รู้จัก อาร์คตูรุส โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 โควิดตัวใหม่ 2566

รู้จัก อาร์คตูรุส โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 โควิดตัวใหม่ 2566

โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 หรือ อาร์คตูรุส เป็นสายพันธุ์ที่องค์การอนามัยโลกเฝ้าสังเกตการณ์การระบาดมาตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยพบครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ส่วนในประเทศไทยเองก็พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์นี้แล้วถึง 8 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 16 เม.ย. 66)

อาร์คตูรุส XBB.1.16

แม้ โควิด XBB.1.16 จะเป็นเพียง 1 ใน 5 สายพันธุ์ย่อยหลัก ของโอมิครอนที่มีการระบาดมากที่สุด แต่จากฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID นั้นระบุว่า สายพันธุ์ที่ระบาดมากที่สุดในประเทศไทยถึง 47% คือโควิด XBB.1.5 และหากนับโควิดทุกสายพันธุ์ที่กำลังระบาดอยู่ในประเทศไทยในขณะนี้ ก็มีเพียงแค่ 3% เท่านั้นที่เป็นโควิด XBB.1.16 แต่ที่น่าเป็นห่วงก็คือ สายพันธุ์นี้มีความสามารถในการแพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว

อาการทั่วไป ของผู้ติดเชื้อโควิด XBB.1.16 มักเริ่มจากเจ็บคอ ครั่นเนื้อครั่นตัว จากนั้นจะมีไข้สูง บางรายไข้อาจสูงถึง 38-39 องศาเซลเซียล ร่วมกับมีไอแห้ง มีเสมหะ น้ำมูก ผื่นแดงขึ้นตามตัว แขน ขา ส่วนอาการคันตา ตาแดง ขี้ตาเหนียว ลืมตาไม่ขึ้นเพราะเยื่อบุตาอักเสบ ที่ไม่ค่อยพบในโควิดสายพันธุ์อื่น แต่กลับเป็นอาการเฉพาะที่พบได้ใน XBB.1.16 แม้จะยังไม่มีรายงานของอาการนี้ในผู้ป่วยที่พบประเทศไทยก็ตาม

ในการรักษา ที่ผ่านมาจะมีการใช้ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (Long Acting Antibody : LAAB) เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ รวมถึงใช้ในการรักษา ที่นับว่าได้ผลดีกับกลุ่มผู้มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง (กลุ่มเสี่ยง 607) และผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกัน เช่น ฉีดวัคซีนแล้วแต่ภูมิคุ้มกันไม่ขึ้น มีข้อบ่งชี้ในการใช้ และยังไม่มีการปรับเปลี่ยนสำหรับการรับมือกับสายพันธุ์ XBB.1.16 นี้

ส่วนยา โมลนูพิราเวียร์ (MoInupiravir) และ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) นั้น แม้การตอบสนองต่อยากับ XBB.1.16 จะไม่ดีเท่ากับสายพันธุ์อื่นๆ แต่ในสถานพยาบาลทั่วไปก็ยังสามารถใช้ยาสองตัวนี้ รวมถึงแพทย์อาจพิจารณาให้ยาอื่นทดแทนเพื่อรักษาตามอาการได้เช่นกัน แต่ก็ต้องรอดูต่อไปว่า หลังจากการประชุมของกรมการแพทย์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า จะมีผลสรุปถึงการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ยาหรือไกด์ไลน์ในการรักษาโควิด-19 หรือไม่ อย่างไร

ท้ายที่สุด แม้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกจะคาดการณ์ว่า โควิดสายพันธุ์ XBB.1.16 หรือ อาร์คตูรุส จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่มาแทนที่สายพันธุ์อื่นๆ แต่ก็ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอว่าจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากกว่าเดิมหรือไม่ ส่วนการหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากวัคซีนก็ยังสรุปได้ไม่แน่ชัดว่าจะเก่งไปมากกว่าสายพันธุ์เดิมๆ ในปัจจุบัน ดังนั้นการป้องกันที่ดีที่สุดในขณะนี้ ยังคงเป็นคำแนะนำว่า ให้ฉีดวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดเข็มล่าสุดนานเกิน 4 เดือนแล้ว

บทความโดย : รพ.พญาไท 1 โทร. 1772

คุณกำลังดู: รู้จัก อาร์คตูรุส โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 โควิดตัวใหม่ 2566

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด