ร้านหนังสือในบ้านของนักเขียน จี๋-บุษกร พิชยาทิตย์ ที่สวนกระแสกับโลกออนไลน์

ร้านหนังสือในบ้านของนักเขียน จี๋-บุษกร พิชยาทิตย์ ที่สวนกระแสกับโลกออนไลน์

หากกล่าวถึงคุณจี๋-บุษกร ในแวดวงของนักอ่านคงรู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี เธอเคยเปิดร้านหนังสือเล็กๆ ตรงถนนพระอาทิตย์ เหตุด้วยใจรักในการอ่านจึงทำตึกที่ซื้อไว้เป็นทั้งที่พักอาศัยและมีห้องรับแขกเป็นร้านขายหนังสือให้ผู้คนได้แวะเวียนพบปะพูดคุยในเรื่องราวเดียวกัน

“เราทำร้านหนังสือมาตั้งแต่ปี 2538 ที่ถนนพระอาทิตย์ เพราะชอบอ่านหนังสือ เลยคิดว่าชีวิตการทำหนังสือน่าจะสนุก เราซื้อตึกแถวถนนพระอาทิตย์ไว้ และทำห้องๆ หนึ่งขึ้นมาเพื่อขายหนังสือ มีคนมาพบเราที่บ้าน  มีห้องรับแขก แต่ของในนั้นเป็นหนังสือ นี่เป็นชีวิตที่เราเลือกแล้วอยากทำ สนุกกับการใช้ชีวิตที่นั่นมาก จัดงานบ่อย ทั้งหนังสือทำมือและงานอื่นๆ ในช่วง 20 กว่าปี ทุกคนประทับใจภาพเหล่านี้ บางทีเราก็จัดงานริมถนน เพราะเมื่อก่อนไม่มีสวนสาธารณะ อย่างเล่านิทานผีให้กับเด็กๆ แถวนั้นฟัง คนละแวกนั้นก็ทำขนมให้เด็กๆ กิน เราอยู่ที่นั่น 4 ปีเต็ม อยู่คนเดียวกับสัตว์เลี้ยง รู้สึกเหนื่อยมากแล้วก็เป็นไทรอยด์ เลยคิดว่าเราอยู่ตรงนี้ไม่ได้แล้ว ต้องไปทำการงานที่เงียบๆ เลยย้ายมาอยู่เชียงใหม่ตรงพืชสวนโลก”

ย้ายบ้านจากกรุงเทพฯ สู่เชียงใหม่

จากความสุขในวันนั้นที่คุณจี๋ได้ลงมือทำทุกอย่างด้วยใจชอบ เธอจึงตัดสินใจย้ายไปจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากต้องการพื้นที่สงบสำหรับทำงาน โดยระยะแรกยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แล้วก็ย้ายมาอยู่ในอำเภอสารภีอย่างถาวรบนที่ดิน 1 ไร่ เป็นที่อาศัยปัจจุบันซึ่งเป็นทั้งบ้านและร้านหนังสือเล็กๆ ที่ถูกปกคลุมไปด้วยร่มเงาของต้นไม้ที่แข่งกันแผ่กิ่งก้านชูใบ

“ก่อนหน้านั้นก็ไปๆ มาๆ จนปี 2544 ย้ายมาถาวร ขนแมวมาหมด เรามีญาติอยู่เชียงใหม่ แล้วคุณพ่อคุณแม่ท่านผูกพันกับเขาเลยมาอยู่ที่นี่ กลายเป็นว่าเราใช้ชีวิตที่นี่อย่างมีความสุข เริ่มเขียนรูปทั้งที่ไม่ได้เรียนศิลปะ เราชอบคำพูดคำหนึ่งของท่านเขมานันทะ อาจารย์บอกว่าถ้าเราอยากเขียนอะไร ทำอะไร ให้มองนานๆ เชื่อเรื่องการภาวนา มองให้ถึงข้างในดวงใจของเราแล้วเราจะเขียนได้ เราก็มองนานๆ แล้วพลิกข้อมือตามเส้นสายของดอกไม้ ใบไม้ ซึ่งได้เขียนภาพประกอบให้กับอาจารย์เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนรูปประกอบให้กับหนังสือตัวเองเรื่องดอกไม้ เขียนหนังสือ เพราะเพื่อนที่เป็นบรรณาธิการชวนเขียนลงเนชั่นอยู่หลายปี เห็นอะไรก็เอามาเล่า เลี้ยงแมว พาหมาเดินเล่น เราเห็นมุมมองจากการเดินเล่นที่ไม่ได้เป็นการตั้งใจเดินจากตรงนี้ไปตรงนั้น แต่ระหว่างทางเราเห็นอะไรบ้าง เห็นแมลงเล็กๆ เห็นดอกไม้เล็กๆ เห็นสายลม หมาลาบราดอร์ชื่อแสงโสม เดินเล่นกับเราทุกเย็น เราเห็นจิตใจเขา ไม่ใช่แค่หมา แค่พูดไม่ได้ เราเขียนเป็นชุดเลย ชื่อหนังสือ หมาแมวในแถวรักลงสกุลไทยยาวนานจนมีแฟนคลับติดตาม เพราะไม่ได้เขียนแต่มุมน่ารัก เขียนจากข้างในแล้วก็เขียนเรื่องตัวเรา บรรยายแล้วรู้สึกเพลิดเพลินกับการเขียนหนังสือ

“พอวันหนึ่งที่สกุลไทยปิดตัวก็ยังเขียนเกี่ยวกับดอกไม้ เรากลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องดอกไม้โดยไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้รู้สึกว่าเราเชี่ยวชาญ แต่เราโตมากับการเห็นดอกไม้เยอะแล้วเราไม่รู้ว่าเก็บรับอย่างไร มันอยู่ข้างในโดยที่เราไม่รู้ ใครถามชื่อดอกไม้เราตอบได้หมด เป็นวิถีที่เราไม่รู้ตัว งานของเราจึงไม่ได้มองแค่ดอกไม้ หรือมองแค่ว่าดอกไม้คือชีวิต แต่เราเห็นจักรวาลในดอกไม้

ทำร้านหนังสือในบ้าน

“เราดูแลพ่อแม่ที่แก่มาก รู้สึกว่าเราจะใช้ชีวิตในโลกที่เปลี่ยนไปอย่างไร โลกมันเปลี่ยนไปมากจนเราไปกรุงเทพฯ ก็งง เราไปไม่ได้อีกแล้ว ทั้งที่บ้านก็อยู่กรุงเทพฯ ขึ้นรถไฟฟ้าก็ไม่เป็น ในที่สุดเลยคิดว่ากลับมาทำอะไรในบ้านดีกว่า ในสวนดอกไม้นี่แหละ ก็เลยเชิญพี่เอ๋-อริยา ไพฑูรย์ (เขาเป็นคนที่เชี่ยวชาญเรื่องหนังสือเด็กมาก เป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์แพรวเยาวชนมา 20-30 ปี) ชวนเอ๋มาอยู่บ้านเรา ให้เขาชวนคุณแม่มาด้วย เพราะว่าคุณแม่แก่แล้ว เราไม่มีลูก ไม่แต่งงาน รู้สึกว่าที่ตรงนี้แค่ 1 ไร่ อยากมีงานที่เรารัก มีเพื่อน มีใครที่เราต้องดูแล มีหมาแมว เดี๋ยวก็จะมีเพื่อนสองสามคนตามมาอีก เราทำขึ้นมาโดยไม่ได้เอาเงินเป็นตัวตั้ง แต่เอาจิตใจ เอาวิถีชีวิตของเรา เราจึงทำร้านหนังสืออยู่ในบ้าน มีคนบอกว่าจะเป็นไปได้อย่างไรมีร้านหนังสืออยู่ในบ้าน เป็นคนไม่หวั่นไหวต่อโลกกระแสหลัก เพราะเชื่อว่าเราเอาใจเราเป็นที่ตั้ง ในเรื่องของการใช้ชีวิต มันจะตอบคำถามเราเอง เราจะอิ่มเต็ม โลกมันเปลี่ยน ขายออนไลน์ก็ได้ วันเสาร์อาทิตย์ เด็กๆ มากันก็ได้ ไม่มาก็ไม่เป็นไร นี่จึงเป็นที่มาของร้านหนังสือในบ้าน แล้วที่ตรงนี้เราได้เกื้อหนุนเพื่อนมิตรไปด้วย

“นี่ไม่ได้หมายความว่าเรารวยมาก แต่เราเจอมิตรระหว่างทางที่เกื้อหนุน อย่างเราบอกจะทำกำแพง ทำรั้ว คุณสุดา (เพื่อนสนิท) เขาเลยให้ของขวัญด้วยการหาช่างมาทำให้ ซึ่งเราก็เกรงใจเขามาก เราเป็นคนออกแบบเอง โดยทำรั้วให้สามารถใช้ประโยชน์กับงานหนังสือได้ด้วย หรือเวลามีเพื่อนฝูงก็แวะมาหา หรือไม่ก็ช่วยเราซื้อหนังสือ ข้อดีของการทำหนังสือคือเราได้กัลยาณมิตรมากมาย”

สร้างบ้านทีละหลัง

ก่อนหน้านี้คุณจี๋มีบ้านอีกหลังอยู่บริเวณพืชสวนโลก แต่ขายแล้วย้ายมาอยู่ในอำเภอสารภี ซึ่งน้องของคุณแม่คุณจี๋ก็อยู่ในละแวกนี้เช่นกัน เพื่อจะได้ไปมาหาสู่ แต่เดิมที่ผืนนี้เป็นสวนลำไย จากนั้นเธอก็เริ่มสร้างบ้านทีละหลัง เริ่มจากบ้านหลังเล็กด้านใน บ้านหลังใหญ่ และทำร้านหนังสือเล็กๆ ด้วยการปรับจากโรงจอดรถให้กลายเป็นร้านหนังสือที่เชื่อมกับห้องครัวไข่เป็ด ซึ่งเป็นพื้นที่โปรดของคุณพ่อ

“ร้านหนังสือเล็กๆ ตรงนี้เดิมคือพื้นที่สำหรับจอดรถ ส่วนครัวไข่เป็ดมีอยู่แล้ว เมื่อก่อนคุณพ่อชอบทำอาหารมาก ทำอาหารตรงนั้นทุกวัน เราเห็นภาพคุณพ่อมีความสุขกับการทำอาหารให้เรากิน แล้วพอเราทำร้านหนังสือตรงนี้เสร็จแล้ว เราก็รักษาตรงนั้นไว้ให้เหมือนเดิม  

“ร้านหนังสือ ครัว การใช้ชีวิตเป็นสิ่งเดียวกัน จึงเอามาเชื่อมกัน บ้านก็เป็นที่พำนักของเรา ไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย พำนักทั้งจิตใจที่แสนจะวุ่นวายด้วย เพราะเราอยู่กับชีวิตทั้งหมดเลย แล้วมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ในแง่ของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย บางวันก็เศร้ามากไม่อยากเปิดร้าน มีคำพูดคำหนึ่งของอาจารย์เสกสรรท่านพูดไว้แล้วเราชอบมาก คนเราถ้ามีโอกาสใช้ชีวิตแบบไม่พลัดพรากจากตัวเองได้ เป็นคนที่โชคดี แต่นั่นต้องอาศัยความกล้าหาญด้วย คือ ทำงานที่รัก หรือแม้ไม่ชอบงานนี้เลย แต่เราเห็นข้อดีจากมัน มีมุมดีๆ ให้เรารู้สึกเสมอ แล้วก็ชอบหนังสือเล่มล่าสุดที่ออกใหม่มาก มันย้ำความรู้สึกในเรื่องการใช้ชีวิตไม่มีอะไรมีค่าเท่ากับปัจจุบัน ปัจจุบันขณะเท่านั้น ไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น ทำวันนี้ให้มันดี ซึ่งนี่ไม่ใช่คำพูดพล่อยๆ เลยนะ มันคือเรื่องจริง เราเลยใช้ชีวิตแบบนี้ ทุกอย่างเป็นองค์รวมของชีวิต”

บ้านหลังที่คุณจี๋อยู่ถึงจะนานนับสิบปี แต่ยังดูงดงามเสมอ ด้วยความที่เธอเป็นคนมีศิลปะในตัว จึงลุกขึ้นเปลี่ยนแปลงทำนั่นทำนี่อยู่ตลอด หรือการจัดสรรพื้นที่ภายในก็ทำเองทั้งหมด อย่างการออกแบบร้านหนังสือที่ได้ไอเดียมาจากห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ตรงสุขุมวิท “เราเอาแนวคิดตรงนั้นมาปรับใช้ พอเข้าไปแล้วมันคลาสสิก แต่ไม่ได้หรูหราเท่าของเขา เราเลือกใช้กระจกเยอะเพราะร้านหนังสือต้องการแสงสว่างและอยากให้รู้สึกผ่อนคลาย ได้มองเห็นพวงชมพูก็เลยตั้งชื่อถนนสายนี้ว่าทางชมพู

“ส่วนไอเดียการออกแบบครัว เนื่องจากคุณพ่อชอบทำอาหาร เรารู้สึกว่าเวลาทำอาหารมันเปิดโล่ง มันโปร่งหมด แล้วเพื่อนฝูงก็นั่งอยู่อีกมุมหนึ่ง ทำเสร็จก็เสิร์ฟกันเลย ตรงกลางมีไอส์แลนด์ไว้สำหรับตระเตรียมของ ส่วนสีหน้าบานครัวก็ทำสีใหม่ให้สดใส อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจต่อจิตใจคือ ปกติเป็นคนชอบสีอ่อนๆ มาก อย่างเช่น ฟ้า ชมพู แต่พอวันหนึ่งได้มาอยู่ตรงนี้ อยู่กับสิ่งเหล่านี้นานๆ เรารู้เลยว่าเราเปลี่ยนไป ทุกสีดูสวยหมด ห้องครัวก็เลยดูสดใสขึ้น เพราะเราเปลี่ยนสีใหม่ มันเป็นเหตุผลที่อยู่ข้างในที่พบว่ามีความสุขขึ้น สมัยก่อนเราเป็นคนช่างคิด แล้วการมองโลกในแง่ดี แง่บวก เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในชีวิต มันมีทางของมัน เราค้นพบสิ่งนี้ก็เลยเปลี่ยนข้างใน เปลี่ยนแม้แต่การมองดอกไม้ เปลี่ยนแม้แต่สีที่ชอบ”

การตกแต่งบ้านหลังนี้ในเชียงใหม่สำหรับคุณจี๋แล้วไม่มีอะไรหวือหวา ทุกสิ่งเป็นไปอย่างเรียบง่ายและจับต้องได้ มีมุมชวนให้รู้สึกสะดุดตา ในขณะที่บางมุมก็สามารถปล่อยใจให้มีอารมณ์รู้สึกสบายได้ทั้งวัน มองเห็นต้นไม้ ดอกไม้ที่เธอปลูกเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ และไม่เคยจบเลยสักครั้ง ดอกไม้หลากสีในสวนบานสะพรั่งต้อนรับการมาเยือน คอยทายทักคนรักหนังสือและกัลยาณมิตร นับเป็นภาพประทับใจและเติมเต็มช่วงเวลาดีๆ ที่คุณจี๋บอกกับเราว่า มีความสุขกับที่แห่งนี้ เพราะไม่ใช่แค่เสน่ห์ของเชียงใหม่ที่ยังใหม่เสมอ แต่เธอได้เห็นฤดูกาลผันเปลี่ยนอยู่ในบ้านหลังนี้

คุณกำลังดู: ร้านหนังสือในบ้านของนักเขียน จี๋-บุษกร พิชยาทิตย์ ที่สวนกระแสกับโลกออนไลน์

หมวดหมู่: เที่ยวทั่วไทย

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด