มาร์โก ฟาน บาสเท่น : แข้งดัตช์มหัศจรรย์ผู้คว้ามงกุฎประวัติศาสตร์ให้กับอัศวินสีส้ม
ยูโร 1988 คือการแข่งขันระดับทัวร์นาเมนต์ครั้งเดียวที่ เนเธอร์แลนด์ ไปได้ไกลถึงการเป็นแชมเปี้ยน
หากจะบอกว่าใครสักคนที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันแชมป์ประวัติศาสตร์นี้ คงหนีไม่พ้น มาร์โก ฟาน บาสเท่น เจ้าของฉายา "เพชฌฆาตพรายกระซิบ" ที่ยิงไปถึง 5 ประตู และทุกลูกของเขาทำให้คนดูต้องอ้าปากค้างด้วยความตะลึง
นี่คือเรื่องราวของดาวบันดาลแชมป์ ชายผู้เป็นต้นแบบของ "หน้าเป้า" ตัวจริงเสียงจริง และช่วงชีวิตค้าแข้งของเขายังได้นำมาซึ่งกฎที่ทำให้นักเตะรุ่นปัจจุบันไม่ต้องโชคร้าย เจ็บปวด และผิดหวังอย่างที่เขาเป็น นั่นคือ "กฎห้ามเข้าข้างหลัง" เพื่อตัดตอนการเข้าสกัดที่ทำให้เขาต้องแขวนสตั๊ดก่อนวัยอันควร
เรื่องราวสุดมันของดาวบันดาลชาวดัตช์รายนี้เป็นเช่นไร ติดตามที่ Main Stand
ครัฟฟ์ เลือกมากับมือ
โยฮัน ครัฟฟ์ เจ้าของฉายานักเตะเทวดา คือชายคนแรกที่แฟนบอลจะนึกถึงหากเอ่ยถึงนักเตะดัตช์สักคน ... ครัฟฟ์ เก่งกาจดั่งเทวดาตามฉายาของเขา ประสบความสำเร็จอย่างมากในฐานะนักเตะกับสโมสร บาร์เซโลน่า และ อาหยักซ์ อัมสเตอร์ดัม ซึ่งทั้งสองสโมสรที่กล่าวมา เขาได้กลายเป็นกุนซือของทีมในภายหลังด้วย
ในระดับทีมชาติ ไม่ว่าจะบทบาทนักเตะหรือโค้ช ครัฟฟ์ ก็อยู่ในสถานะผู้ทรงอิทธิพลในวงการ เขาเหมือนกับชายที่กลับมาจากโลกอนาคต เปิดโลกทัศน์การเล่นฟุตบอลแบบใหม่ ๆ ทั้งในแง่วิธีการ และความสร้างสรรค์
ทว่าทุกอย่างย่อมมีเวลาของมัน ในช่วงต้นยุค 80s ครัฟฟ์ เริ่มมีอายุมากขึ้นและถึงเวลาที่ อาหยักซ์ จะต้องเปลี่ยนแปลง พวกเขาตัดสินใจขาย ครัฟฟ์ ให้กับทีมร่วมลีกอย่าง เฟเยนูร์ด รอตเตอร์ดัม เพราะเชื่อมั่นในดาวดวงใหม่ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาจากเยาวชน ... มาร์โก ฟาน บาสเท่น
ครัฟฟ์ และ ฟาน บาสเท่น ทันกันที่ อาหยักซ์ ในช่วงเวลาสั้น ๆ แต่นั่นก็มากพอที่จะทำให้นักเตะเทวดาเห็นอะไรบางอย่างในตัวของรุ่นน้องคนนี้ ในฐานะของนักเตะเสือเฒ่าที่ใกล้ปลดระวาง ครัฟฟ์ เชื่อว่า ฟาน บาสเท่น จะเข้ามาทดแทนการขาดหายไปของเขาได้ นั่นคือการเล่นเป็นนักเตะหมายเลข 10 หรือคนที่มีอิทธิพลต่อเกมรุกของทีมมากที่สุดในสนาม
"ครัฟฟ์ เจอและเห็นบางสิ่งในตัวผม เขายืนยันว่าผมจะต้องหัดเล่นในตำแหน่งหมายเลข 10 เพราะมันสร้างผลกระทบแง่บวกในการเล่นเกมรุกได้ดีกว่า ไม่ใช่แค่ทำประตู แต่คือการควบคุมและกำหนดการเล่นของทีมด้วย" ฟาน บาสเท่น บอกเช่นนั้น
ทว่าเขาคือรุ่นน้องหัวแข็ง เขาไม่ฟัง และไม่ชอบการเล่นเป็นเบอร์ 10 ด้วยความที่เขายังเด็กมาก และชื่นชอบบทพระเอก นั่นคือการเป็นคนที่สัมผัสบอลครั้งสุดท้ายก่อนจะเข้าประตู เขาอยากเป็นเบอร์ 9 มาตลอด แม้จะโดนรุ่นพี่วางงานให้มาแทนที่ระดับตำนานก็ตาม
Photo : dutchsoccersite.org
"ครัฟฟ์ อยากให้ผมเป็นเหมือนเขา แต่ต้องขอโทษด้วยจริง ๆ ที่ในความรู้สึกของผม ผมต้องการยิงประตูและเป็นดาราเด่น เมื่อเขาบอกให้ผมเล่นในตำแหน่งเบอร์ 10 และมี จอห์น บอสแมน เป็นกองหน้า ผมจ่ายให้เขายิงประตูเยอะพอสมควร แต่ผมไม่ชอบตัวเองในเวลานั้นเลย ผมรับไม่ได้ ผมว่าผมไม่เหมาะกับตำแหน่งตรงนี้"
ปีเดียวหลังจาก ครัฟฟ์ ย้ายทีม ฟาน บาสเท่น ก็กลับมาเป็นนักเตะในตำแหน่งกองหน้าหมายเลข 9 ของทีมทันที สิ่งที่เขาบันดาลให้กับ อาหยักซ์ ในความเชื่อมั่นต่อสัญชาตญาณของเขา คือการยิงประตูจนสกอร์บอร์ดหมุนไม่ทัน ตอนอายุ 17 ปี เขายิง 13 ลูก, อายุ 18 ปี เขายิง 22 ลูก, อายุ 19 ปี ยิง 29 ลูก ... สถิติการยิงประตูของ ฟาน บาสเท่น ร้อนแรงไม่หยุด จนกระทั่งในปีสุดท้ายกับ อาหยักซ์ ฤดูกาล 1986-87 ฟาน บาสเท่น ยิง 43 ประตูจาก 43 นัด
1987-88 ก้าวกระโดด, โศกเศร้า และ แชมเปี้ยน
การย้ายทีมของ ฟาน บาสเท่น ในฤดูกาล 1987-88 โดยมี เอซี มิลาน เป็นจุดหมายปลายทาง นี่ควรจะเป็นช่วงเวลาที่ดีในการเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ปัญหาคือโลกฟุตบอลยุคนั้นไม่ได้เซฟนักเตะเก่ง ๆ มากพอ นักเตะประเภทฮาร์ดแมนมีอยู่เต็มสนาม มีนักเตะประเภทนี้ทุกทีม เล่นบอลด้วย เล่นคนก็ได้ อะไรประมาณนั้น ...
เมื่อมีการเสียบสกัด ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้กับอาการบาดเจ็บ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ฟาน บาสเท่น มีอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้า แต่มันคือครั้งแรกที่เขาเจ็บจนรู้สึกว่าทนเล่นต่อไปไม่ไหว
Photo : @Theleaguemag
"ในปี 1986 ผมเคยเจ็บข้อเท้าแบบสุด ๆ ในเกมกับ โกรนิงเก้น ผมโดนเข้าสกัดที่ข้อเท้า และจู่ ๆ ผมรู้สึกว่าอะไรบางอย่างในร่างกายของผมมันแปลก ๆ ไป" เขารู้ว่าเจ็บ แต่หยุดไม่ได้ เพราะหมอบอกว่า "ไม่เป็นไร ไปเล่นต่อได้"
"ปัญหาเดียวเลยที่ลุกลาม นั่นก็เพราะว่าตอนนั้นหมอบอกว่าข้อเท้าผมไม่ใช่ปัญหาใหญ่ ผมสามารถเล่นต่อไปได้ ผมเล่นไปทั้ง ๆ ที่ยังเจ็บ ที่บอกว่าไม่ใช่ปัญหาใหญ่ นั่นแหละมันคือปัญหาที่โคตรใหญ่เลย" ฟาน บาสเท่น ว่ากับ Sky Sports
เอ็นข้อเท้าของเขาฉีก แต่เกิดการวินิจฉัยผิดพลาด เฮดโค้ชของทีมในเวลานั้นอย่าง ครัฟฟ์ ถึงจะเป็นนักเตะเทวดา แต่ก็ไม่ได้มีความรู้ด้านการแพทย์ หมอว่ายังไง เขาก็ว่าไปตามนั้น ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าลูกทีมเริ่มมีอาการแปลกไป ครัฟฟ์ ทำได้แค่บอกกับ ฟาน บาสเท่น ว่า เขาจะได้พักในเกมที่ไม่สำคัญมาก แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ซึ่งการวินิจฉัยผิดครั้งนั้้นนำมาซึ่งอาการบาดเจ็บในตอนที่เขาเล่นให้กับ เอซี มิลาน หลังจากลงเล่นไป 11 เกมเท่านั้น และต้องเข้าผ่าตัดข้อเท้าครั้งใหญ่
"หลังจากผ่าตัดในปี 1987 ข้อเท้าของผมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ถ้าจะบอกว่ามันต่างไปขนาดไหนก็คงต้องบอกว่า จากเต็ม 100 เหลือแค่ 80% เท่านั้น" ฟาน บาสเท่น กล่าว
ความเสียหายเกิดขึ้นที่ มิลาน แล้วหนึ่ง ... แต่มันยังไม่จบ เพราะหลังจากจบฤดูกาล 1987-88 มีศึกสำคัญอย่าง ยูโร 1988 รออยู่ และ เนเธอร์แลนด์ ต้องการหมายเลข 9 อย่างเขา เพื่อให้ได้ทีมที่สมบูรณ์แบบที่สุด พวกเขามี โรนัลด์ คูมัน ในเกมรับ, แฟร้งค์ ไรจ์การ์ด เป็นห้องเครื่อง และ รุด กุลลิต เป็นจอมทัพ ขอแค่หัวหอกอย่าง ฟาน บาสเท่น อีกคน เนเธอร์แลนด์ ในยุคของนายพล ไรนุส มิเชลส์ ก็ไม่จำเป็นต้องกลัวใครอีกแล้ว
การทำงานร่วมกันระหว่างทีมชาติกับสโมสรจึงเกิดขึ้น พวกเขาให้ความสำคัญกับการพักฟื้นของ ฟาน บาสเท่น เป็นอย่างมาก เพราะต้องการให้ ฟาน บาสเท่น มีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ที่สุดเมื่อยูโรมาถึง ดังนั้น มิลาน จึงไม่ใช้งานเขาอีกเลยหลังจากการผ่าตัดข้อเท้า ทำให้ได้ลงสนามเพียง 19 เกม รวมทุกถ้วยเท่านั้น ในฤดูกาลแรกของเขากับทีมปีศาจแดงดำ
ทุกฝ่ายช่วยกันอย่างแข็งขัน แต่ถึงกระนั้นก็ต้องใช้คำว่า "เข็นกันจนไปต่อได้" มากกว่า เพราะ ฟาน บาสเท่น เองก็บอกว่าร่างกายของเขายังไม่ฟื้นกลับมา 100% โดยเฉพาะในส่วนของข้อเท้าที่ยังไม่สามารถขยับได้ดีเท่าเก่า แต่ เนเธอร์แลนด์ ไม่มีทางเลือก พวกเขาให้ ฟาน บาสเท่น นั่งบนม้านั่งสำรองในเกมแรกที่ เนเธอร์แลนด์ แพ้ สหภาพโซเวียต 0-1
มาถึงตรงที่พวกเขาเข้าตาจนแล้ว หากแพ้ในเกมต่อไปกับ อังกฤษ ทัพอัศวินสีส้มจะตกรอบทันที ดังนั้น ฟาน บาสเท่น จึงถูกเข็นลงสนามในเกมนัดที่สอง และการหย่อนยอดดาวยิงลงไปเพียงคนเดียวทำให้ เนเธอร์แลนด์ เหมือนกับได้น้ำมันหล่อลื่นชั้นดี
พวกเขาได้เจอกับ โททัล ฟุตบอล ที่สมบูรณ์แบบหลังจากเคยถูกมองว่า "ดีแต่ป้อ ล่อไม่เป็น" เพราะทุกตำแหน่งเคลื่อนที่และทำเกมกันได้ดีหมดแต่พอถึงจังหวะสุดท้ายต้องตกม้าตายทุกครั้ง จนกระทั่ง ฟาน บาสเท่น ลงเล่นยูโรเป็นครั้งแรกในชีวิต เขาหวดไปคนเดียว 3 เม็ด เป็นแฮตทริกฮีโร่ให้ทีมชนะอังกฤษ 3-1 และเป็นเกมสำคัญมากที่ทำให้ เนเธอร์แลนด์ เข้ารอบน็อกเอาต์
Photo : www.eurosport.com
"พวกเราโชคดีมากที่ ฟาน บาสเท่น แค่คลิกเครื่องก็สตาร์ท เขาจัดการอังกฤษอยู่หมัดด้วยตัวคนเดียว" อาร์โนลด์ มูห์เรน กองกลางของเนเธอร์แลนด์ชุดนั้น ยอมรับถึงความแตกต่างเมื่อได้ ฟาน บาสเท่น
ฟาน บาสเท่น ไม่เคยทำให้ทีมผิดหวังหลังจากลงสนามนัดแรกของเขา เมื่อออกสตาร์ต ไม่มีใครหยุดเขาได้ เมื่อเข้ารอบน็อกเอาต์ ฟาน บาสเท่น ซัดประตูชัยในนาที 88 ช่วยให้ เนเธอร์แลนด์ น็อกเจ้าภาพ เยอรมันตะวันตก ที่นำทัพโดย โลธาร์ มัทเธอุส ได้สำเร็จ
ก่อนที่เกมสุดท้าย ในนัดชิงชนะเลิศกับ โซเวียต ราวกับเกมล้างตาจากที่แพ้มาในนัดแรก ฟาน บาสเท่น จะทำประตูในตำนานที่โดนกล่าวขานมาจนทุกวันนี้ ... "ลูกยิงใบไม้ร่วง"
จังหวะดังกล่าวเป็นการสะท้อนรูปแบบของ โททัล ฟุตบอล ได้เป็นอย่างดี อาดรี ฟาน ทิกเกเลน แบ็กซ้าย ลากบอลตัดเข้ามาตรงกลาง ก่อนผ่านบอลไปกราบซ้าย ไหลมาถึง มูห์เรน กองกลางที่ขยับออกด้านข้าง
"บอลเดินทางมาถึงผมอย่างนุ่มนวล ผมตัดสินใจเล่นบอลจังหวะแรกโดยไม่ต้องจับทันที เพราะ ฟาน บาสเท่น กำลังวิ่งเข้ามาตามช่องที่เขาทำเป็นประจำ แค่เขาขยับ ผมก็รู้ทันทีว่าจังหวะนี้ผมจะช้าไม่ได้ เพราะทุกครั้งที่ ฟาน บาสเท่น เคลื่อนที่ นั่นหมายถึงเขามองเห็นโอกาสทำประตูให้กับทีมแล้ว"
มูห์เรน เล่นจังหวะเดียว แต่เขากะน้ำหนักผิดไปหน่อยจนทำให้มุมยิงแทบไม่เหลือ เพราะบอลแทบจะชิดเส้นหลังประตูแล้ว ตอนแรก มูห์เรน ผิดหวังกับตัวเองนิดหน่อยที่ทำให้จังหวะเป๊ะกับ ฟาน บาสเท่น ไม่ได้ เขาคิดว่าดาวยิงตัวเก่งของทีมหมดทางเล่นจังหวะนี้ เขาต้องเอาบอลลงเพื่อคิดหาทางใหม่
ทว่า ฟาน บาสเท่น ทำในสิ่งที่เหนือคาดราวกับมีพรายกระซิบบอกเขาว่า "ยิงเลย" ด้วยการเอี้ยวตัววอลเล่ย์ด้วยเท้าขวา ส่งบอลย้อนกลับไปที่เสาสอง เสียบมุมเข้าไปอย่างสวยงาม
"บอลมันหลุดมุมที่เขาจะยิงได้ไปแล้วนะ ผมคิดว่า แย่จริง เขาต้องแก้ไขด้วยการดึงบอลลงมาเล่นแน่นอน แต่คนอย่างเขาแปลกอยู่อย่างหนึ่ง ... คุณเดาใจเขาไม่ได้เลย เมื่อคุณคิดว่าจะทำอย่างหนึ่ง เขาจะทำในสิ่งที่แตกต่างออกไป ... เปรี้ยงเดียวเท่านั้น เขาดึงทุกสายตากลับมาเข้าสู่เกมนี้อย่างแท้จริง" มูห์เรน เล่าต่อ
"ผมไม่อยากจะเชื่อว่าเขาจะกล้ายิง ถ้าคุณสังเกตหน้าของ ไรนุส มิเชลส์ คุณจะรู้ได้เลยว่าเขายังจับอารมณ์ไม่ถูกว่าจะรู้สึกอย่างไร แม้แต่ตัวของ มาร์โก เองยังควบคุมตัวเองไม่ได้ ผมว่าเขาก็ไม่อยากจะเชื่อสายตาตัวเองเช่นกัน"
"เพราะความสุดยอดนั้น ทำให้ลูกเปิดแย่ ๆ
ของผมกลายเป็นสุดยอดแอสซิสต์
เพราะการจบสกอร์ของเขาอย่างแท้จริง"
ตัวของ ฟาน บาสเท่น ยอมรับตามตรงว่า นั่นคือการยิงโดยสัญชาตญาณ เขาเองก็ไม่ได้คิดมาก่อนว่ามันจะสมบูรณ์แบบขนาดนั้น ข้อเท้าที่ขยับและบิดงอแบบปกติไม่ได้ กลายเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วิถีลูกพุ่งเข้าประตูไป
"อย่างที่บอก ข้อเท้าของผมทำงานได้แค่ 80% มันเป็นข้อจำกัดที่ผมต้องทำใจยอมรับ แต่ข้อจำกัดนั้นเองที่ทำให้ผมยิงประตูสุดยอดในเกมกับโซเวียต" ฟาน บาสเท่น กล่าว
เขาพา เนเธอร์แลนด์ คว้าแชมป์ยูโร 1988 และเป็นถ้วยแชมป์เดียวในระดับนานาชาติของพวกเขา ถ้วยที่แม้แต่ ครัฟฟ์ ก็ยังทำไม่ได้ นี่คือปีทอง เพราะหลังจากทัวร์นาเมนต์จบลง ฟาน บาสเท่น ก็คว้ารางวัลบัลลงดอร์ ด้วยชัยชนะเหนือคู่แข่งอย่างขาดลอย
งานศพของ ฟาน บาสเท่น
ฟาน บาสเท่น สร้างตำนานในยูโรแล้ว ยังมาสานต่อตำนาน 3 ทหารเสือแห่งดัตช์ร่วมกับ กุลลิต และ ไรจ์การ์ด พวกเขาร่วมกันพา มิลาน ยุคทองคว้าแชมป์ เซเรีย อา 4 สมัย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 3 สมัย และ บัลลงดอร์ อีก 3 สมัย ... นี่คือสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่นักเตะคนหนึ่งจะทำได้ (ก่อนที่จะเกิดตำนานปีศาจอย่าง คริสเตียโน่ โรนัลโด้ และ ลิโอเนล เมสซี่ ในภายหลัง)
Photo : sportmob.com
128 ประตูกับ เอซี มิลาน สำหรับ ฟาน บาสเท่น อาจจะดูเยอะสำหรับใครหลายคน แต่สำหรับเขา ... มันไม่คิดว่านั่นเยอะเลย มันควรจะมากกว่านี้ด้วยซ้ำ หากว่าข้อเท้าของเขาไม่เจ็บสะสมจนพังเสียก่อน
อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น ฟุตบอลในยุคนั้น การไล่เตะข้อเท้าหรือเสียบหนัก ๆ แบบเข้าข้างหลังถือเป็นเรื่องปกติ ฟาน บาสเท่น ยิ่งเล่นก็ยิ่งต้องเผชิญกับสมรภูมิแข้ง จนทำให้ท้ายที่สุดข้อเท้าของเขาก็รับไม่ไหว ฟาน บาสเท่น เจ็บจนต้องพักเป็นเวลาราว 2 ปี ช่วงปี 1993 ถึงปี 1995 เขาไม่ได้ลงเล่นเลยแม้แต่เกมเดียว สุดท้ายเขาเลือกที่จะประกาศแขวนสตั๊ด
มิลาน จัดงานอำลาในสนาม ซาน ซิโร่ ความจริงแมตช์เช่นนี้ควรเป็นภาพความทรงจำที่น่าประทับใจ ทว่าในการอำลา ฟาน บาสเท่น รู้สึกเหมือนเป็นงานศพของเขา ทุกคนเสียใจที่เขาต้องเลิกเล่นทั้ง ๆ ที่อายุแค่ 28 ปี และในช่วง 2-3 ปี ต่อจากนี้ เขาควรจะต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เรียกว่า "จุดพีค" ของนักฟุตบอล
ฟาบิโอ คาเปลโล่ กุนซือของ มิลาน ถึงกับน้ำตาซึมในบรรยากาศวันนั้น มันชัดเจนว่าเขารู้สึกเหมือนสูญเสียมากกว่าจะยินดีที่เห็น ฟาน บาสเท่น โบกมืออำลาสนามฟุตบอลไปตลอดกาล
Photo : www.milannight.com
"งานอำลาที่เศร้าอย่างกับงานศพ" ฟาน บาสเท่น อธิบายถึงความรู้สึกในวันนั้น
"เหมือนกับงานศพจริง ๆ มันคืองานศพของผมในฐานะนักฟุตบอล จากนี้ไป มาร์โก ฟาน บาสเท่น ได้ตายจากความเป็นนักฟุตบอลไปแล้ว"
นี่คือความสูญเสียของวงการฟุตบอลอย่างแท้จริง การตายในฐานะนักฟุตบอลของ ฟาน บาสเท่น ทำให้ ฟีฟ่า ต้องมีการแก้กฎใหม่เพื่อป้องกันการสูญเสียครั้งต่อไป กฎใหม่ถูกร่างขึ้นมา ว่าด้วยการ "เข้าสกัดบอลจากด้านหลัง" หรือการตั้งใจเล่นงานคู่ต่อสู้ เพราะต่อจากนี้ ผู้ที่ทำฟาวล์ในลักษณะดังกล่าวจะต้องโดนใบแดงสถานเดียวเท่านั้น
"เราได้เห็นแล้วว่านักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดโดนทำลายอาชีพจากการไล่เตะจากด้านหลัง นี่คือสิ่งที่เราต้องทบทวนกับเรื่องนี้ใหม่" มิเชล ดี ฮูเก้ (Michel D'Hooghe) หัวหน้าคณะกรรมการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า กล่าว
"ฟาน บาสเท่น คือเหยื่อของวินาศกรรมครั้งนี้ น่าเสียดายที่เขาจะต้องหมดอนาคตกับเรื่องพวกนี้ ... ต่อไปเราจะปกป้องนักเตะกองหน้า เราจะทำให้นักฟุตบอลที่มีเวทมนตร์ในการดึงดูดผู้ชมได้รับการดูแล พวกเขาจะต้องไม่ถูกทำลายอาชีพด้วยการปะทะที่รุนแรงแบบนี้"
Photo : www.sportskeeda.com
การเปลี่ยนแปลงกฎครั้งนี้ทำให้โลกฟุตบอลเข้าสู่ยุค โมเดิร์น ฟุตบอล อย่างเป็นทางการ นักเตะฮาร์ดแมนจากยุค 80s-90s ค่อย ๆ หายไปทีละคน จากความสำคัญของนักเตะที่ไล่หวดนักเตะฝั่งตรงข้ามที่โดนลดค่าลงไป พวกเขาจะโดนใบแดงและทำให้ทีมเสียเปรียบหากยังเข้าสกัดแบบเล่นคนอยู่
นี่น่าจะเป็นเหตุผลที่ทำให้เราได้เห็นนักเตะยุคปัจจุบันลงเล่นในระดับสูงได้จนอายุ 35-40 ปี และมันทำให้ฟุตบอลดูสนุกขึ้นกว่าที่เคย
การตายของ ฟาน บาสเท่น ในฐานะนักฟุตบอล ได้ช่วยให้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ นอกจาการยิงประตูที่พาฟุตบอลเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ เขายังทำให้นักเตะที่เล่นเกมรุกสนุกถูกใจคนดู สามารถรักษาอาชีพให้ยาวนาน โดยไม่ต้องจบลงอย่างน่าเศร้าดังเช่นเขาอีกต่อไป ...
คุณกำลังดู: มาร์โก ฟาน บาสเท่น : แข้งดัตช์มหัศจรรย์ผู้คว้ามงกุฎประวัติศาสตร์ให้กับอัศวินสีส้ม
หมวดหมู่: ฟุตบอลต่างประเทศ