรถี (ทำเองได้ในบ้านแบบเรียบง่าย)

ของบูชาพระพิฆเนศ วันคเณศจตุรถี มีดังนี้

  • เทวรูปพระพิฆเนศที่เราบูชาที่บ้านเป็นประจำ
  • โต๊ะเล็ก ๆ หรืออาสนะ/ผ้าปู โดยจะนิยมสีแดง/ส้ม
  • ข้าวสารขาวที่เราใช้หุงปกติ
  • น้ำเปล่าใส่ถ้วย พร้อมช้อนสะอาดสำหรับตักถวายเทวรูปในขั้นตอนต่าง ๆ
  • น้ำปัญจมรัตน์ (นม โยเกิร์ต เนย น้ำผึ้ง น้ำตาลทราย หรือน้ำอ้อย)
  • น้ำสะอาดสำหรับล้างเทวรูป
  • ผ้าสะอาดเตรียมไว้เช็ดเทวรูป
  • ผ้าสำหรับแต่งเทวรูป ผ้านุ่ง ผ้าคลุม หรือถ้าไม่มี อาจใช้ด้ายฝ้ายสีแดง หรือย้อมสี ฉีกเป็นเส้น พอดีกับเทวรูป สำหรับคล้องแทน ผ้าต่าง ๆ
  • ผงสำหรับจุ่มเจิม ผงซินดู ผงกุมกุม ผงจันทร์ (ถ้าหาได้ทั้งหมดก็ดี หาไม่ได้ก็เท่าที่หาได้ก็พอ)
  • น้ำหอมสำหรับประพรมเทวรูป
  • เครื่องประดับเช่น สร้อย กำไล สำหรับแต่งเทวรูป ถ้าไม่มีอาจถวายเป็นเหรียญเงินเหรียญทอง หรือ ข้าวสาร (ใช้แทนของมีค่า)
  • ดอกไม้ มาลัย
  • ธูป หรือกำยาน
  • ดวงประทีป หรือเทียน
  • ผลไม้ตามฤดูกาล
  • ขนมหวาน ขนมลาดู โมทกะ
  • หมาก พลู หญ้าแพรก

วิธีบูชาพระพิฆเนศ วันคเณศจตุรถี

เริ่มบูชาวันอังคาร ที่ 19 กันยายน 2566 แนะนำว่าควรทำตั้งแต่ช่วงเช้า แต่หากไม่สะดวกจริง ๆ ก็เลือกช่วงเวลาที่สะดวกแทนได้

กล่าวอัญเชิญองค์พระคเณศ

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอเชิญพระองค์ ประทับยังแท่นที่เตรียมไว้

อัญเชิญเทวรูปขึ้นประทับยังแท่น

หรืออาสนะที่เตรียมไว้ นำข้าวสาร หรือดอกไม้ โปรยที่แท่น หรืออาจเรียงเป็นรูปสวัสดิกะ แล้วนำเทวรูปวาง

ถวายน้ำล้างพระบาท

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระบาทต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำวน ที่บริเวณพระบาทของเทวรูป 3 ครั้ง แล้วเทลงที่พระบาท หรือเบื้องหน้าเทวรูป

ถวายน้ำล้างพระหัตถ์

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำล้างพระหัตถ์ต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำวนที่บริเวณพระหัตถ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้วเทลงที่พระหัตถ์ ข้างใดข้างหนึง หรือเบื้องหน้าเทวรูป

ถวายน้ำชำระพระโอษฐ์

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำชำระพระโอษฐ์ต่อพระองค์ นำช้อนตักน้ำวนที่บริเวณพระโอษฐ์ของเทวรูป 3 ครั้ง แล้ว เทลงที่พระโอษฐ์ หรือเบื้องหน้าเทวรูป

ถวายน้ำสรงสนาน

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายน้ำสรงสนานต่อพระองค์ ถวายน้ำสะอาด หรือน้ำนม หรือถวายน้ำปัญจะมรัตน์สรงเทวรูป หลังสรงแล้ว ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดองค์เทวรูป ทำความสะอาด เชิญองค์เทวรูปกลับแท่นพิธี (หากไม่สรงที่องค์ สามารถนำน้ำสะอาดวนรอบเทวรูป แล้วเทลงเบื้อหน้าได้เช่นกัน)

ถวายผ้าทรง

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายผ้าสำหรับนุ่งห่ม ต่อพระองค์นำผ้าคลุม หรือผ้านุ่งที่เตรียมไว้ ถวายต่อเทวรูป อาจจะนุ่ง หรือคลุม หรือวางไว้เบื้องหน้า

การถวายเครื่องหอม แป้งและผงเจิม

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องหอม และผงจุ่มเจิมต่อพระองค์ นำผงเจิม เช่น ผงจันทร์ ผงกุมกุม ผงซินดู เจิมที่เทวรูป นำน้ำหอมประพรมที่เทวรูป

ถวายเครื่องประดับ

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวาย เครื่องประดับต่าง ๆ ต่อพระองค์ นำเครื่องประดับที่จัดเตรียมไว้ เช่น สร้อย กำไล สวมคล้องต่อเทวรูป หรือวางไว้เบื้องหน้า

ถวายดอกไม้ และมาลัย

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวาย มาลัยดอกไม้นี้แด่พระองค์ นำดอกไม้ มาลัยที่เตรียมไว้ คล้องถวายต่อเทวรูป

ถวายธูปหอม และกำยาน

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายธูปหอม และกำยานนี้ต่อพระองค์ นำธูป หรือกำยาน จุด วนถวาย ต่อเทวรูป

ถวายดวงประทีป

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายดวงประทีปต่อพระองค์นำประทีป หรือเทียน จุดถวายต่อเทวรูป

ถวายเครื่องบริโภค ผลไม้ ขนมหวาน

“โอม ศรี คเณศายะนะมะหะ” ข้าพเจ้าขอน้อมถวายผลไม้ตามฤดูกาลนี้ พร้อมขนมหวานต่าง ๆ ต่อพระองค์ นำผลไม้ต่าง ๆ ที่จัดเตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป ถ้ามีเยอะมากหลายถาด สามารถนำน้ำตักใส่ช้อนวนที่ผลไม้ ขนมหวานต่าง ๆ แล้วเทน้ำลงเบื้องหน้าเทวรูปได้

ถวาย หมาก พลู หญ้าแพรก

“โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” ข้าพเจ้าขอถวายหมากพลู และหญ้าแพรกต่อพระองค์ นำหมากพลู และหญ้าแพรก ที่เตรียมไว้ถวายต่อเทวรูป

ถวายบทบูชาสรรเสริญ

สวดบูชาสรรเสริญ ด้วยบทสวด หรือมนต์ต่าง ๆ หรือสวด มนต์ 108 จบเป็นต้น

พิธีอารตี

สวดบูชาพร้อมวนไฟถวายต่อเทวรูป

พิธีนี้ สามารถปฏิบัติได้ตลอดในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี หากไม่สะดวก ให้ทำเท่าที่เราทำได้ ของบูชา ขั้นตอนต่าง ๆ สามารถลด หรือเพิ่มเติมได้ แล้วแต่ผู้ทำบูชาจะเห็นควร อาจจะทำเต็มทุกขั้นตอนทุกวัน หรืออาจทำแค่วันแรก และวันสุดท้าย วันอื่น ๆ อาจจะแค่สวดมนต์ ถวายผลไม้ ขนมหวาน โดยไม่ต้องสรงน้ำก็ได้เช่นกัน

ในวันสุดท้าย เมื่อทำบูชาเสร็จแล้ว ให้อัญเชิญเทวรูปกลับขึ้นหิ้ง ถือเป็นการสิ้นสุดการบูชา ในช่วงเทศกาลคเณศจตุรถี

คุณกำลังดู: คเณศจตุรถี 2566 ช่วงเวลามงคล 19-28 กันยายน ไหว้พระพิฆเนศ

หมวดหมู่: ดูดวง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด