น่ำเอี๊ยง ปฏิทินจีน 100 ปี สู่การปรับตัวจากกระดาษสู่ปฏิทินดิจิทัล

น่ำเอี๊ยง ปฏิทินจีน 100 ปี สู่การปรับตัวจากกระดาษสู่ปฏิทินดิจิทัล

มุ่งสู่ศักราชใหม่ ในขณะที่ทุกคนใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่รวมการใช้งานทุกๆ อย่างไว้กับตัว รวมไปถึงการแจกปฏิทินปีใหม่ให้ลูกค้า ทุกวันนี้มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันปฏิทินเกิดขึ้นหลายเจ้า และน่ำเอี๊ยงผู้เป็นต้นฉบับตำราปฏิทินร้อยปีจีนเข้ามาสู่ประเทศไทยกว่า 100 ปี ก็ได้เปลี่ยนแพลตฟอร์ม จากปฏิทินเล่มใหญ่ มาเป็นแอปฯ ปฏิทิน พร้อมเปิดตัวแอปฯ ด้วยธีม "จากกระดาษสู่ปฏิทินดิจิทัล"

กิตติธัช นำพิทักษ์ชัยกุล ผู้บริหารปฏิทินจีนน่ำเอี๊ยงรุ่นที่ 3 ได้เล่าถึงแผนการพัฒนา NUM EIANG APP ซึ่งปัจจุบันพร้อมเปิดให้ใช้งานได้ในปี 2566 นี้ ด้วยการนำปฏิทินกระดาษเล่มใหญ่ มาเป็นหน้าตาอินเตอร์เฟสที่สอดคล้องกับการใช้งานของแต่ละบุคคล “แอปฯ ปฏิทินนี้ใช้หลักการผูกดวงวันเดือนปีเกิดของผู้ใช้งานมาคำนวณด้วยสถิติจากโหราศาสตร์จีน มีระบบหลังบ้านที่ผนวกแต่ละวันเข้ากับสีมงคล เวลามงคล เราตั้งใจจะให้เป็นแอปฯ ปฏิทินอันดับหนึ่งที่คนไทยเข้ามาใช้ในทุกๆ วัน

ตัวอักษรจีนในปฏิทินจีนเล่มใหญ่ๆ ที่เป็นข้อมูลโหราศาสตร์ที่อ่านยาก เรานำมาปรับเป็นฟีเจอร์ที่ง่ายขึ้น มองแล้วเข้าใจได้เลย ทางทีมน่ำเอี๊ยงมีฝ่ายพัฒนาระบบ UX และ UI ที่เป็นทีมงานในบริษัทมาดูแลระบบ และออกแบบหน้าตาแอปฯ ของเราเอง ตัวเซิร์ฟเวอร์ของ NUM EIANG APP รองรับการใช้งานได้พร้อมๆ กัน 10,000 - 100,000 คน

น่ำเอี๊ยงพัฒนาฟีเจอร์การแจ้งเตือน เช่น วันสำคัญ วันพระไทย วันพระจีน วันไหว้ รวมถึงวันธงไชยที่เหมาะสมกับการเปิดกิจการ ตามข้อมูลที่ปรากฏในปฏิทินกระดาษ และมีช่องทางพาไปอ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทยจีนตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากขึ้น”
วิธีใช้แอปฯ ปฏิทิน Num Eiang Astrolendar

ผู้สนใจสามารถลองเข้าไปดาวน์โหลดใช้งาน แอปฯ ปฏิทิน Num Eiang Astrolendar โดย Search ในบริการค้นหาแอปฯ ในเครื่องของคุณว่า “Num Eiang Astrolendar” ก็จะขึ้นโลโก้สีแดงขึ้นมา จากนั้นก็กรอกข้อมูลต่างๆเพื่อเริ่มต้นใช้งาน หรือ รับคำแนะนำ เพื่อใช้งานฟีเจอร์ต่างๆ ได้มากขึ้น

เมื่อกรอกข้อมูลผู้ใช้งาน ได้แก่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล ก็จะได้รับบริการแจ้งเตือนทุกโอกาสพิเศษ ไม่ว่าจะเป็น วันสำคัญ หรือข้อมูลสาระน่ารู้ที่เกี่ยวข้องกับวันนั้นๆ

บริการเบื้องต้น ได้แก่

- คำพยากรณ์ทั่วไปในวันนั้น
- ปีนักษัตรที่ไม่ถูกกัน
- วันพระไทย จีน
- วันธงไชย วันกาลกิณี วันอุบาทว์
- เลขมงคลของท่าน
- สีมงคลของท่าน
- เวลามงคลของท่าน
- ทิศมงคลของท่าน
- สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในวันนั้น

รายได้ของการทำแอปพลิเคชันมาจากการสมัครสมาชิก โดยมีค่าบริการรายเดือน 59 บาท และราย 3 เดือน 169 บาท ช่วงเปิดตัวทดลองใช้ฟรี 30 วัน

ฤกษ์มงคล ตัวเลขมงคล ยังคงมีอยู่

บริการดูฤกษ์ของน่ำเอี๊ยงที่เคยต้องนัดซินแสที่สำนักงานใหญ่ ทั้งฤกษ์ก่อสร้างลงเสาเอก ฤกษ์เปิดบริษัท ฤกษ์ผ่าตัด ต้องเปลี่ยนรูปแบบไปเพราะโควิด-19 กิตติธัชเผย ช่วงโควิดที่ผ่านมาลูกค้ายังคงใช้บริการติดต่อขอดูฤกษ์แต่งงาน กับฤกษ์คลอดมากที่สุด

“ช่วงโควิดที่ผ่านมา ทำให้บริการหน้าสาขาของเราเป็นแบบออนไลน์ 100% และปีนี้เราได้รีโนเวทออฟฟิศในรอบ 20 ปี โดยจะนำข้าวของเครื่องใช้ที่จัดแสดงนิทรรศการ ณ เซ็นทรัลเอมบาสซีนี้มาตั้งไว้ที่สำนักงานหัวลำโพง ให้ผู้ที่สนใจประวัติวัฒนธรรมชาวไทยเชื้อสายจีนได้เข้ามาศึกษาวิธีการทำงานของน่ำเอี๊ยง รวมถึงหากต้องการบริการที่ต่อยอดจากการดูฤกษ์ ทางน่ำเอี๊ยงก็สามารถแนะนำออร์แกไนซ์ที่จัดงานแต่งงาน หรือแนะนำผู้ให้บริการสั่งของในขันหมาก ได้ตรงกับความต้องการ ถือว่าเป็นการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจให้เข้ากับยุคสมัย เพราะอีกหน่อยวันหนึ่งหากกระดาษไม่ได้รับความนิยม เราก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับโลกสมัยใหม่ให้ได้”


ฟีเจอร์ “ตัวเลขมงคล” ที่จะมีอยู่บนแผ่นกระดาษก่อนวันที่ 1 และ 16 ของแต่ละเดือนก็ยังมีอยู่ ตัวเลขนี้เกิดจากการนำตำแหน่งดวงดาวเด่นๆ ในวงโคจรตามหลักโหราศาสตร์จีนในขณะนั้น มาเขียนเรียงไว้ 4 ตัว เพื่อให้เจ้าของดวงนำไปประกอบกับการตัดสินใจ เช่น เลขที่บ้าน, เบอร์โทรศัพท์ และตัวเลขมงคลอื่นๆ ในชีวิต

สำหรับใครที่สนใจชมสิ่งของเครื่องใช้ แม่พิมพ์ปฏิทินจีนน่ำเอี๊ยงตั้งแต่ยุคแรกจนถึงปัจจุบัน ทางน่ำเอี๊ยงก็แวะไปชมนิทรรศการได้ที่ HARDCOVERThe Art Book Shop at Open House Central Embassy เปิดตัวในวันที่ 21 มกราคม ถึง 15 มีนาคม 2566 นี้ หลังจากนั้นสิ่งของที่จัดแสดงทั้งหมดจะย้ายไปเตรียมจัดแสดงที่สำนักงานใหญ่หัวลำโพง

สัมภาษณ์ : สีวิกา ฉายาวรเดช
กราฟิก : Chonticha Pinijrob

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • LIFE STORY : เบื้องหลัง “น่ำเอี้ยง” ปฏิทินคู่มือชีวิต ปี 64 วัวดินเกษตรดี (คลิป)

คุณกำลังดู: น่ำเอี๊ยง ปฏิทินจีน 100 ปี สู่การปรับตัวจากกระดาษสู่ปฏิทินดิจิทัล

หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด