เปิดตำราแชตฉบับ “ผู้ดี” คุยอย่างไรให้มีมารยาท

เปิดตำราแชตฉบับ “ผู้ดี” คุยอย่างไรให้มีมารยาท

เฟซบุ๊กร่วมกับเดอเบรตต์ (Debrett’s) ผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทจากประเทศอังกฤษ เปิดคู่มือแห่งการแชตแบบมีมารยาท ผลศึกษาชี้การถล่มส่งข้อความรัวๆ ถือว่าไร้มารยาท เช่นเดียวกับคนประเภทอ่านไม่ตอบ ชอบเท หรือส่งต่อข้อความที่คุยกับเพื่อนไปให้คนอื่นโดยไม่ขออนุญาต รวมทั้งพฤติกรรมใช้แชตกลุ่ม พูดคุยเรื่องที่รู้กันอยู่เพียงไม่กี่คน แถมด้วยเคล็ดลับการออกจากกลุ่มแชตแบบบัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น

เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า จำนวนข้อความที่ส่งผ่าน Messenger มีจำนวนกว่า 100,000 ล้านข้อความต่อวัน ถือเป็นการสื่อสารหลักของโลกยุคใหม่ การกำหนดกฎ กติกา มารยาทแห่งการแชต จึงจะช่วยให้ศิลปะการสื่อสารในยุคปัจจุบันมีมาตรฐานที่ชัดเจนขึ้น

โดยคู่มือเกี่ยวกับมารยาทในยุคดิจิทัลที่ได้ทำร่วมกับเดอเบรตต์ บริษัทผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทที่ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ.2312 ณ ประเทศอังกฤษ ถือเป็นคู่มือที่ร่างขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรก และมีอยู่ 10 ข้อด้วยกัน ดังนี้

1.สื่ออารมณ์และความหมายให้ดี โทนเสียงในข้อความสามารถส่งผลต่อความหมายได้มากกว่าที่คิด ใช้ภาษาที่เป็นมิตรและเป็นกลางที่สุด หลีกเลี่ยงถ้อยคำเหน็บแนมหรือเสียดสี สัญลักษณ์ต่างๆ หรืออีโมจิน่ารักๆ ช่วยทำให้โทนของข้อความเป็นเชิงบวกได้ นอกจากนั้นยังควรเช็กข้อความก่อนเสมอ ว่าสะกดคำผิดหรือไม่ รวมถึงการใช้เครื่องมือในการแก้ไขข้อความอัตโนมัติที่อาจทำให้ความหมายบิดเบือนไป

ผลศึกษาพบว่า ถ้าเป็นคนอเมริกัน หากเจอข้อความที่อาจสื่อถึงการเสียดสีพวกเขาจะถามตรงๆ เพราะไม่ต้องการเข้าใจผิด ขณะที่คนอังกฤษ 31% เลือกที่จะไม่สนใจและเพิกเฉยต่อข้อความประเภทนี้

2.กระชับแต่อย่าสั้นจนเกินไป ข้อความที่ยาวเป็นย่อหน้า อาจทำให้คนเบือนหน้าหนี แต่การตอบสั้นๆ 1 คำหรือส่งอีโมจิรูปเดียว อาจสื่อได้ว่าไม่สนใจ โดยเฉลี่ยแล้วความยาวของข้อความที่ส่งบน Messenger อยู่ที่ 5 คำ

3.อย่าส่งหลายข้อความติดๆกัน เพราะอาจทำให้ผู้รับรู้สึกรำคาญและเสียสมาธิ โดยเฉพาะในการแชตกลุ่ม การส่งข้อความเยอะๆในครั้งเดียว อาจทำให้คนอื่นสับสนและตามบทสนทนาไม่ทัน โดย 37% ของผู้ตอบแบบสอบถามทั่วโลก เห็นว่า การส่งข้อความรัวๆ ติดๆกันนั้น เสียมารยาท

4.แคร์สักนิดก่อนคิดแชร์ ขออนุญาตเจ้าของข้อความเสมอก่อนจะส่งต่อข้อความ รูปภาพหรือเอกสารใดๆให้กับคนอื่นๆ เลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของคนอื่น เช่น ถามเพื่อนอย่างเปิดเผยถึงวีรกรรมเมื่อไปเดตล่าสุด ซึ่งอาจทำให้เพื่อน รู้สึกว่าโดนแฉและอับอายได้ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั่วโลก มองว่าการส่งต่อข้อความของเพื่อนไปให้คนอื่นนั้นเป็นการเสียมารยาท

5.ต้องรู้ว่ากำลังแชตอยู่กับใคร สิ่งแรกที่ต้องทำเมื่อได้รับคำเชิญเข้าแชตกลุ่ม คือเช็กดูว่ามีใครอยู่ในกลุ่มบ้าง เพื่อจะได้ทราบว่ากลุ่มนี้สนใจบทสนทนาในเรื่องใด หลีกเลี่ยงการเล่นมุกเฉพาะกลุ่ม หรือพูดถึงเรื่องที่คนอื่นไม่เข้าใจ และควรส่งข้อความที่มีความเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่อยู่เสมอ หากต้องการพูดคุยกับใครคนใดคนหนึ่ง ควรแชตแยกออกไป โดย 42% ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั่วโลก ชอบกลุ่มแชตที่มีสมาชิกน้อยกว่า 6 คน

6.อย่าปล่อยให้รอเก้อ หากเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มแชตส่งข้อความมาแต่ไม่มีใครตอบ ควรรีบตอบกลับ โดยอาจตอบแบบง่ายๆ เช่น กด “ถูกใจ” หรือบอกว่าคุณไม่รู้คำตอบก็ได้ การทำเช่นนี้จะช่วยกระตุ้นผู้อื่นให้ตอบกลับเช่นกัน แต่หากเป็นคนที่ถูกปล่อยให้รอเก้อเอง ต้องอย่าไปถือสา รอให้ผ่านไป 24 ชั่วโมงแล้วค่อยติดตามการสนทนาโดยทักด้วยภาษาโทนสบายๆ ว่า “แค่อยากรู้ว่าเป็นยังไงบ้างนะ...” ทั้งนี้ ผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั่วโลกรู้สึกไม่พอใจเป็นที่สุดเมื่อไม่มีใครตอบคำถามหรือตอบรับความคิดเห็น

7.ตอบกลับให้ฉับไว การตอบกลับข้อความในทันทีเป็นวิธีที่สุภาพ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด หากคุณกำลังยุ่ง ทางที่ดีคืออย่าเพิ่งเปิดอ่าน หรืออีกทางเลือกคือสามารถเปิดการแจ้งเตือนแบบพุช (push) ที่ช่วยให้อ่านข้อความได้ก่อน โดยที่อีกฝ่าย ไม่รู้ว่าอ่านแล้ว และตอบกลับในเวลาที่สะดวก

8. เลิกนิสัยชอบเท หากต้องการหยุดความ สัมพันธ์ ให้ทำอย่างเปิดเผยและนุ่มนวล อธิบายให้กระชับและสุภาพ หากกำลังคบหาหรือรู้จักอีกฝ่ายมาสักพัก ควรโทรศัพท์ไปหรือบอกต่อหน้าเมื่อพบกัน ต่อกรณีนี้ 47% ของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั่วโลก เคยถูกเทระหว่างการสนทนา และ 39% ยอมรับว่าเคยเทคนอื่นมาแล้ว

9.ฝึกลาให้ถูกธรรมเนียม ก่อนจะออกจากกลุ่มใด ต้องวางแผนให้ดี อธิบายเหตุผลสั้นๆให้ใกล้เคียงกับความจริงที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น ต้องเร่งทำงานให้ทันกำหนดส่ง เลยต้องพักมือถือ จากนั้น ก็ออกจากกลุ่มไปเลย ไม่จำเป็นต้องรอคำตอบ แต่หากคิดว่าการออกจากแชตเป็นเรื่องรุนแรงเกินไป แนะนำให้ “ปิดการแจ้งเตือน” การสนทนาแทน

10.ทิ้งท้ายอย่างมีสไตล์ อย่าประเมินค่าของการกล่าวอำลาต่ำไปเด็ดขาด การหายไปจากบทสนทนาเฉยๆอาจสร้างความสับสนให้กับอีกฝ่าย หากจะเปลี่ยนไปทำกิจกรรมอื่น ที่ดีที่สุดคือแจ้งให้อีกฝ่ายทราบ แค่บอกว่า “เดี๋ยวมานะ” ก็ยังดี อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งของผู้ร่วมตอบแบบสอบถามจากทั่วโลกที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี ทิ้งท้ายการสนทนาผ่านข้อความเสมอ ขณะที่มีเพียงหนึ่งในสาม ของผู้คนอายุ 18-24 ปีเท่านั้น ที่รู้สึกว่าต้องกล่าวทิ้งท้าย.

คุณกำลังดู: เปิดตำราแชตฉบับ “ผู้ดี” คุยอย่างไรให้มีมารยาท

หมวดหมู่: Startup

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด