“ธาตุแข็ง-ธาตุอ่อน” หรือ “ท้องผูก-ท้องเสียง่าย” มีจริงหรือไม่?

คุณเป็นคนธาตุแข็ง (ถ่ายยาก) หรือธาตุอ่อน (ถ่ายง่าย) จริงๆ แล้วร่างกายของเรามีระบบแบบนี้อยู่จริงหรือไม่

“ธาตุแข็ง-ธาตุอ่อน” หรือ “ท้องผูก-ท้องเสียง่าย” มีจริงหรือไม่?

คุณเป็นคนธาตุแข็ง หรือธาตุอ่อน?

โดยทั่วไป หากคุณเป็นคนธาตุแข็ง หมายความว่าคุณเป็นคนท้องผูกบ่อยๆ กินอะไรที่ช่วยให้ถ่ายง่ายก็ไม่ค่อยช่วยเท่าไร

ตรงกันข้ามกับคนธาตุอ่อน ที่หมายถึงคนที่กินอะไรนิดอะไรหน่อยก็วิ่งเข้าห้องน้ำแทบไม่ทัน ถ่ายง่าย ท้องเสียง่าย

จริงๆ แล้วในทางการแพทย์ คนที่มีธาตุแข็ง-ธาตุอ่อน มีอยู่จริงหรือไม่ Sanook Health มีคำตอบจาก ศ.นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค มาฝากกัน

ศ.นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์คศ.นพ. รังสรรค์ ฤกษ์นิมิตร หัวหน้าศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเมดพาร์ค


ที่ว่าเป็นคนธาตุอ่อน (ท้องเสียง่าย) กับคนธาตุแข็ง (ไม่ค่อยท้องเสีย หรือไม่ค่อยถ่าย) มีจริงหรือไม่ สาเหตุมาจากอะไร?

ในแต่ละคนมีลักษณะการขับถ่ายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่ 

  • อาหารที่รับประทาน หากรับประทานที่มีกากใยมากก็จะขับถ่ายง่าย 

  • ดื่มน้ำน้อย ก็จะทำให้อุจจาระแข็งถ่ายอุจจาระได้ยาก 

  • โรคประจำตัวที่เป็นอยู่ เช่น โรคเบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ ทำให้มีอาการได้ทั้งท้องผูกและท้องเสีย 

  • ยาที่กินประจำบางชนิดทำให้ท้องผูก บางชนิดทำให้ท้องเสีย 

  • ลักษณะนิสัยนิสัยการเข้าห้องน้ำ และความเร่งรีบในชีวิตประจำวัน หากไม่ขับถ่ายให้เป็นเวลา หรือกลั้นอุจจาระบ่อยๆ ก็จะทำให้เป็นคนท้องผูกไม่ค่อยถ่าย 

  • ภาวะท้องเสีย หรือท้องผูกง่ายที่สัมพันธ์กับอาการปวดท้อง อาจจะเกิดจากการบีบตัวของลำไส้ผิดปกติ ในภาวะลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome; IBS)

หากเป็นคนธาตุอ่อน หรือท้องเสียบ่อยๆ จะเป็นผลเสียหรืออันตรายอะไรกับร่างกายเราในระยะยาวหรือไม่?

คำว่าท้องเสียบ่อยๆ กับ คนธาตุอ่อน ความหมายอาจจะไม่เหมือนกันโดยตรง 

ท้องเสียบ่อยๆ เป็นอาการแสดงที่เกิดขึ้น ต้องพิจารณาก่อนว่าอาการท้องเสียมีสาเหตุมาจากโรคทางกายหรือไม่ เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease; IBD), ภาวะบกพร่องของเอนไซม์ในการย่อยอาหาร (Malabsorption syndromes) หรือการติดเชื้อเรื้อรัง (Chronic infection) เป็นต้น ลักษณะของอุจจาระที่สามารถบ่งบอกได้ว่ามีโรคทางกายแน่นอน ได้แก่ ถ่ายมีมูกเลือดปน ถ่ายเป็นมันลอย ซึ่งอาการท้องเสียที่มีสาเหตุข้างต้น เมื่อตรวจร่างกายและตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม มักพบมีความผิดปกติของผลเลือด หรือภาวะขาดสารอาหารร่วมด้วย นอกจากนี้อาจมีอาการแสดงที่อวัยวะส่วนอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการปวดข้อ ผื่นที่ผิวหนัง หรือไข้ เป็นต้น ผู้ที่มีอาการและอาการแสดงดังกล่าวควรเข้ารับการตรวจปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง และพิจารณาการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

ส่วนคำว่า คนธาตุอ่อน ในที่นี้จะหมายถึงคนที่มีอาการถ่ายอุจจาระบ่อย โดยตรวจไม่พบความผิดปกติทางด้านกายภาพ โดยส่วนใหญ่มักเกิดจากการบีบตัวของลำไส้มากผิดปกติ คือภาวะลำไส้แปรปรวน (IBS) แม้ว่าภาวะนี้จะไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติต่อโดยตรงต่อร่างกาย มีตรวจผลเลือด และการดูดซึมสารอาหารปกติดี แต่อาจจะมีอาการร่วมอื่นๆ เช่น อาการปวดท้องหรือท้องอืดร่วมด้วย ซึ่งมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประจำวัน คนที่มีอาการดังกล่าวสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์เฉพาะทาง เพื่อสามารถทำให้อาการดีขึ้นได้ และทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

คนที่ธาตุแข็ง ไม่ค่อยถ่าย ถ้ากินยาถ่ายบ่อยๆ สวนทวาร หรือกินอาหารที่ช่วยให้ถ่ายง่ายบ่อยๆ จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวหรือไม่?

คนที่ธาตุแข็ง ไม่ค่อยถ่ายอุจจาระ ควรเริ่มต้นที่การปรับพฤติกรรมทุกราย คือ 

  1. เข้าห้องน้ำให้เป็นเวลา 

  2. ไม่ควรกลั้นอุจจาระนานๆ 

  3. รับประทานอาหารที่มีกากใยและดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ 

  4. สามารถใช้ยาระบายได้ตามความจำเป็นแต่ไม่ควรใช้เป็นประจำ 

ทั้งนี้ยาระบายมีหลายชนิด และหลายรูปแบบการให้ยา หากต้องมีการใช้ยาระบายเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อแนะนำชนิดของยาระบายที่เหมาะสมในแต่ละราย ควรใช้ยาระบายชนิดสวนทวารเท่าที่จำเป็น ไม่แนะนำให้ใช้เป็นประจำทุกวัน 

หากมีปัญหาเรื่องของการขับถ่ายอยู่เป็นประจำ ถ่ายบ่อยเกินไป ท้องผูกบ่อยเกินไป หรืออาจจะเป็นอาการท้องเสียสลับท้องผูก ไม่ค่อยได้ถ่ายเป็นปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง และทำการรักษาต่อไป

คุณกำลังดู: “ธาตุแข็ง-ธาตุอ่อน” หรือ “ท้องผูก-ท้องเสียง่าย” มีจริงหรือไม่?

หมวดหมู่: สุขภาพ

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด