นักเศรษฐศาสตร์ชี้อดีต “เทคโนโลยี” ไม่สร้างความเท่าเทียม – ปัญญาประดิษฐ์จะซ้ำรอยหรือไม่?

นักเศรษฐศาสตร์ชี้อดีต “เทคโนโลยี” ไม่สร้างความเท่าเทียม – ปัญญาประดิษฐ์จะซ้ำรอยหรือไม่?

ระหว่างที่โลกกำลังชั่งน้ำหนักเกี่ยวกับประโยชน์และภัยคุกคามจากปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ต่อมวลมนุษยชาติ นักเศรษฐศาสตร์หยิบข้อมูลในอดีตที่บ่งชี้ว่าการพัฒนาเทคโนโลยีในบางครั้งก็ไม่ได้แก้ปัญหาใหญ่ในสังคม อย่างเรื่องความเท่าเทียมได้อย่างที่คิด

istock-1173158404

นักเศรษฐศาสตร์กล่าวว่าหากปัญญาประดิษฐ์ (AI) ถูกนำมาใช้ในชีวิตของเรา คนส่วนน้อยจะได้รับผลประโยชน์มากกว่าคนส่วนใหญ่ อย่างเช่นที่เกิดขึ้นในยุโรปช่วงความก้าวหน้าในยุคกลาง ที่ชนชั้นปกครองดึงความมั่งคั่งออกไป จากผลผลิตของกลุ่มแรงงานชาวนา

ไซมอน จอห์นสัน อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการระดับโลก จากสถาบัน MIT Sloan School of Management กล่าวว่า "AI มีศักยภาพมากมาย แต่อาจจะเป็นไปได้ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” และเขาชี้ว่า “เรามาถึงตรงทางแยกนั้นแล้ว”

ผู้สนับสนุนเทคโนโลยี AI คาดการณ์ว่าจะเกิดก้าวกระโดดด้านการผลิต ซึ่งจะสร้างความมั่งคั่งและพัฒนามาตรฐานการครองชีพ เมื่อเดือนมิถุนายน บริษัทที่ปรึกษา McKinsey ประเมินว่า AI จะสามารถเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ราว 14 ล้านล้าน ถึง 22 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ซึ่งตัวเลขดังกล่าว มีขนาดเทียบเท่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน

กลุ่มที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเทคโนโลยีบางคน มองว่าการใช้ AI ควบคู่ไปกับหุ่นยนต์ คือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยปลดปล่อยมนุษยชาติจากการทำงานที่ซ้ำซาก และนำพามนุษย์ไปสู่การใช้ชีวิตที่สร้างสรรค์และผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดี มีความกังวลมากมายต่อการเข้ามาของ AI ที่อาจกระทบต่อการใช้ชีวิต หรืออาจส่งผลลบต่อธุรกิจบางอุตสาหกรรม อย่างที่เราได้เห็นความเคลื่อนไหวในเดือนกรกฎาคม เหล่านักแสดงฮอลลีวู้ดนัดหยุดงาน อันเนื่องมาจากความกลัว ที่จะถูกแทนที่ด้วย AI

ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่มักจะเป็นไปอย่างผันผวน ไม่มีความเสมอภาค และบางครั้งอาจเป็นภัยอย่างชัดเจน

จอห์นสันและ ดารอน อาเซโมกลู นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบัน MIT ได้ตีพิมพ์หนังสือที่เผยแพร่ในปีนี้ รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่ย้อนกลับไปนับพันปี นับตั้งแต่ยุคทำไร่นา ไปจนถึงตู้ชำระเงินอัตโนมัติด้วยตนเอง ในมิติการสร้างงานและการกระจายความมั่งคั่ง

เครื่องปั่นด้าย คือกุญแจสำคัญในระบบอัตโนมัติของอุตสาหกรรมสิ่งทอในศตวรรษที่ 18 ตามรายงานผู้เขียนพบว่าเครื่องมือดังกล่าวกลับทำให้เกิดชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานขึ้นในสภาวะเลวร้าย ส่วนเครื่องกลปั่นฝ้าย ก่อให้เกิดการขยายระบบทาสในพื้นที่ทางตอนใต้ของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 19

ส่วนการคืบคลานเข้ามาของอินเทอร์เน็ตนั้นให้ผลที่ซับซ้อน กล่าวคือ สิ่งนี้ได้ช่วยสร้างงานใหม่ขึ้นมาจำนวนมาก แต่ความมั่งคั่งจะตกไปอยู่ในมือของมหาเศรษฐีเพียงไม่กี่คน และตอนนี้การเพิ่มผลผลิตจากอินเทอร์เน็ตที่เคยถูกชื่นชม กำลังชะลอตัวลงในหลายประเทศ

ในเดือนมิถุนายน บันทึกการวิจัยโดยธนาคารฝรั่งเศส Natixis อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่าเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตไม่ได้เข้าถึงอุตสาหกรรมทุกประเภท และงานจำนวนมากที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งนี้กลับเป็นงานที่ใช้ทักษะต่ำ

บันทึกการวิจัยนี้ยังกล่าวเตือนด้วยว่า "ข้อสรุป: เราควรระมัดระวัง เมื่อประเมินถึงผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ ต่อการผลิตผลงานของแรงงาน”

ในภาคเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกันทั่วโลก นำไปสู่การตั้งคำถามถึงผลประโยชน์จากการใช้งาน AI ว่าจะสามารถกระจายผลประโยชน์เหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมหรือไม่

ในแง่หนึ่ง อาจเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ "การแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุด" เนื่องจากรัฐบาลแต่ละประเทศจะแข่งขันกันเพื่อการลงทุนด้าน AI และทำให้กฎระเบียบเกิดความหละหลวมมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทางกลับกัน อุปสรรคในการดึงดูดการลงทุนอาจจะสูง จนทำให้ประเทศยากจนจำนวนมากต้องถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง

สเตฟาโน สการ์เปตตา ผู้อำนวยการฝ่ายการจ้างงาน แรงงาน และกิจการสังคม ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) กล่าวว่า “คุณต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม ซึ่งหมายรวมถึงความสามารถในการประมวลผลจำนวนมหาศาล”

สการ์เปตตา ยังชี้ว่า “เรามีกลุ่ม G7 Hiroshima Process (ที่มุ่งเน้นในเรื่อง AI) เราต้องขยายไปยังกลุ่ม G20 และ UN” ที่ผ่านมาในเดือนพฤษภาคม ได้มีการขยายเพิ่ม G7 เพื่อร่วมกันทำความเข้าใจถึงโอกาสและความท้าทายในการเกิดขึ้นของ AI

สิ่งที่เป็นเรื่องยากยิ่งกว่า “นวัตกรรม” คือการนำไปใช้งานเพื่อประโยชน์ของทุกคน ซึ่งต้องมีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

จอห์นสัน จากสถาบัน MIT ชี้ว่า การมาถึงของทางรถไฟในอังกฤษในช่วงศตวรรษที่ 19 มาพร้อมกับการปฏิรูปด้านประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้คนได้เพลิดเพลินกับความก้าวหน้าเหล่านั้น ทั้งเรื่องการขนส่งอาหารสดที่ว่องไวขึ้น รวมถึงการสัมผัสกับการเดินทางเพื่อพักผ่อนเป็นครั้งแรก

ประชาธิปไตยที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ช่วยให้คนนับล้านได้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 20 อย่างไรก็ดี จอห์นสันแย้งว่าสิ่งนี้เริ่มเปลี่ยนไป เนื่องจากในช่วงสี่ทศวรรษที่ผ่านมา บริษัทต่าง ๆ เน้นการเพิ่มผลประกอบการ เพื่อที่จะแบ่งปันผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้น

เขายกตัวอย่างการใช้ระบบจ่ายเงินซื้อสินค้าแบบอัตโนมัติด้วยตนเอง ไม่ได้ทำให้ราคาสินค้าถูกลง ชีวิตของลูกค้าไม่ได้เปลี่ยนไป และยังไม่ได้สร้างงานใหม่ ระบบนี้ทำไปเพียงเพื่อผลกำไรจากการลดต้นทุนด้านแรงงานเท่านั้น

กลุ่มแรงงานที่สูญเสียอำนาจการควบคุม ซึ่งเคยมีในช่วงก่อนคริสต์ทศวรรษที่ 1980 มักที่จะมองว่า AI อาจเป็นภัยคุกคามต่อสิทธิของคนงานและการจ้างงาน เช่น ใช้ AI ตัดสินใจ จ้างหรือยกเลิกการจ้าง โดยปราศจากการควบคุมของมนุษย์

การสำรวจของ OECD เกี่ยวกับพนักงานจำนวน 5,300 คนที่เผยแพร่ในเดือนกรกฎาคม ชี้ว่า AI สามารถที่จะสร้างประโยชน์ ทั้งเรื่องความพึงพอใจในงาน ด้านสุขภาพ และค่าจ้าง แต่ก็ยังถูกมองว่า AI อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัว ตอกย้ำอคติในที่ทำงาน และทำให้ผู้คนต้องทำงานหนักมากเกินไป

จอห์นสัน ทิ้งท้ายว่า “คำถามสำคัญ ที่นักเศรษฐศาสตร์ยังคงเฝ้าต้องรอคำตอบก็คือ AI จะทำให้ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ ยกระดับรุนแรงมากขึ้น หรือ AI จะมาช่วยปรับสมดุลไปสู่สิ่งที่ยุติธรรมมากขึ้นกว่าเดิมกันแน่?”

คุณกำลังดู: นักเศรษฐศาสตร์ชี้อดีต “เทคโนโลยี” ไม่สร้างความเท่าเทียม – ปัญญาประดิษฐ์จะซ้ำรอยหรือไม่?

หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด