"โรคอัลไซเมอร์" กับ 3 ระยะอาการที่ต้องเฝ้าระวัง

"โรคอัลไซเมอร์" กับ 3 ระยะอาการที่ต้องเฝ้าระวัง

"โรคอัลไซเมอร์" คือภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ ที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น หลงลืม หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะอาการตามความรุนแรง

ระยะอาการของ "โรคอัลไซเมอร์"

"โรคอัลไซเมอร์" มีระยะอาการของโรค 3 ระยะด้วยกัน ซึ่งแบ่งตามความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นดังต่อไปนี้

  1. ก่อนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมมีอาการเริ่มต้นที่เรียกว่า ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย มักหลงลืมหรือมีปัญหาเรื่องความจำที่เห็นชัดเจน เช่นลืมปิดเตารีด ลืมปิดประตู ลืมชื่อคน ลืมรับประทานยา ต้องให้คนช่วยเขียนรายการที่จะทำ
  2. เมื่อเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อมผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำ โดยเฉพาะความจำที่เพิ่งเกิดใหม่ๆ เริ่มใช้คำพูดไม่ถูกต้อง อารมณ์ผันผวน มีอาการเสื่อมถอยของการรับรู้มากขึ้น อาจมีอาการทางจิต และปัญหาพฤติกรรมด้วย มีความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน จนทำให้ต้องพึ่งพิงผู้ดูแล
  3. ระยะอาการรุนแรงผู้ป่วยจะสับสน ไม่รู้วัน รู้เดือน บางรายมีอาการหลงผิด หรือเกิดภาพหลอน บางรายอาจจะก้าวร้าวรุนแรง มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ มีปัญหาการก้าวเดิน การกลืน และนอนติดเตียง จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน

ดังนั้นหากสังเกตเห็นอาการหรือพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในบ้าน ควรรีบพามาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย รับการรักษา และการดูแลที่เหมาะสมทันที

การดูแลผู้ป่วย "โรคอัลไซเมอร์"

การดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ต้องให้ความเข้าใจ เห็นใจว่าผู้ป่วยไม่ได้ตั้งใจที่จะก้าวร้าว หงุดหงิดอย่างที่เราเห็น แต่เป็นจากตัวโรคเอง ไม่ควรทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจ อาย หรือหงุดหงิด

  • ควรจัดห้องหรือบ้านให้น่าอยู่ ใช้สีสว่างๆ สดใส ถ้าในรายที่ชอบเดินไปมามากๆ ต้องใช้เทคนิคการเบี่ยงเบนความสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
  • เก็บของมีคม หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มิดชิด ปิดวาล์วเตาแก๊สไว้เสมอ
  • ในรายที่เริ่มจะดูแลยาก เช่น ก้าวร้าว เอะอะโวยวาย สับสนมาก หรือเดินออกนอกบ้านบ่อยๆ ควรพาไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านระบบประสาท เนื่องจากอาจจำเป็นต้องใช้ยาลดอาการดังกล่าวร่วมด้วย

ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

สมองเสื่อม เป็นภาวะที่สมรรถภาพการทำงานของสมองถดถอยบกพร่องในด้านการรู้คิด ได้แก่ ความจำ การตัดสินใจ การวางแผน และบริหารจัดการ การรับรู้รูปทรง และการกะระยะ การใช้ภาษา สมาธิ หรือความใส่ใจ ความสามารถในการรับรู้เกี่ยวกับสังคมรอบตัว โดยมีผลกระทบต่อความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันและการเข้าสังคม แต่ต้องไม่มีภาวะเพ้อ โรคซึมเศร้า โรคทางจิตเวชเรื้อรัง หรือวิตกกังวลรุนแรงขณะวินิจฉัย ซึ่งการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมอาศัยข้อมูลจากประวัติทั้งจากผู้ป่วยและญาติที่อยู่ใกล้ชิดรู้จักผู้ป่วยเป็นอย่างดี การตรวจร่างกายทั่วไป การตรวจร่างกายทางระบบประสาท การตรวจทางห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงการตรวจทางประสาทจิตวิทยา

สมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่แก้ไขได้และแก้ไขไม่ได้ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือดสมอง โรคพาร์กินสัน เนื้องอกสมอง โพรงน้ำในสมองขยายตัว โรคขาดฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ โรคติดเชื้อบางชนิด เช่น ซิฟิลิสและเอดส์ เป็นต้น ปัจจุบันพบโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุด

"โรคอัลไซเมอร์" คืออะไร

"โรคอัลไซเมอร์" เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อม และเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยความชุกของโรคจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ พบความชุกร้อยละ 10-15 ในประชากรที่อายุมากกว่า 65 ปี และพบร้อยละ 20-30 ในประชากรที่อายุมากว่า 80 ปี

สาเหตุของ "โรคอัลไซเมอร์"

"โรคอัลไซเมอร์" เกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสมองจนบางส่วนของสมองทำหน้าที่ลดลง เกิดการฝ่อ ทำให้กระทบกับการทำงานของสมองส่วนนั้น และแสดงอาการต่างๆ ออกมา เช่น หลงลืม ถามซ้ำๆ อย่างไรก็ตามยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัดของโรคอัลไซเมอร์ มีการศึกษาพบว่าในสมองของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้มีการสะสมของโปรตีนบางชนิด เช่น อะไมลอยด์ (amyloid) และทาว (tau) มากกว่าปกติ

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิด "โรคอัลไซเมอร์"

  1. อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด โดยพบว่าหลังอายุ 65 ปี ผู้ป่วยจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเพิ่มเป็น 2 เท่าในทุกๆ 5 ปีที่อายุมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็พบว่า มีผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ที่อายุต่ำกว่า 65 ปีด้วยเช่นกัน
  2. พันธุกรรม เช่น มีญาติสายตรงในครอบครัวที่ป่วยด้วยโรคนี้หลายคน, มียีนบางอย่างเช่น ApoE4 เป็นต้น
  3. โรคดาวน์ซินโดรม (Down’s syndrome) ผู้ป่วยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดโรค เนื่องจากพบว่าผู้ป่วยโรคนี้มีความผิดปกติของการสะสมของโปรตีนบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์เช่นกัน
  4. การได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะ มีรายงานการศึกษาทางระบาดวิทยาหลายรายงานพบว่า ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์และภาวะสมองเสื่อมจากสาเหตุอื่นๆ มีประวัติเคยได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมากกว่าคนที่ไม่มีสมองเสื่อม อย่างไรก็ตามในบางการศึกษาไม่พบว่าการได้รับอุบัติเหตุที่ศีรษะมาก่อนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดภาวะสมองเสื่อม
  5. พบว่าโรคอัลไซเมอร์มีส่วนที่เกิดจากโรคของหลอดเลือด รวมถึงพบร่วมกับโรคหลอดเลือดในสมองได้บ่อย ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ด้วย ดังนี้
  • น้ำหนักเกินมาตรฐาน
  • การขาดการออกกำลังกาย
  • การสูบบุหรี่
  • ความดันโลหิตสูง
  • ไขมันในเลือดสูง
  • โรคเบาหวาน

การป้องกัน "โรคอัลไซเมอร์"

เราไม่สามารถหยุดอายุและหยุดการเสื่อมของเซลล์สมองได้ แต่ในส่วนที่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม ก็สามารถป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้ เช่น หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงสาเหตุการเกิดโรค เช่น ดื่มสุรามากเกินไป ไม่ใช้สารเสพติด กินอาหารมีคุณค่าทางโภชนาการ ป้องกันโรคติดเชื้อ

นอกจากนี้ การฝึกฝนสมอง เช่น คิดเลข อ่านหนังสือ เล่นเกม ฝึกการใช้อุปกรณ์ใหม่ๆ การพบปะพูดคุยกับผู้อื่นบ่อยๆ การมีความสัมพันธ์ทางสังคม เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยง เข้าชมรมผู้สูงอายุ ฯลฯ นอกจากนี้อาจช่วยป้องกันภาวะสมองเสื่อมได้ ยังช่วยให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขอีกด้วย

อ้างอิงข้อมูล: โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์

คุณกำลังดู: "โรคอัลไซเมอร์" กับ 3 ระยะอาการที่ต้องเฝ้าระวัง

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด