'ทวิตเตอร์' ลบแถบระบุ 'สื่อของรัฐ' ออกจากบัญชีสื่อใหญ่หลายสำนัก

'ทวิตเตอร์' ลบแถบระบุ 'สื่อของรัฐ' ออกจากบัญชีสื่อใหญ่หลายสำนัก

สื่อสังคมออนไลน์ ทวิตเตอร์ (Twitter) ตัดสินใจลบแถบที่บอกว่าบัญชีผู้ใช้นั้นเป็นบัญชีขององค์กรสื่อที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล หรือเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลประเทศใดประเทศหนึ่ง ออกจากโปรไฟล์ของสื่อหลายสำนัก

การอัพเดทล่าสุดของทวิตเตอร์นี้ เกิดขึ้นหลังจากที่เพิ่งถอดเครื่องหมายรับรองความถูกต้องของบัญชีผู้ใช้หลายบัญชีที่ไม่ได้จ่ายค่าสมาชิกรายเดือน

ส่วนหนึ่งของสื่อที่ถูกลบแถบซึ่งระบุว่าเป็น "สื่อในสังกัดของรัฐบาล" คือ National Public Radio หรือ NPR ของสหรัฐฯ ที่เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จะหยุดใช้ทวิตเตอร์เพราะบัญชีหลักขององค์กรถูกระบุว่าเป็น "สื่อในสังกัดของรัฐบาล" ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่ใช้สำหรับสื่อในหลายประเทศ เช่น รัสเซียและจีน ที่ถูกควบคุมโดยรัฐบาลประเทศนั้น

ต่อมา ทวิตเตอร์เปลี่ยนแถบดังกล่าวเป็น "สื่อที่ได้รับเงินทุนจากรัฐบาล" ซึ่งทาง NPR ท้วงว่าทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะ NPR ได้รับเงินทุนจากรัฐบาลเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

นอกจากนี้ บัญชีของ Canadian Broadcasting Corp. (CBC), Swedish public radio, Sputnik และ RT ของรัสเซีย และสำนักข่าวซินหัวของจีน ต่างถูกลบแถบดังกล่าวออกไปจากบัญชีทวิตเตอร์เช่นกัน

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดี บัญชีทวิตเตอร์ของคนดังหลายคนถูกลบ 'เครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน' ซึ่งเป็นสัญลักษณ์รับรองว่าเป็นบัญชีทางการที่ถูกต้องของผู้ใช้คนนั้น ๆ รวมทั้งทวิตเตอร์ของ บียองเซ่, โอปราห์ วินฟรีย์, อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และพระสันตะปาปาฟรานซิส เป็นต้น

ทั้งนี้ ทวิตเตอร์มีบัญชีที่ได้รับ 'เครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน' ราว 300,000 บัญชี ทั้งของนักกีฬา ดารานักร้อง ผู้สื่อข่าว นักการเมือง และผู้ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก

ค่าธรรมเนียมสำหรับการได้รับเครื่องหมายรับรองนี้คือ 8-11 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับบัญชีผู้ใช้แบบบุคคล ไปจนถึงขั้นต่ำ 1,000 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับบริษัทหรือองค์กรต่าง ๆ และอีก 50 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับบริษัทในเครือหรือพนักงานของบริษัทนั้น ๆ

สำหรับบัญชีคนดังบางคน เช่น นักบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอ เลอบรอน เจมส์ และนักเขียน สตีเฟน คิง ซึ่งต่างออกมาวิจารณ์ระบบการรับรองด้วยเครื่องหมายดังกล่าว ยังคงมีเครื่อหมายถูกสีน้ำเงินปรากฎอยู่จนถึงขณะนี้ แม้ว่าตัวสตีเฟน คิง เองออกมาบอกว่าตนไม่เคยจ่าค่าสมาชิกให้ทวิตเตอร์แต่อย่างใด

ต่อมา อิลอน มัสก์ เจ้าของทวิตเตอร์ ออกมาทวีตยอมรับว่าตนเป็นคนจ่ายค่าสมาชิกให้กับบัญชีคนดังเหล่านั้นเอง พร้อมบอกว่า "ด้วยความยินดี สวัสดี"

นอกจากเหล่าผู้มีชื่อเสียงจำนวนมากที่ถูกลบเครื่องหมายรับรองความถูกต้องแล้ว องค์กรต่าง ๆ ทั่วโลกทั้งของรัฐบาลและไม่ใช่รัฐบาลต่างเผชิญกับกรณีเดียวกัน ทำให้เกิดความกังวลว่า ในที่สุดแล้วทวิตเตอร์อาจสูญเสียสถานะความเป็นสื่อสังคมออนไลน์ที่แม่นยำ และมีข้อมูลทันเหตุการณ์จากแหล่งข่าวที่ถูกต้องน่าเชื่อถือได้

หลังจากที่ อิลอน มัสก์ ซื้อทวิตเตอร์เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ด้วยวงเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์ เขาพยายามทำให้สื่อสังคมออนไลน์นี้มีกำไรด้วยการผลักดันให้ผู้ใช้จ่ายค่าสมาชิกรายเดือนผ่านการรับรองความถูกต้องผ่านเครื่องหมาย Twitter Blue

อย่างไรก็ตาม เครื่องหมายถูกสีฟ้าที่เป็น “ตรายืนยันตัวตน” ที่ทวิตเตอร์นำมาใช้ เพื่อป้องกันการแอบอ้างเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง นักการเมือง หรือนักข่าว กลับถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกสถานะของกลุ่มชนชั้นนำหรือผู้ที่มีชื่อเสียงในแวดวงต่าง ๆ

ข้อมูลวิเคราะห์จาก เทรวิส บราวน์ นักพัฒนาซอฟแวร์ในเยอรมนี ระบุว่า มีผู้ใช้ทวิตเตอร์ไม่ถึง 5% ที่ยอมจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับ Twitter Blue เพื่อให้ได้เครื่องหมายรับรองความถูกต้องนั้น ขณะที่บริษัทวิเคราะห์ข่าวกรองออนไลน์ Similarweb ชี้ว่า มีผู้ลงชื่อเข้าใช้ฟังก์ชั่น Twitter Blue ทางคอมพิวเตอร์เพียง 116,000 เมื่อเดือนที่แล้ว

คุณกำลังดู: 'ทวิตเตอร์' ลบแถบระบุ 'สื่อของรัฐ' ออกจากบัญชีสื่อใหญ่หลายสำนัก

หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด