ตำนานนางสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์ ปี 2566 นาม "กิมิทาเทวี"

ตำนานนางสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์ ปี 2566 นาม "กิมิทาเทวี"

ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง และกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ประกาศนางสงกรานต์ประจำปี 2566 และจัดทำภาพวาดนางสงกรานต์ พร้อมกับคำทำนายดวงเมืองประจำปี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยในปีนี้ ได้แก่ นางสงกรานต์กิมิทาเทวี

นางสงกรานต์คือใคร

ตำนานของสงกรานต์ มีปรากฏในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) โดยเล่าถึงความเป็นมาของประเพณีสงกรานต์ เป็นอุบายเพื่อให้คนโบราณได้รู้ว่าวันมหาสงกรานต์ คือวันที่พระอาทิตย์ยกขึ้นสู่ราศีเมษ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ตามสุริยคติว่าตรงกับวันใด โดยสมมุติผ่านนางสงกรานต์ทั้ง 7 โดยเทียบกับแต่ละวันในสัปดาห์ โดยจะมีนาม อาหาร อาวุธ และสัตว์ที่เป็นพาหนะที่แตกต่างกัน

สำหรับนางสงกรานต์ทั้ง 7 นั้น เป็นธิดาของท้าวกบิลพรหม หรือท้าวมหาสงกรานต์ มีหน้าที่อัญเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหมเวียนรอบเขาพระสุเมรุ และอัญเชิญไปประดิษฐานถ้ำคันธุลี ในเขาไกรลาศ เมื่อครบ 1 ปี หรือวันที่เวียนมาถึงวันมหาสงกรานต์ ธิดาทั้ง 7 ก็จะผลัดกันมาอัญเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหม หรือผู้เป็นบิดาออกแห่

ที่เป็นเช่นนี้เป็นเพราะว่า ก่อนที่ท้าวกบิลพรหมจะตัดพระเศียรตัวเองเพื่อบูชาธรรมบาลกุมาร ได้บอกว่า พระเศียรของตนนั้น หากตั้งไว้ในแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก หากทิ้งในอากาศฝนก็จะแล้ง และถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงได้ให้ธิดาทั้ง 7 นำพานมารองรับพระเศียรที่ถูกตัด และให้นำไปแห่รอบเขาพระสุเมรุ และผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ นั่นเอง

โดยธิดาทั้ง 7 องค์ ได้แก่

  • นางสงกรานต์ทุงษเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอาทิตย์
  • นางสงกรานต์โคราดเทวี นางสงกรานต์ประจำวันจันทร์
  • นางสงกรานต์รากษสเทวี นางสงกรานต์ประจำวันอังคาร
  • นางสงกรานต์มัณฑาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพุธ
  • นางสงกรานต์กิริณีเทวี นางสงกรานต์ประจำวันพฤหัสบดี
  • นางสงกรานต์กิมิทาเทวี นางสงกรานต์ประจำวันศุกร์
  • นางสงกรานต์มโหทรเทวี นางสงกรานต์ประจำวันเสาร์

ซึ่งนางสงกรานต์ ในปี 2566 นี้ ได้แก่ นางสงกรานต์กิมิทาเทวี มีลักษณะคือ ทัดดอกจงกลนี มีบุษราคัมเป็นเครื่องประดับ ภักษาหาร คือกล้วย และน้ำ อาวุธคู่กาย พระหัตถ์ขวาถือพระขรรค์ พระหัตถ์ซ้ายถือพิณ เสด็จประทับยืนเหนือมหิงสา (ควาย)

 

คำทำนายเกี่ยวกับนางสงกรานต์ 2566

  • ปีเถาะ (มนุษย์ผู้หญิง ธาตุไม้) เบญจศก จุลศักราช 1385 ทางจันทรคติ เป็น อธิกมาส ทางสุริยคติ เป็น ปกติสุรทิน
  • วันที่ 14 เมษายน เป็น ‘วันมหาสงกรานต์’ ทางจันทรคติตรงกับวันศุกร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เวลา 16 นาฬิกา 01 นาที 02 วินาที
  • วันที่ 16 เมษายน เวลา 20 นาฬิกา 12 นาที 24 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่เป็น 1385 ปีนี้ วันเสาร์ เป็น ธงชัย วันพุธ เป็น อธิบดี วันศุกร์ เป็น อุบาทว์ วันศุกร์ เป็น โลกาวินาศ
  • ปีนี้ วันจันทร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 100 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 150 ห่า ตกในเขาจักรวาล 200 ห่า นาคให้น้ำ 2 ตัว
  • เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 6 ชื่อ ลาภะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ 9 ส่วน เสีย 1 ส่วน ธัญญาหาร พลาหาร มัจฉมังษาหาร จะบริบูรณ์ อุดมสมบูรณ์ เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีปัถวี ( ดิน ) น้ำงามพอดี

คุณกำลังดู: ตำนานนางสงกรานต์ ประวัตินางสงกรานต์ ปี 2566 นาม "กิมิทาเทวี"

หมวดหมู่: ดูดวง

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด