รู้จักชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและการรักษา

รู้จักชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและการรักษา

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphoma) คือเนื้องอกของระบบน้ำเหลือง (Lymphatic System) ซึ่งเกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของระบบน้ำเหลือง และความผิดปกติของเม็ดเลือดขาว โดยทั้งสองระบบเป็นเรื่องของภูมิคุ้มกันเหมือนกัน

สาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด ทั้งนี้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะเกิดกับอวัยวะต่างๆ ของระบบต่อมน้ำเหลือง ได้แก่ ม้าม ไขกระดูก ต่อมทอนซิล และต่อมไทมัส

ชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

1. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin Lymphoma) มีลักษณะจำเพาะคือ จะพบ Reed-Sternberg Cell

2. มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-Hodgkin Lymphoma) ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดหลักๆ โดยดูจากการเจริญเติบโตของเซลล์ คือ

1. ชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent NHL) จะมีอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งค่อนข้างช้า ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด
2. ชนิดรุนแรง (Aggressive NHL) จะมีอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเร็ว มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนี้ ถ้าได้รับการรักษาเร็วก็มีโอกาสหายขาดได้ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอาจเสียชีวิตภายใน 6 เดือน ถึง 2 ปี

อาการของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

1. มีการคลำพบก้อนในบริเวณต่างๆ เช่น คอ รักแร้ ขาหนีบ หรือในช่องท้อง โดยก้อนที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองนั้นคลำแล้วจะไม่เจ็บ ซึ่งแตกต่างจากโรคที่มีการติดเชื้อที่มักมีอาการเจ็บที่ก้อน
2. มีไข้ หนาวสั่น เหงื่อออกตอนกลางคืน
3. เบื่ออาหาร น้ำหนักลงและอ่อนเพลียโดยไม่ทราบสาเหตุ
4. ต่อมทอนซิลโต
5. ไอเรื้อรัง หายใจไม่สะดวก
6. ซีด และเลือดออกง่าย อาจสังเกตพบจุดเลือดออกตามตัวหรือจ้ำเลือดได้
7. ในรายที่เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในช่องท้องจะมีอาการแน่นท้อง อาหารไม่ย่อย ปวดท้อง หรือท้องโตขึ้นจากการมีน้ำในช่องท้อง

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

1. อายุ : อายุที่มากขึ้นมีความเสี่ยงมากขึ้น
2. การติดเชื้อ : พบความสัมพันธ์ระหว่างมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิดกับการติดเชื้อในร่างกาย เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter Pylori กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด MALT Lymphoma, การติดเชื้อ EBV กับมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิด Burkitt Lymphoma
3. ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วย HIV ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
4. โรคแพ้ภูมิตนเอง (Autoimmune Disease) : ผู้ป่วย SLE มีโอกาสเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้มากกว่าคนทั่วไป

การวินิจฉัยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

เมื่อแพทย์ได้ทำการตรวจและสงสัยว่าผู้ป่วยอาจเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง การวินิจฉัยเพื่อพิสูจน์สามารถทำได้โดยตัดชิ้นเนื้อไปตรวจทางพยาธิวิทยา (Tissue Biopsy) นอกจากนี้ยังสามารถตรวจเพิ่มเติมเพื่อประเมินระยะโรค และวางแผนรักษาให้เหมาะสม ด้วยการตรวจดังนี้
1. การตรวจไขกระดูก (Bone marrow study.)
2. การตรวจเอกซเรย์ : CT scan, PET/CT scan, MRI
3. การตรวจเลือด

ระยะของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองเพียงบริเวณเดียว
ระยะที่ 2 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองตั้งแต่ 2 ตำแหน่งขึ้นไป โดยต้องอยู่ภายในด้านเดียวกันของกะบังลม
ระยะที่ 3 : มีรอยโรคที่ต่อมน้ำเหลือง หรือนอกต่อมน้ำเหลืองที่อยู่คนละด้านของกะบังลม หรือพบรอยโรคที่ม้ามร่วมด้วย
ระยะที่ 4 : มีรอยโรคกระจายออกไปเกินตำแหน่งเริ่มต้นที่พบ ซึ่งตำแหน่งที่พบการกระจายของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้บ่อย เช่น ตับ ไขกระดูก หรือปอด เป็นต้น
แนวทางการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน
ขึ้นอยู่กับชนิดและระยะของมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งสามารถใช้เป็นการรักษาแบบเดียว หรือการรักษาแบบผสมผสานก็ได้ ดังนี้

1. การเฝ้าติดตามโรค : ใช้ในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบบค่อยเป็นค่อยไป (Indolent) อยู่ในระยะที่ 1 และไม่มีอาการผิดปกติอื่นๆ และระหว่างการเฝ้าติดตามโรค ผู้ป่วยจะต้องได้รับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด หรือตรวจทางรังสีเป็นระยะๆ ตามที่แพทย์กำหนด
2. การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) : ซึ่งจะออกฤทธิ์ไปทำลายเซลล์มะเร็ง โดยทั่วไปจะใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน หรืออาจให้ร่วมกับการรักษาด้วยแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies)
3. การรักษาด้วยยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี (Monoclonal Antibodies) : คือสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ในการจับกับโปรตีนบนผิวเซลล์ของเซลล์มะเร็ง หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายให้มากำจัดเซลล์มะเร็ง ถือว่าเป็นวิธีช่วยในการทำลายเซลล์มะเร็งได้ในบริเวณกว้าง และส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเนื้อเยื่อปกติ
4. การฉายรังสี (Radiation Therapy) : เป็นการรักษาด้วยรังสีปริมาณสูง เพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง
5. การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด (Stem Cell Transplantation) : แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่ การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยอาศัยเซลล์ของผู้บริจาค (Allogeneic Stem Cell Transplantation) และการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดโดยอาศัยเซลล์ของผู้ป่วยเอง (Autologous Stem Cell Transplantation)
6. การรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดแบบเซลล์บำบัด (Chimeric Antigen Receptor T Cell, CAR T Cell) : เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

บทความโดย : พญ.พัชราวดี รงค์วราโรจน์ แพทย์เฉพาะทางอายุรศาสตร์โรคเลือด ศูนย์มีสุข (มะเร็งและโรคเลือด) รพ.พญาไท 3

คุณกำลังดู: รู้จักชนิดของมะเร็งต่อมน้ำเหลืองและการรักษา

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด