ปักหมุด 13 โลเคชันไฮไลต์ Bangkok Design Week 2023
พาไปชม 13 โลเคชันสวยในงาน Bangkok Design Week 2023 คนรักงานออกแบบต้องไปชม
เดือนกุมภาพันธ์มาพร้อมกับอีเวนต์ดีๆ ทั่วเมืองที่โถมมารัวๆ แบบอยากได้คาถาแยกร่างกันเลยทีเดียว เพราะแค่ Bangkok Design Week 2023 ก็โปรแกรมแน่นมากจนอยากให้จัดไปตลอดทั้งเดือนจะได้มีเวลาฮ็อปไปเก็บได้ครบทุกย่าน ความน่าสนใจของปีนี้คือเขามากับธีมที่ชื่อว่า urban ‘NICE’ zation หรือ เมือง-มิตร-ดี แบ่งพื้นที่ออกเป็น 9 ย่านหลัก ซึ่งความน่าสนใจของงานออกแบบ งานดีไซน์ที่จัดแสดงในครั้งนี้ไม่ใช่แค่ตรงตามคอนเซ็ปต์ของเทศกาล แต่ยังเชื่อมโยงไปกับวิถีของย่าน ทั้งยังเป็นงานดีไซน์ที่เข้ามาช่วยหาทางออกในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในเมืองที่เปลี่ยนไป อีกทั้งยังสะท้อนความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่ยังคงอัตลักษณ์ของชุมชนต่างๆ ในเมือง
Bangkok Design Week 2023 จัดแสดงตลอด 9 วันระหว่างวันที่ 4-12
กุมภาพันธ์ 2566 บางย่านสามารถเดินเชื่อมถึงกันได้
และบางย่านอาจต้องเดินทางไกลสักหน่อย
แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะพลาดชิ้นไฮไลต์สำคัญ
เพราะเราปักหมุดบอกพิกัดไว้ให้แล้ว
เปิดลิสต์ตามโลเคชันทั้งหมดนี้ได้เลย
01 TCDC อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก
ง่ายที่สุดคือเริ่มจากจุดเซ็นเตอร์อย่าง TCDC อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก เพราะย่านเจริญกรุง-ตลาดน้อย ถือเป็นต้นแบบย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่นำร่องมาแล้วถึง 6 ปี จุดนี้ส่วนใหญ่เน้นเรื่องความยั่งยืนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนำเสนอผ่านโปรดักต์และคอนเซปต์ดีไซน์ อาทิ DesignPLANT: BETTER CITY ที่แกลเลอรี ชั้น 1 (อาคารส่วนหลัง) ที่กลุ่มนักออกแบบเฟอร์นิเจอร์ 24 ทีมต่างปล่อยไอเดียสนุกๆ มาแบบไม่มียั้ง อย่างเช่น การจัดระเบียบสายไฟที่พะรุงพะรังบนท้องถนนออกมาเป็นที่บังแดดให้คนได้หลบร่มระหว่างรอข้ามถนน หรือการนำสิ่งที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างล็อตเตอรีไปมิกซ์กับฟังก์ชันของบุหรี่ ห่อหมากฝรั่ง หรือหน้ากากอนามัย
แต่มากไปกว่านั้นคือนิทรรศการที่จัดเชื่อมกันในชื่อ Bangkok
Spoken รวบรวมภาพถ่ายซึ่งเปรียบเสมือนเสียงอีกหลายๆ
เสียงที่สะท้อนปัญหาของผู้อยู่อาศัยจริงในเมืองและชุมชน
ที่มักมาพร้อมวิธีแก้ปัญหาจากการหยิบจับสิ่งรอบตัวมาดัดแปลงแบบง่ายๆ
สะท้อนแรงบันดาลใจเบื้องหลังการออกแบบที่มาจากความต้องการจริงที่อาจถูกมองข้ามไป
อีกจุดที่อยากชวนไปดูคืองาน Taiwan Design Power บริเวณชั้น 2 เพราะเขามากับนวัตกรรมงานดีไซน์ของไต้หวันที่หากใครเคยมาชมครั้งก่อนๆ จะรู้ว่าแต่ละชิ้นล้วนมาจากวัสดุรีไซเคิลและโดยมากก็แปรรูปเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง ปีนี้มากับธีม Chain Chain หรือแนวคิดระบบหมุนเวียน ที่สำคัญคือมีวางจำหน่ายแล้วจริงๆ ชิ้นไฮไลต์เราขอยกให้คือ แว่นตา Hibang วัสดุทำมาจากไนลอนที่รีไซเคิลจากอวนจับปลา และที่ไม่น้อยหน้าคือแบรนด์ Picupi นำเสนอน้ำยาซักผ้าที่รีไซเคิลจากแคลเซียมเปลือกหอย ล้ำไปถึงบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากขวดนมพลาสติกอีกขั้น ใครอยากตำตามไปส่องใน Pinkoi ได้เลย
Waste is
more บริเวณหน้าอาคารไปรษณีย์กลางเป็นอีกงานที่น่าสนใจในแง่ของวัสดุหมุนเวียนและการแก้ปัญหาด้วยงานออกแบบ
ด้วยงานดีไซน์จาก 8 ดีไซน์เนอร์ โดยเฉพาะแบรนด์ MORE ซึ่งมี
3 หัวใจหลักคือ ความยั่งยืน นวัตกรรม
และความสร้างสรรค์ที่สะท้อนออกมาเป็นมุมมองต่อขยะในฐานะวัสดุไม่ไร้ค่า
เปลี่ยนของเหลือใกล้ตัวกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ชิ้นใหม่
ตั้งแต่เศษใบอ้อยจากอุตสาหกรรมน้ำตาลซึ่งโดยปกติมักทำลายด้วยการเผาที่ส่งผลกระทบต่อปัญหามลพิษในอากาศ
กลับกันดีไซน์เนอร์เลือกดึงจุดเด่นของเส้นใยใบอ้อยมาเปลี่ยนเป็นวัสดุจักสานที่สามารถใช้ประโยชน์ต่อไปได้อีกครั้งหนึ่ง
02 อาคารชัยพัฒนศิลป์
จะเป็นอย่างไรหากเราออกแบบงานศพให้ตัวเองได้ก่อนตาย?
อันที่จริงในยุคสมัยนี้การวางแผนเตรียมความพร้อมก่อนตายถือเป็นอีกสิ่งที่คนหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้น เพราะนอกจากจะสบายใจต่อเราในการได้เลือกความทรงจำสุดท้ายของตัวเอง ยังมีส่วนช่วยแบ่งเบาภาระต่อผู้อื่นที่ต้องจัดการธุระแทนเราไปได้อีกหนึ่งอย่าง การออกแบบงานศพให้ตัวเอง จัดแสดงโดย สุริยา 2499 หรือ สุริยาหีบศพ ธุรกิจโลงศพและบริการหลังความตายแบบครบวงจร ครั้งนี้ร่วมมือกับแบรนด์ย่อยในชื่อ บริบุญ โดยทายาทรุ่น 3 บริษัทที่มีบริการส่งต่อบุญผ่านการซื้อพวงหรีดและบริจาคโลงศพ นำเสนอแนวคิดการจัดงานศพในรูปแบบต่างๆ ทดลองดีไซน์ออกมาตามช่วงอายุที่สะท้อนถึงความต้องการในชีวิตที่ต่างกันในแต่ละวัย ใจความสำคัญคือเพื่อให้แนวคิดนี้ขยับมาใกล้เราอีกหน่อยและเป็นสิ่งที่คนทั่วไปสามารถเลือกที่จะทำได้
03 ลานกีฬาริมน้ำเจ้าพระยา โบสถ์กาลหว่าร์
สนามกีฬาหลังเลิกเรียนกำลังคึกคักไปด้วยเด็กๆ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง แต่หากเรามีพื้นที่สาธารณะให้วิ่งเล่นและหย่อนใจอยู่ใกล้ตัวในระดับที่ไม่ต้องดั้นด้นเดินทางไปหาก็คงจะดียิ่งกว่า Green Hacker โดย we!park เลยเริ่มภารกิจเปลี่ยน 7 พื้นที่ร้างไซซ์จิ๋วให้เป็นพื้นที่สีเขียว หนึ่งในนั้นคือลานกีฬาริมน้ำเจ้าพระยา ด้านหน้าโบสถ์กาลหว่าร์ และด้วยความที่จุดนี้อยู่ในเขตโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย กลุ่มคนที่มาใช้จึงเป็นเด็กๆ ทีม we!park เลยดีไซน์พื้นที่ให้มีความสดใสและส่งเสริมให้เกิดการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการละเล่นตั้งเต การจัดเก้าอี้แบบล้อมวงให้เกิดการพูดคุยกันหรือการขีดเส้นวงสีบนพื้นก็เป็นอีกสิ่งที่ดึงดูดให้เด็กๆ มากระโดดเล่นกันได้ตามแต่จินตนาการ
04 MRT วัดมังกร ทางออก 2
ผ่านมาทางนี้อาจจะเพลินเอาได้ เพราะภายในสถานี MRT วัดมังกรบริเวณทางออก 2 ถูกเนรมิตให้เป็นโซนเกมแล้วเรียบร้อย โดยกลุ่ม City Trooper X Academic Program ไอเดียของกลุ่มนักศึกษาด้านการออกแบบสื่อประชาสัมพันธ์และมัลติมีเดีย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (IAMD) ได้ถูกสร้างสรรค์ออกมาเป็นเกมหรือสื่ออินเทอร์แอคทีฟที่ชวนสนุกแต่สอดแทรกประวัติศาสตร์ของย่านเยาวราชเอาไว้ อีกพาร์ทคือ เยาวลิงก์ นำเสนอเส้นทางสัญจรในเยาวราชและการเชื่อมต่อกับย่านข้างเคียง ส่วนนี้เน้นการเข้าถึงง่ายทุกเพศทุกวัยเลยนำเสนอออกมาในเชิงพื้นที่จริงมากกว่า เช่น ป้ายบอกข้อมูล หรือจุดพักคอย
05 หอประติมากรรมต้นแบบ สำนักช่างสิบหมู่
กรมศิลปากร
อีกโอกาสหาชมยากคือ การเปิดหอประติมากรรมต้นแบบของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ให้ชมในยามค่ำคืน ความสำคัญของที่นี่คือการเป็นพื้นที่จัดเก็บและจัดแสดงประติมากรรมรูปต้นแบบผลงานของอาจารย์ศิลป์และลูกศิษย์ สำหรับงาน Bangkok Design Week จะบอกเล่าเรื่องราวโดยเน้นให้เห็นความสำคัญของกระบวนการปั้นและหล่อสำริด ชิ้นที่ต้องไปชมให้ได้คือต้นแบบของพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า หากย้อนกลับไปสมัยนั้นในสยามยังไม่มีโรงปั้นหล่อ อาจารย์ศิลป์จึงจำเป็นต้องส่งรูปปั้นต้นแบบไปยังอิตาลีพร้อมเดินทางไปคุมงานปั้นด้วยตัวเอง จุดนี้สำคัญเพราะเท่ากับเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดโรงปั้นหล่อที่ได้มาตรฐานในสยามและเริ่มมีการถ่ายทอดองค์ความรู้งานประติมากรรมให้กับลูกศิษย์ในเวลาต่อมา
อีกงานต้นแบบที่ไม่ควรพลาดอย่างมากคือรูปปั้นต้นฉบับย่าโมก่อนจะมีการปรับท่าทางการถือดาบตามรูปปั้นจริงในปัจจุบัน
หากไปชมในช่วงกลางคืนจะมีการจัดไฟประกอบให้เห็นอารมณ์และมุมต่างๆ
ของประติมากรรมอย่างชัดเจน อาทิ
เศียรของพระพุทธรูปบริเวณกลางห้องที่ไฟจะค่อยๆ
เปลี่ยนมุมและสีขับเน้นให้เห็นจุดแต่ละจุดอย่างช้าๆ และตลอด 9
วันของงาน Bangkok Design Week ยังพิเศษกว่าเก่าด้วยการแสดง
Contemporary Dance และ Italian Electric Mix
ที่นี่จะเริ่มกิจกรรมภาคค่ำตั้งแต่เวลา 19:30 น.เป็นต้นไป
06 ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร, ลานคนเมือง
พาวิเลียนสีขาวที่ประกอบขึ้นจากโครงสร้างที่มีรูปร่างคล้ายใบโคลเวอร์เป็นร่มเงาให้กับคนเมือง หากสังเกตเห็นจุดนี้ก็บอกได้เลยว่ากิจกรรมแน่น เพราะมาด้วยคอนเซปต์พื้นที่ลานละเล่น หรือ Playing Room รวบรวมทุกสีสันความบันเทิงหย่อนใจ ทั้งดนตรีจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร การออกกำลังกาย การเต้น Swing ดนตรีเปิดหมวกตลอดจนหนังกลางแปลงจาก GDH
07 ประปาแม้นศรี
จากสถานที่ทางประวัติศาสตร์ในฐานะหอเก็บน้ำแห่งแรกของพระนครที่ปิดร้างมานาน 20 ปี ทีมสร้างสรรค์นำโดย Urban Ally ได้ชุบชีวิตพื้นที่แห่งนี้ขึ้นใหม่ในคอนเซปต์ Living Room พื้นที่นั่งเล่น ที่เต็มไปด้วยนิทรรศการที่หลากหลายครบทั้งมิติของแสง สี เสียงและ Art Installation พ่วงมาด้วยกลิ่นรสจาก Invisible Coffee pop-up cafe
เมสเสจหลักของตัวงานสื่อสารเกี่ยวกับน้ำและ Climage Change โดยการฉาย Projection Mapping บริเวณด้านบนของอาคาร แต่หากเดินเข้าไปด้านในแนะนำให้เริ่มจากฝั่งหน้าประตู ถนนบำรุงเมือง แล้วเดินตามเส้นสายหรือไกด์ไลน์ที่วางไว้ให้ ภายในอาคารมีการจัดแสดงภาพถ่าย The Portrait of Water Tank โดยทีม Foto_momo ที่สนใจรูปแบบสถาปัตยกรรมแทงก์น้ำจากการตระเวนสำรวจและคัดภาพแทงก์น้ำรูปทรงต่างๆ มาจากทั่วประเทศ ประกอบด้วยเสียงดนตรีที่ออกแบบโดยทีม Hear & Found ที่เดินทางไปเก็บเสียงน้ำมาจากป่าต้นน้ำอย่างเชียงใหม่และกาญจนบุรีเน้นให้บรรยากาศประกอบกับเสียงดนตรี และอีกฝั่งอาคารได้ดีไซน์เสียงล้อไปกับธีม Climage Change ของ Projection Mapping โดยเน้นความมินิมอลลิซึมแต่ผสมผสานกับเสียงน้ำหยดและการแตกของน้ำแข็ง หากใครตั้งใจจะไปปิดท้ายที่จุดนี้บอกก่อนว่าเขาปิดไฟตรงเวลามาก ฉะนั้นเผื่อเวลาไปก่อน 21:30 น.จะชัวร์ที่สุด
08 ปากคลองตลาด
ปีนี้เป็นปีแรกที่ตลาดดอกไม้เก่าแก่อย่าง ปากคลองตลาด เข้าร่วมเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ในงาน Bangkok Design Week กับคอนเซ็ปต์ ปากคลอง Pop Up ปลุกชีวิตปากคลองตลาดด้วยงานดีไซน์ งานนี้ไม่ได้เน้นไปที่ดอกไม้สดถมแบบอลังการ เพราะทางผู้จัดงานที่มี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นแม่งาน อยากจะเปิดมุมมองใหม่เกี่ยวกับความงามดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นดอกไม้แห่ง ใบไม้ กิ่งไม้ ต้นไม้ หรือดอกไม้ดิจิทัลก็สามารถเปลี่ยนเป็นงานดีไซน์ได้ โดยจุดจัดงานกระจายอยู่รอบๆ ปากคลองตลาดกว่า 10 โปรแกรม
ไฮไลต์คือ ใต้สะพานพระปกเกล้าฯ และด้านหน้าไปรษนียาคาร
ภายใต้การสร้างสรรค์ของ 27 June
Studio ชิ้นแรกเป็นการนำแสงสีมาสร้างถนนสายดอกไม้ที่ทางศิลปินใช้เทคโนโลยี
AR เข้ามาสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม ยิ่งเดินดอกไม้ก็จะยิ่งผลิบาน
ตรงกันข้ามยิ่งถ้าเรายืนอยู่ยิ่งๆ ไม่ขยับย่างก้าว
ถนนดอกไม้สายนี้ก็จะเหี่ยวเฉาและถูกเก็บไว้ในความมืด อีกชิ้นคืองาน
Projection Mapping ด้านหน้าไปรษณียาคาร
ฉายดอกไม้ขนาดใหญ่ทาบลงไปบนผนังอาคาร แต่ความพิเศษคือ
ดอกไม้เหล่านี้จะขึ้นไปผลิบานได้ ผู้ชมต้องมาร่วมกันวาด
และดอกไม้ทุกดอกที่วาดเสร็จแล้วก็จะขึ้นไปเฉิดฉายบนผนังอาคารทันที
เมื่อคิดถึงดอกไม้หลายคนต้องคิดถึง ผกา
สตูดิโอ งานนี้ทางผกาจัดแสดง 3 ชิ้นงาน คือ
แยกถนนจักรเพชรตัดกับถนนบ้านหม้อ, ชั้น 1 กลางตลาดยอดพิมาน,
พื้นที่ใต้สะพานพระปกเกล้า ข้างไปรษณียาคาร
ศิลปินเลือกที่จะใช้ใบไม้สด ใบไม้แห้ง ต้นไม้ วัสดุอุตสาหกรรม
และวัสดุที่ใช้ในงานดอกไม้ทำสร้างเป็นชิ้นงานศิลปะจัดวาง
โดยหัวมุมถนนบริเวณแยกถนนจักรเพชรตัดกับถนนบ้านหม้อใช้เป็นใบไม้กิ่งไม้แห้งโทนสีเขียวหม่นไปจนถึงน้ำตาลมาจัดเป็นพุ่มไม้ที่แซมด้วยดอกไม้ไหวสีเงิน
ส่วนที่ใต้สะพานพระปกเกล้าฯ เป็นการใช้ใบไม้โทนสีเขียวและใบตองที่ดูเหมือนตั้งกลางแดดจนสีเขียวซีดจางมาจัดวางในพื้นที่ว่างข้างทางที่หลายคนอาจไม่เคยสนใจว่าสักวันพื้นที่นี้อาจจะมีประโยชน์ และอีกชิ้นถือเป็นงานฟินาเล่ของโปรแกรมนี้ จัดแสดงอยู่กลางตลาดดอกไม้ที่มีทั้งความแฉะ ความเลอะเทอะ มีทั้งรถเข็นดอกไม้ผ่าน โดยศิลปินเลือกยกชิ้นงานซึ่งเป็นต้นกล้วยทั้งต้นขึ้นไปไว้บนเพดาน ใส่ดีเทลพวงมาลัยแบบไทยๆ เข้าไป มีเครือกล้วย ใบกล้วย มาครบมาก จัดวางคู่กับสแตนเลสวาวแสงที่สะท้อนภาพชาวตลาดขึ้นมาด้านบน
09 ฮงเชียงกง
ปีนี้ย่านตลาดน้อยซุกซ่อนงานศิลปะไว้ในพื้นที่เล็กๆ ตรอกเล็กๆ แน่นมาก หนึ่งในไฮไลต์คือชิ้นงาน Kilane Crimson Garden เป็นการคอลแลปกันระหว่างแบรนด์ไทยตรา “กิเลน” และศิลปินไทยรุ่นใหม่ ยูน – ปัณพัท เตชเมธากุล จัดสวนกลิ่นอายจีนที่นำประวัติศาสตร์ของย่านคนจีนย่านแรกๆ ในกรุงเทพฯ และประวัติศาสตร์ของแบรนด์ที่อายุกว่า 132 ปีมารวมกัน โดยจุดเด่นหนึ่งของแบรนด์กิเลนคือการใช้สมุนไพร และไฮไลต์ตรงจุดนี้นอกจากงานดีไซน์รูปกิเลนขนาดใหญ่ สูง 3 เมตรของยูนแล้ว ทางร้านฮงเซียงกงยังสร้างเมนูพิเศษเสิร์ฟเฉพาะในเทศกาลโดยเฉพาะ โดยนำส่วนผสมสมุนไพรจากผลิตภัณฑ์ ตรากิเลน จำนวน 4 เมนู พร้อมคุ้กกี่เสี่ยงทาย สร้างสรรค์โดย เชฟเป่าเป้-เจสสิก้า หวัง
สำหรับ 4
เมนูพิเศษเริ่มจาก ยูสุขิงโซดา ได้รับแรงบันดาลใจมาจากยาธาตุที่มีส่วนผสมของขิงช่วยเรื่องท้องอืดท้องเฟ้อ
ต่อมาคือ ชาเครื่องเทศโซดา ได้แรงบันดาลใจมาจาก ยากฤษณากลั่น ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องรักษาท้องร่วง
แต่ไม่ต้องห่วงเมนูนี้ไม่ได้ใส่ตัวยาจริงๆ
เพียงแต่นำกลิ่นเครื่องเทศของยากฤษณากลั่นมาใส่ไว้เท่านั้น
เมนูที่สามคือ ชานมกุหลาบอุทัยทิพย์ ใส่ใส่อุทัยทิพย์กุหลาบและมะลิเพื่อเพิ่มความหอมชื่นใจ
ปิดท้ายด้วย ช็อตโกแลตโบตัน ใส่ลูกอมโบตันลงไปจริงๆ
ทำให้เกิดรสสัมผัสที่แปลกใหม่ทั้งหวานและเย็นชุ่มคอ
09 Creator in Residence
ความพิเศษของ Bangkok Design Week ครั้งนี้คือการที่มีโปรแกรม ศิลปินในถิ่นพำนัก หรือ Artist in Residence โดยใช้ชื่อโปรแกรมว่า Creator in Residence เชื้อเชิญให้ศิลปินนักออกแบบจากต่างประเทศและในประเทศไทยเข้ามาพำนักอาศัยในเขตพระนครเพื่อสร้างสรรค์ผลงานที่ผ่านกลไกของการมาใช้ชีวิตคลุกคลีกับต้นทุนวัฒนธรรมในชุมชนต่างๆ เช่น งาน Coupling โดย Dr. Wang yan จาก Min Jiang University สาธารณรัฐประชาชนจีน นำผ้าจีวรจากจีนและไทยมาถักโดยเป็นการทำงานร่วมกับช่างทำจีวรจริงจากในชุมชนย่านพระนคร ชิ้นงาน The Life Circle Of Fueng Thong โดย Sandy Rismantojo ศิลปินจากประเทศอินโดนีเซียที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการเห็นการทำเพชรพลอยจิวเวอรี่ของชาวชุมชนเฟื่องทองตรอกวิสูตร หรืออย่างศิลปินจากญี่ปุ่น Ryusuke Kido ก็เข้ามาเรียนรู้และสร้างงานจากบาตรพระที่ชุมชนบ้านบาตร
ส่วนศิลปินไทยมีงาน มิตร & match โดย ร่มฉัตร ขำศิริ
การผสมผสานวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในพื้นที่ เช่น
ยาหอมที่มีมาตั้งแต่สมัย ร.5
และสมุนไพรหรือผักพื้นบ้านของคนอีสานมาสร้างสรรเป็นอาหารและเครื่องดื่ม
ให้เป็นทั้งอาหารตา อาหารกาย และอาหารใจ
10 โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ
“ธรรม-ทอง เล่าเรื่องย่าน ผ่านเรื่องทอง” โดย Sonjai เป็นอีกนิทรรศการที่เราไม่อยากให้พลาดเลยจริงๆ ตัวนิทรรศการตั้งอยู่ในความเก่าแก่ของอาคารประวัติศาสตร์ โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ เล่าเรื่องความรุ่งเรืองของ ถนนตีทอง ที่สร้างในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 เป็นถนนที่ตัดผ่านย่านชุมชนช่างทองหลวงความยาว 525 เมตร ตัวนิทรรศการถ่ายทอดกรรมวิธีของช่างทองแห่งถนนตี การตีทองคำเปลวซึ่งเป็นสิ่งที่ใช้กันทั้งประเทศและสำคัญอย่างมากต่อพุทธศาสนา ทว่าแต่สุดท้ายถนนทองคำเปลวก็ต้านการเปลี่ยนแปลงของเมืองไม่ไหวจนสุดท้ายก็เหลือเพียงชื่อถนนไว้ให้จำ
11 ถนนสายไม้บางโพ
ถนนสายไม้กำลังจะก้าวเข้าสู่บทบาทใหม่ที่มากกว่าย่านค้าขายไม้ที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แต่ถนนสายนี้กำลังจะก้าวเข้าสู่ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับงานไม้ในประเทศไทย และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ถนนสายไม้บางโพ หรือชื่ออย่างเป็นทางการ “ซอยประชานฤมิตร” เข้าร่วมเป็นย่านน้องใหม่ในงาน Bangkok Design Week 2023 ซ่อนงานศิลปะ งานดีไซน์จากช่างไม้บางโพไว้ตามตรอกซอกซอยต่างๆ ความยาว 1 กิโลเมตร ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีร้านค้าไม้มากถึง 200 ร้าน
ไฮไลต์ของย่านนี้เริ่มจากโปรแกรมทัวร์ Wood Journey
พาไปสัมผัสกับกระบวนการงานไม้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ
เปิดโรงเลื่อยเกือบจะแหล่งสุดท้ายของย่านให้ได้ดูวิธีการทำซุงในอดีต
ศิลปะจัดวาง The Life of Wood ออกแบบโดย บริษัท แปลน
แอสโซซิเอทส์ จำกัด นำโคมไม้มาต่อกันจนเกิดเป็น Main Pavilion
ถ้าสังเกตให้ดีจะพบว่าโคมไม้แต่ละอันไม่ได้ใช้ตะปู
แต่จะใช้ทักษะงานช่างไม้แบบเข้าลิ่ม เข้าเดือย โดยใช้ไม้สักทั้งหมด
ซึ่งนี่คือสุดยอดฝีมือของช่างบางโพที่แตกต่างจากงานไม้ในระบบอุตสาหกรรม
อีกชิ้นไฮไลต์คืองานแสงสีและ Projection Mapping ภายในศาลเจ้าแม่ทับทิม ผลงานการออกแบบของ ASITNAHC (ฉันทิศา) โดยศิลปินตั้งใจส่งต่อเรื่องราวที่พื้นที่แห่งความสุขในชุมชนนี้ให้ผู้คนที่มาจากพื้นที่อื่นได้เข้าใจเรื่องราวของคนในพื้นที่ผ่านศาลเจ้าแม่ทับทิมซึ่งสำหรับคนในชุมชน สถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนกับสวรรค์ในย่านบางโพนั่นเอง
12 ชุมชนนางเลิ้ง
เราดีใจมากที่ได้เห็นคนรุ่นเก่าเข้ามาร่วมเป็นหนึ่งในเทศกาลที่เต็มไปด้วยงานดีไซน์ร่วมสมัย ดังนั้นห้ามพลาดชมอย่างเด็ดขาดสำหรับ Sartorial – เข้าเครื่องชาตรี การแสดงโดยครูกัญญา ทิพโยสถ ครูนางรำชาตรีแบบดั้งเดิมท่านสุดท้ายซึ่งเป็นต้นตระกูลผู้นำละครชาตรีดัดแปลงจากการรำโนราห์มาพัฒนาการรำในกรุงเทพฯ จนเป็นที่นิยมและมีการนำไปแสดงในงานสมโภชน์ต่างๆ แต่เมื่อรูปแบบความบันเทิงในสังคมไทยเปลี่ยนไปตามกาลเวลา พื้นที่ในการแสดงออกซึ่งศาสตร์และวัฒนธรรมไทยที่ลดน้อยลงจนเหลือแต่เพียงการจ้างรำบวงสรวงจึงทำให้วัฒนธรรมที่หาชมได้ยากนี้กำลังถูกลบเลือนไป
13 ชุมชนเลื่อนฤทธิ์
ใครสนใจงานดีไซน์โดยเฉพาะเฟอร์นิเจอร์ให้ตรงมายัง ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ ไม่ไกลนักจากใจกลางเยาวราช งานนี้สมาคมผู้ผลิตผลิตภัณฑ์แนวดีไซน์ (The Design and Object Association) ได้รวบรวม 29 ผลงานประจายจัดแสดงตามห้องต่างๆ ผ่านการร่วมมือระหว่าง 39 สตูดิโอ โดยมี Pavilion ที่ถูกสร้างขึ้นใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ ออกเเบบโดย กรกต อารมณ์ดี
Fact File
งาน Bangkok Design Week จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-12 กุมภาพันธ์ 2566 ดูรายละเอียดทุกโปรแกรมจัดแสดงได้ที่ www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2023
คุณกำลังดู: ปักหมุด 13 โลเคชันไฮไลต์ Bangkok Design Week 2023
หมวดหมู่: เที่ยวทั่วไทย