รู้จักเทคโนโลยี Cell Broadcast ตัวช่วยเรื่องการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน

รู้จักเทคโนโลยี Cell Broadcast ตัวช่วยเรื่องการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน

เหตุการณ์ไม่คาดฝันหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ทั้งจากภัยธรรมชาติและภัยจากน้ำมือมนุษย์ เป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ แม้ว่าในหลาย ๆ ครั้งจะมีมาตรการรับมือสถานการณ์เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนก็ตาม แต่บางครั้งก็ต้องทำควบคู่ไปกับ “การแจ้งเตือนภัยฉุกเฉิน” ด้วย เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างรวดเร็ว ข้อมูลถูกต้อง ชัดเจน มีข้อควรปฏิบัติหรือคำแนะนำต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติในขั้นตอนต่อ ๆ ไป พื้นที่ไหนมีเหตุร้ายที่ไม่ปลอดภัยจะได้ไม่เข้าไป หรือหากต้องอพยพออกจากพื้นที่จะได้ทำอย่างถูกต้องและปลอดภัย เพิ่มโอกาสในการลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

 

Emergency Alert System การเตือนภัยฉุกเฉินที่ประเทศไทยยังไม่มี

สำหรับ Emergency Alert System หรือระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน จะเป็นข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติตลอดจนเหตุการณ์ร้ายแรงต่าง ๆ จากรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเตือนภัยประชาชนในวงกว้างด้วย SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือที่ในยุคนี้คนแทบทุกคนมีใช้ โดยใช้เทคโนโลยี “Cell Broadcast” ในการกระจายข้อความให้เข้าถึงคนจำนวนมาก ทำให้โทรศัพท์มือถือที่ไม่ว่าจะเป็นเครื่องหลักร้อย หลักพัน หรือหลักหมื่น ใช้เครือข่ายสีอะไรก็ตามแต่ จะได้รับข้อความแจ้งเตือนฉุกเฉินเหมือนกัน

เวลานี้ Emergency Alert System ได้กลายมาเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยถามหาและอยากจะเห็นผลงานเป็นชิ้นเป็นอันจากหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่เกี่ยวข้อง ในทุก ๆ ครั้งที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นในประเทศไทย ไม่ว่าจะภัยฉุกเฉินอย่างอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย พายุฝนฟ้าคะนอง แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม กรณีสารเคมีรั่วไหลสู่ชุมชน น้ำมันรั่วกลางทะเล วัตถุกัมมันตรังสีสูญหาย โรงงานสารเคมีระเบิด แม้กระทั่งในวันที่ค่าฝุ่น pm2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ รวมถึงเหตุการณ์ร้ายแรงในที่สาธารณะที่เกิดขึ้นจากฝีมือมนุษย์ ดังเช่นกรณีกราดยิงที่เพิ่งเกิดขึ้นกลางห้างดังใจกลางเมืองหลวง แต่กลับไร้ซึ่งข้อความเตือนภัยจากหน่วยงานรัฐ ที่มีหน้าที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชนโดยตรง

ข่าวกราดยิงกลางห้าง ทำให้ประเด็นการเรียกร้อง Emergency Alert System ได้เป็นกระแสจุดติดอีกครั้ง เพราะในขณะที่เกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้นนั้น ประชาชนหลายคนที่อยู่ในพื้นที่เกิดเหตุหรือที่กำลังจะเดินทางไปที่เกิดเหตุ ไม่ได้รับแจ้งสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งที่อันตรายอยู่ข้างตัวพวกเขาขนาดนั้น พวกเขาไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้องและชัดเจนมากไปกว่าว่ามีเหตุวุ่นวายเกิดขึ้น มีคนบาดเจ็บ และมีคนเสียชีวิต กระทั่งสักพักที่เริ่มมีการรายงานข่าวในโซเชียลมีเดีย ส่วนผู้คนทั่วไปที่อาจเป็นญาติ ๆ ของคนที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ก็ไม่ทราบเลยว่ามีการก่อเหตุสลดขึ้นในใจกลางกรุงเทพฯ ถ้าไม่เข้าโซเชียลมีเดียไปเจอข่าวเข้า แถมข่าวสารที่ออกมาในช่วงต้น ๆ ก็กระปริดกระปรอยสร้างความสับสนไม่น้อย

ทั้งที่สิ่งที่สำคัญที่สุดในเวลานั้น คือ ประชาชนควรจะต้องรู้ข้อมูลเตือนภัยที่น่าเชื่อถือจากหน่วยงานภาครัฐอย่างทันท่วงที รวมไปถึงได้รับคำแนะนำสำคัญ ๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นระเบียบเรียบร้อยและปลอดภัย โดยเฉพาะการแจ้งอพยพอย่างถูกต้องและปลอดภัย ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ผู้คนจำนวนหนึ่งทราบข่าวจากการที่ประชาชนแจ้งข่าวกันเอง เตือนภัยกันเอง ทางห้างแจ้งเตือน มีการขึ้นแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านแอปฯ ส่งอาหาร นักเขียนนิยายแจ้งเตือนผู้อ่านผ่านเว็บไซต์แต่งนิยาย Readawrite รวมถึงแฮชแท็ก #พารากอน ในโซเชียลมีเดีย ที่ทำให้ประชาชนได้ทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับไม่มีข้อความแจ้งเตือนภัยจากรัฐบาลเลย ช่องทางกระจายข่าวสารฉุกเฉินก็ไม่มี

คำถามก็คือ ทำไมเวลานี้ประเทศไทยถึงยังไม่มีระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน Emergency Alert System ที่เป็นข้อความแจ้งเตือนภัยพิบัติ ตลอดจนเหตุการณ์ร้ายแรงจากรัฐบาลเลย และเมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุร้ายขึ้น ก็จะมีการถามหากันอีกครั้งว่าแล้วเมื่อไรถึงจะมีสักที เพราะถ้าหากศึกษาความสำคัญของระบบแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินนี้ เบื้องต้นเลยก็คือมันช่วยลดความเสียหายหรือการสูญเสียได้อย่างมหาศาล เมื่อมีแจ้งเตือนเหตุร้าย เราจะกันผู้ไม่เกี่ยวข้องที่กำลังจะเข้าไปในพื้นที่ได้ ถ้าเขารู้ว่าไม่ปลอดภัยก็จะไม่เข้าไป มีการแจ้งเตือนเพื่อให้คนในพื้นที่ยกระดับการระวังภัย ฟังคำแนะนำที่น่าเชื่อถืออย่างเคร่งครัด หรืออพยพออกจากที่เกิดเหตุโดยเร็ว มันมีประโยชน์เป็นอย่างมาก

เทคโนโลยี Cell Broadcast กับการเตือนภัยฉุกเฉินแก่คนจำนวนมาก

โลกของเราทุกวันนี้เป็นโลกยุคดิจิทัลแบบเต็มรูปแบบ มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่าการใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ ที่อาจใช้ได้แค่ในบางกรณีและมีข้อจำกัดอื่น ๆ ในการใช้งาน มันคือเทคโนโลยี Cell Broadcast ที่ภาครัฐสามารถใช้สื่อสารและส่งข้อความแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินได้ถึงโทรศัพท์มือถือในมือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที เพราะทุกวันนี้ประชาชนแทบทุกคนมีมือถือใช้ ต่อให้เป็นเครื่องราคาหลักร้อยก็สามารถรับข้อความแจ้งเตือนนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องเชื่อมอินเทอร์เน็ตก็รับข้อความได้ แต่ทุกคนไม่ได้มีวิทยุทรานซิสเตอร์ใช้ หรือเด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จักแล้วด้วยซ้ำไป

Cell Broadcast เป็นเทคโนโลยีการส่งข้อความไปยังผู้ใช้โทรศัพท์มือถือหลายรายในพื้นที่ที่กำหนดพร้อมกัน ซึ่งการส่งข้อความผ่าน Cell Broadcast เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1997 โดยมีการทดลองในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และปัจจุบันมีใช้งานแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก โดยข้อความนี้จะส่งแจ้งเตือนในยามฉุกเฉินเท่านั้น

Cell Broadcast เป็นระบบที่มีจุดเด่นตรงที่ไม่ว่าเราจะใช้เครือข่ายอะไร 2G, 3G, 4G, 5G, CDMA ก็สามารถรับข้อความได้ โดยข้อความแจ้งเตือนจะมาตามคลื่นวิทยุ ไม่ต้องทราบเบอร์โทรศัพท์ก็รับข้อความได้ หรือแม้สัญญาณอ่อนก็ส่งได้เช่นกัน ไม่มีอินเทอร์เน็ตก็รับข้อความได้ หน่วยงานสามารถส่งข้อความได้โดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่าย และข้อความที่ส่งสามารถเข้าถึงมือถือได้จำนวนมากในเวลาไม่กี่วินาที อย่างไรก็ตาม ในอุปกรณ์มือถือจำนวนมาก ฟังก์ชันนี้อาจถูกปิดใช้งานไว้ตามค่าเริ่มต้น และไม่มีอินเทอร์เฟซมาตรฐานในการเปิดใช้งานคุณลักษณะนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประชาชนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มี Emergency Alert System แจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินกับประชาชน ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 เว็บไซต์ change.org เคยได้มีการรรณรงค์แคมเปญ “น้ำท่วม สารเคมีรั่วนครปฐม และอีกหลายกรณี กสทช. ต้องทำระบบ SMS เตือนภัย” และต่อมาวันที่ 5 ต.ค. 2565 เฟซบุ๊กของ พรรคก้าวไกล – Move Forward Party ก็ได้โพสต์ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยี Cell Broadcast ไว้ว่า

ถ้าเราเคยดูภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่เมื่อมีเหตุแผ่นดินไหวแล้ว โทรศัพท์ของทุกคนดังขึ้นมาพร้อมกัน นั่นคือการเตือนภัยพิบัติ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่จินตนาการ แต่เป็นสิ่งที่ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา ฝรั่งเศส ฯลฯ ด้วยเทคโนโลยีการส่งข้อมูลที่เรียกว่า Cell Broadcasting

Cell Broadcasting คือระบบส่งข้อมูลโดยตรงจากเสาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์มือถือทุกเครื่องในพื้นที่ให้บริการพร้อมกันในรวดเดียว ซึ่งจะมีข้อดีคือ

  • หน่วยงานรัฐสามารถส่งข้อมูลตรงได้เลยถึงโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยไม่ต้องผ่านผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ (บริษัท AIS, DTAC, True) แบบที่ กสทช. ทำ
  • ส่งข้อความจากเสาสัญญาณไปถึงโทรศัพท์ทุกเครื่องในรวดเดียวโดยไม่ต้องระบุเบอร์มือถือ ทำให้สะดวก รวดเร็ว และเจาะจงพื้นที่ได้ (ความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที)
  • ไม่กระทบกับการสื่อสารปกติ เพราะใช้คนละช่องสัญญาณกับโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ต
  • ประชาชนไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชันเพิ่มเติม
  • รองรับการให้บริการครบทั้งคลื่นความถี่ 2G, 3G, 4G, 5G สามารถรับประกันได้ว่าข้อความสามารถไปถึงทุกคนไม่ว่าโทรศัพท์จะรุ่นเก่าหรือใหม่อย่างไร

ซึ่งเทคโนโลยี Cell Broadcasting นี้ สามารถแจ้งเตือนได้ทั้งสภาพอากาศ ระดับน้ำ และกรณีเกิดภัยพิบัติ เพื่อให้ประชาชนรับมือและข้อแนะนำในการช่วยเหลือเยียวยาจากทางภาครัฐ ซึ่งปัจจุบันหลายหน่วยงานมีการเก็บและรายงานข้อมูลเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการนำมาสื่อสารถึงประชาชนอย่างเป็นระบบ

นอกจากนี้ ยังมีการเปรียบเทียบกับการใช้วิทยุทรานซิสเตอร์ในการกระจายข่าวสาร ที่ถึงแม้ว่าการใช้วิทยุนั้นจะเป็นวิธีที่ใช้ได้ในบางสถานการณ์ เช่น เมื่อระบบสัญญาณโทรศัพท์ถูกตัดขาด (ซึ่งสถานการณ์ภัยพิบัติของประเทศไทยในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ยังไม่รุนแรงถึงขนาดสัญญาณโทรศัทพ์ถูกตัดขาด) แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่วิธีแก้ในปลายทางเมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว แต่ในยุคที่แทบทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ การใช้ Cell Broadcast ในการเตือนภัยล่วงหน้านั้นทั้งง่ายกว่า รวดเร็วกว่า และจะทำให้ประชาชนสามารถอพยพได้อย่างทันท่วงที ป้องกันและลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้ก่อนที่จะเกิดเหตุ

ไทยเราจะได้เริ่มใช้งานเป็นรูปเป็นร่างได้เมื่อไร

สืบเนื่องมาจากกรณีเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้ากลางกรุง ซึ่งทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ถึงการแจ้งเตือนภัย (Emergency Alert) สำหรับคนไทยแบบเจาะจงที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร กรณีมีเหตุร้ายหรือภัยพิบัติ เพื่อป้องกันภัยและลดความเสียหายต่อประชาชน ทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมก็เริ่มเคลื่อนไหว เร่งดำเนินการออกแบบเทคโนโลยีการเตือนภัยให้กับคนไทย โดยร่วมกับ กสทช. หาแนวทางทำงานในการแจ้งเตือนภัยแบบเจาะจง ดังนี้

  • ระยะเร่งด่วนภายใน 1 เดือน : ใช้ระบบส่ง SMS (Location Based Service) ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ จากเดิมที่มีใช้อย่างไม่ครอบคลุม ใช้ระบบอย่างไม่บูรณาการ ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร
  • ระยะปานกลางโดยเร็ว : ใช้ระบบ Cell Broadcast เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า SMS โดยจะแจ้งเตือนแบบเจาะจงได้ทันที และมีการเตือนได้หลายรูปแบบ เช่น การสั่นของโทรศัพท์เคลื่อนที่และเครื่องมือสื่อสาร การเด้ง pop -up ของข้อความ เป็นต้น ซึ่งทาง DE ได้สรุปทางเทคนิคกับ กสทช. แล้ว และผู้ให้บริการพร้อมดำเนินการจะเร่งขยายใช้วงกว้างโดยเร็ว

โดยในส่วนของระบบ Cell Broadcast จะเป็นระบบการส่งข้อความแบบส่งตรงจากเสาส่งสัญญาณสื่อสารในพื้นที่ ไปยังโทรศัพท์เคลื่อนที่ และเครื่องมือสื่อสารในพื้นที่ที่มีการติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ซึ่งจะทำให้การส่งข้อมูลรวดเร็วและครอบคลุมทั้งพื้นที่ และ Cell Broadcast ไม่ต้องการเบอร์โทรศัพท์ ทำให้รวดเร็วกว่าการส่ง SMS มาก นอกจากนี้ ระบบ Cell Broadcast สามารถทำงานได้โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน

ทั้งนี้ ระบบการแจ้งเตือนภัยเดิมแบบ SMS จะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าระบบ Cell Broadcast มาก โดยระบบ SMS จะใช้เวลาประมาณ 15-20 นาทีในการประมวลผลว่ามี SIM โทรศัพท์หมายเลขใดอยู่ในพื้นที่บ้าง และใช้เวลาในการส่งข้อความอีกประมาณ 1-20 นาทีในการส่งให้ครบกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ โดยเฉพาะในกรณีที่มีคนจำนวนมากในพื้นที่เป้าหมาย แต่ระบบ Cell Broadcast จะเร็วกว่านั้นมาก คาดการณ์ว่ามีความเร็วระดับส่งได้หลายสิบล้านเครื่องในเวลาไม่ถึง 10 วินาที

ศาสตราจารย์คลินิก นายแพทย์ สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้หารือกับ DE และผู้ให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะมีกลไกและการทำงานดังนี้

  1. ทำ command center เพื่อให้ operators รู้ว่าต้องรับคำสั่งจากใคร ข้อความใด ส่งอย่างไร ซึ่งสำนักงาน กสทช. จะออกกฏระเบียบที่เกี่ยวข้อง
  2. Update software ที่กระจายส่งสัญญาณ ให้ใช้ Cell Broadcast ได้

ทั้งนี้ การให้บริการแจ้งเตือนด้วยระบบ Cell Broadcast จะต้องมีการติดตั้งอุปกรณ์ พร้อม software สำหรับ Cell Broadcast ทางสำนักงาน กสทช. ประสาน ผู้ให้บริการโทรคมนาคม เพื่อเร่งดำเนินการให้เสร็จพร้อมใช้ทั้งประเทศโดยเร็ว สำหรับที่มาของงบประมาณ จะใช้เงินจากกองทุน USO

อย่างไรก็ดี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้กล่าวถึงความคืบหน้าระบบแจ้งเตือนภัย ว่าเมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (5 ต.ค. 2566) ได้ทดลองการยิงสัญญาณเข้าโทรศัพท์มือถือ แจ้งเตือนภัยแบบเฉพาะเจาะจงพื้นที่ในบริเวณทำเนียบรัฐบาล หรือเรียกว่าระบบ Location-Based System ทดลองผ่านเครือข่าย AIS และ TRUE พบว่าระบบดังกล่าวสามารถใช้งานได้ดี ซึ่ง DE จะหารือกับ กสทช. และโครงข่ายโทรศัพท์ทั้งหมด ถือเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น สามารถทำได้ทันที

ส่วนในระยะยาวจะเร่งพัฒนา Cell Broadcast ซึ่งเป็นระบบที่ทั่วโลกใช้ ต้องใช้เวลาดำเนินการ ซึ่งไม่เกิน 1 ปี จะสามารถเกิดขึ้นได้ หรืออย่างเร็วคือภายใน 6 เดือน หากสามารถทำได้จะเป็นระบบที่มีความเสถียร และเป็นระบบเตือนภัยที่สามารถแจ้งพี่น้องประชาชนได้อย่างครอบคลุมและสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น โดยต้องหารือกับกระทรวงมหาดไทย และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ระบบมีความมั่นคง และสามารถแจ้งเตือนภัยได้อย่างทันท่วงที ส่วนการแจ้งเตือนภัยพิบัติผ่าน LINE ALERT ที่มีการใช้งานในปัจจุบันนั้น หากมีเหตุใหญ่ที่กระทบประชาชนทั้งประเทศ จะยกระดับการแจ้งเตือน ซึ่งมีแผนเตรียมการไว้แล้วเช่นกัน

คุณกำลังดู: รู้จักเทคโนโลยี Cell Broadcast ตัวช่วยเรื่องการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน

หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด