ทำไม ChatGPT จะถูกใจคนพันล้านในสิ้นปีนี้ หากไม่ปรับตัวอาจโดน AI แซง
นับตั้งแต่ ChatGPT เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คน ก็ทำให้ภาพลักษณ์แชตบอทเปลี่ยนไป นอกจากสร้างความตื่นเต้นแล้ว ยังสร้างความกังวลไปด้วยพร้อมกัน
นับตั้งแต่ ChatGPT เข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตของผู้คน ก็ทำให้การมองแชตบอทเปลี่ยนไป นอกจากสร้างความตื่นเต้นแล้ว ยังสร้างความกังวลไปด้วยพร้อมกัน
ChatGPT แอปพลิเคชันแชตบอทที่ยกระดับความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ไปอีกขั้น ด้วยความสามารถในการโต้ตอบที่คล้ายกับการสนทนากับคนจริง สามารถตอบคำถามเรื่องง่ายๆ ไปจนถึงการหาข้อมูลและตอบคำถามเรื่องยากๆ พร้อมทั้งสรุปมาให้เราเข้าใจง่ายในเวลาอันรวดเร็ว จึงกลายเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับผู้คน ขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลไปพร้อมกันว่าจะโดนเจ้า ChatGPT ซึ่งเป็น AI นี้แย่งงานหรือไม่
ทั้งนี้ ChatGPT ถูกพัฒนาขึ้นโดย OpenAI บริษัทเทคโนโลยีที่มียักษ์ใหญ่อย่างไมโครซอฟท์เป็นผู้ถือหุ้นอยู่เบื้องหลัง และล่าสุดเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ไมโครซอฟท์ได้ประกาศเพิ่มความสามารถของ ChatGPT ไปยังบริการของพวกเขาเอง ไม่ว่าจะเป็นเว็บเบราว์เซอร์ Microsoft Edge และเสิร์ชเอนจินที่มีชื่อว่า Bing ซึ่งส่งผลให้ยอดการดาวน์โหลดบิง ติดท็อปชาร์ตแอปสโตร์ในสหรัฐอเมริกาในหมวดหมู่ของแอปฟรี รวมถึงแอปพลิเคชันไมโครซอฟท์ เอดจ์ ก็ขึ้นมาอยู่ในอันดับที่สามของแอปประเภทอรรถประโยชน์ (Utility) เช่นกัน
ทางไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ได้เห็นถึงความสำคัญของการร่วมมือในครั้งนี้ที่จะต่อยอดในเชิงธุรกิจในประเทศไทย โดย สรุจ ทิพย์เสนา รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายโซลูชั่นองค์กร ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เผยว่า 3 สิ่งที่ทำให้คนจำนวนมากถูกใจ ChatGPT ก็คือ
- มีศักยภาพในการโต้ตอบได้เหมือนคน (Human-like response) ซึ่งต่างจากการคุยกับแชตบอททั่วไป
- มีความสามารถในการค้นหาข้อมูลได้ต่างจากเสิร์ชเอนจินทั่วไป เพราะ ChatGPT ไม่ใช่แค่เพียงการหาข้อมูลตามที่เราต้องการเท่านั้น แต่ยังนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลแล้วเรียบเรียงเป็นเรื่องราว หรือไอเดีย กลับมาให้เราเป็นตัวเลือก
- มีศักยภาพในการอ่านข้อมูลจำนวนมหาศาลแล้วสรุปมาในรูปแบบที่เราต้องการ เช่น เป็น หัวข้อ เรียงตามไทม์ไลน์ “ซึ่ง ChatGPT มีความสามารถในการหาข้อมูลจำนวนมหาศาลแล้วคัดกรองสรุป หาจุดเด่น หาเนื้อความ เอามาพรีเซ็นต์ให้เรานำไปใช้ต่อได้” สรุจ กล่าว
ความสามารถของ ChatGPT นี้เรียกว่า Generative AI (“AI รู้สร้าง”) ที่ไม่ใช่แค่เรียนรู้ คิดวิเคราะห์ได้ แต่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้จากความรู้ความเข้าใจที่มีอยู่ โดยทั้งไมโครซอฟท์ และ OpenAI ต้องการให้ทุกภาคส่วนได้มีโอกาสเข้าถึง AI ได้อย่างทั่วถึงและปลอดภัย และมีโอกาสในการขับเคลื่อนความสามารถของ AI ให้เกิดประโยชน์กับเศรษฐกิจ สังคม และชีวิตมนุษย์ไปพร้อมๆ กัน
“AI ที่เราคุ้นเคยกันเรียกว่า Discriminate AI เป็น AI ที่เอามาช่วยตอบคำถามที่มีข้อมูลเยอะๆ ตอบคำถามที่ต้องตัดสินใจ เช่น นำ AI มาช่วยคาดการณ์ยอดขายในไตรมาสหน้าจะเป็นเท่าไร นำ AI มาคาดการณ์ว่าถ้าเปิดโปรโมชั่นใหม่ ยอดขายจะเพิ่มหรือจะลดลง นี่คือกลุ่ม AI ที่เราคุ้นเคยกันมาตลอดในช่วงเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา ส่วน Generative AI นี้เพิ่งพัฒนาขึ้นใหม่ และเป็นตัวที่อยู่ใน ChatGPT สิ่งที่ Generative AI ทำคือการสร้างข้อมูลเพิ่ม การสร้างรูปภาพ การเขียนโค้ด การทำไอเดียขึ้นมาใหม่ ดังนั้น Generative AI จึงไม่ตอบโจทย์กับการทำงานที่ต้องใช้การตัดสินใจ แต่ถ้ามีโจทย์ที่อยากให้แอปพลิเคชันตัดสินใจแล้วสื่อสารกับลูกค้าให้รู้สึกสบายใจ แบบนี้ Generative AI ถือว่าตอบโจทย์”
ChatGPT กับเป้าหมายในการแข่งขันของไมโครซอฟท์
เมื่อถามถึงเป้าหมายของไมโครซอฟท์ว่าการนำ ChatGPT หรือ Generative AI มาใช้กับ Bing ซึ่งเป็นเสิร์ชเอนจินนี้จะช่วยให้สามารถชนะคู่แข่งได้หรือไม่ ทางสรุจขอไม่พูดถึงคู่แข่ง แต่ขอตอบในเรื่องเป้าหมายของไมโครซอฟท์ว่าอยากให้ทุกคนและทุกองค์กรนำไปใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานที่สูงขึ้น
“เพราะตอนนี้เราอยู่ในจังหวะที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจและการแข่งขันต่างๆ สูง สิ่งที่จะมาปลดล็อกศักยภาพคนได้ก็คือการทำงานให้มากขึ้น ไม่ได้หมายถึงการทำงานหนักขึ้น แต่หมายถึงมีผลงานที่ดีขึ้น ตัวอย่างเช่น มีโปรแกรมเมอร์ที่เขียนภาษา A แต่มีสถานการณ์ที่ต้องใช้โปรแกรมเมอร์ที่เขียนภาษา B เมื่อก่อนอาจจะต้องจ้างโปรแกรมเมอร์เพิ่มอีกหนึ่งคนมาทำภาษา B แต่เรามี AI ที่ช่วยแปลงภาษา A เป็นภาษา B ได้แล้ว นี่คือการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคน ถ้าประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมก็จะก้าวไปข้างหน้า ดังนั้นทักษะที่เราควรมีตอนนี้คือ Prompt คือการตั้งคำถามให้ AI ไปทำงาน เมื่อส่งกลับมา เราก็มา Edit ถ้าเราสามารถทำเหล่านี้ให้ AI ได้ เราจะทำงานได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น นี่จึงไม่ได้ตอบคำถามว่าเราจะชนะคู่แข่งไหม แต่มั่นใจว่าใครไม่เอา AI ไปใช้น่าจะเหนื่อยแน่นอน”
ChatGPT จะมาแย่งงานคนหรือไม่
อีกหนึ่งเรื่องที่เป็นประเด็นสำคัญและคนจำนวนมากให้ความสนใจและกังวลต่อความสามารถของ ChatGPT ก็คือ ในอนาคตจะมาแย่งงาน แย่งอาชีพ ของคนหรือไม่ ซึ่งทางสรุจตอบว่าเป้าหมายของไมโครซอฟท์ที่มีต่อ AI คือการมาเป็นผู้ช่วยมนุษย์ และมนุษย์เองก็ต้องปรับตัวเรียนรู้การทำงานกับ AI เพื่อพัฒนาความสามารถของตนเองไปพร้อมกันด้วย
“ไมโครซอฟท์พูดเรื่อง AI มาหลายสิบปีแล้ว เราต้องการให้ AI มาช่วยในเรื่องที่มนุษย์ไม่เก่งกว่าเครื่องจักร ดังนั้นจึงไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะมาทำงานแทนคนไหม แต่ควรจะมาทำงานที่ไม่ต้องใช้คนทำก็ได้ และมีงานอีกมากที่ AI ทำไม่ได้แล้วต้องให้คนทำ สัตยา นาเดลลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไมโครซอฟท์ เคยพูดว่าคนเป็นผู้ควบคุม ดังนั้นคนคือจุดตั้งต้นให้ AI ทำงาน และ AI จะไม่มีหน้าที่ตัดสินใจแทนคน สิ่งที่ AI ตอบหลายเรื่องอาจจะไม่ตรง แต่ก็เป็นไอเดียให้คนนำไปตั้งต้นต่อได้ แล้วนำข้อมูลเหล่านั้นไปทำงานต่อในแบบที่ต้องการ เพราะฉะนั้นจึงตอบยากมากว่าจะไม่กระทบในเรื่องของการแย่งงานคน แต่จะกระทบถ้ามนุษย์ไม่มีการเรียนรู้ที่จะนำ AI มาใช้งาน เพราะคนรอบข้างก็นำไปใช้กันหมดแล้ว”
เกี่ยวกับ OpenAI
OpenAI บริษัทเทคโนโลยี มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา มีไมโครซอฟท์ ถือหุ้นตั้งแต่ปี 2019 และในปี 2023 ได้เพิ่มทุนถือหุ้นสัดส่วน 46% พร้อมทุ่มเม็ดเงินลงทุนใน OpenAI อีก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 3 แสนล้านบาท เพื่อเป็นทุนพัฒนาบริการ ChatGPT (GPT ย่อมาจาก Generative Pre-trained Transformer) ให้ต่อเนื่อง พร้อมกับการเชื่อมโยงบราวเซอร์ Bing ที่เปิดตัว Bing โฉมใหม่ในวันที่กูเกิลเปิดตัว Bard มาแข่งกับ ChatGPT วันที่ 7 ก.พ. 2023
OpenAI เปิดทดสอบการใช้งาน ChatGPT เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2022 และมีการส่งต่อหน้าจอการทดสอบจนกลายเป็นไวรัลในโซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ เพราะการแสดงผล หลังการใส่คำค้นหาแบบโต้ตอบกันเหมือนการพูดคุยแบบแชต ซึ่งข้อมูลที่แสดงออกมานั้นเกิดจากการประมวลผลฐานข้อมูลมหาศาล แม้จะมีจุดอ่อนตรงที่ข้อมูลล่าสุดอัปเดตถึงเพียงสิ้นปี 2021 และยังมีข้อสงสัยว่าการประมวลผลได้ข้อเท็จจริงถูกต้องหรือไม่ แต่จำนวนผู้ใช้งานก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่หลังทดสอบและมีการพัฒนาระบบ ChatGPT ดีขึ้น เพียงแค่สองเดือนผ่านไป ณ สิ้นเดือน ม.ค.2023 มีผู้ใช้งาน 100 ล้านคน และมีผู้ใช้งานทุกวันถึง 13 ล้านคน และในเดือน ก.พ. 2023 เพิ่มบริการสมัครสมาชิก เก็บค่าบริการ 20 เหรียญสหรัฐต่อเดือน เพื่อได้สิทธิการใช้บริการได้ไม่ติดขัดในช่วงที่มีคนใช้งานจำนวนมาก โดยคาดว่าสิ้นปี 2023 จะมีผู้ใช้งาน 1,000 ล้านคน และทำรายได้ให้บริษัท 200 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่หลายคนสนใจใช้ ChatGPT และมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วน Bard ยังต้องรอพัฒนาและเปิดให้คนทั่วไปใช้งาน หลังจากที่กูเกิลหน้าแตก แสดงข้อมูลไม่ถูกต้องในวันเปิดตัว Bard จนหุ้นร่วงอย่างหนัก เป็นข้อมูลเกี่ยวกับ กล้อง James Webb Space Telescope (JWST) ถ่ายภาพดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ (exoplanets) ได้เป็นครั้งแรก แต่ความจริงคือ กล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ของสหภาพยุโรป ถ่ายภาพดาวเคราะห์ 2M1207b ได้ตั้งแต่ปี 2547 แล้ว.
คุณกำลังดู: ทำไม ChatGPT จะถูกใจคนพันล้านในสิ้นปีนี้ หากไม่ปรับตัวอาจโดน AI แซง
หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่