อันตราย! ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ควรทิ้งปนกับขยะอื่น
เรากำลังอยู่ในยุคสมัยที่มีการแข่งขันคิดค้นพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ กันอย่างดุเดือด ดังที่เห็นว่า เทคโนโลยีดิจิทัลและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากมาย ได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน หลัก ๆ ก็เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตของมนุษย์ มีการผลิต จำหน่าย และใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องดูดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ ยิ่งอุปกรณ์เหล่านี้มีฟังก์ชันหรือการใช้งานที่ล้ำสมัยมากเท่าไร ก็จำเป็นต้องมีวงจรอิเล็กทรอนิกส์สุดทันสมัยด้วยเช่นกัน ซึ่งในวงจรอิเล็กทรอนิกส์ก็มักจะมีสารเคมี หรือสารพิษอันตรายเข้ามาเป็นส่วนประกอบเสมอ
ตอกย้ำให้เห็นว่าโลกของเรากำลังหมุนด้วยเทคโนโลยี ทำให้การพัฒนาและการผลิตเครื่องมือเครื่องใช้หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มีแนวโน้มเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม วัสดุอุปกรณ์ทุกชิ้นมีอายุการใช้งานของมัน วันนี้มันอาจจะเป็นนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีสุดเจ๋งในมือผู้ใช้งานอย่างเรา ๆ แต่ในวาระสุดท้าย มันก็จะกลายเป็น “ขยะ” ในสักวันอยู่ดีเมื่อเสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน เมื่อมันกลายเป็นขยะ ใช้งานไม่ได้ ไม่เป็นที่ต้องการ ขั้นตอนต่อไปที่เราทำกันก็คือ “ทิ้ง” แต่ปัญหาก็คือ ขยะประเภทนี้เป็นขยะอันตราย มันไม่สามารถกำจัดทิ้งได้แบบขยะทั่วไป ด้วยความที่มีส่วนประกอบอันตรายหลายอย่าง หากกำจัดทิ้งด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
เมื่ออุปกรณ์เหล่านั้นกลายเป็นขยะที่ต้องทิ้งและกำจัด มันจะถูกจัดอยู่ในประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste
ขยะอิเล็กทรอนิกส์คืออะไร
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Waste หรือ E-Waste) คือ เศษซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ชนิดต่าง ๆ ที่หมดอายุการใช้งาน ล้าสมัย ชำรุด ผุพัง ซ่อมไม่ได้ หรือผู้บริโภคไม่ต้องการใช้งานแล้ว แลจะถูกทิ้งเป็นขยะ ซึ่งชิ้นส่วนเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ อีกทั้งยังมีสารประกอบที่เป็นพิษด้วย ดังนั้น ขยะเหล่านี้จะมีปัญหาในเรื่องของมลพิษ เนื่องจากมีส่วนประกอบของสารอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชิ้นส่วนต่าง ๆ มีสารเคมี โลหะหนัก สารพิษ ไอพิษ หรือสิ่งตกค้างอื่น ๆ เช่น กัมมันตรังสี ประจุไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งไม่สามารถกำจัดได้ง่าย ๆ
พูดง่าย ๆ ก็คือ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เป็นขยะจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ ที่หมดอายุขัยการใช้งานลง เมื่อไม่เป็นที่ต้องการ มันก็จะกลายเป็นขยะที่เราต้องกำจัดทิ้ง ดังนั้น มันจึงหมายรวมถึงอุปกรณ์ทุกชนิดที่ต้องใช้ไฟฟ้าเพื่อให้สามารถใช้งานได้ อุปกรณ์เหล่านี้จำเป็นต้องมีแผงวงจรภายใน เพื่อให้สามารถใช้งานได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้นตามการเติบโตของเทคโนโลยี ทว่าคนไทยน้อยคนนักที่จะทราบถึงอันตรายในการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์รวมกับขยะอื่น ๆ เราจะคุ้นเคยกับการทิ้งถ่านไฟฉายที่หมดแล้วลงในถังขยะทั่วไป แค่เห็นว่ามันเป็นถังขยะก็พร้อมที่จะโยนทุกอย่างที่เป็นขยะทิ้งลงไปโดยไม่แยก เช่นเดียวกันกับรีโมตโทรทัศน์ เมาส์ คีย์บอร์ด หลอดไฟ สายชาร์จ หูฟังที่พัง เราโยนทิ้งลงถังขยะปะปนกับขยะอื่น ๆ ไปเลย ไม่สนว่าอุปกรณ์เหล่านั้น ข้างในมันมีแผงวงจรต่าง ๆ หรือบรรจุสารเคมีเอาไว้ หรือก็คือขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นมีส่วนประกอบของสารอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหากทิ้งไม่ถูกต้อง
ต้องบอกว่าหลายคนก็ไม่ทราบจริง ๆ ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นไม่ควรจะทิ้งรวมกันกับขยะอื่น ไม่รู้วิธีการกำจัดที่ถูกต้อง หรือเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว ไม่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้น คือหลายคนทราบดีว่านี่เป็นขยะอันตราย แต่เพราะส่วนหนึ่งก็คือจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในบ้านเรานั้นมีค่อนข้างน้อยมาก ในเมื่อหาที่ทิ้งดี ๆ ไม่ได้ หรือทิ้งแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ชิ้นสองชิ้น คิดว่าคงไม่เป็นอะไรหรอก เลยลักไก่ทิ้งรวมไปกับขยะอื่น ๆ ซะเลย ทั้งที่มันเป็นขยะอันตราย ควรถูกทิ้งและกำจัดอย่างถูกวิธี เพื่อไม่ให้เกิดสารตกค้างหรือสิ่งปนเปื้อนอันตราย ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพในระยะยาว
ขยะอิเล็กทรอนิกส์ มีส่วนประกอบของสารอันตราย ไม่ควรทิ้งซี้ซั้ว
พฤติกรรมด้านการจัดการขยะของคนไทยนี่เองที่มีปัญหา จะเห็นได้ว่าผู้คนส่วนมากไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์เท่าที่ควร โดยบางคนอาจนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เก่าไปทิ้งในถังขยะที่ผิดประเภท หรือเทรวมกับขยะอื่น ซึ่งนำไปสู่การกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผิดวิธี จนสามารถสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ หรือบางครั้งก็ไม่ได้นำไปทิ้งเลยทันที แต่เก็บไว้ในบ้านก่อน รอให้มีปริมาณเยอะค่อยไปหาจุดทิ้งทีเดียว ซึ่งจุดทิ้งก็มีน้อยมาก ๆ ตรงนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าบ้านเราขาดแคลนแหล่งรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชน ทำให้ประชาชนเลือกที่จะทิ้งรวมกับขยะอื่น ซึ่งก่อให้เกิดความลำบากและความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจากการจัดเก็บขยะของพนักงานเก็บขยะด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไทย ในปี 2564 มี 435,187 ตัน (คิดเป็นร้อยละ 65 ของของเสียอันตรายทั้งหมด) และมีการกำจัดอย่างถูกต้องเพียงร้อยละ 20 ส่วนที่เหลือถูกนำไปกองรวมกับขยะมูลฝอยอื่นๆ เพื่อรอการฝังกลบ หรือมีบางส่วนถูกกระจายไปยังร้านรับซื้อของเก่า การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่เหมาะสม จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัย
โดยสารอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โลหะหนัก เมื่อนำไปฝังกลบสารเคมีจะปนเปื้อนในดิน แหล่งน้ำผิวดิน และแหล่งน้ำใต้ดิน สารพิษจะเข้าสู่ระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหาร ซึ่งก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพอนามัย เช่น ความเป็นพิษของตะกั่ว จะมีผลทำลายระบบประสาท ระบบโลหิต การทำงานของไต ระบบสืบพันธุ์ เป็นต้น ถ้านำไปเผาก็จะเกิดกลิ่นเหม็น และเกิดสารมลพิษทางอากาศต่างๆ ได้แก่ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ สารไดออกซิน และฟิวแรน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง
ดังนั้น การให้ความรู้และสร้างความตระหนักว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายไม่ควรที่จะทิ้งรวมกับขยะประเภทอื่น ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญในการเริ่มต้นจัดการกับปัญหา เป็นเรื่องน่าตกใจที่หลายคนไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มาก่อนจริง ๆ ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้นเป็นอันตราย มันมีสารพิษ ไม่ควรทิ้งรวมกับขยะอื่น หากสารอันตรายรั่วไหลออกมาปะปนกับขยะอื่นจะเป็นเรื่องใหญ่ หรืออาจถูกจัดเก็บด้วยความไม่รู้ว่าต้องระมัดระวัง หรือมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้งในพื้นที่พื้นที่รกร้างเพื่อกำจัดทิ้ง ทั้งที่อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มักประกอบด้วยกลุ่มโลหะหนัก อาทิ ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท ซึ่งเป็นพิษต่อร่างกายและสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีกฎระเบียบในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี อำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชน ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล เพิ่มจุดรองรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ เช่น จุดรับทิ้งหลอดไฟ จุดรับทิ้งเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ ตู้ทิ้งถ่านไฟฉาย ฯลฯ เพื่อให้มีการนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ปัจจุบัน วิธีการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย เริ่มต้นโดยตั้งจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามจุดต่าง ๆ ในชุมชน มีบริการฝากทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ของไปรษณีย์ไทย ที่ให้บริการรับฝากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ใช้แล้วโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อส่งต่อไปยังสถานที่จัดการรีไซเคิล หรือนำไปกำจัดอย่างเหมาะสมเพื่อให้ปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
ผลเสียของขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
สารเคมีในขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น แทบทั้งหมดจะมีตะกั่ว ดีบุก ทองแดง นอกจากนี้ยังมีอะลูมิเนียม เหล็ก ซิลิกอน นิกเกิล แคดเมียม ลิเทียม สังกะสี ทองคำ อะเมริเซียม ปรอท กำมะถัน และคาร์บอน
เนื่องจากขยะอิเล็กทรอนิกส์แทบทุกชิ้นมีส่วนประกอบของสารอันตรายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสารตะกั่วที่อาจทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด สารปรอทที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง สมอง และไขสันหลัง หรือแคดเมียมที่มีพิษเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง ไตถูกทำลาย และเป็นสาเหตุของอาการไตวาย รวมถึงสารอื่น ๆ สารอันตรายทั้งหลายเหล่านี้อาจเกิดการรั่วไหลและตกค้างในแหล่งน้ำหรือในธรรมชาติ ซึ่งอาจส่งผลกระทบและก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต
นี่คือเหตุผลที่เราต้องแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากขยะประเภทอื่น ๆ แล้วส่งต่อไปยังโรงงานที่ได้รับอนุญาตให้รับขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือส่งให้กับศูนย์รับคืนซากผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อทำการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธี ลดผลกระทบจากสารเคมีที่พบในขยะอิเล็กทรอนิกส์
แหล่งทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์
ซึ่งเวลานี้ หากใครกำลังหาจุดทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อยู่ล่ะก็ มีโครงการคนไทยไร้ E-Waste โดย LG จับมือกับ AIS เพิ่มจุดรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตามศูนย์บริการและร้านค้าตัวแทนจำหน่ายทั่วกรุงเทพมหานคร โดยโครงการนี้เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม – 31 กรกฎาคม 2566 โดยจุดรับทิ้งขยะ LG มีทั้งหมด 12 สาขาทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่
- ศูนย์บริการแอลจี (สำนักงานใหญ่) อาคารริชมอนด์ ชั้น 1 ซอยสุขุมวิท 26
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Mall ศูนย์การค้าเอ็มโพเรียม ชั้น 3
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Mall ศูนย์การค้าสยามพารากอน ชั้น 4
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Mall ศูนย์การค้าเดอะมอลล์งามวงศ์วาน ชั้น 4
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Buy ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 4
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Buy ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พระราม 9 ชั้น 4
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Buy ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ปิ่นเกล้า ชั้น G
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Buy ศูนย์การค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว ชั้น 5
- ร้านค้าแอลจี แผนก Power Buy ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์ ชั้น 2
- ร้านค้าแอลจี โฮมโปร สาขาเมกา บางนา
- ร้านค้าแอลจี โฮมโปร สาขาฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต
- ร้านค้าแอลจี โฮมโปร สาขาเอกมัย-รามอินทรา
ส่วนโครงการการจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ของ AIS สามารถเช็กจุดให้บริการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ที่ E-Waste Thailand
คุณกำลังดู: อันตราย! ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่ควรทิ้งปนกับขยะอื่น
หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่