ครบรอบ 25 ปี Rush Hour หนังที่ เฉินหลง ไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่ โดย ตั๋วร้อนฯ

Rush Hour (1998) หนังโกอินเตอร์ฮอลลีวู้ดครั้งแรกของราชานักบู๊ฝั่งเอเชีย เฉินหลง เป็นอะไรที่ไม่น่าประทับใจเขาสักเท่าไหร่ แต่มันกลายเป็นหนังที่ทำรายได้เยอะที่สุดในชีวิตการแสดงของเขา... โดย ตั๋วร้อนป๊อปคอร์นชีส

ครบรอบ 25 ปี Rush Hour หนังที่ เฉินหลง ไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่ โดย ตั๋วร้อนฯ

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าหนังอย่าง Rush Hour (1998) ภาคแรกนั้น ครบรอบ 25 ปี ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 18 กันยายน นี้ แต่ความประทับใจของคนดูไม่เคยเลือนหายไป เพราะนี่คือการโกอินเตอร์เล่นหนังฮอลลีวู้ดครั้งแรกของราชานักบู๊ฝั่งเอเชียอย่าง เฉินหลง หรือ Jackie Chan ที่เรารู้จักกันดีหากเป็นคอหนังฮ่องกงไล่ตั้งแต่ยุค 80 ไปจนถึงยุค 90 ด้วยเอกลักษณ์เล่นจริง เจ็บจริง เสี่ยงตายเข้าฉากด้วยตัวเอง

 เฉินหลง Rush Hour

แต่การก้าวเท้าสู่อเมริกาของเฉินหลงนั้นเป็นอะไรที่ไม่น่าประทับใจเขาสักเท่าไหร่ เพราะเฉินหลงยอมรับตามตรงว่าเขารับเล่นเรื่องนี้เพราะเงินดอลลาร์ และเมื่อผลงานออกมาเขาก็ไม่ได้ชอบมันมากนัก ยิ่งไปกว่านั้นเฉินหลงยังแปลกใจที่หนังมันทำเงินมหาศาลขนาดนี้ จนมันกลายเป็นหนังที่ทำรายได้เยอะที่สุดในชีวิตการแสดงของเขา

ช่วงต้นและปลายยุค 90 นั้นเป็นช่วงเวลาที่กังฟูมาแรงมากในฮอลลีวู้ด เพราะ John Woo เข้าไปกรุยทางในฮอลลีวู้ดด้วยผลงานอันเอกอุอย่าง Hard target (1993) กับ Broken Arrow (1996) นั่นทำให้สมองจากฝั่งจีนและฮ่องกงไหลสู่ดินแดนอเมริกา ทั้งดาราและผู้กำกับ รวมไปจนถึงสไตล์คิวบู๊แบบจีนๆ The Matrix คือหนึ่งในนั้น และดาราอย่าง โจวเหวินฟะ , หลี่เหลียนเจี๋ย , หงจินเป่า ก็เข้าไปโลดแล่นในอุตสาหกรรมหนังของอเมริกา เฉินหลง เองก็เหมือนจะคันไม้คันมือ เขาเกือบได้เล่นบทหนึ่งที่เป็นบทของ หลี่เหลียนเจี๋ย หรือ Jet Li แต่ก็ปฏิเสธไป

เราเกือบได้เห็น เฉินหลง กับ Chris Tucker ไปฟัดกันในหนังภาคต่ออย่าง Lethal weapon 4 ริกส์ คนมหากาฬ กันแล้ว แต่สุดท้ายเฉินหลงปฏิเสธ เพราะเขาไม่เล่นบทร้าย และไม่ใช่ตัวสมทบให้ใคร สุดท้ายเป็น หลี่เหลียนเจี๋ย กับ Chris Rock ที่ตกลงรับงานนั้นแทน โดยที่ฝ่ายหลังให้เหตุผลด้านค่าตัวที่น้อยเกินไป

 เฉินหลง Rush Hour

แต่มาทั้งทีก็ไม่เสียเที่ยว เพราะว่า เฉินหลง ถูกวางตัวให้นำแสดงในหนังตำรวจจับโจรอีกเรื่องคือ Rush Hour ของผู้กำกับ Brett Ratner ที่ได้วางตัวดาราดังอย่าง Will Smith , Wesley Snipes , Martin Lawrence และ Eddie Murphy คนใดคนหนึ่งให้มาประกบดาราบู๊ที่ภาษาอังกฤษห่วยแตกมากอย่างเฉินหลง สุดท้ายเป็น Chris Tucker ที่ได้บทไป เพราะผู้สร้างคิดว่าไอ้สามสี่คนที่วางตัวมานั้นดังทับทางกับเฉินหลงจนเกินไป พวกเขาต้องการให้หนังฉีกไปอีกทาง คือดาวตลกที่พูดไฟแล่บ ด้นสดได้จนลิงหลับ แล้วใครล่ะจะเหมาะเท่าคนที่หารับประทานกับการเดี่ยวไมโครโฟนอย่าง Chris Tucker เขาคือตัวเลือกที่เหมาะเหม็งสุดๆ

บทต้นฉบับร่างแรกของ Rush Hour นั้นค่อนข้างจริงจัง เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงที่ลูกสาวนักการทูตจีนถูกลักพาตัวในลอสแอนเจลิส ซึ่งต่อมาได้ก่อให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ แต่เมื่อได้ เฉินหลง กับ Chris Tucker มานำแสดง บทก็ถูกแก้ไขให้มันตลกขบขันขึ้นกว่าเดิม และแน่นอนว่า คนไทยหลายๆคนต้องขอแสดงความเสียใจกับชาวต่างชาติที่ฟังไทยไม่ออก เพราะทีมพากย์พันธมิตรเอาหนังเรื่องนี้มาพากย์กันได้ฮาไส้ปลิ้น ท้องคัดท้องแข็งมาก มีการพากย์นอกบทในหลายๆซีนจนมันกลายเป็นหนังที่คนที่ไม่ชอบดูหนังพากย์ไทยยังต้องพิสูจน์

เมื่อรู้ว่าต้องเล่นหนังกับคนอย่าง Chris Tucker ฝั่งเฉินหลงก็พยายามทำการบ้านโดยการเรียนภาษาอังกฤษและฝึกพูดให้สำเนียงดีขึ้น แต่ผู้กำกับสั่งว่าเฮียอย่าเลย เฮียเป็นในสิ่งที่เฮียเป็นไปก่อน เพราะหนังเรื่องนี้เป็นเรื่องของตำรวจฮ่องกงที่ไม่ค่อยรู้ภาษาอังกฤษ ซึ่งต้องมาปะทะฝีปากกับตำรวจช่างจ้อที่พูดไม่หยุด แค่นึกภาพว่าอีกคนพูดตลอดเวลา ยิงมุกจนไส้ปลิ้น กับอีกคนที่ฟังอังกฤษไม่ค่อยออก แล้วดันต้องทำภารกิจด้วยกัน แค่นี้ก็มันส์แล้ว

เฉินหลง Rush Hour

การเจอกันครั้งแรกเพื่อละลายพฤติกรรมระหว่างเฉินหลงกับ Chris Tucker เกิดขึ้นในออฟฟิศของ William Morris เอเยนซี่ดารา หลังได้พบเจอพูดคุยกับ Chris Tucker เฉินหลงแอบกระซิบบอกกับ William Morris ว่า "ผมไม่เข้าใจอะไรที่หมอนั่นพูดเลย" บทพูดนี้ถูกใส่ในหนังในฉากแรกที่ Lee กับ James Carter เจอกันครั้งแรกด้วย

เฉินหลงไม่ได้รับอนุญาตให้แสดงฉากเสี่ยงตายเองในหลายๆฉาก ตามหลักการทำงานของฮอลลีวู้ด เพื่อป้องกันการบาดเจ็บหรือตายระหว่างถ่ายทำ คนที่เคยโดดต้นไม้สูงพลาดจนเลือดออกหูมาแล้วอย่างเฉินหลงก็ได้แต่เซ็งที่ไม่ได้เล่นฉากเสี่ยงตายเอง แต่เฉินหลงก็เกือบตายกลางคันระหว่างถ่ายฉากหนึ่งง่ายๆ เพราะเขาเกือบโดนตู้เหล็กหล่นลงมาทับหัว เฉินหลงหลบได้เพียงเสี้ยววินาที ไม่งั้นป่านนี้เราคงไม่ได้เห็นเขาแก่แล้ว

หนังเรื่องนี้ทุนสร้างน้อยระดับที่ว่าเกือบเป็นหนังแผ่น คือราวๆ 35 ล้านเหรียญ ทั้งเฉินหลงและ Chris Tucker ล้วนได้รับข้อเสนอภาคต่อล่วงหน้าอีกอย่างน้อยสามภาค หากหนังทำเงินได้ดี ในภาคต่อๆไปพวกเขาจะได้ทั้งค่าตัวที่เพิ่มขึ้น และเปอร์เซ็นต์จากรายได้ที่พวกเขาสมควรได้ แต่ในภาคแรกพวกเขาต้องโชว์บารมีฝีตีนและฝีปากให้โลกยอมควักเงินซื้อตั๋วไปดูพวกเขาเสียก่อน

Rus hour ภาคแรกทำเงินไป 244 ล้านเหรียญ จากนั้นก็มีภาคสองออกมา ซึ่งก็ทำรายได้ไป 347 ล้านเหรียญ และภาคสามก็ทำรายได้ 258 ล้านเหรียญ กลายเป็นหนังภาคต่ออันทรงคุณค่าไปในทันที ทว่าในภาค 3 นั้นกระแสของหนังตก รายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ค่าตัวดารานำทั้งสองมีแต่จะเพิ่มขึ้นๆ จนเป็นที่มาของการระงับโปรเจกต์ภาค 4 นั่นเอง เพราะสตูดิโอผู้สร้างอย่าง New Line Cinema ไม่กล้าที่จะเสี่ยงกับหนังที่เริ่มช้ำไปแล้ว

ในสายตาคนเอเชียอย่างเราๆอาจมองว่า เฉินหลง ต้องได้ค่าตัวมากกว่า Chris Tucker แต่ความเป็นจริงแล้วมันขึ้นอยู่กับการเจรจา ซึ่งเอเยนซี่ของ Chris Tucker เขี้ยวลากดินกว่าเฉินหลง โดย Chris Tucker ได้เงินค่าตัวจาก Rush hour ภาคแรก 3 ล้านเหรียญ ส่วนเฉินหลงนั้นได้ไปน้อยกว่า แต่ไม่มีการเปิดเผยว่าเท่าไหร่ คาดการณ์ว่าจะได้ราว 1.5 ล้านเหรียญ พร้อมข้อเสนอบางอย่าง

เมื่อหนัง Rush hour ภาคแรกทำเงินได้ระดับ 244 ล้านเหรียญ ก็มาถึงการเจรจาต่อรองค่าตัวสำหรับภาคต่อ Chris Tucker เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาจริงจังกับการไม่ถูกเอาเปรียบโดยการเรียกค่าตัวระดับ 20 ล้านเหรียญในหนังภาคต่อ โดยให้เหตุผลว่าหนังของเขาทำเงินเกิน 100 ล้านเหรียญ เหมือนๆกับหนัง Tom Cruise เขาได้ค่าตัว 20 ล้านเหรียญ ทำไมเขาจะเรียกค่าตัว 20 ล้านไม่ได้ อาจฟังดูตลก แต่สตูดิโอก็ยอมควักกระเป๋าจ่ายจริงๆ ทางด้านเฉินหลงเองก็สามารถเรียกค่าตัวในภาค 2 ถึง 15 ล้านเหรียญ ซึ่งสมน้ำสมเนื้อที่สตูดิโอจำเป็นต้องควัก เพราะหนังมีวี่แววว่าจะทำเงินแบบถล่มทลายในภาคต่อ แล้วก็เป็นตามที่คาด เพราะภาคต่อทำเงินไป 347 ล้านเหรียญ คุ้มสมกับที่ลงทุนไป

เฉินหลง Rush Hour

Rush hour ภาค 3 กลายเป็นเรื่องที่สตูดิโอต้องคิดกันหัวแตก เพราะภาคนี้พวกเขาจะจ่ายค่าตัว 25 ล้านเหรียญให้ Chris Tucker ได้สบายๆอยู่แล้ว แต่เป็นฝั่งเฉินหลงเองที่คิดการใหญ่ เมื่อเขาเรียกค่าตัว 15 ล้านเหรียญ พ่วงกับสิทธิ์จัดจำหน่ายหนังภาคนี้ในตลาดจีน-ฮ่องกง ซึ่งเฉินหลงขอแบ่งรายได้จากยอดขายตั๋ว 15% นั่นทำให้สตูดิโอต้องยอมอีกครั้ง เพราะเฉินหลงมีมูลค่ามากในตลาดบ้านเกิดและแถบเอเชีย โดยรวมๆแล้ว Rush hour ภาค 3 ทำให้เฉินหลงโกยเงินเข้ากระเป๋าไปเน้นๆ 53 ล้านเหรียญ ติดโผหนึ่งในดาราที่ทำเงินได้เยอะสุดในประวัติศาสตร์ จากการแสดงหนังหนึ่งเรื่อง

แต่ก็นั่นเองที่เป็นเหตุผลให้ New Line Cinema ต้องชั่งใจที่จะไปต่อหรือพอแค่นี้ แล้วตำนาน Rush hour ก็ชะงักลงในภาค 3 อย่างที่เห็น เพราะหากดื้อดึงที่จะสร้างต่อ พวกเขาอาจได้ไม่คุ้มเสี่ยง แต่ในปี 2023 เห็นว่ามีความคืบหน้าเกี่ยวกับการกลับมาของ Rush hour 4 ก็ไม่รู้จะเปิดโต๊ะเจรจากันอย่างไร เพราะเห็นว่าทั้งเฉินหลงและ Chris Tucker ก็ได้ออกมาแง้มๆกันแล้วว่าภาค 4 มาแน่ ไม่ช้าเกินรอ แต่เชื่อว่าในภาค 4 นี้ อำนาจต่อรองน่าจะเทไปฝั่งเฉินหลงเต็มๆอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะตลาดประเทศจีนคือตลาดใหญ่ที่พร้อมจะอ้าแขนรับหนังที่นำแสดงโดยเฉินหลง รวมไปจนถึงการที่เฉินหลงไปกรุยทางตลาดที่อินเดีย และประเทศแถบๆเอเชียไว้หมดแล้ว

 เฉินหลง Rush Hour

สิ่งที่ควรรู้คือ หนัง Rush hour ภาคแรกนั้นคือหนังที่ทำให้นักศึกษาปริญญาตรี 3 คนจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ คือ Senh Duong , Patrick Y. Lee และ Stephen Wang ได้ร่วมกันก่อตั้งเว็บไซต์วิจารณ์หนังอย่าง Rotten Tomatoes หรือ มะเขือเน่า ที่เรารู้จักกันดีขึ้นมา จนมันกลายมาเป็นเว็บไซต์ชื่อดังของวงการหนัง เพราะเริ่มแรก Senh Duong เป็นติ่งและชื่นชอบในตัวเฉินหลงมาก เขารวบรวมบทวิจารณ์หนังที่เฉินหลงแสดงทั้งหมดมาลงในเว็บไซต์ เพื่อต้อนรับการมาเล่นหนังฮอลลีวู้ดเรื่องแรกของดารานักบู๊ที่เขารัก จนมีคนติดตามอ่านเรื่อยมา และเริ่มมีการวิจารณ์หนังเรื่องอื่นๆใน Rotten Tomatoes จนส่งผลให้มันกลายเป็นเว็บไซต์ที่มีมูลค่าทางการตลาดเป็นพันๆล้านเหรียญ และเปลี่ยนมือเจ้าของไปหลายเจ้า และบริษัท Fandango คือเจ้าของ Rotten Tomatoes ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นบริษัทที่ NBCUniversal ถือหุ้นอยู่ 75% และค่ายหนังอย่าง Warner Bros. Discovery ถือหุ้น 25%

คุณกำลังดู: ครบรอบ 25 ปี Rush Hour หนังที่ เฉินหลง ไม่ได้ชอบมันเท่าไหร่ โดย ตั๋วร้อนฯ

หมวดหมู่: หนัง-ละคร

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด