กราบ "หลวงพ่อพระเสี่ยง" เอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ ในบรรยากาศ "ล้านช้างโบราณ" ณ วัดเจริญศรี จ.หนองคาย

Sanook ชวนทุกคนเที่ยว “งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยง” ณ วัดเจริญศรี ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ขอพรเอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ 2567 ในบรรยากาศ “ล้านช้างโบราณ” ที่ไม่ได้เห็นกันง่ายๆ

กราบ "หลวงพ่อพระเสี่ยง" เอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ ในบรรยากาศ "ล้านช้างโบราณ" ณ วัดเจริญศรี จ.หนองคาย

เช้าตรู่ของวันสุดท้ายของปี พ.ศ. 2566 ถือเป็นวันสำคัญของชาวบ้านในพื้นที่ตำบลนาหนัง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพราะวันนี้เป็นวันเดียวของปีที่ชาวบ้านจะได้มีโอกาสกราบสักการะ “หลวงพ่อพระเสี่ยง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำตำบล เพื่อเอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ พร้อมแต่งตัวสวยๆ สไตล์ “ล้านช้างโบราณ” ที่แน่นอนว่าไม่ใช่เครื่องแต่งกายที่จะได้สวมใส่กันทุกวัน ซึ่งเราก็มีโอกาสได้ไปร่วม “งานบุญ” ที่เปี่ยมไปด้วยความศรัทธา ความอิ่มอกอิ่มใจ รวมถึงรอยยิ้มของผู้คนที่มาร่วมในงานนี้ และนี่คือสิ่งที่ Sanook อยากเล่าให้ทุกคนได้ฟัง

หลวงพ่อพระเสี่ยง

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “หลวงพ่อพระเสี่ยง” หรือ “พระเสี่ยง” พระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านช้างที่เก่าแก่และแสนสวยงาม สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองโพนพิสัย ที่ประดิษฐานอยู่ ณ วัดมณีโคตร ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แต่รู้หรือไม่ว่าในอำเภอโพนพิสัยแห่งนี้ ยังมีหลวงพ่อพระเสี่ยงอีกพระองค์หนึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่ “วัดเจริญศรี” ในตำบลนาหนัง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่จะอัญเชิญหลวงพ่อออกมาให้คนทั่วไปได้กราบไหว้สักการะปีละครั้งเท่านั้น

Charoen Sri 1

พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย เจ้าอาวาสวัดเจริญศรี บอกเล่าตำนานให้ฟังว่า หลวงพ่อพระเสี่ยงวัดเจริญศรีถูกค้นพบโดยเจ้าอาวาสองค์เดิมของวัดเมื่อหลายสิบปีก่อน ขณะที่ท่านกำลังกวาดลานวัดอยู่ โดยเชื่อกันว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่อีกองค์หนึ่งในสมัยล้านช้าง  มีอายุราว 600 ปี และถูกสร้างขึ้นให้เป็น “พระเสี่ยงทาย” ประจำเมือง โดยถูกอัญเชิญมาทางฝั่งไทยพร้อมกับพระใส พระแสน พระเสริม และพระสุก 

Charoen Sri 2

หลวงพ่อพระเสี่ยงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านในพื้นที่ โดยคำบอกเล่าของคนแก่คนเฒ่าสะท้อนให้เห็นอภินิหารและความศักดิ์สิทธิ์ของหลวงพ่อที่ทำให้คนในพื้นที่เลื่อมใสและศรัทธาเป็นอย่างมาก ซึ่งเรื่องที่ชาวบ้านเล่าสืบต่อกันมาคือหลวงพ่อพระเสี่ยงไม่ยอมไปจากหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อครั้งถูกขโมยเข้ามายกไปจากวัด หลวงพ่อก็แสดงอภินิหารทำให้องค์พระหนักจนกลุ่มโจรต้องทิ้งหลวงพ่อไว้ที่ลำธาร กระทั่งชาวบ้านมาตามหาจนพบ จึงได้ก่อสร้างหอคำเพื่อให้หลวงพ่อพระเสี่ยงประดิษฐอยู่ในนั้น และจะอัญเชิญหลวงพ่อออกมาให้ชาวบ้านในพื้นที่ รวมถึงผู้ศรัทธา ได้กราบไหว้สักการะเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ในวันส่งท้ายปี 31 ธันวาคม

พระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโยพระอธิการวัฒนชัย ปุญฺญชโย

ไหว้พระขอพรส่งท้ายปีเก่า

วัดเจริญศรีเลือกวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปีให้เป็น “งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยง” ซึ่งตรงกับวันส่งท้ายปีเก่า จึงถือเป็นฤกษ์งามยามดีสำหรับการไหว้พระเอาฤกษ์เอาชัยเพื่อการเริ่มต้นปีใหม่ที่สวยงาม โดยวัดเจริญศรีได้ทำการร่วมมือกับชาวบ้านและหน่วยงานในพื้นที่ จัดขบวนและพิธีสักการะองค์หลวงพ่อพระเสี่ยงขึ้น ในตีมงาน “ล้านช้างโบราณ” เพื่อจะมอบประสบการณ์ใหม่ที่เชื่อว่าหลายคนไม่เคยได้สัมผัส

สิ่งที่โดดเด่นมากๆ ในงานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงคือ “บายศรี” ซึ่งเป็นบายศรีแบบโบราณที่งดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นงานฝีมือของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในหลวงพ่อพระเสี่ยง พวกเขาจึงรวมตัวกันเพื่อสรรสร้างบายศรีแบบล้านช้างที่ต้องใช้ทักษะและฝีมือชั้นครู จึงจะสามารถทำบายศรีที่สวยสดงดงามและตระการตาแบบนี้ได้ เรียกว่านอกจากได้สักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงแล้ว การได้มีโอกาสไปดูงานฝีมือสุดวิจิตรเหล่านี้ก็ถือว่าคุ้มค่าที่ได้ไปร่วมงานแล้ว

อีกหนึ่งไฮไลท์คือ “นางรำ” ที่พวกเธอมารวมตัวฟ้อนรำถวายหลวงพ่อ โดยนางรำประกอบไปด้วยชาวบ้านหลากหลายวัย แต่มาด้วยหัวใจเดียวกัน และเพลงที่ใช้ก็เป็นเพลงบรรเลงแบบโบราณที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ เมื่อประกอบกับท่าร่ายรำที่อ่อนช้อยและงดงาม รวมถึงชุดผ้าไหมคาดสไบที่มีลวดลายเป็นเอกลักษณ์แบบล้านช้าง และเครื่องประดับแบบโบราณที่แต่ละคนขนมาสวมใส่แบบไม่มีใครยอมใคร ก็ยิ่งทำให้การรำถวายหลวงพ่อพระเสี่ยงเป็นพิธีกรรมการแสดงที่สวยงามและไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นจากที่ไหน 

ความร่วมมือของคนในพื้นที่

สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ “ขบวนแห่” ที่ชาวบ้านในพื้นที่สวมเสื้อผ้าแบบโบราณมารวมตัวกัน เพื่อแห่หลวงพ่อพระเสี่ยงอันศักดิ์สิทธิ์ไปรอบหมู่บ้านให้ทุกคนได้ชื่นชมและสักการะ โดยในขบวนประกอบด้วยขบวนที่หลากหลายและสวยงาม โดยเฉพาะขบวน “ทุง” ซึ่งมีลักษณะคล้ายตุงทางภาคเหนือ แต่มีสีสันสดใส ช่วยสร้างสีสันและความสดชื่นให้กับขบวนแห่ แต่ก็ไม่ละทิ้งกลิ่นอายความเป็นล้านช้างโบราณ

ความประทับใจที่สุดเห็นจะเป็น “การแต่งกาย” ของคนที่เข้ามาร่วมงาน โดยผู้หญิงจะนุ่งซิ่นที่มีลวดลายสวยงามและหลากหลาย สวมเสื้อผ้าฝ้ายแขนกระบอกหรือแขนยาว พร้อมใช้ผ้าเบี่ยง (ผ้าสไบ) ทับ พร้อมกับเครื่องประดับโบราณ ที่ทำให้ผู้หญิงทุกคนที่มาร่วมงานกลายเป็นสาวสวยที่เหมือนหลุดออกมาจากในวรรณคดีอย่างไรอย่างนั้น ด้านผู้ชายก็จะนุ่งโสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดเอว สวมเสื้อแขนสั้น เรียกว่าทั้งหัวขาวและหัวดำก็กลายเป็นหนุ่มโบราณที่มีเสน่ห์น่าค้นหาขึ้นมาทันที

แม้วัดเจริญศรีจะเป็นวัดเล็กๆ ที่ซุกซ่อนตัวอยู่ในตำบลนาหนัง แต่พลังของพระสงฆ์และสามเณรในวัด รวมกับพลังของชาวบ้านในพื้นที่ ก็แปรเปลี่ยนให้งานสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงที่อาจจะดูแสนธรรมดา กลายเป็นงานประเพณีที่ศักดิ์สิทธิ์ ยิ่งใหญ่ และควรค่าแก่การได้ไปร่วมสัมผัสสักครั้ง

หากใครมีโอกาสได้แวะเวียนไปโพนพิสัยช่วงสิ้นปี ก็หาเวลาเข้าไปสักการะหลวงพ่อพระเสี่ยงและสัมผัสความยิ่งใหญ่ของพลังแห่งความร่วมมือของผู้คนที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิดดูนะ แล้วจะไม่ผิดหวังเลย

คุณกำลังดู: กราบ "หลวงพ่อพระเสี่ยง" เอาฤกษ์เอาชัยรับปีใหม่ ในบรรยากาศ "ล้านช้างโบราณ" ณ วัดเจริญศรี จ.หนองคาย

หมวดหมู่: เที่ยวทั่วไทย

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด