เปิดประวัติ "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีขนมไทยใน "บุพเพสันนิวาส" จากสูงสุดสู่จุดต่ำสุดในชีวิต
ท้าวทองกีบม้า อีกหนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ เส้นทางชีวิตที่ขึ้นสูงสุด จนถึงลงสู่จุดต่ำสุด และบั้นปลายที่จบสวย ในละคร บุพเพสันนิวาส-พรหมลิขิต
อีกหนึ่งตัวละครที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์ และกำลังจะโชว์เสน่ห์ปลายจวัก ทำขนมหวานให้คนดูได้ปาดน้ำลายกันเร็วๆ นี้ในละคร บุพเพสันนิวาส-พรหมลิขิต ก็คือ "ท้าวทองกีบม้า" หรือ "มารี กีมาร์" ที่แม่การะเกดเรียกติดปากว่า "แม่มะลิ" นั่นเอง รับบทโดยนักแสดงสาวลูกครึ่ง ไทย จีน อังกฤษ "ซูซี่-สุษิรา แน่นหนา" ที่ออกมาแต่ละฉาก ก็เผยเสน่ห์ความงามจนต้องมองตาค้างกันเลยทีเดียว
ในละครเรื่องราวชีวิตของ แม่มะลิ หรือ มารี กีมาร์ หลังแต่งงานกับ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ดูจะไม่ค่อยราบรื่นเท่าไร ให้แฟนๆ ได้เอาใจช่วย โดยภายหลังมรสุมชีวิตของเธอ จะเข้ารับราชการเป็นในห้องเครื่องในราชสำนัก มีชื่อตำแหน่งว่า ท้าวทองกีบม้า สร้างสรรค์ขนมหวานผสมผสานจนได้รับการยกย่องว่าเป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"
- เรื่องย่อ บุพเพสันนิวาส ละครแนวย้อนยุคประวัติศาสตร์
- เรื่องย่อ พรหมลิขิต (Love Destiny 2) ละครแนวพีเรียดอิงประวัติศาสตร์
ประวัติท้าวทองกีบม้า
- เกิด : ประมาณ พ.ศ. 2201 หรือ 2202
- ถึงแก่กรรม : พ.ศ. 2265 (63–64 ปี)
- คู่สมรส : พระยาวิไชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) (สมรส 2225; เสียชีวิต 2231)
- บุตร : หลวงชิดภูบาล (ยอร์ช ฟอลคอน), ฌูเวา ฟอลคอน
- บิดา : ฟานิก กียูมาร์
- มารดา : อูร์ซูลา ยามาดะ
- ตำแหน่ง : หัวหน้าห้องเครื่องต้นในราชสำนักอยุธยา
- ศาสนา : โรมันคาทอลิก
ท้าวทองกีบม้า มีชื่อจริงว่า มารีอา กูโยมาร์ เด ปิญญา (Maria Guyomar de Pinha) เป็นสุภาพสตรีช่วงกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ภรรยาของ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางกรีกที่ทำราชการในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เธอมีชื่อเสียงจากการปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าห้องเครื่องต้นวิเสทในราชสำนัก ตำแหน่ง "ท้าวทองกีบม้า" กำกับเครื่องชาวพนักงานหวานในพระราชวัง ว่ากันว่านางได้ประดิษฐ์ขนมไทยที่ได้รับอิทธิพลจากอาหารโปรตุเกส โดยดัดแปลงมาจากตำรับอาหารโปรตุเกสให้เป็นขนมหวานของไทย โดยผสมผสานความรู้ด้านการทำอาหารที่มีมาแต่เดิมมารวมเข้ากับวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น ทั้งยังสอนความรู้ดังกล่าวแก่เหล่าสตรีในบัญชา จนตำรับเป็นที่เผยแพร่โดยทั่วไปและตกทอดสู่อนุชนรุ่นหลัง ถือเป็นหนึ่งในวัฒนธรรมโปรตุเกสที่แพร่เข้าสู่สังคมไทย ด้วยเหตุนี้ท้าวทองกีบม้าจึงได้การยกย่องให้เป็น "ราชินีแห่งขนมไทย"
ขนมที่เชื่อว่าท้าวทองกีบม้าทำขึ้น ได้แก่ ทองม้วน, ทองหยิบ,ทองหยอด, ทองพลุ, ทองโปร่ง, ฝอยทอง, กะหรี่ปั๊บ, ขนมหม้อแกง, สังขยา, ขนมผิง, สัมปันนี, ขนมขิง, ขนมไข่เต่า, ลูกชุบ แต่ก็มีกระแสคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า ขนมโปรตุเกสเหล่านี้แพร่หลายมาพร้อมกับกลุ่มชนเชื้อสายโปรตุเกสที่เข้ามาพำนักในกรุงศรีอยุธยามากว่า 150 ปีก่อนที่นางจะเกิดเสียอีก เรื่องที่นางดัดแปลงขนมไทยจากตำรับโปรตุเกสเป็นคนแรกเห็นจะผิดไป
ชีวิตสมรส ของท้าวทองกีบม้า
มารีอา เป็นคริสตังเชื้อสายโปรตุเกส, เบงกอล และญี่ปุ่น เป็นธิดาคนโตของฟานิก กูโยมาร์ (Fanik Guyomar) บิดามีเชื้อสายโปรตุเกส, ญี่ปุ่น และเบงกอล ที่อพยพมาจากอาณานิคมโปรตุเกสในเมืองกัว กับมารดาชื่ออูร์ซูลา ยะมะดะ ลูกหลานผู้ลี้ภัยจากการเบียดเบียนศาสนาในญี่ปุ่น
มารีอาได้สมรสกับ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ (คอนสแตนติน ฟอลคอน) ขุนนางชาวกรีกอันเป็นที่โปรดปรานของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ขณะนั้นที่นางมีอายุได้ 16 ปี เบื้องต้นบิดาของนางแสดงความไม่พอใจในพฤติกรรมและวัตรปฏิบัติของลูกเขยที่หลงลาภยศสรรเสริญและมักในโลกีย์นัก ฟอลคอนจึงแสดงความจริงใจด้วยยอมละนิกายแองกลิคันที่ตนนับถือ เปลี่ยนเป็นนิกายโรมันคาทอลิกตามมารีอา ฟานิกจึงเห็นแก่ความรักของคอนสแตนตินและยินยอมได้ทั้งสองสมรสกัน โดยมีสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและขุนนางผู้ใหญ่เข้าร่วมงานมงคลสมรสดังกล่าวด้วย
หลังการสมรส
มารีอาก็ยังดำรงชีวิตอย่างปกติไม่โอ้อวดในยศถาบรรดาศักดิ์
ซ้ำยังชี้ชวนให้สามีคือเจ้าพระยาวิชเยนทร์
ประพฤติและปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดสม่ำเสมอขึ้นกว่าเก่า
ท้าวทองกีบม้าและเจ้าพระยาวิชเยนทร์ มีบุตรด้วยกันสองคนคือ จอร์จ
ฟอลคอน (George Phaulkon) กับคอนสแตนติน ฟอลคอน (Constantin Phaulkon)
บ้างว่าชื่อควน ฟอลคอน (Juan Phaulkon)
แต่ก่อนหน้านี้ฟอลคอนมีบุตรสาวคนหนึ่งที่เกิดกับหญิงชาววังที่ได้รับพระราชทานจากกรมหลวงโยธาเทพเพื่อผูกมัดฟอลคอนไว้กับราชสำนัก
หลังสมรสแล้วมารีอาจึงส่งหญิงผู้นั้นไปเมืองพิษณุโลก
มารีอาก็แสดงน้ำใจด้วยนำบุตรของหญิงผู้นั้นมาเลี้ยงเองเป็นอย่างดี
นอกจากนี้เธอและสามียังอุปถัมภ์เด็กเข้ารีตกว่า 120 คน
แต่ชีวิตสมรสของเธอก็ไม่ราบรื่นนัก เหตุก็เพราะความเจ้าชู้ของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ ที่นอกใจนางไปมีสัมพันธ์สวาทกับคลาร่า (Clara) นางทาสชาวจีนในอุปการะของเธอ มารีอาจึงขนข้าวของและผู้คนจากลพบุรีกลับไปที่กรุงศรีอยุธยามาแล้วครั้งหนึ่ง
ชีวิตตกอับของท้าวทองกีบม้า
แต่ชีวิตที่รุ่งโรจน์ของเธอก็พลันดับวูบลงเมื่อเจ้าพระยาวิชเยนทร์ผู้เป็นสามี
ถูกตัดสินประหารชีวิตและริบราชบาตร
หลังเกิดจลาจลก่อนสิ้นรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเพียงไม่กี่วัน
ขณะที่เจ้าพระยาวิชเยนทร์กำลังจะถูกประหารนั้น บางบันทึกระบุว่า
"[นาง]เศร้าโศกร่ำไห้ปิ่มว่าจะขาดใจ" บ้างก็ว่า
นางมิได้ร่ำไห้ให้สามีแม้แต่น้อย แต่นางกลับถ่มน้ำลายรดหน้าสามี
และไม่ยอมให้จูบลาลูก มารีอาสิ้นเนื้อประดาตัว
ต้องประสบเคราะห์กรรมและความทุกข์อย่างสาหัส
ทั้งยังต้องทนทุกขเวทนากับกับคุมขัง
ท่ามกลางความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี
เพราะผู้คุมที่เคยได้รับการอุปการะเอื้อเฟื้อจากนางได้ลักลอบให้ความสะดวกบางประการแก่นาง
ขณะที่ชาวต่างด้าวคนอื่นจะถูกกักขังและทำโทษอย่างรุนแรง
ต่อมาได้ถูกนำตัวไปเป็นคนใช้ในวัง แต่โชคร้ายของนางยังไม่หมดเท่านี้
เมื่อหลวงสรศักดิ์ พระโอรสในสมเด็จพระเพทราชา พระเจ้าแผ่นดินใหม่
ได้หลงใหลพึงใจในรูปโฉมของนาง และมีพระประสงค์ที่จะนำนางไปเป็นภริยา
มีการส่งคนมาเกลี้ยกล่อมพร้อมคำมั่นนานัปการ หวังเอาชนะใจนาง
เมื่อไม่สมดั่งใจประสงค์ก็แปรเป็นความเกลียดและขู่อาฆาต
ท้าวทองกีบม้าต้องตกระกำลำบาก เธอได้เขียนจดหมายเป็นภาษาละตินส่งไปยังบาทหลวงฝรั่งเศส เพื่อให้บาทหลวงนำความจากจดหมายเข้ากราบทูลพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ บังคับให้บรรษัทอินเดียตะวันออกของฝรั่งเศสคืนเงินค่าหุ้นของเจ้าพระยาวิชเยนทร์ที่ได้ลงทุนไว้ให้คืนให้กับท้าวทองกีบม้า ซึ่งหลักฐานนี้ถูกบันทึกไว้ในวันที่ 20 มิถุนายน ค.ศ. 1706 (พ.ศ. 2249) ซึ่งเป็นแผ่นในรัชสมัยของพระเจ้าเสือ
ชีวิตบั้นปลายของท้าวทองกีบม้า
ในบันทึกของเมอซีเยอโชมง ชาวฝรั่งเศสที่เข้ามาในปี พ.ศ. 2262-2267 ให้ข้อมูลว่าหลังสิ้นรัชกาลพระเจ้าเสือ ชีวิตของมาดามฟอลคอนได้กลับมาดีขึ้นโดยลำดับ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดเกล้าให้มาดามฟอลคอนเข้ามารับราชการฝ่ายใน โดยไว้วางพระราชหฤทัยให้นางดูแลเครื่องเงินเครื่องทองของหลวง และเป็นหัวหน้าเก็บพระภูษาฉลองพระองค์ และมีสตรีในบังคับบัญชากว่า 2,000 คน ทั้งนี้ท้าวทองกีบม้าปฏิบัติหน้าที่ด้วยความสุจริต คืนเงินสู่ท้องพระคลังปีละครั้งมาก ๆ ทุกปี จนเป็นที่โปรดปรานในองค์พระมหากษัตริย์ รวมทั้งจอร์จ บุตรชายของเธอที่ยังมีชีวิตอยู่ ด้วยพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดไว้ใกล้ชิดพระองค์ ดังปรากฏจากบันทึกของเมอซีเยอโชมง ความว่า
"...พระเจ้ากรุงสยามได้รับสั่งให้หาจอร์จ บุตรของเมอซีเยอกงส์ต็องส์ แล้วโปรดให้แต่งตัวอย่างดี ๆ และรับสั่งให้นายจอร์จเรียนภาษาไทยเสียให้รู้ ได้โปรดให้เอานายจอร์จไว้ใช้ใกล้ชิดพระองค์ และได้โปรดเป็นครูด้วยพระองค์เอง สอนภาษาไทยให้แก่นายจอร์จ..."
จากความเบื้องต้นแสดงให้เห็นว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระทรงโปรดปรานบุตรคนโตของนางมาก ส่วนบุตรคนเล็กคือ คอนสแตนติน ได้สนองพระเดชพระคุณสร้างออร์แกนเยอรมันถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ จากหลักฐานของมิชชันนารีฝรั่งเศส คอนสแตนตินถูกเรียกว่า ราชมนตรี เป็นตำแหน่งผู้นำของชุมชนคริสตัง
ในปี พ.ศ. 2260 รัฐบาลฝรั่งเศสได้มีมติอนุมัติให้ส่งเงินรายได้ที่เป็นของฟอลคอนแก่นางตามที่นางขอร้องในจดหมายที่เคยส่งไปมาให้ ที่สุดหลังพ้นจากวิบากกรรมอันเลวร้าย ท้าวทองกีบม้าได้ใช้เวลาแห่งบั้นปลายชีวิตที่เหลือด้วยการปฏิบัติศาสนกิจอย่างเคร่งครัดโดยพำนักอยู่กับลูกสะใภ้ที่ชื่อ ลุยซา ปัสซัญญา (Louisa Passagna) ภริยาม่ายของคอนสแตนติน และได้ถึงแก่มรณกรรมในปี พ.ศ. 2265
คุณกำลังดู: เปิดประวัติ "ท้าวทองกีบม้า" ราชินีขนมไทยใน "บุพเพสันนิวาส" จากสูงสุดสู่จุดต่ำสุดในชีวิต
หมวดหมู่: หนัง-ละคร