ความเชื่อและการเข้าร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ของคนกรุง

ผลจากการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ การสะเดาะเคราะห์ ความเชื่อและพิธีกรรมที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยมาช้านาน

ความเชื่อและการเข้าร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ของคนกรุง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการสะเดาะเคราะห์ โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,156 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 9-13 ธันวาคม 2566 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องการสะเดาะเคราะห์ เนื่องจากปัจจุบันสังคมไทยมีปัญหาต่าง ๆ ทำให้คนในสังคมพยายามหาทางออก หาที่พึ่งทางใจ การสะเดาะเคราะห์เป็นความเชื่อและพิธีกรรมที่ได้รับความนิยมในสังคมไทยมาช้านาน

ซึ่งการสะเดาะเคราะห์ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เมื่อคนมีความรู้สึกไม่สบายใจ มีเรื่องทุกข์ใจ หรือรู้สึกว่าทำอะไรก็ติดขัด ก็จะไปสะเดาะเคราะห์ โดยการสะเดาะเคราะห์นี้เป็นการทำพิธีตามความเชื่อโบราณว่าจะสามารถช่วยแก้เคล็ด เสริมดวงชะตาให้ดีขึ้น และต่ออายุขัย โดยเชื่อว่าเป็นการขจัดปัดเป่าเคราะห์ร้าย สิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ออกไปจากชีวิต เพื่อเปิดรับสิ่งดี ๆ เข้ามา ในวัฒนธรรมไทย โดยวิธีการสะเดาะเคราะห์ที่นิยมทำกันได้แก่ การสะเดาะเคราะห์โดยการไปวัดทำบุญ ถวายสังฆทาน ปิดทองพระ อุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้เจ้ากรรมนายเวร

การแก้ปีชง คือการไปขอพรจากเทพเจ้าไท้ส่วยเอี๊ยะ ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้คุ้มครองดวงชะตาในแต่ละปีตามความเชื่อของจีน โดยผู้ที่เกิดในปีชง (ปีนักษัตรที่ไม่ถูกกันกับปีปัจจุบัน) เชื่อว่าจะประสบเคราะห์ร้ายต่าง ๆ การทำพิธีแก้ปีชงจึงถือเป็นการสะเดาะเคราะห์เพื่อปัดเป่าเคราะห์ภัยเหล่านั้นออกไป การถือศีล การเข้าวัดปฏิบัติธรรม ถือศีล 8 ศีล 10 เป็นเวลาหนึ่งวันหรือหลายวัน เชื่อว่าจะช่วยให้จิตใจสงบ สะอาด บริสุทธิ์ เป็นการสะเดาะเคราะห์ล้างมลทิน สิ่งอัปมงคลต่าง ๆ ออกจากชีวิต

แต่การสะเดาะเคราะห์เป็นความเชื่อที่ทำให้มีผู้ไม่หวังดีหลอกลวงคนในสังคมทำให้ศูนย์เสียเงินทองเป็นจำนวนมาก หรือถึงขนาดทำให้เกิดการกระทำล่วงละเมิดทางเพศ โดยผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องการสะเดาะเคราะห์ มีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้

  • กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ คิดว่าคนในสังคมไทยมีปัญหารุมเร้า ทำให้เกิดการไปสะเดาะเคราะห์ ร้อยละ 87.9 และ เคยไปทำการสะเดาะเคราะห์ ร้อยละ 80 สาเหตุที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไปทำการสะเดาะเคราะห์ อันดับที่ 1 คือ รู้สึกดวงไม่ดี ร้อยละ 21.8 อันดับที่ 2 คือ เจอปัญหาหาทางออกไม่ได้ ร้อยละ 19.7 อันดับที่ 3 คือ มีความไม่สบายใจ ร้อยละ 16.3
  • ในส่วนของสถานที่เคยไปทำการสะเดาะเคราะห์ อันดับที่ 1 คือ วัด ร้อยละ 45.2 อันดับที่ 2 คือ ศาลเจ้าจีน ร้อยละ 41.9 อันดับที่ 3 คือ สำนักเข้าทรง ร้อยละ 28.9 อันดับที่ 4 คือ วัดพราหมณ์ ร้อยละ 28.2 อันดับที่ 5 คือ ศาลเทพ ร้อยละ 19.5 และอันดับสุดท้ายคือ ไม่เคยไป ร้อยละ 15
  • การใช้จ่ายในการสะเดาะเคราะห์เป็นจำนวนเงิน อันดับที่ 1 คือ 101-500 บาท ร้อยละ 48.8 อันดับที่ 2 คือ 501-1,000 บาท ร้อยละ 39.6 อันดับที่ 3 คือ มากกว่า 1,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 6.1 และอันดับสุดท้ายคือ น้อยกว่า 100 บาท ร้อยละ 5.5
  • ในส่วนของการรู้จักสถานที่ในการสะเดาะเคราะห์ อันดับที่ 1 คือ สื่อบุคคล ร้อยละ 27.9 อันดับที่ 2 คือ สื่อโทรทัศน์ ร้อยละ 20 อันดับที่ 3 คือ เฟซบุ๊ก (Facebook) ร้อยละ 23.7 อันดับที่ 4 คือ ยูทูบ (YouTube) ร้อยละ 15.7 อันดับที่ 5 คือ ติ๊กต็อก (Tiktok) ร้อยละ 8

คุณกำลังดู: ความเชื่อและการเข้าร่วมพิธีสะเดาะเคราะห์ของคนกรุง

หมวดหมู่: ดูดวง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด