"แม็ค กฤตธัช" สตาร์ทอัพไทยสุดเท่ หวังปั้น "โดรนช่วยเกษตรกร" เพื่อชาติ

“แม็ค กฤตธัช สาทรานนท์” วัย 24 ปี เป็นเจ้าของบริษัทเทคสตาร์ทอัพ ชื่อว่า บริษัท โนวี่ (2018) ที่มี “โดรนเพื่อการเกษตร”

"แม็ค กฤตธัช" สตาร์ทอัพไทยสุดเท่ หวังปั้น "โดรนช่วยเกษตรกร" เพื่อชาติ

เคยเป็นเด็ก ชอบเล่นเครื่องบินบังคับ เป็นนักศึกษา เป็นนายแบบ เป็นนักแสดง เป็นคนมุ่งมั่นมีเป้าหมายและวางแผน ตอนนี้ “แม็ค กฤตธัช สาทรานนท์” วัย 24 ปี เป็นเจ้าของบริษัทสตาร์ทอัพ ชื่อว่า บริษัท โนวี่ (2018) ที่มีเทคโนโลยี “โดรนช่วยเกษตรกร” และระบบประมวลผล เป็นผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างรายได้ และไม่ใช่แค่รายได้ที่หวัง แต่มีเป้าหมายว่าในอนาคตธุรกิจนี้จะช่วยเหลือประเทศชาติได้

จากจุดที่เห็นปัญหาของต้นมะพร้าวหัวโล้น ทำให้ "แม็ค กฤตธัช" อยากหาวิธีแก้ปัญหา โดยใช้ความชอบ และความรู้ด้านเทคโนโลยีมารวมกัน ตั้งบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อให้บริการโดรนสำรวจพื้นที่เกษตร พร้อมให้บริการทั่วราชอาณาจักร

จุดประกายจาก Pain Point มะพร้าวหัวโล้น

แม็ค กฤตธัช เล่าว่า โดยส่วนตัวสนใจเรื่องเทคโนโลยีมาตั้งแต่เรียนมัธยมฯ และมีโอกาสประกวดในรายการต่างๆ จนได้รางวัลชนะเลิศบ้าง โดยเฉพาะในปี 2017 ที่ได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขัน อากาศยานไร้คนขับ (UnmannedAerial Vehicle : UAV STARTUP 2017 แม้ว่าช่วงชีวิตในวัยรุ่น เคยมีชื่อเสียงเพราะอยู่ในวงการแสดง เป็นนายแบบ เล่นละคร แต่ธุรกิจและเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่เขาสนใจมาโดยตลอด

จนวันหนึ่งเห็นข่าวเรื่องปัญหาต้นมะพร้าว ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กลายเป็นต้นมะพร้าวหัวโล้นจำนวนมาก เพราะเจอศัตรูพืชคือจนยืนต้นตาย

จุดนี้กลายเป็น Pain Point ที่เจ้าของสวนมะพร้าวเจอมาตลอด ซึ่งพอเจอปัญหานี้ ก็ดูแลแก้ไขไม่ทัน เพราะมะพร้าวต้นสูง ดูแลไม่ทั่วถึง และคิดว่าโดรนน่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหา จากเดิมที่โดรนเป็นที่นิยมในการนำมาใช้ถ่ายรูปมุมสูง เป็นของเล่นธรรมดาแค่นั้น

ดังนั้น แม็ค กฤตธัช จึงเริ่มรับงานแรกคือ รับจ้างสำรวจสวนมะพร้าวของรุ่นพี่ ไม่กี่สิบไร่ รับค่าจ้างไม่กี่หมื่นบาท จนปัจจุบันมีคนจ้างสำรวจสวนปาล์ม สวนสับปะรดนับหมื่นไร่ รายได้หลักแสน และมีพนักงานบริษัทกว่า 10 คน ภายใต้ธุรกิจที่มีการจำหน่ายโดรน ระบบประมวลผลสามารถวิจัย วิเคราะห์ และเขียนโปรแกรมเพื่อตอบโจทย์แก้ปัญหาเกษตร

บริการที่ทำอยู่มี 2 รูปแบบ คือ1. การใช้โดรนพ่นปุ๋ย พ่นยา ลักษณะการนำสารไปพ่นในพื้นที่เกษตร และ2. โดรนสำรวจ ที่ติดกล้องบินสำรวจในแปลงเกษตร ที่มีกล้อง 5 ตัว ทำหน้าที่เก็บภาพ และนำแต่ละภาพมาเข้าโปรแกรมที่เขียนไว้ หรือทำแผนที่ 3 มิติ สามารถสำรวจสภาพของพื้นที่เกษตร หรือลักษณะกายภาพ เช่น ความอุดมสมบูรณ์ จำนวนต้น ดูความสูงระดับน้ำ เป็นต้น ซึ่งให้ความแม่นยำประมาณ 90%

Pain Point คือการสำรวจแบบเดิมที่ใช้คนสำรวจ อาจไม่แม่นยำถ้ามีพื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น การนับจำนวนต้นไม้คลาดเคลื่อน ถ้ามีพื้นที่นับหมื่นไร่ ก็อาจทำแค่สุ่มนับ และระบบยังสามารถดูไปถึงความอุดมสมบูรณ์ของต้น เพื่อวางแผนบำรุงพืชได้ถูกต้อง เมื่อได้ผลที่แม่นยำ ก็จะนำไปสู่การคาดการณ์ผลผลิต ราคา และรายได้ และหากเจาะลึกมากขึ้น คือการสำรวจศัตรูพืช เพื่อป้องกันไม่ให้พืชเสียหายได้ทัน สุดท้ายตอบโจทย์ลดต้นทุนการดูแลพื้นที่เกษตรนั้นได้

ปัจจุบันบริษัทโนวี่ มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และรายได้เติบโต 4-5 เท่าจากปีแรกๆ ที่ให้บริการ และมีแนวโน้มดีขึ้น เพราะยังมีพืชเศรษฐกิจที่ยังไม่ได้เข้าไปเจาะตลาด เช่น สวนยาง ยูคาลิปตัส ข้าว อ้อย ซึ่งที่ผ่านมา 3 ปี ถามว่าพอใจกับผลงานหรือไม่ ตอบได้ว่า “พอใจ” แต่ยังมีความคาดหวังว่าสตาร์ทอัพอย่างโนวี่ จะช่วยประเทศชาติได้มากกว่านี้

สิ่งที่แม็ค กฤตธัช และทีมงานวางแผนคือ อยากพัฒนาแพลตฟอร์มกลางที่ทุกคนใช้ได้ มีโดรนไปบิน โดยบริษัทโนวี่ เป็นตัวกลางเก็บข้อมูลการเกษตรทั้งประเทศ เมื่อได้ข้อมูล ก็ส่งข้อมูลให้รัฐบาล เพื่อวางแผนแก้ปัญหาการเกษตรของประเทศได้

แต่กว่าจะถึงจุดที่หวังไว้คือ ต้องมีการลงทุนมาก ทั้งการพัฒนาโปรแกรม การมีเวลาเพิ่มขึ้นในการเก็บข้อมูลให้มากที่สุด

เปิดกว้างเรียนรู้ รู้จักจุดอ่อนของตัวเอง

วิธีคิดของแม็ค กฤตธัช ที่ลุยทำธุรกิจสตาร์ทอัพของตัวเอง กับผู้ร่วมถือหุ้นสร้างฝันไปด้วยกัน แทนที่จะไปเป็นลูกจ้าง เหมือนอย่างนักศึกษาจบใหม่ทั่วไป เพราะมองว่าตัวเองและทีมงาน มีความสามารถด้านเทคโนโลยี ก็ต้องมุ่งมั่นให้เต็มที่ แม้ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง เพราะไม่เคยทำงานที่ไหนมาก่อน ไม่เคยเห็นขั้นตอนการทำงานแบบอื่น หรือองค์กรใหญ่ ซึ่งอาจสู้นักธุรกิจที่มีประสบการณ์มาก่อนไม่ได้ แต่ทุกอย่างก็ต้องปรับตัวเอง เมื่อไม่รู้ ต้องเรียนรู้โดยถามจากผู้ที่รู้

“มีบ้างที่เคยทำด้วยตัวเอง แต่หาทางออกไม่เจอ ก็ต้องเปิดกว้างขอความรู้จากผู้มีประสบการณ์ คนที่ผ่านมาก่อน อาบน้ำร้อนก่อน ก็จะสามารถหาคำตอบได้ ผมคิดว่าทุกคนเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้เสมอ อยู่ที่ว่าจะเปิดรับหรือไม่ เพราะในยุคนี้ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ เหมือนอย่างเหตุการณ์โควิดระบาด ที่ตอบคำถามที่ผมเคยคิดว่า ไม่มีอะไรที่จะอยู่ต่อไปชั่วตลอดกาลนาน แม้แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งถ้าเราเรียนรู้แล้ว ก็อยู่ที่การวางแผนว่าจะเป็นอย่างไร”

นี่คือวิถีแบบสตาร์ทอัพสไตล์ของแม็ค กฤตธัช ที่ย้ำว่า เขายังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น เก็บความรู้ เพราะเส้นทางนี้ แม้จะยาวไกล แต่เป้าหมายชัดเจน จึงทำให้เขาพร้อมเรียนรู้อย่างเต็มที่

ผู้เขียน : สุกรี แมนชัยนิมิต

กราฟิก : ประดิษฐ์ พูลสาริกิจ

คุณกำลังดู: "แม็ค กฤตธัช" สตาร์ทอัพไทยสุดเท่ หวังปั้น "โดรนช่วยเกษตรกร" เพื่อชาติ

หมวดหมู่: Startup

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด