เรื่องเล่าของ เจษฎากรณ์ ขาวงาม : วันที่เป็นเด็กหนีแม่ออกจากบ้านมาเตะบอล

เรื่องเล่าของ เจษฎากรณ์ ขาวงาม : วันที่เป็นเด็กหนีแม่ออกจากบ้านมาเตะบอล

ในหัวอกของคนที่เป็นแม่ทุกคน ย่อมปรารถนาอยากเห็นลูกของตนเองมีอนาคตที่ดี เพราะมันคงเป็นเรื่องเจ็บปวดไม่น้อยหากต้องทนเห็นแก้วตาดวงใจ อยู่บนเส้นทางที่ไม่มั่นคง

มีคำกล่าวหนึ่งที่เปรียบว่า “นักฟุตบอล” ก็เหมือนกับหมาล่าเนื้อ เพราะเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง รายได้ไม่ได้สูงนัก มีอายุการใช้งานแค่ไม่กี่ปี ก็ต้องเลิกราไป แถมยังเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ นั่นเป็นสิ่งที่อยู่ในความคิดของผู้ใหญ่หลายๆคน ในอดีต

แม้ต่อมา ในยุคใหม่ นักฟุตบอลอาชีพ จะสามารถสร้างรายได้อย่างงดงาม แต่กว่าที่ใครสักคนจะไปถึงจุดนั้นได้ก็เป็นเรื่องยากยิ่งนัก เพราะต้องแข่งขันกับผู้คนอื่นมากมาย ขณะที่ความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บ และอายุการใช้ในการประกอบอาชีพก็ยังสั้นเท่าเดิม

 

บนทางแยกที่ครอบครัวขาวงาม กำลังเผชิญ “ฟิว” เจษฎากร เด็กในครอบครัวที่มีฐานะดี ในจังหวัดบุรีรัมย์ ยอมที่จะหนีออกจากบ้าน เพื่อมาเผชิญกับความยากลำบาก ในการไล่ล่าความฝันเป็น นักฟุตบอลอาชีพ แม้จะทำให้เขากับผู้เป็นแม่ ต้องห่างเหินและไม่ได้พูดคุยกันตลอด 4 ปี

และนี่คือเรื่องราวของเขาที่ปนทั้งความเศร้า หยาดเหงื่อ และน้ำตาแห่งความภาคภูมิใจ ของดาวเตะทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี

หนีแม่มาคัดตัว

“ผมชอบฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก มีพ่อเป็นคนสอนเล่น แต่แม่ไม่สนับสนุนให้เล่น เพราะเขามองว่ามันเป็นอาชีพที่ไม่แน่นอนไม่มั่นคง เขาอยากให้ไปทางรับราชการมากกว่า แต่ผมพยายามบอกมาตลอดว่าอยากจะเป็นนักฟุตบอล”

 1

ปูมหลังของ เจษฎากร ขาวงาม เกิดในครอบครัวที่มีฐานะมั่นคง คุณพ่อประกอบอาชีพข้าราชการตำรวจ ขณะที่คุณแม่เป็นข้าราชการครู ในอำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์

เขาจัดเป็นเด็กหัวดีที่เรียนเก่ง จึงเป็นความคาดหวังของผู้ปกครองที่อยากเห็น บุตรชายดำเนินรอยตามเติบโตขึ้นไปประกอบอาชีพ รับราชการเฉกเช่นพ่อและแม่ เขาตั้งใจทำตามทุกสิ่งที่คุณแม่บอกตลอดเวลา แม้ลึกๆ ในใจ เขารู้ดีว่าตัวเองหลงรักฟุตบอลมาตั้งแต่แรก และเลือกไว้แล้วว่าต้องเป็นนักฟุตบอลอาชีพให้ได้

นั่นทำให้ทุกๆ วันหยุดเสาร์-อาทิตย์ สถานีที่ ฟิว เจษฎากร จะต้องไปอยู่ครึ่งค่อนวัน จึงไม่ใช่สนามฟุตบอล แต่เป็นโรงเรียนสอนพิเศษ เพราะฟุตบอล ไม่ใช่เส้นทางที่ คุณแม่อยากให้เขาเดินไปสักเท่าไหร่

“ผมขอแม่ให้พาไปเรียนที่โรงเรียนกีฬาจังหวัดศรีสะเกษ ตอนขึ้นม.1 แม่เขาก็ไม่เห็นด้วยหรอก แต่พ่อก็ขับรถพาไปคัดจนได้เรียนที่นั่น แต่ตอนนั้นผมเด็กสุดในทีมเลยไม่ได้เล่น สุดท้ายเรียนไม่จบต้องออกมากลางเทอม ทำให้เทอมสองผมอยู่บ้านอย่างเดียว”

 2

ความล้มเหลวครั้งนั้นทำให้เขา และแม่เริ่มห่างเหิน ทั้งคู่แทบไม่พูดคุยกันเลยเป็นเวลา 2-3 เดือน และยังตอกย้ำให้แม่ของเจษฎากร มั่นใจว่าฟุตบอลไม่สามารถทำให้ เด็กเรียนดีเช่นเขา ประสบความสำเร็จในชีวิตได้

ความสัมพันธ์ของแม่กับลูกยิ่งแย่ลงไปอีก เมื่อ เจษฎากร ขอไปคัดตัวเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี สถาบันลูกหนังขาสั้นชื่อดังอันดับต้นๆของประเทศ แต่กลับไม่ได้รับความเห็นด้วย จากผู้เป็นแม่ จนต้องหนีออกไปคัดเอง

“ตอนนั้นผมกับแม่ทะเลาะกันรุนแรงมากถึงขั้นร้องไห้เลย เพราะตอนม.2 สุรศักดิ์มนตรีมาคัดนักฟุตบอลเข้าโรงเรียนถึงประโคนชัย ผมรู้ข่าวจากพี่พี (ศศลักษณ์ ไหประโคน) เพราะโตมาด้วยกัน บ้านก็อยู่ข้างๆกัน ตอนนั้นเขาเรียนอยู่ที่สุรศักดิ์แล้ว ผมเลยขอแม่ไปลองดูอีกครั้ง”

“พอไปขอ แม่เขาก็ไม่ให้ไป พอถึงวันที่เขาเปิดคัดแม่ยังไม่รู้ว่าวันมีคัดตัวกันวันนั้น ผมตัดสินใจแอบขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปกับน้องชายสองคน จริงๆผมคัดไม่ติดฟุตบอล แต่โค้ชของทีมบอกให้ลองมาอีกทีช่วงเย็นเพราะเขาจะคัดนักฟุตซอล จนสุดท้ายก็มีชื่อในทีมไปเรียนที่สุรศักดิ์มนตรี”

 3

“เขาบอกว่านักฟุตบอลไม่สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ถ้าขาหักไปพออายุ 30 ก็เล่นไม่ได้แล้ว มันเป็นคำที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับผม ผมจึงตั้งใจมาก ตอนมีชื่อก็รีบกลับมาบอกพ่อ แต่ไม่ได้บอกแม่ แม่มารู้วันสุดท้ายที่จะต้องเดินทางไป ผมบอกเขาว่าจะไปแล้วนะ เขาก็เงียบไม่ตอบอะไรกลับมา ผมเลยนั่งรถทัวร์มากรุงเทพฯ คนเดียว” ฟิว กล่าวด้วยใบหน้าเศร้าหมองเมื่อนึกย้อนถึงเหตุการณ์ในวันนั้น

ความคิดถึงที่ไม่เคยพูด  

“หลังมาถึงกรุงเทพฯ ผมได้คุยโทรศัพท์กับแม่ คำแรกที่เขาถามผมมาคือเป็นไงบ้าง แค่คำๆเดียวมันทำให้ผมรู้สึกคิดถึงบ้านมาก และทำให้มีกำลังใจมากขึ้น”

“วันนั้นผมคิดว่าตัวเองต้องพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เขาเคยบอกว่าฟุตบอลเป็นอาชีพไม่ได้ มันสามารถเป็นได้จริงๆ”

 4

แม้จะถูกกีดกันไม่ให้ทำตามความฝัน แต่ ฟิว ไม่เคยรู้สึกโกรธแม่ของเขาสักครั้ง เพราะรู้ดีว่าแม่คาดหวังให้เขามีอนาคตที่ดี มีหน้าที่การงานที่มั่นคง และเป็นห่วงมากขนาดไหน ดังนั้นสิ่งที่เขาต้องทำให้สำเร็จ ก็คือต้องพัฒนาฝีเท้า จนสามารถใช้ฟุตบอลเลี้ยงดูตัวเองได้เพื่อให้แม่ของเขาหมดห่วง

เจษฎากร ได้รับการถ่ายทอดวิชาจากอาจารย์ สกล เกลี้ยงประเสริฐ โดยมี พี-ศศลักษณ์ ไหประโคน พี่ชายคนบ้านเดียวกันเป็นพี่เลี้ยงตลอดเวลาในรั้วสุรศักดิ์มนตรี เขาเริ่มฉายแววเด่นออกมาจนกระทั่งได้มีส่วนร่วมในการแข่งขันรายการต่างๆมากมายทั้งฟุตซอล และฟุตบอล

ก่อนจะหันมาเอาดีกับฟุตบอลจริงจัง เขามีส่วนช่วยให้ “บลู อาร์มี่” คว้าแชมป์ฟุตบอล 7 สี เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นทัวร์นาเมนต์ที่เขาตั้งใจมาก เพราะหากเขาฟอร์มดี ก็มีโอกาสที่ได้เซ็นสัญญาเป็นเยาวชนของ ทรู แบงค็อก ยูไนต็ด

“ตอนฟุตบอล 7 สี อาจารย์สกล บอกว่า แบงค็อก ยูไนเต็ด จะมาดูตัวว่าใครจะได้เซ็นสัญญาเข้าทีม ผมตั้งใจพยายามทำเต็มที่เขามาเก็บข้อมูลตลอดจนเราได้มีชื่อเป็นหนึ่งในนั้น วันนั้นผมโทรบอกพ่อเลย แต่ฝากบอกแม่เพราะยังไม่กล้าบอกเขาตรงๆ”

 5

“ตั้งแต่วันที่ขอไปเรียนที่โรงเรียนกีฬาศรีสะเกษจนถึงวันนั้นเกือบ 4 ปี ผมแทบไม่ได้คุยกับแม่เลย แต่เขาคอยให้กำลังใจตลอด แต่จะฝากบอกแม่เพื่อนที่สนิทกันมาอีกที เราไม่ได้คุยกันตรงๆ”

“อีกอย่างผมไม่กล้าบอกเขา เพราะสัญญาที่ได้เซ็นเงินเดือนแค่สองพัน ผมมองว่ายังน้อยไป มันเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เรายังไม่ได้ประสบความสำเร็จในฐานะนักฟุตบอลจริงๆ”

“ดีใจด้วยนะลูก”

ในที่สุด เจษฎากร เซ็นสัญญาเป็นนักเตะเยาวชนของ แบงค็อก ยูไนเต็ด เขาใช้เวลาไม่นาน ก็สามารถผลักดันตัวเองขึ้นมามีรายชื่ออยู่ในทีมชุดใหญ่ ฤดูกาล 2017 และได้ร่วมซ้อมกับนักเตะชื่อดังมากมายในทีมรวมถึง สรรวัชญ์ เดชมิตร นักเตะที่เขายกย่องเป็นไอดอลเบอร์หนึ่ง

 6

แต่ภายใต้การแข่งขันที่สูงของผู้เล่นภายในทีม คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะเบียดโอกาสลงสนามเป็นตัวจริง ส่งผลให้ ฟิว ไม่ได้ลงสัมผัสเกมกับทีมชุดใหญ่ และได้เล่นแค่ในทีมบี เท่านั้น จนเจ้าตัวตัดสินใจย้ายไปเล่น อุบล ยูเอ็มที ยูไนเต็ด ในเลกสองของฤดูกาล 2018 แบบยืมตัว

“ผมมองว่าเราอาจยังเด็กก็จริง แต่ก็คิดว่าต้องสู้พยายามให้มากกว่านี้เพื่อกลับมาแย่งตำแหน่งให้ได้ ผมปรึกษาทั้งพ่อแม่ พี่พี เขาก็อยากที่จะให้เราไปเล่นที่นั่น เพราะใกล้บ้าน และมีโอกาสที่คนจะเห็นฝีเท้ามากกว่าเล่นทีมบี”

“จำได้ว่าแมตช์แรกที่มีชื่อเป็น 11 ตัวจริง ผมดีใจมาก ตลอดเวลาที่เล่นให้อุบลฯ แม่จะเข้ามาดูผมเล่นทุกเกมในบ้าน”

“ครอบครัวผมจะมีไลน์กลุ่มไว้คุยกันมีครั้งหนึ่งที่ทีมชนะคู่แข่ง แม่ก็ถ่ายรูปผมแล้วส่งมาบอกว่าดีใจด้วยนะลูก แค่ประโยคสั้นๆมันทำให้ผมรู้สึกว่าเป็นคำที่ยิ่งใหญ่มาก วันนั้นผมพิสูจน์ให้เขาเห็นแล้วว่าสิ่งที่ผมเคยบอกเอาไว้ เราสามารถทำได้จริงๆ”

 7

ที่นี่นอกจากจะมอบโอกาสลงสนามให้เขา มากถึง 10 นัด ยังทำให้แม่ของเขาได้เห็นถึง พัฒนาการและสิ่งที่เขาตั้งใจมาโดยตลอด ในวันที่เขาได้เป็น นักฟุตบอลอาชีพระดับไทยลีก อย่างเต็มตัว

แต่นั่นยังไม่เพียงพอกับความต้องการที่เขาพิสูจน์ตัวเอง และสร้างความภูมิใจให้แม่ของเขา เพราะความฝันอีกหนึ่งอย่างสำหรับเขา คือการได้ติดทีมชาติไทย… และมันเป็นจริงในที่สุด หลังย้ายมาร่วมทีม อาร์มี่ ยูไนเต็ด ในฤดูกาล 2019

เสื้อทีมชาติของแม่

“ตอนรู้ว่าเรามีชื่อ ผมบอกครอบครัวว่าทีมจะประกาศชื่อหลังกินข้าวเสร็จ แต่ทั้งแม่ พ่อแล้วก็น้องบอกว่าขอรอประกาศก่อนถึงจะยอมกินข้าว พอรู้ผมก็เลยรีบบอกทันทีทุกคนดีใจมาก แม่เขาบอกกับผมว่าดีใจด้วยขอให้มุ่งมั่นตั้งใจต่อไป ทีมชาติคือความฝันของผม การได้ติดทีมมันเป็นความรู้สึกที่ดีมากๆ”

 8

“แต่ถ้าเทียบกับเพื่อนวัยเดียวกันผมยังต้องสู้ต่อ และพัฒนาตัวเองมากกว่านี้ ผมมองว่าตัวเองยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เราต้องสู้ต่อไป และคิดว่าจะทำวันนี้ให้ดีที่สุดพรุ่งนี้ค่อยว่ากัน ทำทุกๆวันให้เต็มที่เพื่อจะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจทีหลัง”

“ผมต้องต่อสู้อีกเยอะในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ เพราะอายุเรายังน้อย และยังมีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมาก”

ความพยายามของเขา ประสบผลสำเร็จเมื่อ อเล็กซานเดร กาม่า เฮดโค้ชชาวบราซิล ตัดสินใจเรียกเขาติดทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 22 ปี ชุดลุยฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน ที่ประเทศกัมพูชา นับเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้มีโอกาสรับใช้ชาติ

 9

ในทัวร์นาเมนต์นี่เอง เจษฎากร ทำให้แฟนบอลไทยจำนวนมากรู้จักชื่อของเขา จากการมีส่วนช่วยให้ ทีมชาติไทย U-22 ทะลุเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ ก่อนจบรายการด้วยตำแหน่งรองแชมป์

เสื้อทีมชาติไทยตัวนี้จึงมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับเขา เพราะนอกจากจะเป็นตัวแทนความภูมิใจ ที่เขาได้รับใช้ชาติแล้ว เสื้อตัวนี้ยังมีความหมาย ถึงความพยายามที่เขามีมาโดยตลอด บนเส้นทางของนักฟุตบอลอาชีพ ที่หวังจะทำให้ครอบครัวภูมิใจกับสิ่งที่เขาอยากเป็น

 10

“ผมตั้งใจไว้ว่าจะเก็บเสื้อทีมชาติตัวแรกของผมไว้ให้พ่อกับแม่ และผมอยากให้แม่ และครอบครัวมั่นใจในตัวผม ผมจะสู้ทุกวันสู้ให้ถึงที่สุด ผมอยากจะมีเงินเยอะๆและกลับไปดูแลครอบครับให้สบายครับ” ฟิว กล่าวทิ้งท้าย

คุณกำลังดู: เรื่องเล่าของ เจษฎากรณ์ ขาวงาม : วันที่เป็นเด็กหนีแม่ออกจากบ้านมาเตะบอล

หมวดหมู่: ฟุตบอลไทย

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด