ผู้จัดคอนเสิร์ตเกาหลีทำไมถึง "ผี" (ความผีนี้มีที่มา?) โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

เปิดเบื้องลึกการจัดคอนเสิร์ตเคป็อป ในมุมที่หลายคนไม่เคยสัมผัส

ผู้จัดคอนเสิร์ตเกาหลีทำไมถึง "ผี" (ความผีนี้มีที่มา?) โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

ช่วงครึ่งหลังของปี 2022 สถานการณ์โควิดเริ่มดีขึ้น โลกเริ่มกลับเข้าสู่ old normal อีกครั้ง ผู้คนไปทำงานที่ออฟฟิศ นักเรียนนักศึกษากลับไปเรียนในห้อง และกิจกรรมบันเทิงอย่างคอนเสิร์ตก็กลับมาจัดกันอีกครั้ง (หลังจากเราต้องดูคอนเสิร์ตออนไลน์ผ่านหน้าจอกันมาสองปี!) โดยเฉพาะงานมหรสพของศิลปินเกาหลี ไม่ว่าจะคอนเสิร์ตหรือแฟนมีทติ้งที่จัดกันแทบทุกสัปดาห์ จนแฟนคลับกรีดร้องว่าจะเอาเงินที่ไหนมาซื้อบัตร (อย่างตัวผู้เขียนเองก็ต้องตัดใจจากหลายงานเหมือนกัน)

แต่ท่ามกลางอีเวนต์เกาหลีที่จัดกันถี่ยิบ กระแสความไม่พอใจต่อ ‘ผู้จัด’ ก็มีให้เห็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน (นี่อาจถือเป็นการคัมแบ็คสู่ old normal เช่นกัน เพราะมันเป็นดราม่าที่มีตั้งแต่ก่อนโควิด) อาทิ ผังที่นั่งไม่น่าพอใจ, สถานที่จัดงานไม่เหมาะสม, ราคาบัตรที่สูงเกินไป, สิทธิประโยชน์ (Benefits) ต่างๆ ที่ไม่สอดคล้องกับราคาบัตรหรือดูด้อยกว่างานของประเทศอื่นๆ  รวมถึงปัญหาเรื่องการจัดการและการสื่อสาร เช่น ประกาศงานวันนี้ ขายบัตรพรุ่งนี้ หรือผังที่นั่งที่เปลี่ยนไปมาไม่รู้จบ ฯลฯ

ในแวดวงเคป็อปของไทยเลยมีคำยอดนิยมว่า ‘ผู้จัดผี’ อันหมายถึงผู้จัดที่จัดงานได้ไม่น่าพอใจหรือสร้างความปวดตับให้กับแฟนคลับ แต่น่าสงสัยเหมือนกันว่า ‘ความผี’ ของผู้จัดเป็นความผิดพลาดหรือความจงใจ หรือที่จริงเป็นฝั่งผู้ชมที่เรียกร้องและเรื่องมากเกินไป แล้วจริงหรือไม่ที่ผู้จัดก็ผีทุกเจ้านั่นแหละ ขึ้นกับว่าจะผีมากหรือผีน้อย ผู้เขียนเลยขอไปเม้ามอยกับคุณ A (นามสมมติ) ผู้ทำงานเป็นพีอาร์คอนเสิร์ตเกาหลีมานานหลายปี ผู้เป็นเหมือนตัวกลางระหว่างผู้จัดกับผู้ชม ได้ผ่านสมรภูมิดราม่ามามากมาย จนถือว่าเป็น ‘ผู้สังเกตการณ์’ ชั้นดีของประเด็นนี้

คันฉัตร: คิดว่าคอนเสิร์ตเกาหลีช่วงนี้ (ครึ่งหลังปี 2022) มันเยอะเกินไปมั้ยครับ แล้วผู้จัดเขาไม่กลัวกันเลยหรือว่าเยอะขนาดนี้อาจมีบางงานขายไม่ออก หรือเขาคิดว่ายังไงก็ขายได้อยู่แล้ว

คุณ A: เราคิดว่าก็เยอะนะ แต่ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เพราะช่วงก่อนจะมีโควิดคอนเกาหลีมันก็เยอะประมาณนี้แหละ แต่สถานการณ์ตอนนี้มันจะมีเงื่อนไขอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี คนจะซื้ออะไรก็ต้องคิดมากขึ้น หรืออาจคิดถึงขั้นว่ามันเยอะเกินความจำเป็น ก่อนโควิดวีคนึงก็มี 2-3 งานนี่แหละ แต่เราคิดว่าช่วงนั้นผู้ชมดูสนุกกว่านี้ ตอนนั้นเราทำงานได้ง่ายกว่ายุคนี้ อย่างพอยุคนี้พวก Benefit ก็จะมีข้อจำกัดจากเรื่องโควิด แต่ก่อนจับมือได้ ไฮทัชได้ ยุคนี้ก็ห้ามใกล้ชิดห้ามสัมผัสศิลปินแล้ว ฝั่งผู้จัดก็ต้องมาคิดว่าจะจัด Benefit อย่างไรให้แฟนคลับโอเค

สิ่งที่คนบ่นกันมากคือรู้สึกว่าบัตรแพงขึ้น แต่เอาจริงๆ เรามองว่าไม่ได้ต่างจากช่วงก่อนโควิดเท่าไร อาจจะมีบางงานที่อัพขึ้นมาพันหรือสองพัน ส่วนที่คนถามว่าทำไมบัตรประเทศนั้นประเทศนี้ถึงถูกกว่า มันก็มีปัจจัยหลายอย่างมาก เอาจริงๆ ค่าตัวศิลปินมีแสตนดาร์ดประมาณนึงแหละ แต่กว่าจะมาถึงบ้านเรามันผ่านอะไรหลายอย่าง ทั้งเรื่องค่าเงิน ผ่านซัพพลายเออร์เอย เอเจนต์เอย แล้วแต่ว่าดีลกันมายังไง อ้อ แล้วค่าฮอลล์กับค่าโปรดักชันก็สูงขึ้นด้วย

อีกปัจจัยคือช่วงกลับมาจัดคอนใหม่ๆ เนี่ย มันต้องควบคุมจำนวนคนดู ด้วยเรื่องเว้นระยะห่าง เว้นที่นั่งบ้างหรือบัตรยืน (หลุม) ให้คนเข้าได้น้อยลง ซึ่งเอาจริงๆ คอนเสิร์ตมันจะได้กำไรก็จากบัตรหลุมนี่แหละ เมื่อจำนวนคนดูมันลดลง ผู้จัดก็ต้องตั้งราคาแพงขึ้น เพราะจุคนได้น้อยลง แต่ค่าเช่าฮอลล์มันไม่ได้ลดตามนะ เราคิดว่าจะโทษผู้จัดฝั่งเดียวก็ไม่ได้ แต่เราก็เข้าใจฝั่งคนดูด้วย โควิดมันก็ทำให้หลายๆ บ้านได้รับผลกระทบ ตกงาน หรือรายได้ลดลง (ข้อสังเกตจากคันฉัตร: อย่างไรก็ดี เมื่อนโยบายด้านโรคระบาดผ่อนคลาย เลิกการเว้นที่นั่ง และบัตรยืนจุคนได้มากขึ้น ราคาบัตรคอนเสิร์ตก็ไม่ได้ลดกลับมาเหมือนแต่ก่อน ตามหลักเมื่อสินค้าขึ้นราคา มันจะไม่มีลดลง เช่นเดียวกับสินค้าหลายชนิด)

ทำไมหลายงานชอบประกาศขายบัตรแบบกระชั้น เช่น ประกาศวันนี้ ขายบัตรอีกสามวันถัดมา บางทีแฟนคลับก็หาเงินไม่ทัน วางแผนการเงินไม่ถูก

เราว่าเป็นเรื่องของการดีล มันมีบางงานนะ แบบดีลกันได้ปุบปับ แล้วก็มาเลย คือทางฝั่งเกาหลีเขาก็อั้นไง ไม่ได้จัดงานมานานมาก นี่คือช่วงเวลากอบโกยของพวกเขา เพราะการออกนอกประเทศนี่คือการได้เงินเลย ตอนนี้มันเหมือนว่าใครเริ่มก่อนได้เงินก่อน ขนาดนั้นเลย หรือบางเคสก็คือดีลไว้นานแล้วล่ะ แต่ประกาศไม่ได้สักทีเพราะติดปัญหาบางอย่าง อันนี้เป็นเรื่องหลังบ้านแล้ว แต่บางทีผู้จัดเขาก็พูดไม่ได้ ก็ต้องรับเสียงด่าไป

พูดถึงบัตรคอนเสิร์ต ก็ต้องพูดถึงสิ่งที่อยู่คู่กับคอนเสิร์ตเกาหลีคือ ‘แก๊งอัพบัตร’ (กลุ่มคนที่กว้านซื้อบัตรเพื่อไปขายต่อในราคาแพงๆ) อยากรู้ว่าผู้จัดเขาพยายามจะแก้ปัญหาเรื่องนี้บ้างมั้ย

เราเห็นอยู่นะว่าผู้จัดหลายเจ้าเขาพยายามจะจัดการกับเรื่องนี้ ลองด้วยหลายวิถีทาง เช่น ให้ใส่ชื่อในบัตร แต่บางทีแฟนคลับก็ไม่พอใจ เพื่อนเป็นคนซื้อบ้าง ยุ่งยากในการโอนบัตรให้คนอื่นบ้าง หรือหน้างานก็เสียเวลาเรื่องการตรวจบัตรใดๆ ส่วนตัวเราว่ามันเป็นวิธีที่ดีนะ มันชัดเจนดี แต่ระหว่างทางก่อนจะถึงคอนเสิร์ตจริงอาจจะยุ่งยากสักหน่อย ถึงกระนั้นเขาก็ไม่สามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ 100% หรอก เพราะแก๊งพวกนี้มันมีจำนวนมาก ทำงานกันเป็นมืออาชีพ และมันเป็นปัญหาระดับโลก คอนเสิร์ต เทเลอร์ สวิฟต์ ยังมีดราม่าอัพบัตรเลย เอาถึงที่สุดต้องทำแบบคอนเสิร์ตญี่ปุ่นที่ใช้ระบบแสกนหน้า คนไทยอาจมองว่ายุ่งยาก แต่มันเป็นความยุ่งยากที่คนญี่ปุ่นเขาชินกันแล้ว

ช่วงนี้คำว่า ‘ผู้จัดผี’ กลับมาเป็นคำยอดนิยม คงเพราะคอนเสิร์ตที่มีเยอะมาก อยากถามคุณ A ว่าคิดอย่างไรกับคำนี้ จริงๆ แล้วผู้จัดก็ไม่ได้อยากผีหรือเปล่า หรือมันมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้เขาต้องกลายเป็นคนจัดผีๆ

เราว่าประเด็นที่แฟนคลับจะด่ากันมากคือเรื่องราคาบัตร เช่น คนดูรู้สึกว่าราคาบัตรแพงเกินไป หรือ Benefit ไม่คุ้มกับราคาบัตร หรือเรื่องการจัดการหน้างานที่ตั้งกฎนั่นนี่ไว้เยอะเกินจนเกิดความวุ่นวาย เราว่าหัวใจหลักคือเรื่องการจัดการนั่นแหละ ซึ่งมันก็ต้องดูเป็นงานๆ ไป บางงานมันก็แย่จริงๆ จนสมควรจะโดนด่าว่าผี

เอาง่ายๆ เราว่าผู้จัดแบ่งเป็นสองกลุ่ม หนึ่งคือผู้จัดไทย สองคือผู้จัดที่เป็นคนต่างชาติ-เงินทุนต่างชาติ ซึ่งถ้าอยู่วงการนี้ประมาณหนึ่งก็จะรู้เองแหละว่าเจ้าไหนเป็นแบบไหน ซึ่งผู้จัดแบบที่สองเนี่ยบางทีเขาก็ไม่ได้แคร์ถึงกระแสในแง่ลบเท่าไร ไม่ได้แคร์ฟีดแบ็กมากนัก คนซวยก็คือแอดมินที่ต้องรับฟังคำด่าไป แอดมินแจ้งไปเขาฟังหรือเปล่าก็ไม่รู้ ไม่เหมือนผู้จัดไทยที่เขาจะค่อนข้างรับฟังเพราะเขาต้องรักษาเครดิต รักษากลุ่มลูกค้าเอาไว้ บางทีผู้จัดบางเจ้าก็ค่อนข้างมั่นใจในศิลปินที่เอามาว่ายังไงก็ขายได้แน่นอน โดยมากก็คือวงผู้ชาย

แต่งานของผู้จัดไทยเองบางทีออกมาไม่ดีนะ อย่างเช่นมีงานนึงที่คนบ่นเยอะมากเรื่องผังเวที คนดูมองไม่เห็น จอก็เล็ก ของที่ระลึกมาขายหน้างานก็เลท สรุปแล้วอันนี้มันเป็นเพราะฝั่งเกาหลีหรือฝั่งไทย

เราว่า 50-50 นะ ขึ้นอยู่กับการคุยงานและดีลงานกัน ยกตัวอย่างเราเคยทำงานขาย Merchandise เราจะต้องได้ของอย่างช้าสุดแต่เช้าของวันขายจริง จะได้รู้ว่าของมีเท่าไร มีอะไรบ้าง จะได้วางแผนถูกว่าเปิดขายตั้งแต่กี่โมง เพราะแฟนคลับบางคนก็มาซื้อเร็ว หรือมีพวกรับฝากซื้อแทนคนอื่นด้วย ในกรณีที่ของมาเลทก็คงมีปัญหาอะไรสักอย่างที่หลังบ้าน อาจเป็นฝั่งเกาหลีที่แจ้งข้อมูลช้าหรือส่งของมาช้า หรือฝั่งไทยที่ประมาท วางแผนไม่ดีพอ (ข้อมูลเพิ่มเติมจากคันฉัตร: กรณี Merchandise เคยมีโปรโมเตอร์เล่าให้ฟังถึงเคสหนึ่งว่าตอนแรกทางเกาหลีแจ้งว่าไม่มีของมาขายหน้างาน แต่อยู่ดีๆ ไม่กี่วันก่อนวันจริง ทางเกาหลีก็บอกว่าจะเอาของมาขายนะ หรือแฟนคลับจะบ่นกันว่าทำไมผู้จัดประกาศขายของแต่ไม่บอกราคาสินค้าตั้งแต่เนิ่นๆ บางทีเป็นเพราะต้องรอทางเกาหลีส่งราคามา)

เคยมีเพื่อนๆ เราที่เป็นพวกโปรโมเตอร์จัดคอนเสิร์ต เขาชอบเม้ากันว่าเกาหลีทำงานด้วยยาก เรื่องมาก อันนี้จริงมั้ย

ก็เรื่องมากจริงนะ แต่หลายครั้งมันเป็นเคสว่าเรื่องมากตั้งแต่ต้น แล้วพอมาถึงหน้างานคือจบ ถ้า 1-2-3-4 ที่เขาเรียกร้องมาแล้วเราให้ได้ที่เขาขอ มันก็ถือว่าจบ ไม่มีปัญหา แต่มันจะมีอีกแบบคือไม่เคยมาวอแวอะไรเลย แต่อยู่ดีๆ มาเรื่องมากหน้างาน อันนี้บอกเลยว่าผู้จัดเหนื่อย ก็กลับไปเรื่องเดิมแหละ การคุยงานและการสื่อสาร

แต่ไอ้ความเรื่องมากมันไม่ใช่เฉพาะแค่เกาหลีหรอก พวกฝรั่งก็เยอะ มีการขอว่าห้องพักต้องตกแต่งด้วยกุหลาบ น้ำต้องกินยี่ห้อนี้เท่านั้น ต้องอุณหภูมิเท่านี้เป๊ะๆ ซึ่งมันก็มีทุกชาติทุกที่แหละ แต่ถ้าเราหาให้เขาได้มันก็จบ คือเป็นศิลปินน่ะนะ เขามีสิทธิเรียกร้องได้ (ข้อมูลเพิ่มเติมจากคันฉัตร: เคยมีศิลปินวงหนึ่งบอกให้ทางผู้จัดปิดแอร์ เพราะศิลปินชอบอากาศอุ่นๆ ผลคือคนดูเป็นลมกันหลายคน จนสุดท้ายทางฝั่งศิลปินยอมให้เปิดแอร์บางตัวได้)

ทีนี้ขอถามเรื่อง Benefit บ้าง จะมีการเปรียบเทียบว่าทำไมงานของประเทศนั้นประเทศนี้ Benefit ดูดีกว่าของบ้านเรา ดูได้อะไรมากกว่าประเทศเรา หรือบางงานในไทยก็ห้ามถ่ายรูป การ์ดเดินมาห้าม แต่พอไปเล่นประเทศอื่น ไม่เห็นห้ามเลย ถ่ายกันตามสบาย

ถ้าเรื่องถ่ายรูปเนี่ย บางทีฝั่งเกาหลีก็เป็นคนสั่งห้ามมาเองนะ แต่เดี๋ยวนี้หลักๆ จะเป็นว่าถ้ามือถือคือไม่ห้ามแล้ว ที่ห้ามคือพวกกล้องใหญ่ คอนเสิร์ตที่เกาหลีเองก็ยังห้ามกล้องใหญ่อยู่ สมาร์ตโฟนเขาไม่ค่อยห้ามแล้ว เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่าโลกมันเปลี่ยนไป แถมการถ่ายรูปถ่ายคลิปมันยังเป็นการช่วยโปรโมตคอนเสิร์ตและศิลปินด้วย คลิปจากแฟนคลับบางคลิปก็กลายเป็นไวรัลในอินเทอร์เน็ต (ข้อมูลเพิ่มเติมจากคันฉัตร: อย่างไรก็ดี ยังมีศิลปินบางรายที่ขอความร่วมมือไม่ให้ผู้ชมถ่ายรูปเพราะอยากให้โฟกัสกับการชมคอนเสิร์ต ล่าสุดที่ผู้เขียนเจอคือคอนเสิร์ต Jack White ในไทยเมื่อพฤศจิกายน 2565)

แต่พวกอันที่ไม่โอเคคือไลฟ์สด อันนี้ทีมงานต้องเข้าไปห้ามอยู่แล้ว ส่วนบางงานอาจจะให้ถ่ายภาพนิ่งได้ แต่ห้ามถ่ายวิดีโอ เพราะเป็นเรื่องลิขสิทธิ์ ขนาดสื่อมวลชนยังได้รับแจ้งจากผู้จัดเลยว่าปล่อยคลิปบรรยากาศงานทางโทรทัศน์หรือเว็บไซต์ได้ไม่เกิน 30 วินาทีนะ อะไรทำนองนี้ อันนี้ถ้าวงเกาหลีเป็นพวกที่ค่ายใหญ่เป็นคนถือลิขสิทธิ์เพลง (เช่น Universal หรือ Warner) เขาก็จะซีเรียสเรื่องพวกนี้นิดนึง อย่างฝั่งทีมงานจะทำ spot โปรโมตงานแค่ 15-30 วินาที ยังต้องทำเรื่องขอลิขสิทธิ์ไปกับทางค่ายใหญ่เลย

ส่วนเรื่อง Benefit เราคิดว่ามันขึ้นกับการคุยกัน บางทีคอนเสิร์ตที่เล่นแต่ละประเทศมันผ่านเอเจนต์คนละบริษัท การดีลมันก็เลยมีข้อตกลงที่แตกต่างกันไป ถ้าไม่ใช่คนเบื้องหลังอาจไม่รู้ว่าคอนเสิร์ตนี้ที่ประเทศนี้ใครเป็นเอเจนต์ แล้วเขาไปคุยกันอย่างไร ดังนั้นเมื่อเอเจนต์แต่ละประเทศต่างกัน ก็ไม่แปลกเลยที่ Benefit ของงานเดียวกันในแต่ละประเทศจะต่างกันไป

ชอบมีข่าวลือว่าผู้จัดที่ผีๆ โดนด่ามากๆ บางทีก็ใช้วิธีเปลี่ยนชื่อบริษัท อันนี้จริงมั้ย

อันนี้เมื่อก่อนจะได้ยินเรื่อยๆ นะ แต่เดี๋ยวนี้คิดว่ายาก แฟนคลับเขาสืบเก่งจะตาย (หัวเราะ) หาได้หมดแหละจดทะเบียนเงินทุนเท่าไร กรรมการผู้จัดการคือใคร สืบได้หมดจ้า

ในฐานะคนดู ปฏิเสธไม่ได้ว่าบางงานเราก็เจอการจัดการที่มันแย่หรือดูเอาเปรียบเราจริงๆ แล้วสรุปว่าคนดูทำอะไรได้บ้าง นอกจากไปด่าลงโซเชียล

อันนี้อย่าหาว่าเข้าข้างผู้จัดเลยนะ แต่บางงานเราก็พอจะรู้เบื้องหลังมาบ้าง ต้องบอกว่าบางงานเขาไม่ได้ตั้งใจจะเอาเปรียบหรอก เราว่ามันเป็นเรื่องเขาคิดน้อยเกินไป อย่างเช่นคอนเสิร์ตวงเกิร์ลกรุ๊ปวงหนึ่งช่วงก่อนโควิดที่คนดูโวยเรื่องฮอลล์พื้นราบ ไม่มีสโลป มองไม่เห็น ก็เป็นเรื่องเขาไม่ได้คุ้นเคยกับฮอลล์นั้น ไม่ได้ศึกษามามากพอ หรือบางงานที่ใส่แสตนด์เข้าไป แต่หัวคนก็ยังบังกันอยู่ดี ก็เป็นเพราะตอนทำเป็นโมเดลจำลองมันไม่ได้มีคนจริงๆ เขาคิดตรงนี้น้อยไปหรือไม่ได้มีมืออาชีพเข้ามาดูแล บางเคสก็เป็นการคาดไม่ถึง (มุมมองจากคันฉัตร: แต่ในฐานะคนดูที่จ่ายเงินไป คำว่าคิดน้อยหรือคาดไม่ถึงก็เป็นเหตุผลที่ชวนโมโหอยู่ดี เพราะหน้าที่ของผู้จัดก็คือการคาดการณ์ถึงปัญหาต่างๆ อย่างรอบคอบและครอบคลุม)

แฟนคลับจะบ่นบ่อยๆ ว่าทำไมไม่จัดคอนเสิร์ตที่อิมแพ็คอารีน่าหรือธันเดอร์โดม สองฮอลล์นี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องวิสัยทัศน์เพราะมีสโลป ก็ต้องอธิบายว่าพวกฮอลล์คอนเสิร์ตนี่เขาจองกันเป็นปีๆ ไม่ใช่ผู้จัดไม่อยากได้นะ แต่มันไม่ว่าง ยิ่งพอโควิดซา คิวฮอลล์ต่างๆ ก็แน่นมาก พอต้องไปจัดฮอลล์ที่มันต้องเติมแสตนด์เข้าไปเอง บางทีก็มีปัญหา แต่ผู้จัดหลายรายก็เรียนรู้เพื่อปรับปรุงในงานถัดๆ ไปนะว่า เออ มันต้องยกสูงแค่ไหน ต้องวางตำแหน่งจอยังไง อีกอย่างคือเวลาวางผังในคอนเสิร์ตมันไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนปุบปับได้เองด้วย มันต้องส่งไปให้ทางเกาหลี approve ก่อน ซึ่งไอ้การส่งไปส่งมาบางทีก็ใช้เวลาพอควร เรียกได้ว่ากระบวนการเกือบทุกอย่างต้องผ่านทางเกาหลีก่อน รวมถึงเรื่องราคาบัตรด้วย ดังนั้นงานไหนบัตรแพงก็ไม่ใช่เพราะฝ่ายผู้จัดไทยฝ่ายเดียว 

สุดท้ายในฐานะพีอาร์คอนเสิร์ตมีอะไรอยากบอกมั้ยครับ

คือเราก็เหมือนคนที่อยู่ตรงกลางระหว่างผู้จัดกับผู้ชมนะ ในฝั่งคนดูเราก็เข้าใจว่าทำไมบางทีเขาถึงคอมเพลน เพราะเขาจ่ายตังค์ เขาก็อยากได้วิ่งที่ดีที่สุด แต่ในฝั่งผู้จัด เราก็เห็นหลายรายที่พยายามทำให้ดีที่สุด เขาก็อยากให้แฮปปี้ทั้งสองฝ่าย เสียงวิจารณ์ต่างๆ ผู้จัดบางรายเขาก็รับฟังนะ เพราะว่าบางทีทางเกาหลีเขาก็ขอฟีดแบ็กด้วยนะ จะเสียงด่าใดๆ ก็ตาม เกาหลีเขาก็เช็คด้วย เพราะเดี๋ยวนี้แฟนคลับคอมเพลนอะไรก็ใช้วิธีรุมแท็กกันไปที่แอคเคาต์ของศิลปินหรือต้นสังกัด แล้วเด็กสมัยนี้เก่งทั้งภาษาอังกฤษและเกาหลี ทางฝั่งนั้นเขาก็รับรู้แหละว่ามันเกิดอะไรขึ้น ส่วนอีกเรื่องขำๆ คือ ตอนนี้ฮอลล์คอนเสิร์ตเต็มมากเลยค่ะ คิวยาวมาก อยากมีเงินสร้างฮอลล์คอนเสิร์ตของตัวเองเลยค่ะ (หัวเราะ)

____________________

 

kanchat

 

ผู้เขียน - คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

(Kanchat Rangseekansong)

เปิดโลกดนตรีและไอดอลกับคันฉัตร

คุณกำลังดู: ผู้จัดคอนเสิร์ตเกาหลีทำไมถึง "ผี" (ความผีนี้มีที่มา?) โดย คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

หมวดหมู่: เพลง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด