รู้จัก "โรคแพนิก" อาการเป็นอย่างไร พร้อมวิธีรับมือที่ควรรู้
โรคแพนิกไม่ใช่แค่นิสัยตกใจ แต่เป็นโรคใกล้ตัวที่เกิดจากระบบประสาท โดยมีปัจจัยทางกายภาพและสุขภาพจิต แต่โรคแพนิกอาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหน อ่านต่อได้ในบทความ
“โรคแพนิก” เป็นหนึ่งในโรคใกล้ตัวที่พบได้บ่อยมากขึ้นในสังคมปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์รอบตัวความเครียด ตลอดจนปัจจัยอื่นๆ ล้วนส่งผลให้เกิดอาการแพนิกและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันดังนั้น หากรู้ถึงสาเหตุว่าโรคแพนิกเกิดจากอะไร ลักษณะอาการเป็นอย่างไร ตลอดจนวิธีการรักษาที่ถูกต้อง ก็จะช่วยบรรเทาตลอดจนรักษาให้หายขาดได้
ทำความรู้จัก “โรคแพนิก” คืออะไร?
โรคแพนิก (Panic Disorder) หรือโรคตื่นตระหนก คือ โรคที่ทำให้รู้สึกตื่นตระหนก หวาดกลัว อึดอัด ตลอดจนเกิดความกังวลต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งผู้ป่วยบางรายมีอาการโรคแพนิก 2-3 ครั้งต่อปี แต่บางรายก็มีอาการ 2-3 ครั้งต่อวัน ส่งผลกระทบการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน หรือการเรียนโดยตรง
ลักษณะอาการโรคแพนิกเป็นอย่างไร?
เนื่องจากลักษณะอาการโรคแพนิกจะคล้ายกับโรคหัวใจ จนทำให้หลายๆ คนเข้าใจผิดอยู่บ่อยครั้ง แต่หากพิจารณาอาการอื่นๆ ร่วมด้วย จะพบว่าอาการดังต่อไปนี้เป็นอาการของโรคแพนิก
- หัวใจเต้นแรง ใจสั่น หรือใจเต้นเร็วกว่าปกติ
- เหงื่อออกทั้งตัว
- มือ เท้า หรือตัวสั่นและเย็น
- ท้องไส้ปั่นป่วน
- หายใจไม่เต็มอิ่ม แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ
- เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว คล้ายจะเป็นลม
- รู้สึกเหมือนควบคุมตนเองไม่ได้
- รู้สึกว่าสิ่งต่างๆ รอบตัวเปลี่ยนแปลงไป
- กลัวและกังวลว่ามีคนจะทำร้าย
- กลัวและกังวลว่าตนเองจะเสียชีวิต
อย่างไรก็ดี อาการโรคแพนิกเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นระยะเวลา 10-20 นาที แต่ในผู้ป่วยบางรายก็พบว่าอาการเหล่านี้จะคงอยู่นานถึงชั่วโมง
สาเหตุโรคแพนิกที่ไม่ควรมองข้าม
โรคแพนิกเกิดจากระบบประสาทอัตโนมัติที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งปัจจัยที่เป็นสาเหตุโรคแพนิกนั้นแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่
1. ปัจจัยด้านกายภาพ เช่น
พันธุกรรมจากคนในครอบครัว ระดับฮอร์โมนในร่างกาย
การรับสารเคมีจากยาหรือการทำงาน ความผิดปกติของสมอง
2. ปัจจัยด้านจิตใจ เช่น
เหตุการณ์สูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ เหตุการณ์อุบัติเหตุ
เหตุการณ์เลวร้ายที่เคยเผชิญ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจ
3. ปัจจัยภายนอก เช่น ความเครียดสะสม
การนั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน การพักผ่อนน้อย
การใช้คอมพิวเตอร์หรือการจ้องจอโทรศัพท์ติดต่อกันหลายชั่วโมง
เป็นต้น
โรคแพนิกห้ามกินอะไร?
แม้ว่าโรคแพนิกจะมีอาการไม่อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ เข้ารับการรักษา ตลอดจนปรับพฤติกรรมของตนเองร่วมด้วยเริ่มตั้งแต่การพักผ่อนให้เพียงพอ การออกกำลังกาย ตลอดจนการปรับพฤติกรรมการกิน
ทั้งนี้ ผู้ป่วยเป็นโรคแพนิกห้ามกินอาหารที่มีส่วนประกอบของโมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรส อาหารที่มีน้ำตาลสูง และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กาเฟอีน ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังชนิดต่างๆ ตลอดจนน้ำอัดลม เนื่องจากอาหารและเครื่องดื่มเหล่านี้จะเข้าไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นร่างกายและอารมณ์ให้เปลี่ยนแปลง
โรคแพนิกวิธีรักษาทางการแพทย์ทำได้อย่างไร?
วิธีรักษาโรคแพนิกทางการแพทย์จะพิจารณาอาการและจ่ายยารักษาตามระดับความรุนแรงหรือตามกลุ่มอาการ เช่น ยาคลายเครียด ยานอนหลับ สำหรับควบคุมและดูแลอาการในช่วงแรก แต่เนื่องจากยากลุ่มนี้หากกินติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดอาการติดยาได้ แพทย์จึงอาจจะปรับเป็นยากลุ่มออกฤทธิ์ช้าแทน ทั้งนี้จะต้องรักษาควบคู่กับการปรับวิธีคิด การดูแลบำบัดจิตใจ ตลอดจนการฝึกหายใจ
ยาที่ใช้รักษาโรคแพนิกอาจส่งผลข้างเคียงต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาการง่วง ซึม วิงเวียนศีรษะ ตาพร่ามัว อาเจียน หรือคลื่นไส้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อนกินยาเสมอ เพื่อความปลอดภัยของตนเอง
5 วิธีรับมือโรคแพนิก เมื่อเกิดอาการฉับพลัน
1. หายใจเข้าออกช้าๆ
2. ตั้งสติอยู่เสมอ
3. เผชิญหน้ากับอาการหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้น
4. สังเกตอาการตนเองและเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นๆ
5. ปล่อยใจให้สบาย หากทำแบบนี้บ่อยครั้ง อาการ ความกลัว
หรือความรุนแรงจะค่อยๆ บรรเทาลง
แต่หากพบว่าคนรู้จักหรือคนใกล้ตัวเป็นผู้ป่วยโรคแพนิก อาการกำเริบ ก็สามารถปฐมพยาบาลง่ายๆ เริ่มจากตั้งสติและประเมินระดับความรุนแรงของอาการ รับฟังปัญหาหรือความกลัว พยายามทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปลอดภัย ให้คำแนะนำเรื่องการกำหนดลมหายใจช้าๆ และหากอาการดังกล่าวยังไม่รุนแรง อาจจะแนะนำให้เข้าพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคแพนิกก่อนอาการรุนแรงขึ้น
โรคแพนิก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถึงแม้ว่าจะไม่อันตราย แต่ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเข้ารักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ นอกจากนี้ โรคแพนิกไม่ใช่เรื่องเลวร้าย หากพบว่าคนใกล้ตัวหรือคนรู้จักมีอาการโรคแพนิก เพียงแค่ทำความเข้าใจและให้กำลังใจก็จะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้นได้
คุณกำลังดู: รู้จัก "โรคแพนิก" อาการเป็นอย่างไร พร้อมวิธีรับมือที่ควรรู้
หมวดหมู่: สุขภาพ