ปรางค์นคร อารยธรรมขอมโบราณกว่า 1,000 ปี ที่ซ่อนตัวอยู่ในโคราช มุมอันซีนที่ต้องไปชม
รีวิวเที่ยวชุมชนปรางค์นคร ชมปราสาทบ้านปรางค์ที่มีอายุกว่า 1,000 ปี แหล่งอารยธรรมสุดอันซีนที่รอการไปเยี่ยมชม
หลังจากที่ได้มีการประกาศผลรางวัล 25 Unseen New Chapters ของทาง ททท. ประจำปี 2566 ออกมา ปรากฏว่ามีแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งของจังหวัดนครราชสีมา ที่ถือว่าสร้างเซอร์ไพรซ์ได้รับรางวัลในครั้งนี้ด้วย นั่นก็คือ "ปราสาทบ้านปรางค์" ปราสาทศิลปะขอมโบราณที่ตั้งอยู่ในชุมชนบ้านปรางค์นคร อำเภอคง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งแหล่งท่องเที่ยวแห่งนี้สมควรค่ากับคำว่าอันซีนจริงๆ เพราะเชื่อว่าหลายๆ คนยังไม่รู้จักและไม่เคยเห็นมาก่อนแน่นอน ในวันนี้ Sanook Travel เราจะพาทุกคนไปชมกันว่าที่ปรางค์นครแห่งนี้มีอะไรน่าสนใจและโดดเด่นจนได้รับการยกให้เป็น Unseen New Chapters กันบ้างครับ
สำหรับชุมชนปรางค์นครแห่งนี้ได้เปิดให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวที่สามารถรองรับคณะท่องเที่ยวได้อย่างเข้มแข็ง โดยทางผู้นำชุมชนและชาวบ้านต่างรวมตัวกันเป็นกลุ่มท่องเที่ยว สร้างกิจกรรม และเส้นทางการท่องเที่ยวไว้รองรับนักท่องเที่ยวอย่างชัดเจน
โดยจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวบ้านปรางค์นคร ชาวบ้านจะมารอให้การต้อนรับเราที่เทวะสถานรัตนพิมานบ้านปรางค์ทอง ซึ่งเป็นสถานที่สักการะเทพเจ้าฮินดู ตามหลักความเชื่อของศาสนาฮินดู ซึ่งมีความสอดคล้องกับอารยธรรมขอมโบราณที่เคยอยู่ในสถานที่แห่งนี้ โดยจะมีทั้งรูปปั้น องค์พระแม่กาลี พระศิวะ และพระพิฆเนศ ให้นักท่องเที่ยวได้มาสักการะ
ในส่วนของพิธีกรรมต้อนรับนักท่องเที่ยว พ่อใหญ่ แม่ใหญ่ ผู้ที่เป็นผู้เฒ่า ผู้แก่ ของหมู่บ้านจะมาคอยต้อนรับนักท่องเที่ยวและทำพิธีบายศรี สู่ขวัญ ผูกข้อไม้ข้อมือให้กับเรา รวมถึงมีการฟ้อนรับต้อนรับอย่างสนุกสนาน เป็นภาพบรรยากาศที่อบอุ่นอย่างแท้จริง
หลังจากนั้นเราจะได้ขึ้นรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง ซึ่งเป็นพาหนะหลักในการท่องเที่ยวของชุมชน นั่งรถชมหมู่บ้าน ผ่านบารายสวรรค์ ซึ่งเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ มีสะพานไม้ไผ่ทอดยาวไปกลางน้ำ เป็นมุมถ่ายรูปสวยๆ ที่ใครมาเที่ยวที่นี่ก็มักจะแวะมาถ่ายรูปเช็กอินกัน
จากนั้นเราไปต่อกันที่ไฮไลท์ของชุมชน คือที่ปราสาทบ้านปรางค์ ซึ่งเป็นปราสาทสร้างจากศิลาแลง ศิลปะแบบขอมโบราณ เป็นศาสนสถานในคติศาสนาฮินดู อายุราวพุทธศตวรรษที่ 17 ตรงกับศิลปะเขมรโบราณสมัยบาปวน ตอนปลาย-นครวัดตอนต้น แต่ต้นส่วนยอดของปราสาทนั้นขาดหายไป สันนิษฐานว่าอาจจะยังก่อสร้างไม่เสร็จในยุคนั้น
แต่ในเรื่องของความสมบูรณ์นั้นต้องยอมรับเลยว่าปราสาทแห่งนี้มีความสมบูรณ์และสวยงามมากๆ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปที่ถูกค้นพบในปราสาทแห่งนี้ และอีกส่วนหนึ่งถูกนำไปเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์
หลังจากเดินเล่นถ่ายภาพของปราสาทบ้านปรางค์กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ได้เวลาไปทานอาหารกลางวันของทางหมู่บ้านกัน โดยทางชาวบ้านจะจัดสำรับอาหารท้องถิ่นของชาวโคราช ไว้ให้เราได้นั่งทานบนเรือนโคราชดั้งเดิม ซึ่งเป็นเป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ด้วย ได้อรรถรสของการมาท่องเที่ยวชุมชนอย่างแท้จริง และที่สำคัญอาหารอร่อยมาก!
เมื่อทานข้าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว เรายังพอมีเวลาสามารถเดินเล่นถ่ายรูปภายในหมู่บ้านกันได้ โดยจะมีมุมไฮไลท์ เป็นสตรีทอาร์ต บนบ้านไม้เก่า ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายภาพกันแบบชิคๆ คูลๆ
หลังจากนั้นได้เวลาไปเปิดประสบการณ์ และเรียนรู้วิถีชาวบ้าน กับการทำขนมปาด ขนมท้องถิ่นที่มีลักษณะคล้ายกับขนมเปียกปูน ได้ลองทำ และลองชิมได้ด้วยตัวเอง บอกเลยว่าหอม อร่อยมากๆ ยิ่งทานร้อนๆ ยิ่งฟิน
ส่วนฐานต่อไปจะเป็นการทำตุงสามตา หรือ ดวงตาสวรรค์ ที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าเป็นเครื่องรางสำหรับดักฝันร้านได้ นอกจากนี้ยังถือเป็นเครื่องประดับและสินค้าชุมชนที่สวยงามด้วย ใครที่เป็นคนชอบงานประดิษฐ์ประดอย จะต้องชอบกิจกรรมนี้แน่นอน
และสำหรับใครที่อยากจะได้รูปสวยๆ ทางชุมชนก็มีชุดนางอัปสราให้เช่าสำหรับไปถ่ายรูปบริเวณปราสาทบ้านปรางค์ด้วย โดยสามารถติดต่อสอบถามกับทางชุมชนได้เลย รับรองได้ภาพสวยประทับใจแน่นอน
และทั้งหมดนี้ก็คือเสน่ห์ความสวยงามของวัฒนธรรม และ ความสวยงายงามทางประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลืออยู่ในชุมชนบ้านปรางค์ เป็นอีกหนึ่งแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ที่ควรค่าแก่การมาเยือนอย่างแท้จริง หากมีโอกาสได้มาเที่ยวโคราชลองแวะมาชมกันครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ที่ตั้ง : ตำบล บ้านปรางค์ อำเภอคง จังหวัด นครราชสีมา
พิกัด : https://goo.gl/maps/1iNs4Gfwa6SYbfcU9
ติดต่อ : 089 718 8182 พี่ประวิตร ชุมสุข ประธานวิสาหะกิจชุมชนการท่องเที่ยวชุมชนบ้านปรางค์นคร
ราคาแพ็คเกจท่องเที่ยว : 2,200 บาท / คน
- พัก 2วัน 1 คืน พร้อมอาหาร สามารถทำร่วมกันกับเจ้าบ้านได้
ทำตั้งแต่หาวัตถุดิบเลย ตามแต่สมัครใจ
- ชมบาราย พายเรืออีโปง
- DIY 2 อย่าง ดวงตาสวรรค์ ขนมปาด หมี่โคราช (เส้นเล็กและเหนียว)
ทอดมันบ้านปรางค์
คุณกำลังดู: ปรางค์นคร อารยธรรมขอมโบราณกว่า 1,000 ปี ที่ซ่อนตัวอยู่ในโคราช มุมอันซีนที่ต้องไปชม
หมวดหมู่: เที่ยวทั่วไทย