สวยอย่างเดียวไม่พอ : "10 เสื้อบอล" ที่มีเรื่องราวสุดแปลกจนเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก

สวยอย่างเดียวไม่พอ : "10 เสื้อบอล" ที่มีเรื่องราวสุดแปลกจนเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก

ไม่ว่าเสื้อบอลจะสมควรใส่ออกนอกบ้านหรือไม่? แต่เสื้อฟุตบอลคือของสะสมสำหรับคนรักกีฬาลูกหนังทั่วโลก บางคนสะสมเฉพาะทีมรัก แต่ละคนต่างมีแนวทางการสะสมเสื้อบอลที่แตกต่างกันไป

และการจะบอกว่าเสื้อบอลตัวนี้พิเศษอย่างไรนั้น บางครั้งความสวยงามคงไม่พอ เรื่องราวที่ซ่อนอยู่หลังเนื้อผ้ากำลังบอกเล่าอะไรบางอย่าง 

เสื้อบางตัวที่หลายคนรู้สึกน่าเกลียด กลับมีคุณค่า และน่าเก็บสะสมขึ้นมา เนื่องจากคุณค่าในตัวของมัน 

Main Stand พาคุณพบกับ 10 เสื้อบอลที่มีเรื่องราวสุดแปลกจนกลายเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก ตั้งแต่เสื้อบอลอาถรรพ์ใส่แล้วแพ้ทุกนัด จนถึงเสื้อหายากที่ไม่มีวางขายกระทั่งในปัจจุบัน

จะมีเสื้อตัวไหนบ้าง? ติดตามได้ที่นี่

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เยือน 1995-96

1

เริ่มต้นที่เสื้อในตำนานของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ลวดลายไม่หวือหวา แต่ขึ้นชื่อเรื่องความ "อัปมงคล" โดยเฉพาะในความเห็นของ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ที่เคยสั่งให้ห้ามลูกทีมใส่เสื้อตัวนี้ลงสนาม ระหว่างช่วงพักครึ่งการแข่งขัน

ย้อนกลับไปในปี 1996 แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีโปรแกรมบุกเยือนเซาแธมป์ตัน ก่อนหน้าการแข่งขัน สถานการณ์ทั้งสองทีมต่างกันสุดขั้ว ทัพปีศาจแดงคว้าชัยชนะ 12 นัดติดต่อกัน กำลังมีลุ้นคว้าแชมป์ลีก ขณะที่พลพรรคนักบุญดิ้นรนหนีตกชั้นอย่างหนัก หากมองตามผลงานที่ผ่านมา ทุกฝ่ายมั่นใจว่า ผู้มาเยือนย่อมเป็นฝ่ายคว้าสามแต้ม แต่ผลการแข่งขันจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น

หลังจบครึ่งแรก แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ตกเป็นฝ่ายตามหลัง เซาแธมป์ตัน 0-3 สิ่งแรกที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ทำเมื่อกลับสู่ห้องแต่งตัว คือสั่งให้ลูกทีมเปลี่ยนเสื้อแข่งขัน จากเสื้อสีเทาที่พวกเขาใส่ก่อนหน้านี้มาแล้ว 4 ครั้ง แพ้รวดทั้ง 4 ครั้ง เป็นเสื้อสีน้ำเงิน-ขาว 

แม้ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จะไม่สามารถพลิกชนะ เซาแธมป์ตัน ในเกมดังกล่าว แต่การยิงประตูตีตื้นเป็น 1-3 น่าจะบอกได้ดีว่า เสื้อสีเทาตัวนี้ ไม่ถูกโฉลกกับขุนพลปีศาจแดงแค่ไหน

นับแต่นั้น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่เคยใส่เสื้อตัวนี้กระทั่งจบฤดูกาล 1995-96 ผลลัพธ์คือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คว้าแชมป์มาครองได้สำเร็จ

ทำให้ชุดเยือนสีเทาตัวนี้ถูกจดจำในฐานะ เสื้ออาถรรพ์ ของ เซอร์ อเล็กซ์ และแข้งปีศาจแดง แต่สำหรับนักสะสมทั่วโลก นี่คือเสื้อฟุตบอลที่เปี่ยมเรื่องราว และควรมีไว้ครอบครอง

แอตเลติโก มาดริด เยือน 2003-04

2

"น่าเกลียด" แต่ "น่าสะสม" ไม่มีคำบรรยายไหนที่เหมาะสมกับชุดแข่งขันตัวนี้ของ แอตเลติโก มาดริด มากกว่านี้ 

หากไม่เชื่อ ลองมองภาพเจ้าแมงมุมยักษ์ที่กำลังกางใย พร้อมกับชื่อหนัง Spider-Man 2 ดูสิ..

เสื้อบอลอันไม่น่าอภิรมย์นี้ เกิดขึ้นเนื่องจาก แอตเลติโก มาดริด ตกลงทำสัญญากับสตูดิโอภาพยนตร์หนังชื่อดังอย่าง Columbia Pictures มาเป็นสปอนเซอร์คาดหน้าอก 

แทนที่ค่ายหนังจากฮอลลีวูดจะนำชื่อบริษัท หรือโลโก้ผู้หญิงถือคบเพลิงติดไว้บนตัวเสื้อ พวกเขากลับเปลี่ยนสปอนเซอร์ไปเรื่อยๆตลอดปีตามภาพยนตร์ที่เข้าฉาย

ชุดแข่งเหย้า-เยือนของ แอตเลติโก มาดริด ในฤดูกาลดังกล่าว จึงมีสปอนเซอร์คาดหน้าอกเป็นชื่อหนัง ไม่ว่าจะเป็น Anaconda, Resident Evil 2 : Apocalypse, Hell Boy, The Punisher, Peter Pan, Bad Boys 2 หรือ Big Fish ที่ดูอย่างไรก็ไม่ควรนำมาติดบนเสื้อฟุตบอล

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่มีเสื้อตัวไหนพีคเท่ากับ เสื้อชุดเยือนที่มีสปอนเซอร์เป็นภาพยนตร์เรื่อง Spider-Man 2 เพราะแทนที่จะมาแค่ชื่อเหมือนหนังเรื่องอื่น ผู้ออกแบบดันได้แรงบันดาลใจจากชุดของไอ้แมงมุม ที่มีโลโก้อยู่บริเวณหน้าอก จึงติดเจ้าแมงมุมตัวใหญ่พร้อมใยเหล็กไว้บนชุดนักฟุตบอลด้วยอีกแรง

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากเสื้อบอลตัวนี้จะถูกสาปส่งโดยแฟนบอลทั่วโลกในปี 2004 แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชุดแข่งขันลายไอ้แมงมุมของ แอตเลติโก มาดริด กลับเป็นที่ต้องการของนักสะสม จนมีการผลิตเสื้อรีเมควางขาย (เสื้อจริงขายแบบไม่มีสปอนเซอร์) ในเว็บไซต์ depop ด้วยราคา 50 ปอนด์ หรือกว่า 2,000 บาท

นิวพอร์ท เคาท์ตี้ เหย้า 2004-05

3

ไม่ใช่แค่ค่ายหนังที่สนใจเป็นสปอนเซอร์บนชุดแข่งขัน วงฮิปฮอปต้องการคาดหน้าอกเสื้อฟุตบอลเช่นเดียวกัน ผลลัพธ์ที่ออกมาคือหนึ่งในชุดแข่งขันที่ "Swag" ที่สุดบนโลกใบนี้

ทีมฟุตบอลที่เป็นเจ้าของเสื้อบอลตัวนี้ คือ นิวพอร์ท เคาท์ตี้ สโมสรจากประเทศเวลส์ที่แข่งขันในลีกทู หรือ ลีกฟุตบอลระดับ 4 ของประเทศอังกฤษ 

ทีมฟุตบอลแห่งนี้อาจไม่ใช่ความภาคภูมิใจของชาวเมืองเท่าใดนัก แต่นิวพอร์ทมีกลุ่มแร็ปเปอร์ชื่อดังในสหราชอาณาจักร ชื่อ Goldie Lookin Chain และในฤดูกาล 2004-05 วงฮิปฮอปนี้ก้าวมาเป็นสปอนเซอร์บนเสื้อแข่งของ นิวพอร์ท เคาท์ตี้

ความไม่ธรรมดาของชุดแข่งตัวนี้คือ ลวดลายสร้อยทองขนาดใหญ่สมชื่อวง Goldie Lookin Chain พร้อมกับติดตัวอักษร GLC ลงไปบนตัวเสื้อ มองผ่านแทบดูไม่ออกว่านี่คือเสื้อกีฬา แม้แต่โลโก้สโมสร นิวพอร์ท เคาท์ตี้ ยังถูกดัดแปลงเป็นเหรียญบนสร้อยแบบเนียนๆ

หากไม่สังเกต นำไปหลอกขายว่าเป็นเสื้อวงดนตรี น่าจะมีคนเชื่อมากมาย แต่ก่อนหลอกขาย อย่าลืมคำนวนต้นทุนให้ดี เพราะตอนนี้ราคาในตลาดมือสองอยู่ที่ 199 ปอนด์ หรือมากกว่า 8,000 บาท

ฟิออเรนตินา เยือน 1992-93

4

นี่คือหนึ่งในเสื้อบอลที่อื้อฉาวมากที่สุด เมื่อลวดลายบนตัวเสื้อดันมีความเกี่ยวข้องกับ นาซี เยอรมนี จักรวรรดิเผด็จการที่เป็นฝันร้ายของคนทั่วโลก ตราบจนทุกวันนี้

อันที่จริง ความผิดพลาดครั้งนี้ เกิดจากความไม่ตั้งใจของผู้ผลิตชุดแข่งขันอย่าง Lotto ที่ต้องการออกแบบลวดลายน่าดึงดูดบนตัวเสื้อด้านบน โดยลืมคิดว่ากราฟฟิคที่ออกแบบ ช่างคล้ายกับสัญลักษณ์สวัสติกะของนาซี กว่าจะทันสังเกต ฟิออเรนตินา โดนแฟนบอลทั่วโลกรุมจวก เสื้อตัวนี้จึงหยุดใช้งานและวางจำหน่ายในเดือนธันวาคมปี 1992 เพื่อลดกระแสต่อต้านที่เกิดขึ้น

ความผิดพลาดของผู้ผลิตชุดแข่งขัน คือลืมสังเกตลวดลายบนตัวเสื้อ แต่ความผิดพลาดของแฟนบอล คือลืมสังเกตว่าเสื้อบอลตัวนี้สวยงามมากแค่ไหน 

ไม่ว่าจะเป็น การไล่สีบนลาย, การแบ่งส่วนระหว่างสีม่วง-สีขาว และการจัดวางสปอนเซอร์ 7up ที่ลงตัว ชุดเยือนของฟิออเรนตินา ฤดูกาล 1992-93 จึงกลายเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักสะสมทั่วโลก แม้ราคาจะพุ่งสูงถึง 399.99 ปอนด์ หรือกว่า 16,000 บาท

มาดูเรย์รา เหย้า 2013

5

หากชุดแข่งขันของฟิออเรนตินา คือเสื้อบอลที่เกี่ยวกับการเมืองโดยไม่ตั้งใจ นี่คือชุดแข่งขันที่มีเอี่ยวกับการเมืองแบบเต็มๆ แถมยังไม่โดนแบนเสียด้วย

ย้อนกลับไปในปี 1963 ไม่มีอะไรดึงดูดใจชาวคิวบามากกว่า เวทย์มนตร์บนพื้นหญ้าของนักฟุตบอลชาวบราซิลที่เพิ่งคว้าแชมป์ฟุตบอลโลก 2 สมัยติดต่อกัน 

เพื่อเอาใจประชาชน รัฐบาลคิวบาจึงว่าจ้างทีมฟุตบอลจากบราซิลมาเดินสายเตะบอลที่คิวบา เพียงแต่ทีมฟุตบอลนั้นไม่ใช่ขุนพลระดับทีมชาติ แต่เป็นสโมสรขนาดเล็กที่แทบไม่มีใครรู้จักอย่าง มาดูเรย์รา

ถึงเป็นทีมหางแถว แต่ มาดูเรย์รา เอาชนะการแข่งขันทั้ง 5 นัดในคิวบา ผลงานอันน่าประทับใจนี้ทำให้ เช เกวารา นักปฏิวัติชาวอาร์เจนตินา ที่ขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมคิวบา เดินทางมาพบกับนักเตะมาดูเรย์ราเพื่อถ่ายรูปเก็บเป็นที่ระลึก

50 ปี ผ่านไป เช เกวารา อาจไม่อยู่บนโลกใบนี้ แต่ความทรงจำที่เขาฝากไว้กับสโมสรมาดูเรย์รา คือเสื้อเหย้าลวดลายธงชาติคิวบา พร้อมภาพกราฟฟิค เช เกวารา (ที่คุ้นตาท้ายรถสิบล้อ) อาจดูสุดโต่งไปสักนิด แต่หากเทียบกับเรื่องราวอันน่าประทับใจที่เกิดขึ้น ไม่น่าแปลกใจที่มาดูเรย์รา จะยกย่อง เช เกวารา ราวกับเป็นฮีโร่ของพวกเขาอีกคน

แอธเลติก บิลเบา เหย้า 2004-05

6

กล่าวถึง บิลเบา เมืองหลวงของแคว้นบาสก์ ประเทศสเปน แฟนกีฬาย่อมนึกถึง แอธเลติก บิลเบา สโมสรฟุตบอลประจำเมือง ที่โดดเด่นเรื่องการใช้นักเตะท้องถิ่น 

แต่ความจริง บิลเบา ไม่ได้มีจุดเด่นแค่นั้น เมืองแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางแวดวงศิลปะในสเปน นับตั้งแต่ พิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ เปิดขึ้นเมื่อปี 1997 ไม่ใช่เรื่องแปลกหากศิลปะในเมืองบิลเบาจะถูกถ่ายทอดลงสู่ชุดแข่งขันของทีมฟุตบอลประจำเมือง

พวกเขาว่าจ้าง ดาริโอ เออร์เซย์ (Darío Urzay) ศิลปินเลือดบาสก์ ออกแบบเสื้อตัวเหย้า เพื่อลงแข่งขันในศึกยูฟ่า คัพ โดยเฉพาะ หลังเก็บเกี่ยวแรงบันดาลใจจากผลงานในพิพิธภัณฑ์กุกเกนไฮม์ เขาจึงผลิตผลงานเป็นเสื้อบอลลวดลายแสนประหลาด

หลายคนมองว่ามันคล้ายลิ่มเลือด บางคนมองว่าเหมือนแยมสตรอว์เบอร์รีบนขนมปัง ไม่ว่าจะบอกแบบไหน เสื้อตัวนี้ถูกรังเกียจจากแฟนบอลทั่วเมืองบิลเบา แต่เมื่อเวลาผ่านไป ชุดแข่งขันตัวนี้ขึ้นแท่นเสื้อบอลสายคัลต์ ที่น้อยคนนักจะมีไว้ครอบครอง

คัลตูรัล เลโอเนซา เหย้า  2014-15

7

หากคิดว่าชุดแข่งขันลายลิ่มเลือดของ แอธเลติก บิลเบา คือเสื้อบอลที่ประลาดที่สุดจากสเปน ขอให้พิจารณาอีกครั้ง เมื่อได้เห็นเสื้อบอลสไตล์ทักซิโด้ตัวนี้

ทีมฟุตบอลที่เป็นเจ้าของเสื้อบอลตัวนี้ คือ คัลตูรัล เลโอเนซา ทีมฟุตบอลในเซกุนดา เบ ดิวิชั่น หรือ ลีกฟุตบอลระดับ 3 ของสเปน ที่ฉลองครบรอบ 90 ปีของสโมสร ในปี 2014 ด้วยการทำชุดแข่งขันพิเศษ แต่แทนจะทำเสื้อบอลย้อนยุคเหมือนหลายทีม คัลตูรัล เลโอเนซา มาแปลกด้วยการทำเสื้อบอลเป็นชุดทักซิโด้ ราวกับทุกคนกำลังแต่งตัวหรู เพื่อเข้าร่วมงานฉลองครบรอบ 90 ปีของสโมสร

เสียงตอบรับของเสื้อบอลทักซิโด้แตกเป็น 2 ฝ่าย แต่ไม่ว่าอย่างไร รายได้ 10 เปอร์เซ็นต์จากเสื้อบอลทักซิโด้ตัวนี้ ถูกแบ่งให้กับองค์กรการกุศลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือครอบครัวผู้ทำเมืองแร่ในเมือง หากเทียบกับความจริงใจที่สโมสรฟุตบอลช่วยเหลือท้องถิ่น ความสวยงามของชุดแข่งขันตัวนี้ถือเป็นเรื่องรองไปเลย

โบคุ่ม เยือน 1997-99

8

การเรียกร้องสิทธิเท่าเทียมของชาว LGBTQ กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่พูดถึงบ่อยในปัจจุบัน 

หากต้องการเครื่องแต่งกายเหมาะออกไปเดินพาเหรด Pride เพื่อแสดงจุดยืน เสื้อบอลตัวนี้เหมาะสมทุกประการ แม้ลวดลายสีรุ้งที่เห็นจะไม่เกี่ยวข้องกับชาวเพศทางเลือกแม้แต่น้อย

ผู้อยู่เบื้องหลังลวดลายสีรุ้งบนด้านซ้ายชุดแข่งขัน คือ Faber Lotto-Services สปอนเซอร์คาดหน้าอกที่มีสีประจำบริษัทเป็นสีรุ้ง และต้องการนำมันขึ้นไปอยู่บนชุดแข่งขันของสโมสรโบคุ่ม ถึงขนาดบีบสองบริษัทกีฬาอย่าง Reebok และ Reusch เพื่อเข้ามาผลิตเสื้อด้วยตัวเอง จนกระทั่งได้เสื้อสีรุ้งอย่างที่เห็น

เสื้อในฤดูกาลดังกล่าวทั้งสามตัวคือ ขาว น้ำเงิน และ แดง ล้วนมีสีรุ้งเป็นส่วนประกอบ แต่ชุดแข่งขันที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ ชุดเยือน ที่สีน้ำเงินทางด้านขวาตัดเข้ากับสีรุ้งอย่างลงตัว ราคาปัจจุบันถูกวางขายที่ 149.99 ปอนด์ หรือราว 6,000 บาท

โตเกียว เวอร์ดี เหย้า 1993-95

9

กล่าวถึงลีกฟุตบอลที่ออกแบบชุดแข่งขันบาดตามากที่สุด เจลีก คงอยู่ในอันดับต้น และหากถามว่าเสื้อฟุตบอลตัวไหนในแดนอาทิตย์อุทัยที่น่าจดจำที่สุด ชุดเหย้าของ เวอร์ดี คาวาซากิ หรือ โตเกียว เวอร์ดี ฤดูกาล 1993-95 คือคำตอบ

เสื้อบอลตัวนี้ออกแบบโดยใช้สีเขียวหลากหลายโทนสี สอดคล้องกับชื่อทีม เวอร์ดี ซึ่งมาจากคำว่า "VERDE" แปลว่าสีเขียว ในภาษาโปรตุเกส ลวดลายคล้ายแสงอาทิตย์สื่อถึงการกำเนิดใหม่ของสโมสร ด้วยการเริ่มต้นใหม่ภายใต้ชื่อ โตเกียว เวอร์ดี แทนที่ Yomiuri FC ตามกฎใหม่ของเจลีก ที่ไม่อนุญาตให้มีชื่อสปอนเซอร์ในชื่อสโมสร

ความสำเร็จของ โตเกียว เวอร์ดี ในฤดูกาล 1993 ยิ่งทำให้เสื้อบอลตัวนี้พิเศษมากขึ้น ในฐานะชุดแข่งขันเจ้าของแชมป์เจลีกฤดูกาลแรก ปัจจุบัน ชุดแข่งขันนี้เป็นที่ต้องการจากนักสะสมทั่วโลก และมีราคาราว 149 ปอนด์ หรือ 6,000 บาท

โคโลราโด้ แคริบูส์ 1978

10

นี่คือเสื้อฟุตบอลสุดแปลกและหายากที่สุด แม้แต่เจ้าของร้านขายเสื้อบอล Classic Football Shirts ที่ครอบครองเสื้อกว่า 700,000 ตัว ยังคงตามหา

เสื้อฟุตบอลตัวนั้นคือ ชุดแข่งขันตัวเหย้าของทีม โคโลราโด้ แคริบูส์ ประจำฤดูกาล 1978 โดยปีดังกล่าวถือเป็นปีแรกที่ทีมตัดสินใจลงแข่งขันใน NASL (ลีกฟุตบอลอาชีพของสหรัฐอเมริกาในอดีต) เพื่อบ่งบอกให้แฟนบอลทั่วสหรัฐฯได้รู้ว่าพวกเขามาจากไหน ชุดแข่งของพวกเขาจึงมีลักษณะคาวบอยสุดๆ ทั้งการแบ่งเสื้อเป็นสองโทนสี พร้อมกับติดพู่ระยิบไว้รอบตัว ราวกับหลุดจากหนังคาวบอย

ไม่ว่าเสื้อตัวนี้จะประหลาดแค่ไหน เรื่องราวที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นประหลาดยิ่งกว่า เพราะชุดแข่งขันตัวนี้ คือเสื้อบอลตัวแรกและตัวเดียวในประวัติศาสตร์ทีม โคโลราโด้ แคริบูส์ เนื่องจาก NASL ประกาศยุบลีกในปี 1978 ชุดแข่งสไตล์คาวบอย จึงกลายเป็นเสื้อบอลเพียงตัวเดียวของ โคโลราโด้ แคริบูส์ ที่ไม่มีวางขายในปัจจุบัน และเป็นหนึ่งในเสื้อบอลที่หายากที่สุดบนโลกใบนี้

คุณกำลังดู: สวยอย่างเดียวไม่พอ : "10 เสื้อบอล" ที่มีเรื่องราวสุดแปลกจนเป็นที่ต้องการของนักสะสมทั่วโลก

หมวดหมู่: ฟุตบอลต่างประเทศ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด