เอเชียซอฟท์ฯ เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมรีแบรนดิ้งองค์กรใหม่

เอเชียซอฟท์ฯ เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมรีแบรนดิ้งองค์กรใหม่

เอเชียซอฟท์ฯ เผยกลยุทธ์ปี 2566 เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมเตรียมปรับภาพลักษณ์องค์กรใหม่รับการเติบโตของตลาดดิจิทัล

ปราโมทย์ สุดจิตพร ประธานกรรมการ บมจ.เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น เผยถึงภาพรวมของทิศทางการเติบโตทางธุรกิจของเอเชียซอฟท์ฯ ที่เริ่มวางรากฐานตั้งแต่ช่วงต้นปี 2565 เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต ด้วยการปรับโครงสร้างธุรกิจเป็น 4 กลุ่มธุรกิจ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจเกมออนไลน์, กลุ่มธุรกิจ Blockchain & Innovation Technologies, กลุ่มธุรกิจสื่อและการตลาด และกลุ่มธุรกิจเงินร่วมลงทุน เพื่อมุ่งสู่การเป็นหนึ่งในผู้นำด้าน Digital Technology โดยในปี 2566 นี้ จะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

ในกลุ่มธุรกิจเกมออนไลน์ Mr. Quach Dong Quang ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบจ. เพลย์พาร์ค เผยว่าอนาคตอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกยังมีแนวโน้มเติบโตทั้งด้านรายได้และจำนวนผู้เล่น แม้ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมาจะปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นการปรับฐานของอุตสาหกรรมหลังจากการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 2 ปีก่อนหน้า

3 ผู้บริหารจากเอเชียซอฟท์ฯ (จากซ้ายไปขวา) กิตติพงศ์ พฤกษอรุณ, ปราโมทย์ สุดจิตพร และ Mr. Quach Dong Quang
3 ผู้บริหารจากเอเชียซอฟท์ฯ (จากซ้ายไปขวา) กิตติพงศ์ พฤกษอรุณ, ปราโมทย์ สุดจิตพร และ Mr. Quach Dong Quang

สำหรับปี 2566 เพลย์พาร์คจะมีการปรับกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตทางด้านรายได้ โดยกลยุทธ์การเลือกเกมยังคงเน้นเปิดให้บริการเกมแนว Role-Playing Game (RPG) ที่บริษัทฯ มีจุดแข็งและเป็นแนวเกมที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุด และมีแผนจะเริ่มมองหาพันธมิตรบริษัทผู้พัฒนาเกมใหม่ๆ จากภูมิภาคอื่นเพิ่มเติมนอกเหนือจากเดิมที่อยู่ในโซนทวีปเอเชียทั้งหมด เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า รวมถึงมุ่งเน้นการบริหารช่องทางการชำระเงินเพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย โดยเซ็นสัญญาเกมใหม่เพื่อเตรียมเปิดในปีนี้ถึง 11 เกม

รวมทั้งจะมีการนำเทคโนโลยี AI ด้านการตลาดและการวิเคราะห์ข้อมูลมาเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการเกมในลักษณะ Segmentation ที่ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น เพื่อมุ่งเน้นเพิ่มประสิทธิภาพในการทำแคมเปญทางการตลาดและผลตอบแทนในการลงทุนที่ดีขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ยังได้เตรียมนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาประยุกต์ใช้ โดยจะมีการออก PlayPark NFT ซึ่งเป็นรูปแบบ Membership Privilege ที่จะมอบสิทธิพิเศษสำหรับสมาชิกที่ถือครอง และการออก PlayPark Token เพื่อใช้ในการทำ CRM Program ที่ลูกค้าจะสามารถสะสม Token ที่ได้จากการเล่นเกม การใช้จ่าย รวมถึงการทำภารกิจต่างๆ และนำ Token มาใช้แลกรับสิทธิพิเศษ ของขวัญ ของรางวัล หรือร่วมกิจกรรมพิเศษต่างๆ

ด้านธุรกิจบล็อกเชน กิตติพงศ์ พฤกษอรุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คับเพลย์ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ เผยว่าปี 2566 การพัฒนาแพลตฟอร์ม Astronize ซึ่งเป็น Hybrid Web 3.0 Game Platform รายแรกในภูมิภาคมีความคืบหน้าเป็นไปตามแผน พร้อมมีแผนเปิดตัวเกม TS Multiverse ซึ่งเป็นเกมแนว SRPG ในรูปแบบ Free-to-Play & Earn และเกม Clash of Thrones ซึ่งเป็นเกม NFT Idle RPG ที่แตกต่างจากเกม Idle RPG ทั่วไป โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายจะมีผู้ใช้บริการบนแพลตฟอร์ม Astronize ทันทีหลังจากเปิดตัว 2 เกมไม่น้อยกว่า 500,000 คน และเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 1 ล้านคนภายใน 1 ปีด้วยแผนการเปิดตัวเกมใหม่เพิ่มเติมทุกไตรมาส และตั้งเป้ารายได้แตะ 1 พันล้านบาทภายใน 3 ปีนับจากเปิดให้บริการ คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 67

“2-3 ปีที่ผ่านมา โมเดลธุรกิจของ GameFi ได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จและมีความยั่งยืนที่สุดในปัจจุบันคือรูปแบบ Free-to-Play & Earn โดยเฉพาะการนำเอาเกม Traditional (Web 2.0) ที่มีคุณภาพสูงและความสนุกสนานมาผสานเข้ากับเทคโนโลยี Blockchain (Web 3.0) เพื่อนำมาให้บริการในรูปแบบ Hybrid เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการพื้นฐานในการเล่นเกมอย่างแท้จริง คือ ความสนุก แต่ผู้เล่นสามารถได้ผลตอบแทนหรือ Earn จากการเล่นควบคู่ไปด้วยและสามารถแลกเปลี่ยนไอเทมในเกมกับผู้เล่นอื่นๆ ได้อย่างสะดวกและปลอดภัยด้วยการแปลงเป็น NFT ซึ่งแตกต่างจากเกม Web 3.0 ที่เปิดให้บริการด้วยโมเดล Play-to-Earn ที่เน้นการลงทุนก่อนเข้าเล่น เพื่อหวังผลตอบแทนเป็นหลัก แต่คุณภาพของเกมยังไม่สามารถตอบโจทย์ด้านความสนุกที่แท้จริงได้ ซึ่งเชื่อว่าเกม Web 3.0 จะยังต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาด้านคุณภาพให้เทียบเท่าเกมยุค Web 2.0 และค้นหาโมเดลทางธุรกิจที่เหมาะสมและยั่งยืนอย่างน้อยอีก 2-3 ปี”

กลุ่มธุรกิจ Blockchain and Innovation Technologies ได้เตรียมก้าวเข้าสู่ธุรกิจ Metaverse ที่มีแนวโน้มการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต โดยได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับพันธมิตรเพื่อเข้าลงทุนในโปรเจกต์ Big Bang Theory ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้บริการ Metaverse as-a-service รายแรกของโลก เพื่อช่วยให้ลูกค้าองค์กรหรือแบรนด์สินค้าต่างๆ สามารถสร้าง Metaverse ของตนเองด้วย module สำเร็จรูปอย่างง่ายดายภายในเวลาเพียง 10 นาที และด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำในรูปแบบ pay per use อีกทั้งยังสามารถรองรับการเชื่อมต่อฟังก์ชั่นทางธุรกิจมากกว่า 30 ฟังก์ชั่น อาทิ e-commerce, communication, virtual space, streaming, gamification หรือเชื่อมต่อกับโลก Web 3.0 เพื่อสร้าง Token หรือ NFT เป็นต้น ซึ่งแพลตฟอร์มได้เริ่มเปิดให้บริการ soft launch ไปตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยในขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ โดยคาดว่าจะเข้าลงทุนแล้วเสร็จภายในไตรมาสนี้

ขณะเดียวกัน ทางเอเชียซอฟท์ก็มีแผนรุกธุรกิจสื่อและการตลาด โดยเฉพาะการลงทุนใน MarTech ซึ่งมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการเข้าลงทุนในบริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด (Buzzebees) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการด้าน Customer Relationship Management (CRM) Platform ครบวงจร โดยปัจจุบันมีผู้ใช้งานมากกว่า 100 ล้านคน และมีระบบนิเวศที่รองรับผู้ประกอบการทั้งในระดับองค์กรและผู้ค้าปลีก ซึ่งการลงทุนครั้งนี้นอกจากบริษัทฯ จะได้นำระบบ CRM มาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด ทำให้เข้าใจถึงความต้องการของลูกค้าได้อย่างลึกซึ้งแล้ว ยังช่วยให้บริษัทฯ มีรายได้ที่แข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้นจากหลากหลายธุรกิจ ในขณะเดียวกัน เอเชียซอฟท์ฯ สามารถช่วยให้บัซซี่บีส์ขยายธุรกิจสู่ตลาดในระดับภูมิภาค เนื่องจากเอเชียซอฟท์ฯ มีความเข้าใจตลาดและดำเนินธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มานานกว่า 17 ปี

นอกจากนี้ ยังเตรียมตัวรีแบรนดิ้งเพื่อปรับภาพลักษณ์ของเอเชียซอฟท์ฯ ให้เข้ากับกลยุทธ์ใหม่ในการขยายธุรกิจ โดยเปลี่ยนบริษัทชื่อเป็น Asphere Innovations Public Company Limited ซึ่งหมายถึง Asiasoft (AS) ผนวกกับ Sphere อันหมายถึงทรงกลมหรือโลกที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ดังนั้น Asphere จึงมีนัยสื่อถึง Asiasoft พร้อมแล้วที่จะก้าวออกจากภูมิภาคเอเชียและขยายขอบเขตธุรกิจที่จะสรรค์สร้างนวัตกรรมแห่งอนาคตสู่ตลาดระดับโลกภายใต้แนวคิด “Serving the Infinite Future”

คุณกำลังดู: เอเชียซอฟท์ฯ เดินหน้าปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมรีแบรนดิ้งองค์กรใหม่

หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่

แชร์ข่าว

โพสต์ล่าสุด