อังกฤษสร้าง “บ้านประหยัดพลังงาน” ทนทุกสภาพอากาศ
อังกฤษสร้างบ้านขึ้นในห้องทดลองขนาดใหญ่ ที่มีสภาพอากาศสุดโต่งหลากหลายรูปแบบด้วยกัน เพื่อทดสอบการประหยัดพลังงานของบ้านแห่งอนาคตนี้
บ้านประหยัดพลังงานจำนวน 2 หลังที่ถูกสร้างเสร็จใหม่ ๆ ภายในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ทางตอนเหนือของอังกฤษ ต้องเผชิญกับอุณหภูมิที่ลดลงต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียส มีพายุหิมะโปรยปราย และอยู่ภายใต้สภาพอากาศที่เย็นจัด แต่บ้านทั้งสองหลังยังคงให้ความอบอุ่นแบบสบาย ๆ จากการใช้งานเทคโนโลยีทำความร้อนและฉนวนที่ทันสมัย
การทดลองวิทยาศาสตร์ที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น “บ้านประหยัดพลังงาน 2.0” ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยให้ผู้สร้างบ้านทั่วโลก ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ประหยัดพลังงาน และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผิดธรรมชาติ โครงการดังกล่าวตั้งอยู่ในห้องทดลองที่มีลักษณะคล้ายกับโกดังขนาดใหญ่ ในวิทยาเขตของมหาวิทยาลัย Salford ซึ่งอยู่ใกล้ใจกลางเมืองแมนเชสเตอร์ และเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ในการทดลองได้จำลองสภาพอากาศในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเช่น ฝน ลม แสงแดด และหิมะโดยศูนย์ควบคุมจะกำหนดให้มีอุณหภูมิตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียสไปจนถึงติดลบ 20 องศาเซลเซียส
ศาสตราจารย์ วิล สวอน หัวหน้าห้องปฏิบัติการบ้านประหยัดพลังงานของมหาวิทยาลัย กล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า “สิ่งที่เราพยายามทำให้สำเร็จ คือจำลองสภาพอากาศที่สามารถเกิดขึ้นได้กับประชากร 95% ทั่วโลก”
ในการทดลอง บ้านทั้ง 2 หลังจะเผชิญสภาพอากาศที่แตกต่างกันในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อทดสอบที่อยู่อาศัยประเภทต่างๆ จากทั่วโลก ศาสตราจารย์ สวอน เสริมว่าใช้ วิธีดังกล่าวเพื่อทำความเข้าใจในการออกแบบที่อยู่อาศัยแบบประหยัดพลังงาน
บ้านในการทดลองทั้ง 2 หลังที่เป็นบ้านสไตล์อังกฤษและสร้างโดยบริษัทในอังกฤษ มีแผนที่จะคงบ้านเหล่านี้ไว้ในห้องทดลองอีกราว 2 ถึง 3 ปี
ทางโครงการเปิดโอกาสให้ผู้สร้างบ้านรายอื่น สามารถเช่าพื้นที่ในห้องปฏิบัติการ เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยและควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้
สำหรับบ้านหลังแรกถูกสร้างโดยบริษัทอสังหาริมทรัพย์ในอังกฤษที่ชื่อ Barratt Developments ร่วมกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านวัสดุจากฝรั่งเศสที่ชื่อ Saint-Gobain ซึ่งบ้านดังกล่าวถูกหุ้มด้วยอิฐ มีกรอบไม้ พร้อมด้วยฉนวนกันความร้อนอยู่ภายใต้ และยังติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้บนหลังคา
นักวิทยาศาสตร์กำลังตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบทำความร้อนหลายประเภท ซึ่งรวมถึงเครื่องที่เปลี่ยนความร้อนจากอากาศมาเป็นพลังงานความร้อน
ภายในห้องนั่งเล่น ถูกออกแบบมาให้ตั้งวงจรเครื่องทำน้ำร้อนอยู่ภายในผนัง และเสริมความร้อนผ่านเทคโนโลยีอินฟราเรดจากขอบบัวผนัง
นอกจากนี้ กระจกยังทำหน้าที่เป็นตัวแผ่รังสีอินฟราเรด ในขณะที่เซ็นเซอร์จำนวนมาก คอยตรวจสอบห้องที่ถูกใช้งานอยู่ ผู้อยู่อาศัยจะสามารถควบคุมเทคโนโลยีผ่านระบบที่คล้ายการสั่งงานด้วยเสียงอย่าง Alexa ของบริษัท Amazon
ผู้สร้างบ้านคาดว่าเทคโนโลยีที่ทันสมัยนี้ จะช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานโดยเฉลี่ยของบ้านในอังกฤษให้เหลือเพียง 1 ใน 4 จากค่าใช้จ่ายด้านพลังงานในปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับลูกค้าที่กำลังเผชิญกับราคาพลังงานที่สูงลิ่ว
นอกจากนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวยังจะเป็นส่วนสำคัญต่อความพยายามของอังกฤษ ที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
รายงานของรัฐสภาอังกฤษพบว่า ในปี 2019 การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากระบบทำความร้อนของอาคารราว 17% มาจากบ้านพักอาศัย ซึ่งมีสัดส่วนเท่ากับการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากรถยนต์ทุกคันที่ขับอยู่บนถนนในอังกฤษ
นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และสนับสนุนการใช้ฉนวนกันความร้อนสำหรับบ้านทั่วประเทศ
ทอม คอกซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเทคนิคของบริษัท Saint-Gobain กล่าวว่า "หนึ่งในเทคโนโลยีหลัก ที่เรากำลังทดลองกับบ้านหลังนี้ เกือบจะเหมือนกับระบบจัดการอาคารสำหรับที่พักอาศัย" และอาจจะเรียกได้ว่าเป็นระบบผู้ช่วยเสมือน Alexa ของระบบบ้านประหยัดพลังงาน สามารถทำงานได้อย่างอัตโนมัติเท่าที่ผู้ใช้งานต้องการ
คอกซ์ ยังกล่าวอีกว่า ด้วยการทำงานในห้องปฏิบัติการขนาดใหญ่ "เราสามารถทดสอบสภาพอากาศที่เกิดขึ้นในหนึ่งปี ให้เกิดขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์" โดยเป้าหมายสูงสุดคือการออกแบบสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยที่สะดวกสบาย คุ้มค่า และทำได้จริงเชิงพาณิชย์ ในขณะเดียวกันการก่อสร้างบ้านก็จะต้องไม่ลืม ที่จะใส่ใจด้านความยั่งยืนด้วย
คุณกำลังดู: อังกฤษสร้าง “บ้านประหยัดพลังงาน” ทนทุกสภาพอากาศ
หมวดหมู่: เทคโนโลยีใหม่