Metabolic Syndrome (เมทาบอลิกซินโดรม) กับภาวะอ้วนลงพุง
ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) คือ ภาวะที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไป ทำให้เกิดภาวะอ้วนลงพุง น้ำหนักตัวเกิน น้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และไขมันในเลือดสูง ซึ่งภาวะต่างๆ เหล่านี้ เมื่อเป็นนานๆ เข้าก็จะส่งผลให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมองที่ทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ตามมาได้
ภาวะอ้วนลงพุง (Central Obesity) คืออะไร
ภาวะอ้วนลงพุง (Central Obesity) คือการที่ร่างกายมีไขมันสะสมบริเวณช่องท้องมากขึ้น ซึ่งไขมันเหล่านี้จะทำให้เกิดปฏิกิริยาการอักเสบ ความสมดุลของฮอร์โมนผิดปกติ และเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (Insulin Resistance) เมื่อการออกฤทธิ์ของอินซูลินทำได้ไม่ดี จึงมีน้ำตาลสะสมในเลือดสูง และทำให้เป็นโรคเบาหวานได้ในที่สุด
เกณฑ์ในการตรวจ วินิจฉัยภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome)
ในการประเมินว่าผู้ป่วยมีภาวะเมทาบอลิกซินโดรมหรือไม่นั้น
จะต้องพิจารณาถึงความผิดปกติ ว่าต้องมีอย่างน้อย 3 ใน 5 ข้อ นี้
1. ความยาวรอบเอว ชาย ≥ 36 นิ้ว หรือ 90 เซนติเมตร และหญิง ≥ 32 นิ้ว
หรือ 80 เซนติเมตร
2. ระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร ≥ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
หรือได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
3. ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด (TG) ≥ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
4. ระดับ HDL คอเลสเตอรอล < 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศชาย และ
< 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในเพศหญิง
5. ระดับความดันโลหิต ≥ 130/85 มิลลิเมตรปรอท
หรือได้รับยารักษาภาวะความดันโลหิตสูง
การรักษาภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome)
การรักษาภาวะเมทาบอลิกซินโดรม ทำได้ 3 วิธีหลักๆ ดังนี้
1. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยต้องควบคุมปริมาณและชนิดอาหารที่กินให้เหมาะสม เน้นกินโปรตีนเป็นหลัก เสริมด้วยผัก ผลไม้ ลดอาหารประเภทแป้งและอาหารไขมันสูง เช่น อาหารทอด ผัด และต้องลดอาหารเค็ม หรืออาหารโซเดียมสูง
2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเน้นการคาร์ดิโอ หรือการออกกำลังแบบแอโรบิก และต้องออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อด้วย โดยทำให้ได้อย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 30-60 นาที ทั้งนี้ เมื่อออกกำลังกายแล้วก็ต้องควบคุมปริมาณแคลอรีจากอาหาร เพื่อช่วยให้น้ำหนักลดลง หัวใจแข็งแรงขึ้น ทำให้ระดับความดันโลหิตดีขึ้น ระดับน้ำตาลและไขมันชนิดเลวในเลือดลดลง ซึ่งเป็นผลดีต่อสุขภาพในระยะยาว
3. การใช้ยาเพื่อลดความอยากอาหาร
หรือการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก เหมาะกับคนที่มีน้ำหนักตัวมากๆ
และลดด้วยวิธีอื่นไม่ได้ผล ทั้งนี้ ควรปรึกษาแพทย์
และอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเท่านั้น
บทความโดย: พญ.นารีลักษณ์ กลิ่นสุคนธ์
อายุรแพทย์เฉพาะทางโรคเบาหวานและต่อมไรท่อ
ศูนย์เบาหวานและต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลพญาไท 2
คุณกำลังดู: Metabolic Syndrome (เมทาบอลิกซินโดรม) กับภาวะอ้วนลงพุง
หมวดหมู่: สุขภาพ